Skip to main content
sharethis

ตั้งคณะ 'ซอฟต์พาวเวอร์' ประจำจังหวัด 'โคราช' ประเดิมที่แรก รัฐบาลทุ่มงบ หนุนอุตสาหกรรมซีรีส์วาย-ทำสารคดีประกวดเวทีโลก 

 

18 มี.ค.2567 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทย รายงานต่อสื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2567 โดยในวันนี้ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานในที่ประชุมแทน แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่ติดภารกิจ 

จากนั้น นพ.สุรพงษ์ แถลงหลังการประชุม พร้อมกับ ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์ ว่า ในวันนี้ที่ประชุมฯ มีการกำหนดกรอบงบประมาณในการสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ โดยเฉพาะซอฟต์พาวเวอร์ภาพยนตร์ ซึ่งมุ่งเน้นในการสร้างผู้ผลิตหน้าใหม่ สำหรับอนาคตอันใกล้ในภาคอุตสาหกรรมภาพยนตร์ จะได้รับงบประมาณจากรัฐบาลสนับสนุนตัวโครงสร้างของภาพยนตร์ จึงขอให้ผู้ผลิตทั้งรายใหม่ และรายเก่า ที่อยู่ในภาคเอกชน เตรียมนำเสนอโครงการภาพยนตร์ ทั้งในแบบ Pre-Pro Post หรือ ในแบบ Post Production ซึ่งทางรัฐบาลจะมีกรอบงบประมาณเตรียมไว้ให้ หากผ่านการพิจารณา ก็จะได้รับงบฯตัวนี้ ในการพัฒนาภาพยนตร์  สำหรับงบประมาณ ซึ่งเสนอโดยคณะอนุกรรมการด้านภาพยนตร์ฯ เป็นงบประมาณ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการผลิตซีรีส์ สำหรับเด็ก รวมไปถึง ซีรีส์วาย ภาพยนตร์สารคดีที่จะไปสู่การประกวดในระดับนานาชาติ แต่เนื่องด้วยการจัดทำงบประมาณ ในปี 2567 มีความล่าช้า จึงทำให้ไม่สามารถทำให้ประกาศรับสมัคร การคัดเลือกเพื่อรับงบประมาณในการสนับสนุนได้ จึงขอให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ทั้งใหม่และรายเก่าที่อยู่ในภาคเอกชน รอและฟังการประกาศจากรัฐบาลอีกครั้ง 

ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ เปิดเผยความคืบหน้าเรื่องการจัดงาน “Maha Songkran Word Water Festival” ว่า กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลัก มีความพร้อมที่จะจัดงานดังกล่าว ในวันที่ 11-15 เมษายน ที่ถนนราชดำเนินและท้องสนามหลวง แต่ต้องยอมรับว่า ด้วยงบประมาณ ในปี 2567 มีความล่าช้า ทำให้ติดขัดในบางส่วน ซึ่งทางตน และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะนำเรื่องนี้ไปถอดบทเรียน เพื่อไม่ให้การบริหารจัดการงบฯ ในปีถัดไป เกิดความติดขัด และส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการจัดงาน 

นพ.สุรพงษ์ เปิดเผยอีกว่า วันนี้มีการตั้งคณะอนุกรรมการซอฟต์พพาวเวอร์ประจำจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีความพร้อม โดยโครงสร้างประกอบด้วยคณะกรรมการอำนวย ที่มาจากภาครัฐ และ เอกชน มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน สำหรับ จ.นครราชสีมา จะเป็นจังหวัดนำร่อง ที่เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา ก็ได้รับรายงานว่า มีกองถ่ายทำภาพยนตร์หลายเรื่อง ได้เข้ามาชิมลางถ่ายทำภาพยนตร์ ในพื้นที่ของ จ.นครราชสีมา แล้ว 

รายงานระบุเพิ่มเติมว่า สำหรับบรรยากาศ และ วาระการประชุมที่น่าสนใจวันนี้ ประกอบด้วย ความคืบหน้าในการพัฒนาต้นแบบศูนย์บริหารเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) สำหรับการขออนุมัติ และ อนุญาตจากราชการในการถ่ายทำภาพยนตร์ และ ดนตรี เพื่อให้เกิดความสะดวกมากยิ่งขึ้น ลดขั้นตอนการขอเอกสารจากหลายหน่วยงาน ส่งเสริมการทำประเทศไทยเป็นที่รู้จักผ่านภาพยนตร์และดนตรี โดยจะมีการนำร่องเปิดศูนย์ OSS Plus+ ในระดับพื้นที่ เช่น ชลบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี โดยยึดตามอ้างอิงลำดับสถิติการขอถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย ประจำปี 2566

รวมถึง การเตรียมรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติ THACCA หรือ Thailand Creative Culture Agency ซึ่งจะเป็นหน่วยงานถาวร ที่จะมารับผิดชอบสนับสนุนทั้ง 11 สาขาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี รวมถึงการ Upskill-Reskill คนไทยสู่แรงงานทักษะสูงเพื่อรอบรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ในอนาคต โดยคาดว่า การรับฟังความเห็นดังกล่าว จะรับฟังจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน-ประชาสังคม และในสถานศึกษา ก่อนที่จะนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เข้าสู่ที่ประชุม ครม. และเข้าสู่กระบวนการผ่านกฎหมายโดยรัฐสภาเป็นลำดับต่อไป ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินสิ้นปี 2568

และยังมีวาระที่น่าสนใจ ว่าด้วยความคืบหน้าการลงทะเบียน OFOS หรือ “One Family One Soft Power” ซึ่งเป็นโครงการ “พัฒนาคน” ผ่านการ Upskill-Reskill คนไทยทั้งประเทศ เฟ้นหาศักยภาพคนไทยทุกครอบครัว อย่างน้อยครอบครัวละ 1 ศักยภาพ เป็นการสร้างแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน จาก 20 ล้านครอบครัว ภายใน 4 ปี สร้างรายได้อย่างน้อยครอบครัวละ 200,000 บาท/ปี โดยรัฐบาลมีความคาดหวังว่า จะเป็นโครงการที่จะพาคนไทยให้หลุดพ้นจาก “กับดักความยากจน” โดยความคืบหน้าล่าสุด คือการหารือกับผู้แทนคณะกรรมการฯ​ถึงแนวทาง และร่างแผนดำเนินการ โดยคาดว่า อุตสาหกรรมแรก ที่จะมีการเปิดให้ลงทะเบียนภายในปี 2567 คือโครงการ “1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย” ซึ่งจะมีการเปิดอบรมแบบ On-Site 10,000 คนแรก ในปีนี้ ผ่านช่องทางสถาบันการศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม กว่า 140 แห่งและรัฐบาล สนับสนุบงบประมาณให้ผู้ที่สนใจสมัครคนละ 15,000 บาท ซึ่งหลังจากฝึกอบรมแล้ว จะมีการฝึกงานในรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศไทย และได้รับมอบประกาศนียบัตร 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย อีกด้วย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net