Skip to main content
sharethis

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจัดรำลึก 7 ปี "ชัยภูมิ ป่าแส" การใช้ความรุนแรงแรงโดยรัฐและความยุติธรรม ทนายรัษฎาย้ำ อาชญาการรมที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง กรณีชัยภูมิ เหตุใดกองทัพจึงเอาอาวุธปืนร้ายแรงอย่างM16 ให้พลทหารใช้ อาจารย์นิติศาสตร์เผย ในหนึ่งปีมีผู้เสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐมากถึง 40-50 ราย ราวกับว่าวิสามัญมรณะเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้

 

18 มี.ค. 2567 เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา เวลา 14.00 – 17.00 น. มูลนิธิผสานวัฒนธรรมร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงานเสวนาในหัวข้อ “ด้วยความคิดถึง: 7 ปี ชัยภูมิ ป่าแส การใช้ความรุนแรงแรงโดยรัฐและความยุติธรรม” ขึ้นที่ Neighborhood Community เชียงใหม่ เนื่องในโอกาสครบรอบ 7 ปี การจากไปของชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเยาวชนชาติพันธุ์ลาหู่ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารด่านบ้านรินหลวงยิงจนเสียชีวิตเมื่อปี 2560 

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าวเปิดงาน สุรพงษ์กล่าวว่าแม้ประเทศไทยจะมีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่เป็นจำนวนมาก กลุ่มคนเหล่านี้มีภาษามีวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มตน อย่างไรก็ตามสิทธิในการแสดงออกในอัตลักษณ์ หรือแม้แต่สิทธิในสัญชาติที่พวกเขามีอยู่แล้ว กลับถูกรัฐปฏิเสธและผลักให้กลายเป็นความเป็นอื่นที่ไม่ใช่ ‘ไทย’ สุรพงษ์ตั้งคำถามว่าคำว่าไทยนั้นหมายความว่าอะไรกันแน่ อคติทางชาติพันธุ์เหล่านี้เป็นสาเหตุให้กลุ่มคนชนเผ่าพื้นเมืองมักถูกเจ้าหน้าที่รัฐกระทำตลอดมา

จากกรณีการต่อสู้ในคดีชัยภูมิ สุรพงษ์ได้ตั้งข้อสังเกตหลายประการซึ่งจะเกี่ยวเนื่องกับกรณีอื่นๆที่เกิดขึ้นในสังคม สุ-รพงษ์ให้ความเห็นว่าในคดีของชัยภูมิ ศาลฎีกาฟังเสียงชาวบ้านคือเชื่อในประจักษ์พยานซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาที่ให้การตามที่เห็นเหตุการณ์ตลอดมา อีกทั้งศาลเชื่อสื่อมวลชนที่ได้นำเสนอข้อเท็จจริงอย่างเป็นกลางจากการเข้าไปสัมภาษณ์และเผยแพร่คำบอกเล่าของพยานผู้พบเห็นเหตุการณ์ในทันที ในส่วนของผู้กระทำผิด สุรพงษ์ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมากรณีการทรมาน หรือการเสียชีวิตจากการฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ กล้องวงจรปิดมักใช้การไม่ได้เสมอมา ข้ออ้างเหล่านี้กลายเป็นบรรทัดฐานที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้อ้าง แต่คำพิพากษาศาลฎีกาในครั้งนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถอ้างได้อีก

เสียงจากผู้เสียหาย เส้นทางการต่อสู้ตลอด 7 ปี สิ่งที่ต้องเผชิญและความหวังต่อความยุติธรรม

ไมตรี จำเริญสุขสกุล ,นาปอย ป่าแส , ยุพิน ซาจ๊ะ และประกายดาว พฤกษาเกษมสุข

ยุพิน ซาจ๊ะ นักกิจกรรมชาวลาหู่และผู้ดูแลชัยภูมิ ป่าแส กล่าวถึงประเด็นปัญหาการเลือกปฏิบัติกับกลุ่มชาติพันธุ์ ยุพินเล่าว่าชาติพันธุ์ลาหู่เป็นชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมประเพณีดีงาม วิถีชีวิตของชาวลาหู่คือการทำไร่ทำสวนทั่วไป แต่การที่ชาติพันธุ์ลาหู่หรือชาติพันธุ์อื่นๆอาศัยอยู่ในเขตชายแดนที่เป็นพื้นที่ซึ่งมีปัญหาเรื่องการค้ายาเสพติดเกิดขึ้นนั้น ไม่ได้หมายความว่าคนชาติพันธุ์จะต้องถูกเหมารวมว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดตามที่สังคมมักมีภาพจำ “เรามักจะถูกคนมองเหมารวมไปหมดว่าคนที่อยู่ในพื้นที่นี้เป็นแบบนี้กันหมดทุกคน แต่มันไม่ใช่ เพราะแต่ละที่ก็มีปัญหาเรื่องยาเสพติดเหมือนกัน” ยุพินกล่าว

ในส่วนของคดีอาญากับการนำผู้กระทำผิดมารับโทษยุพินเห็นว่าจากการต่อสู้ที่ผ่านมาตลอดกระบวนการ ต้องต่อสู้ด้วยความยากลำบาก แต่ผู้กระทำผิดไม่แม้แต่จะขอโทษกับสิ่งที่กระทำ และเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อกระทำผิดกลับไม่เคยต้องรับผิด “เราเห็นทุกคดีคนที่ทำผิดไม่ได้รับการลงโทษ คนที่เป็นเหยื่อกลับได้รับการลงโทษ ไม่มีการชดเชยเยียวยา ให้คำอธิบาย แต่พอฝ่ายรัฐกระทำผิด กลับมีเหตุผลมากมายให้เขาพ้นผิด ชาติพันธุ์ไม่มีสิทธิที่จะอ้าปากพูดเลย”

ไมตรี จำเริญสุขสกุล นักกิจกรรมชาวลาหู่ ตัวแทนผู้เสียหายชัยภูมิ ป่าแส กล่าวถึงความรู้สึกของตนตลอดเส้นทางการต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมให้ชัยภูมิตลอด 7 ปีที่ผ่านมาว่าเป็นเรื่องที่หนักมากและรู้สึกเหนื่อยเป็นอย่างมากกับการต่อสู้ จากที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องในคดีแพ่งที่เป็นโจทก์ฟ้องกองทัพบกให้ชดใช้ค่าเสียหายนั้น ทำให้ไมตรีไม่คาดหวังใดๆ กับคำพิพากษาศาลฎีกา อย่างไรก็ตามในวันนี้ไมตรีรู้สึกขอบคุณทุกคนที่ร่วมต่อสู้และให้ความช่วยเหลือ  ในวันนี้ที่ได้รับชัยชนะจากคำพิพากษาศาลฎีกามาแล้วจึงสามารถพูดกับชัยภูมิได้แล้วว่าตนสู้อย่างเต็มที่แล้ว “ครั้งที่หนึ่งศาลประกาศว่าไม่ชนะ เรารู้สึกเสียใจมากแต่ก็ยังมีหวังว่าครั้งที่สองจะดี ครั้งที่สองบอกว่าพิพากษายืนแพ้ อะไรกัน สู้ขนาดนี้ แพ้ตลอด พอครั้งที่สามผมไม่หวังแล้วว่าจะชนะ วันที่เขาจะพิพากษาไม่สนใจ ยังไงก็ไม่ชนะ ไม่ลุกจากเตียงนอน ป่วยอยู่ สักพักข้อความเด้งมาจากทนาย ว่าชนะแล้ว ผมยังไม่ได้อ่าน รำคาญเสียงแจ้งเตือนข้อความ แค่จะเปิดทีวีก็ไม่กล้า คงเป็นข่าวเดิมว่าเราแพ้”

“ถ้าจะเรียกร้องได้ ผมอยากจะเรียกร้องความยุติธรรมที่ว่า ให้คนตัวเล็กตัวน้อยอย่างพวกผมเข้าถึงได้ด้วย ผมเป็นกรณีหนึ่งที่โชคดีมีเพื่อนมีทนายหลายคนเข้ามาช่วย แต่จะมีอีกสักกี่คนที่โชคดีเหมือนผม” ไมตรี กล่าว

นาปอย ป่าแส มารดาของชัยภูมิ ตัวแทนผู้เสียหายชัยภูมิ ป่าแส กล่าวถึงความรู้สึกของตนเป็นภาษาลาหู่โดยมียุพินช่วยแปลเป็นภาษาไทย นาปอยกล่าวความรู้สึกของตนต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับชัยภูมิ ป่าแส และเส้นทางการเรีกยร้องความยุติธรรมตลอดที่ผ่านมาว่า “ตลอด 7 ปีที่สู้มา แม่ไม่สบายใจ เพราะที่สู้มาก็กลัวว่าจะไม่ชนะ ตอนนี้ดีใจมากที่ชนะแล้ว และขอบคุณทุกคนที่ช่วยเหลือ ขอบคุณพระเจ้า และอยากจะบอกลูกว่าตอนนี้เราชนะแล้ว ขอบคุณลูกด้วย”

คำพิพากษาศาลฎีกาคดีชัยภูมิ ปัญหาอาชญากรรมโดยรัฐในภาพกว้าง และความหวังใหม่จากพ.ร.บ. ทรมาน-อุ้มหาย

รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความสิทธิมนุษยชนของครอบครัว ชัยภูมิ ป่าแส มองว่าคดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาด้วยความละเอียด โดยหยิบยกคำให้การของชาวบ้านที่เป็นประจักษ์พยานยืนยันตามสิ่งทีเห็นเหตุการณ์ และให้ความสำคัญกับผู้สื่อข่าวที่สัมภาษณ์ชาวบ้านตั้งแต่ช่วงหลังเกิดเหตุ นอกจากนี้ศาลยังหยิบยกคำให้การของนายตำรวจหัวหน้ากองเก็บกู้วัตถุระเบิดที่มาให้ข้อมูลเรื่องวัตถุระเบิดจึงทำให้ศาลเห็นว่าที่ทหารกล่าวอ้างว่าชัยภูมิหยิบระเบิดมาจะขว้างนั้นไม่มีน้ำหนักพอที่จะเชื่อได้

รัษฎาชี้ว่ายังมีหลายคดีที่เกิดขึ้นจากการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างกรณีของอาเบ แซ่หมู่ ชาวชาติพันธุ์ลีซู ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารด่านบ้านรินหลวงยิงเสียชีวิตในลักษณะเดียวกันกับชัยภูมิและมีระเบิดขว้างแบบชัยภูมิอยู่ในมืออาเบเช่นกัน โดยกรณีอาเบเกิดขึ้นเพียงหนึ่งเดือนก่อนชัยภูมิจะถูกยิงเสียชีวิต รัษฎาย้ำว่าอาชญาการรมที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง ในกรณีชัยภูมิ รัษฎาตั้งคำถามถึงวุฒิภาวะของเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะความตระหนักรู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชน “เหตุใดจึงเอาอาวุธปืนร้ายแรงอย่างM16 ให้พลทหารใช้ การที่หัวหน้าชุดบอกว่า ยิงเลยๆ วุฒิภาวะของหัวหน้าชุดที่เป็นทหารเห็นคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนแค่ไหน”

รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความสิทธิมนุษยชน

รัษฎาตั้งข้อสังเกตว่าในคดีที่เป็นอาชากรรมโดยรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นมักมีแนวโน้มที่จะปกปิดความผิดที่เจ้าหน้าที่กระทำ ช่วยเหลือปกป้องกัน รัษฎายกตัวอย่างกรณีคดีชัยภูมิว่าแม้กฎหมายจะกำหนดให้มีการชันสูตรพลิกศพกรณีที่มีบุคคลเสียชีวิตจากกการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยให้มีพนักงานอัยการมาร่วมชันสูตรพลิกศพและสอบสวนคดี ให้ฝ่ายปกครอง แพทย์มาร่วมชันสูตร และต้องแจ้งญาติผู้เสียชีวิตด้วย แต่ในกรณีของชัยภูมิ แม้ด่านรินหลวงจะมีกล้องวงจรปิดถึง 9 ตัวใช้งานได้ 6 ตัว หลังเกิดเหตุคณะทนายความได้ลงพื้นที่เข้าไปดูจุดเกิดเหตุ ภาพกล้องวงจรปิดก็ยังสามารถจับภาพและฉายภาพไปยังจอภาพที่ป้อมรักษาการได้ จึงเป็นคำถามว่าเหตุใดพนักงานสอบสวนที่เป็นพนักงานอัยการจึงไม่นำหลักฐานสำคัญเช่นนี้ที่จะสามารถบอกได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันเกิดเหตุมารวบรวมไว้ในคดี

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอว่านอกจากกรณีความรุนแรงโดยรัฐที่เกิดขึ้นในสถานการณ์พิเศษเช่นเหตุการความขัดแย้งทางการเมืองที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงจากการชุมนุมทางการเมืองต่างๆที่มีการจดบันทึก ศึกษาถึงที่มา บอกเล่าเรื่องราว และมีการระลึกถึงในทุกปี ยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงที่สำคัญไม่น้อยกว่ากัน คือ ความรุนแรงโดยรัฐที่ทำให้เกิดความตายในสภาวะปกติทั่วไป เช่น กรณีที่เกิดกับชัยภูมิ อาจารย์สมชายเรียกรณีเหล่านี้ว่า ‘วิสามัญมรณะ’ หมายถึง ความตายโดยที่มีเจ้าหน้าที่รัฐมาเกี่ยวข้องในสภาวะการณ์ปกติทั่วๆไป ไม่ใช่ในเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองขนาดใหญ่ กรณีเหล่านี้มักได้รับความสนใจจากสังคมเพียงช่วงแรกที่เกิดเหตุการณ์เพราะเหตุการณ์เหล่านั้นมักสร้างความสะเทือนใจเป็นอย่างมาก แต่หลังจากนั้น คดีก็จะเงียบไป และไม่มีการศึกษาเก็บข้อมูลอย่างชัดเจนถึงกรณีเหล่านี้

สมชายได้เก็บข้อมูลจากการรายงานข่าวของสื่อมวลชนในช่วงปี 2561-2562 พบว่าปีหนึ่งมีผู้เสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐถึง 40-50 ราย อย่างไรก็ตามยังไม่มีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลอย่างจริงจังเพื่อชี้ให้เห็นปัญหาของอาชญากรรมโดยรัฐในบริบทนี้แต่อย่างใด “เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าตลกเพราะความรุนแรงชนิดนี้ วิสามัญมรณะเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้” อาจารย์สมชายกล่าว

กรณีชัยภูมิ สมชายมองว่าเกิดจากการบรรจบกันของสามปัจจัย ปัจจัยแรกคือกรณีวิสามัญมรณะที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังจนเกิดความตาย โดยปกติเป็นเรื่องยากที่จะเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ ปัจจัยที่สองคือเงื่อนไขความเป็นชาติพันธุ์ มายาคติต่อกลุ่มคนชาติพันธุ์ที่มักจะผูกภาพจำกับยาเสพติด มายาคติเหล่านี้ส่งผลอย่างมากเพราะแม้แต่คำพิพากษาคดีชัยภูมิยังมีการพูดถึงว่าพื้นที่ที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ล่อแหลมต่อการใช้ยาบ้า การป้องกันตัวของเจ้าหน้าที่จึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ ปัจจัยสุดท้ายคือปัจจัยจากระบอบการเมือง กรณีชัยภูมิเกิดขึ้นเมื่อปี 2560 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังการรัฐประหารปี 2557 ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังการรัฐประหาร สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้กระบวนการยุติธรรมทำงานได้ไม่เป็นปกติ

“รัฐไทยในแง่นี้ ผมเห็นว่ารัฐไทยยังคงมีอำนาจในการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน โดยที่ตนเองไม่ต้องรับผิดกับสิ่งที่เกิดขึ้น อาจมีการเยียวยาบ้างในกรณีบางเรื่องที่มันชัดเจน แต่การเยียวยานั้นไม่ได้นำไปสู่การรับผิดทางอาญาและการรับผิดของผู้บังคับบัญชา” สมชายกล่าวทิ้งท้าย

พรพิมล มุกขุนทด ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

พรพิมล มุกขุนทด ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม พูดถึงพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ที่เป็นเสมือนความหวังใหม่และอีกหนึ่งก้าวของการพัฒนากระบวนการยุติธรรมถึงจุดที่น่าสนใจของกฎหมายฉบับนี้ พรพิมลกล่าวถึงมาตรา 22 ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องทำการบันทึกภาพและเสียงตลอดการจับกุมจนกระทั่งนำผู้ที่ถูกควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน และการแจ้งการจับกุมไปยังพนักงานอัยการและฝ่ายปกครองตามเจตนารมย์ของกฎหมายฉบับดังกล่าวที่ต้องการให้สองหน่วยงานนี้มาช่วยตรวจสอบคานอำนาจการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

“เมื่อนึกถึงกรณีชัยภูมิ ป่าแส หากในช่วงของชัยภูมิมีพ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหายบังคับใช้แล้ว กฎหมายฉบับดังกล่าวก็จะสามารถช่วยได้ในเบื้องต้นที่ว่าหากเจ้าหน้าที่ไม่มีการบันทึกภาพและเสียงตอนเกิดเหตุ เราก็สามารถดำเนินคดีตามมาตรา 157 คือเจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เป็นอย่างน้อยได้ อีกทั้งกฎหมายฉบับนี้ยังให้สิทธิญาติในการขอข้อมูลการบันทึกภาพและเสียงดังกล่าวด้วย” พรพิมลกล่าว

พรพิมลกล่าวถึงอีกหนึ่งประเด็นสำคัญของกฎหมายฉบับดังกล่าว “ต่อไปนี้หากเกิดกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดตามฐานความผิดของพ.ร.บ.นี้ แม้ผู้กระทำจะเป็นเจ้าหน้าที่ทหารก็จะต้องขึ้นศาลอาญาทุจริต ซึ่งเป็นศาลพลเรือนไม่ใช่ศาลทหารดังเดิม ญาติสามารถดำเนินการเป็นโจทก์บังคับคดีได้ โดยไม่ต้องรออัยการทหารสั่งฟ้องเหมือนคดีก่อนหน้านี้”

พรพิมล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ปกติคดีฆ่านอกระบบหรือวิสามัญฆาตกรรม เจ้าหน้าที่มักจะอ้างว่ามีการปะทะ มีการต่อสู้ขัดขวางจากผู้กระทำผิด ดังนั้นการบันทึกภาพและเสียง ตาม มาตรา 22 ไม่ได้ช่วยปกป้องคุ้มครองผู้เสียหายหรือผู้ตายเท่านั้น แต่จะช่วยปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐด้วยเช่นเดียวกัน”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net