Skip to main content
sharethis

'ก้าวไกล' แนะหน่วยงานรัฐทบทวนแนวปฏิบัติ ปกป้องสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของเยาวชน ทวงถามคดี 'วาฤทธิ์ สมน้อย' ผ่านไปกว่า 2 ปี ยังไม่มีใครต้องรับผิดชอบ

17 มี.ค.2567 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ในการประชุมสภาผู้แทนฯ มีวาระรับทราบรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ 159/2566 โดย สส. พรรคก้าวไกลร่วมอภิปรายหลายคน เช่น สหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี เขต 7 ระบุว่า รายงานของ กสม. ในภาพรวม ยังมีรายละเอียดบางส่วนตกหล่น จึงขอให้มีข้อมูลเพิ่มเติม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการตามแนวทางที่ กสม. แนะนำไว้ 

ประเด็นหนึ่งที่ถือเป็นประเด็นใหญ่ คือการจับกุมคุมขังเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ยิ่งไปกว่านั้น เด็กและเยาวชนจำนวนมากที่ถูกจับ ถูกนำไปควบคุมตัวยังสถานีตำรวจหรือที่ใดก็ตาม หลายคนไม่สามารถติดต่อผู้ปกครองได้ โดยเฉพาะกลุ่มทะลุแก๊สที่เยาวชนจำนวนมากไม่ได้อยู่กับพ่อแม่หรือพ่อแม่ทำงานต่างที่ ต้องถูกจับกุมคุมขังไว้ล่วงหน้า เพราะยังติดต่อผู้ปกครองไม่ได้ ทำให้เด็กสูญเสียอิสรภาพนานขึ้น ซึ่งขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน 

จึงอยากให้มีสหวิชาชีพเข้ามาดูแลเรื่องดังกล่าวต่อไปในอนาคต หรือในกรณีการจับกุมที่ไม่สามารถติดต่อผู้ปกครองได้ เห็นควรให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้ามาดูแลช่วยเหลือทันที แทนที่จะให้อยู่กับตำรวจ 

สหัสวัต ยังขอให้มีการติดตามความคืบหน้าคดี ‘วาฤทธิ์ สมน้อย’ เยาวชนอายุ 15 ปี ที่ถูกยิงบริเวณหน้าสถานีตำรวจนครบาลดินแดงเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2564 และเสียชีวิตในเวลาต่อมาวันที่ 28 ต.ค. 2564 ตอนนี้ผ่านไป 2 ปีกว่า ยังไม่มีใครออกมารับผิดชอบ 

“ไม่รู้ทำอะไรกันอยู่ หากนี่เป็นบุตรหลานของผู้มีอำนาจ จะเงียบเช่นนี้หรือไม่ ขอไว้อาลัยและเรียกร้องความยุติธรรมให้เหยื่อเยาวชนคนนี้ ขอให้แนวทางการสืบสวนและความคืบหน้าของคดี รวมถึงกระบวนการหาผู้กระทำผิด ถูกนำมาใส่ในรายงานของ กสม. ด้วยเช่นกัน” สหัสวัตกล่าว

ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี เขต 3 กล่าวช่วงหนึ่ง ชื่นชมรายงานของ กสม. ที่ได้ระบุอย่างชัดเจนถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐไทยต่อการรับมือการชุมนุมของเยาวชน รวมถึงข้อเสนอต่างๆ ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการทบทวนแนวปฏิบัติที่เหมาะสมต่อเด็กและเยาวชนในที่ชุมนุม เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวง พม. กระทรวงยุติธรรม และ สตช. จึงอยากเห็นความคืบหน้าของหน่วยงานเหล่านี้ ว่าหลังจากได้รับข้อร้องเรียนหรือข้อเสนอแนะจากรายงาน จะปรับเปลี่ยนแนวนโยบายอย่างไร

นอกจากนี้ ขอสนับสนุนให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม นำรายงานของ กสม. ฉบับนี้ไปพิจารณาร่วมด้วย โดยเฉพาะข้อเสนอให้นิรโทษกรรมเด็กและเยาวชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งมีเยาวชนกว่า 286 คนที่กำลังถูกดำเนินคดีทางอาญา การนิรโทษกรรมเป็นเพียงหมุดหมายหนึ่ง เราไม่ควรมองเพียงแค่เป็นการยุติคดีเท่านั้น  แต่ควรมองไปถึงกระบวนการสร้างความเข้าใจ หาทางออกร่วมกันทุกฝ่าย รวมถึงการเยียวยาเด็กและเยาวชนที่ถูกละเมิดสิทธิ 

ชลธิชาทิ้งท้ายว่า ขอสนับสนุนข้อเสนอของ กสม. ในการเปิดเวทีรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การชุมนุมของเด็กและเยาวชน เพื่อเราจะได้ยินเสียงของเยาวชนอย่างชัดเจน ว่าอะไรคือสิ่งที่ผลักดันให้พวกเขาออกมาชุมนุมเสี่ยงชีวิตบนท้องถนน จะได้ยินเสียงของตำรวจที่กำลังเผชิญแรงกดดันจากผู้บังคับบัญชาและสถานการณ์ตรงหน้า จะได้ยินเสียงของกระทรวง พม. ว่าสหวิชาชีพจะมีบทบาทอย่างไรได้บ้าง ในการคุ้มครองสิทธิของเด็กและเยาวชนในพื้นที่การชุมนุม และจะได้ยินเสียงของกระทรวงศึกษาธิการ ว่าหลักสูตรที่ใช้อยู่มีความเหมาะสมกับยุคสมัย ส่งเสริมให้เยาวชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกได้มากน้อยเพียงใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net