Skip to main content
sharethis

ตอนจบของรายงานชุดพิเศษ “ฟุตบอลไทย: จาก ‘กีฬา’ สู่ “การเมืองระดับชาติ-ท้องถิ่น” พูดคุยกับคนทำทีมฟุตบอลท้องถิ่น "เขลางค์ ยูไนเต็ด" ทีม T3 จากลำปาง และ "ขุนหาญ ยูไนเต็ด" ทีมอเมเจอร์ลีกจากศรีสะเกษ สะท้อนโอกาสและอุปสรรคในการทำทีม ขณะเดียวกันยังมีความเหลื่อมล้ำที่สะท้อนออกมาเด่นชัดในวงการฟุตบอลไทย ที่ทีมสโมสรใหญ่ระดมได้ทั้งทรัพยากรและเครือข่ายนักการเมือง ทำให้ได้เปรียบทีมขนาดเล็กในท้องถิ่นที่ขาดทั้งสปอนเซอร์และเครือข่ายนักการเมืองอุปถัมภ์

รายงานตอนที่ 4 (ตอนจบ) ของรายงานชุดพิเศษ “ฟุตบอลไทย: จาก ‘กีฬา’ สู่ “การเมืองระดับชาติ-ท้องถิ่น” ภายใต้โครงการสื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น [ท้องถิ่นสร้าง สื่อสอบ] สำรวจฐานะและบทบาทของธุรกิจ การเมือง และ ความไม่โปร่งใสในวงการฟุตบอล

“ผมอยากฝากไปถึงสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ถ้าไทยลีก 3 ยังเป็นแบบนี้ เงินมีบ้างไม่มีบ้าง ก็คงยากที่จะเปรี้ยงปร้างเหมือนเดิม ถ้ามันไปไม่ไหวจริง ๆ ไทยลีก 3 ก็ควรจะกลับมาเป็นลีกสมัครเล่นที่ภาครัฐสามารถสนับสนุนได้ โอกาสอยู่รอดถึงจะมี แต่ถ้าเป็นนิติบุคคลแบบนี้ อนาคตไม่สดใสแน่” – ชูเกียรติ หนูสลุง

ชูเกียรติ หนูสลุง อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทยและอดีตประธานสโมสรมาแชร์ ชัยภูมิ กล่าววาทะข้างต้นไว้กับสื่อสยามสปอร์ต เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 สะท้อนถึงปัญหาส่วนหนึ่งของทีมฟุตบอลในระดับท้องถิ่น

แม้ว่าหลายฝ่ายจะเห็นตรงกันว่าฟุตบอลในระดับท้องถิ่นมีความสำคัญต่อวงการฟุตบอลไทยทั้งระบบ แต่กระนั้นก็มีทีมสโมสรท้องถิ่นต่างทยอยเกิดและดับสลับกันไปในแต่ละปี การยืนระยะอย่างยั่งยืนของทีมเหล่านี้ยังคงเป็นคำถาม โดยเฉพาะการก้าวเป็นทีมระดับอาชีพ

อุปสรรคของทีมฟุตบอลท้องถิ่น

เมื่อช่วงปลายปี 2566 ทีมงาน The Glocal – ท้องถิ่นเคลื่อนโลก ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารของทีมฟุตบอลท้องถิ่น 2 ทีม คือ สโมสรเขลางค์ ยูไนเต็ด (จังหวัดลำปาง) ทีมระดับไทยลีก 3 และสโมสรขุนหาญ ยูไนเต็ด (จังหวัดศรีสะเกษ) ทีมระดับไทยแลนด์ อเมเจอร์ลีก ถึงโอกาส-อุปสรรค และความคาดหวังต่อวงการฟุตบอลไทย 

นักฟุตบอลและแฟนบอลทีมสโมสรเขลางค์ ยูไนเต็ด ในการแข่งขันไทยลีก 3 เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2566

กิตติพงศ์ เทพคำ ประธานสโมสรเขลางค์ ยูไนเต็ด ชี้ว่าทีมฟุตบอลท้องถิ่นนั้นมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียพอสมควร แม้จะไม่เท่ากับทีมระดับประเทศ โดยเงื่อนไขสำคัญในการพัฒนาวงการฟุตบอลท้องถิ่นอย่างหนึ่งคือ ผู้บริหารท้องถิ่นที่มีอำนาจในการกำหนดงบประมาณ นโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาผ่านสมาคมกีฬาจังหวัดซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ในขณะที่เอกชนที่มีอำนาจไม่มากนัก แต่กลับต้องมาดูแลสโมสรฟุตบอลของท้องถิ่น ต้องพยายามสร้างรายได้ให้ได้ เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาที่คล้ายกับว่าอุปสงค์และอุปทาน มันไม่ไปด้วยกัน

“พูดอย่างแฟร์ ๆ ฟุตบอลท้องถิ่นเองก็ต้องเอาผลงานมาแลกนั่นแหละ ถึงจะได้รับการสนับสนุนกลับมาจากภาครัฐ” กิตติพงศ์ กล่าว ทั้งนี้เขลางค์ ยูไนเต็ด เคยเป็นทีมฟุตบอลเดินสาย 7 คน แต่พอมีการแข่งขัน ‘ไทยแลนด์ อเมเจอร์ลีก’ (ลีกระดับสมัครเล่นก่อนไทยลีก 3 ซึ่งเป็นระดับอาชีพ) จึงได้ส่งทีมเข้าแข่งขันโซนภาคเหนือ และสามารถขึ้นชั้นมาเล่นไทยลีก 3 ได้ ที่ผ่านมาจังหวัดลำปางมีเฉพาะสโมสรลำปาง เอฟซี เท่านั้น 

“เมื่อก่อนนักฟุตบอลเดินสายเหล่านี้เมื่อเขาเดินสายบ่อย ๆ เขาก็อยากจะเล่นฟุตบอลอาชีพ นักฟุตบอลเหล่านี้ก็มีฝีมือ เคยตระเวนเล่นให้กับหลายทีม ทั้งที่เชียงใหม่ เชียงราย แต่จริง ๆ เขาก็อยากจะมีทีมในลำปางเล่น ผมก็เลยก่อตั้งทีมขึ้นมา แล้วก็ส่งในนามเขลางค์ ยูไนเต็ด” กิตติพงศ์ กล่าว

ในด้านความคาดหวัง กิตติพงศ์ ระบุว่า ณ ปัจจุบันคืออยากทำฟุตบอลให้ได้รับความนิยมในท้องถิ่น ให้เกิดความเป็นท้องถิ่นนิยม มีส่วนร่วมกันทั้งทีม นักฟุตบอล และผู้คนในท้องถิ่น มีความเป็นครอบครัว ซึมซับกับสโมสรฟุตบอลท้องถิ่น “เราก็ขึ้นมาได้ 2 ระดับ ซึ่งมันก็ปีต่อปี ก็ขอให้มันไม่ขี้เหร่ก็พอ กลาง ๆ แบบนี้ก็คือประสบความสำเร็จแล้ว สำหรับฟุตบอลอาชีพ” กิตติพงศ์ กล่าว

ด้านถนัด ธรรมแก้ว ผู้ร่วมก่อตั้งสโมสรขุนหาญ ยูไนเต็ด เล่าความเป็นมาของสโมสรว่าเดิมทีในหมู่บ้านตาเอก ต.กันทรอม อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ เป็นหมู่บ้านที่คนในชุมชนเล่นกีฬามวยและฟุตบอล วัฒนธรรมทางกีฬาจึงเข้มแข็ง และได้ก่อตั้งอะคาเดมีฟุตบอลเยาวชนตั้งแต่ปี 2552 [นักฟุตบอลที่มีชื่อเสียงจากอคาเดมีนี้คือ 'ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา' ปัจจุบันค้าแข้งอยู่กับทีมโอเอช ลูเวินในประเทศเบลเยียม (ยืมตัวจากบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด)] พอทำมาเรื่อย ๆ จึงมีแนวคิดหาสโมสรฟุตบอลมารองรับอะคาเดมี

"ผมมองว่ากีฬาเป็นเรื่องการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจด้วย เลยชวนเพื่อน ๆ 2-3 คน และรุ่นพี่ที่เป็นอดีตนักฟุตบอลสโมสรธนาคารกรุงเทพ มาทำสโมสรฟุตบอล จากคิดว่าอำเภอขุนหาญที่เราอยู่ เป็นอำเภอค่อนข้างใหญ่ มีประชากรอยู่ราว 120,000 คน ตลาดค่อนข้างใหญ่ (อำเภอขุนหาญมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลักจากการท่องเที่ยวสวนทุเรียนภูเขาไฟ) พอมองเห็นศักยภาพ เราทำอะคาเดมีกันอยู่แล้ว หากทำสโมสรก็น่าจะต่อยอดทางเลือกชีวิตให้เยาวชนในพื้นที่ เช่น คนที่มีความสามารถมากพอก็ไปเล่นในสโมสรเราได้ หรือเก่งขึ้นไปอีกก็ไปอยู่สโมสรใหญ่ ส่วนคนที่ไม่มีความสามารถมากพอหากเรียนจบก็ไปทำอย่างอื่นได้ เลยคิดว่าถึงเวลาต้องทำแล้ว ในการเตรียมสโมสรไปเล่นแบบอาชีพ" ถนัด กล่าว

ตอนนี้ขุนหาญ ยูไนเต็ด อยู่ในลีกระดับไทยแลนด์ อเมเจอร์ลีก หรือฟุตบอลระดับสมัครเล่นของประเทศไทย จึงต้องเริ่มหาสนามเป็นของตัวเองเพื่อที่จะผ่านคลับไลเซนซิ่ง (Club Licensing) ได้ จึงจะมีสิทธิ์เข้าไปแข่งในระดับอาชีพต่อไป ทั้งนี้นักฟุตบอลในทีมก็เหมือนกับทีมสมัครเล่นทั่วโลก นักฟุตบอลทีมลีกแบบนี้ส่วนมากมาเตะด้วยใจ และมาจากการสร้างของอะคาเดมี อายุ 16-17 ปี และเยาวชนที่ออกจากระบบการศึกษาไปแล้ว แต่ยังอยู่ในหมู่บ้าน หรือบางคนไปเรียน ปวช.,ปวส. ก็มาร่วมทีม เพราะฉะนั้นค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นการจัดการ การเดินทางไปแข่งขัน เบี้ยเลี้ยงซ้อม ส่วนใหญ่ก่อนแข่งทัวร์นาเมนต์จะซ้อมกันราว 1 เดือน ไม่เชิงว่าเป็นการเก็บตัว ใน 1 เดือน แยกเป็นสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งจะซ้อมอยู่ 3 วัน ก็ต้องจ่ายเบี้ยเลี้ยง

"ถ้าเต็มรูปแบบจริง ๆ จะหนักเรื่องเงินเดือนนักฟุตบอล ประเทศไทยส่วนใหญ่ แม้ในระดับ Tier 3 (T3) อาจจะไม่ได้จ่ายเบี้ยเลี้ยง หรือเงินเดือนนักฟุตบอล เพราะไม่ได้มีเงินทุนมาสนับสนุนมากมาย ของพวกเราจะเน้นไปทางทัวร์นาเมนต์ เพราะเป็นทีมกึ่งอาชีพ และกำลังไต่เต้า จึงแบ่งเป็นทัวร์นาเมนต์ อย่างปีที่แล้วไปแข่งหลัก ๆ 3 รายการ คือ Chang FA Cup หมดงบไปประมาณ 250,000 บาท จากที่ตั้งไว้ 350,000 ส่วนมากเป็นค่าเดินทาง ที่ไปเตะ 3 วัน และค่าเตรียมทีมช่วงซ้อมทั้งเบี้ยเลี้ยง ทั้งอุปกรณ์กีฬา ปลายปี 2565 ก็ส่งชุดอะคาเดมีอายุไม่เกิน 13 ปี ในรายการ ป.ป.ส. (คณะกรรมการปราบปรามยาเสพติด) ไทย ยูธ ลีค 2022/2023 ที่คัดเอาแต่ละภาค ภาคอีสานมี 2 โซน อีสานเหนือกับอีสานใต้ ทีมเราอยู่โซนอีสานใต้ คัดทีมชนะเข้าไปแข่งที่กรุงเทพฯ โดยเริ่มจากเตะรอบคัดเลือกก่อน ทีมของเราชนะคัดเลือกเข้าไป เตะที่ ม.อุบลราชธานีในรอบคัดตัวแทนอีสานใต้ ที่ต้องเตะอยู่ 10 กว่านัด ตอนนั้นตั้งงบประมาณไว้ 300,000 กว่าบาท ทั้งเบี้ยเลี้ยงซ้อม อาหาร และพวกเบี้ยเลี้ยงแข่ง ที่จ่ายทั้งนักฟุตบอลและสตาฟโค้ช เรายอมรับว่าเราจ่ายตามที่เรามี ตอนไปแข่งก็คนละ 200 บาท ตัวสำรอง 100 บาท ถัดมาชุดใหญ่ไปแข่งไทยแลนด์ อเมเจอร์ลีกโซนอีสานใต้ ก็หมดไปประมาณ 300,000 บาท  ค่าเบี้ยเลี้ยงแข่ง ค่าเบี้ยเลี้ยงซ้อม เป็นค่าใช้จ่ายหลัก" ถนัด เล่าถึงประสบการณ์ของทีมในช่วงที่ผ่านมา

ถนัดย้ำว่าค่าใช้จ่ายที่สำคัญที่สโมสรต้องแบกรับคือ ค่าเบี้ยเลี้ยง ถ้าเป็นทีมระดับสูงกว่าคงเป็นเงินเดือน และค่าเดินทางของนักกีฬา ค่าที่พัก เป็นค่าใช้จ่ายหลัก ๆ และถนัดยอมรับว่าบางวันที่ซ้อม ก็ไม่ได้จ่ายเบี้ยเลี้ยงให้นักเตะ เพราะไม่มีเบี้ยเลี้ยง แต่ส่วนมากพยายามจะจ่าย แต่นักฟุตบอลหากจะลงแข่งในระบบลีกและถ้วยต้องเซ็นสัญญากันเป็น MOU ระยะสั้น เช่น 5-6 เดือน ตามระบบลงทะเบียนของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยถึงจะลงแข่งได้ ถนัดยังยกตัวอย่าง การเดินทางไปแข่งไทยแลนด์ อเมเจอร์ลีกโซนอีสานใต้ ใน 1 นัด เจอกับทีมโรงเรียนกีฬาเทศบาลนครราชสีมา โดยแข่งที่สนามกีฬาทุ่งบูรพา จ.อุบลราชธานี หมดค่าใช้จ่ายไปราว 50,000 บาท 

"ทีมชุดใหญ่ของขุนหาญ ยูไนเต็ด มีนักฟุตบอลประมาณ 25 คน หากรวมทีมสตาฟโค้ช ก็จะเป็น 35 คน (เฮดโค้ช, ผู้ช่วยโค้ช 2-3 คน, แพทย์สนาม) ค่าใช้จ่ายต่อนัดเวลาไปแข่งวันจริง คนอยู่ไกลหน่อยมีค่าเดินทางจะได้คนละ 500-700 ต่อนัด คนที่อยู่ใกล้ๆในอำเภอจะได้ 300-400 บาท หรือทำเป็นระบบเหมาจ่ายเช่นมาด้วยกัน 3-4 คน เหมาจ่ายไป 4-5 พันบาท อย่างตอนไปเตะ Chang Fa Cup ที่นครศรีธรรมราช ก็ขนทีมงานไปทั้งหมด 35 คน แข่งกับทีมนครศรีฯ ยูไนเต็ด ทีมใน T2 (ขุนหาญ ยูไนเต็ด แพ้ 0-12) วันที่ไปแข่งเหมารถบัสนั่งไป 24 ชั่วโมง เฉพาะค่ารถบัส 95,000 บาท" ถนัด เล่าถึงค่าใช้จ่ายของทีม

ในด้านอุปสรรคทีมฟุตบอลท้องถิ่นต้องเผชิญนั้น ถนัดชี้ว่าเรื่องการจัดการแข่งขันและโครงสร้างพื้นฐานยังคงมีปัญหาอยู่ จะให้ข้ามขั้นตอนไปใช้รูปแบบของต่างประเทศเลยก็ยังไม่ได้ และภาครัฐเองก็ควรเข้ามาลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับวงการฟุตบอล

"ฟุตบอลท้องถิ่นอุปสรรคเยอะ โครงสร้างของฟุตบอลเมืองไทย ในระบบสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยจัดยังสู้ฟุตบอลเดินสายยาก ฟุตบอลบ้านนอก หรือฟุตบอลรากหญ้า ในระดับการกำลังพัฒนาหรือตั้งใข่ ถ้าไปยึดโมเดลต่างประเทศแบบพรีเมียร์ลีก นั้นคงไม่ถูก เพราะมันต้องมีการลงทุนการอุดหนุน โครงสร้างพื้นฐานทั้งสนาม เช่น ขุนหาญ ยูไนเต็ด ใช้ สนาม อบต.ในการซ้อม แม้จะเป็นสนามที่สวย แต่สนามไม่มีอัฒจรรย์ ไม่มีห้องน้ำ ไม่มีห้องพักนักกีฬา  ส่วนสนามแข่งจริงต้องไปใช้ที่ตัวจังหวัดศรีสะเกษ ก็ต้องเข้าไปตัวจังหวัดใช้สนามโรงเรียนกีฬาจังหวัดศรีสะเกษ ที่ผ่านคลับไลเซนซิ่ง  การสนับสนุนเรื่องพวกนี้ควรมี การสร้างสนามกีฬาใหญ่ ๆ ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะในอำเภอที่มีประชากรหลักแสนคน เป็นการลงทุนทางภาครัฐที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย และถามว่าประเทศไทยมีกี่สโมสรที่มีเงินสร้างสนามเป็นของตัวเอง ยิ่งในระดับลีกล่าง ๆ อย่างการแข่งขันระดับไทยแลนด์ อเมเจอร์ลีกปีแรก ๆ มีปัญหาเยอะมาก เขาใช้หลักเกณฑ์การตรวจสนามเป็นหลักเกณฑ์ในการวัดทีมที่จะเข้าไปแข่งด้วย แล้วสุดท้ายความไม่โปร่งใสของการตรวจสอบ กลับมีปัญหา คือให้ส่งไฟล์วีดีโอสนามไป และเอกสารไป ไม่ได้ออกมาตรวจ จึงค้านสายตาหลายสโมสร โดยเฉพาะภาคอีสานที่เรารวบรวมได้ 10-20 สโมสร ที่ไม่เห็นด้วยว่าใครควรได้ลงแข่งจากการตัดสินเรื่องสนามของสมาคม ทั้งที่บางสนามเคยใช้แข่งระดับลีกสูงสุดมาแล้ว เช่น สโมสรของอำเภอวารินชำราบ ใช้สนาม ทุ่งบูรพา ที่อุบลฯ ที่เคยใช้แข่งไทยลีกมาแล้ว ยังไม่ผ่านเกณฑ์สมาคมฯ ส่วนบางสนามก็ผ่านอย่างน่ากังขา จึงไม่เอื้อต่อการพัฒนา" ถนัด กล่าว

รวยกระจุก จนกระจาย

รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง นักวิชาการผู้ศึกษาเรื่องกีฬาฟุตบอลและการเมืองท้องถิ่น ผู้ร่วมเขียนหนังสือ ‘(ก่อน) บอลไทยจะไปบอลโลก’ ชี้ถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในวงการฟุตบอลไทยนั้นว่าเกิดมาจากการขาดความสมดุล ทีมฟุตบอลที่มีทรัพยากรและใกล้ชิดผู้มีอำนาจทางการเมือง มักจะมีอิทธิพลเหนือวงการฟุตบอล ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับการผูกขาดทางธุรกิจ ที่ทีมสโมสรใหญ่ ๆ มักจะได้เปรียบทีมเล็ก ๆ โดยเฉพาะทีมท้องถิ่นในต่างจังหวัดที่ไม่มีเครือข่ายนักการเมืองอุปถัมภ์

“ปัญหาของฟุตบอลไทยที่เราเห็นมันคือเรื่องความสมดุล อำนาจต่อรองของสมาคมฟุตบอลกับสโมสรใหญ่นั้นแทบจะไม่มี ปัญหาที่แท้จริงจริงไม่ใช่เรื่องว่าเรามีตัวผู้เล่นหรือไม่มีตัวผู้เล่นเพียงอย่างเดียว แต่มันคืออำนาจต่อรองสมาคมที่ไม่มี ทำให้สโมสรมาขี่คอสมาคมฯ ได้ ปัญหาคือว่าสโมสรที่เป็นเอกชนต่าง ๆ มันเติบโตเพียงแค่บางสโมสร จนมีอิทธิพลเหนือวงการฟุตบอล ซึ่งอันนี้มันเป็นปัญหาเดียวกับการผูกขาดธุรกิจในประเทศไทย … รวยกระจุก จนกระจาย ก็ใช้ได้กับวงการฟุตบอลเหมือนกัน เพราะสุดท้ายมันก็ไปโตที่บุรีรัมย์ โตในที่ ๆ มันมีเงิน มีคอนเนคชัน ปัญหาความไม่สมดุลกันในลีก อำนาจต่อรองต่าง ๆ ทรัพยากรที่ไม่เท่ากัน สุดท้ายแล้วมันไม่ได้บิดเบี้ยวแค่ไทยลีกเพียงอย่างเดียว แต่บิดเบี้ยวทั้งระบบวงการฟุตบอล” ภิญญพันธุ์ กล่าว

ด้านถนัด ระบุว่าสำหรับทีมเล็ก ๆ ถ้าจะไต่ระบบจากฟุตบอลระดับรากหญ้าขึ้นไปในระดับอาชีพต้องใช้งบประมาณอย่างน้อย 5 ล้านบาท นอกจากนักฟุตบอล ก็ต้องใช้โค้ชที่มี License ระดับ C License ขึ้นไป ซึ่งเขาย้ำว่าการไม่มีเงินงบประมาณในการทำทีม ก็ไม่สามารถทำอะไรได้เลย โดยเฉพาะทีมท้องถิ่นขนาดเล็ก 

"ต่อให้อยากไปแข่งระดับไทยแลนด์ อเมเจอร์ลีกหรือไปให้ถึงไทยลีก 3 สุดท้ายก็มีปัญหาอยู่ดี ถ้าพูดถึงระดับต่างประเทศ ทีมระดับพรีเมียร์ลีกโครงสร้างก็จะต่างกันไป ต่างฝ่ายต่างแข่งขันกัน อ่อนแอก็แพ้ไป แต่ระบบเขาแข็งแรงแล้ว เราจะสร้างแบบเขาไม่ได้ เราต้องสร้างอีกแบบหนึ่ง เพื่อจะก้าวไปสู่ทีมชั้นนำแบบเอเชีย ต้องมีการวางแผนอีกแบบหนึ่ง สำคัญคืองบประมาณในการทำทีม และโครงสร้างพื้นฐานที่กระจุกแค่บางจังหวัด ประเทศไทยมีสโมสรฟุตบอลเยอะแยะมากมาย แต่ทำได้ไม่กี่ปีก็เลิกรากันไป เพราะไม่มีรายได้เข้ามา อย่างทีมเล็ก ๆ ของเรา ไปเตะก็เก็บค่าเข้าชมไม่ได้ หาสปอนเซอร์ไม่ได้ รายได้ทางเดียวคือมาจากการขายเสื้อและของที่ระลึก และหากไม่มีแมตซ์แข่งขัน ไม่มีความเคลื่อนไหว การขายสินค้าก็จะขายไม่ได้ตลอด ยิ่งไทยแลนด์ อเมเจอร์ลีกแข่งกันไม่กี่นัด ถ้าเตะแล้วแพ้ไปก็ต้องรออีกปีหน้ามันเลยไม่คุ้ม" ถนัด กล่าว

ก่อนจะไป ‘ฟุตบอลโลก’ ฟุตบอลท้องถิ่นและฟุตบอลเยาวชน ต้องเข้มแข็งก่อน

ศูนย์ฝึกฟุตบอล เขลางค์อคาเดมี (รุ่นอายุ 6 ปีขึ้นไป) โดยมี สะสม พบประเสริฐ โค้ชฟุตบอลและอดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทยเป็นที่ปรึกษา

เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2566 เขลางค์ ยูไนเต็ด ได้เปิดศูนย์ฝึกฟุตบอล เขลางค์อคาเดมี (รุ่นอายุ 6 ปีขึ้นไป) โดยได้รับเกียรติจากอดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย "โค้ชเตี้ย-สะสม พบประเสริฐ" ให้เกียรติมาเป็นที่ปรึกษาอคาเดมี่ ทั้งนี้ศูนย์ฝึกฟุตบอลเขลางค์อคาเดมี่สร้างขึ้นเพื่อเป็น ศูนย์ฝึกฟุตบอลให้คำปรึกษาและการฝึกอบรมที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ กับโค้ชมืออาชีพ เน้นในการพัฒนาทักษะฟุตบอลทั้งเชิงกายและสมองอย่างครบวงจร

ภิญญพันธุ์ มองว่าควรมีการให้ความสำคัญกับเยาวชนควบคู่ไปกับการสร้างทีมท้องถิ่น โดยอาจใช้ทรัพยากรหรือกลไกจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในการช่วยสนับสนุนอะคาเดมีของสโมสรในท้องถิ่น หนุนเสริมการสร้างนักฟุตบอลเยาวชนร่วมกับสโมสรในท้องถิ่น จะทำให้เยาวชนเหล่านี้มีโอกาสมากขึ้น 

“โมเดลอีกแบบหนึ่งผมมองว่าทุกวันนี้ ฟุตบอลนักเรียน ฟุตบอลกรมพละ มันไม่มีเรื่องราวใดๆ เลย คนเตะก็เตะไป เหมือนฟุตบอลสมัยก่อน เตะกันเอง ดูกันเอง มันควรทำแบบโมเดลของญี่ปุ่นดูไหม เช่นการแข่งฟุตบอลนักเรียนก็จะมีอินเตอร์ไฮ (การแข่งกันชิงแชมป์ทั่วประเทศระหว่างโรงเรียน) ทำยังไงให้บอลนักเรียน บอลมัธยมปลาย มันสร้างฝันได้ว่าสักวันเราต้องไปเตะ จะสนามศุภชลาศัย หรือราชมังคลาฯ ก็ได้ และทีมตัวแทนจังหวัด ก็จะเปลี่ยนทุกปี ในระดับจังหวัดระหว่างนั้นก็ควรจะมีเรื่องการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ปีนี้ ลำปางอาจมีบุญวาทย์วิทยาลัยเป็นตัวแทนระดับจังหวัด และทีมของจังหวัดก็จะเป็นเกี่ยวกับความเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่น มีเรื่องสปอนเซอร์ท้องถิ่นเข้ามา และในท้ายที่สุด นักฟุตบอลเยาวชนเหล่านี้ ก็จะไปเชี่อมกับสโมสร โดยอาจจะให้สิทธิ์สโมสรในท้องถิ่น ซึ่งก็คือลำปาง ได้มีสิทธิ์คัดเลือกก่อน”

ภิญญพันธุ์ ชี้ว่าหากเราพัฒนาระบบเยาวชน มันจะได้ทั้งสองฝั่ง ฝั่งแรกคือฐานมวลชน เพราะผู้คนก็จะเข้ามาดูลูกหลานตัวเองแข่งขัน กับอีกฝั่งหนึ่งคือการทำให้ระบบมันเชื่อมกัน ระหว่างฟุตบอลนักเรียนกับสโมสรฟุตบอลในท้องถิ่น โดยที่ไม่เกิดปัญหาอย่างที่เคยผ่านการ เช่นโครงการช้างเผือกของโรงเรียนในกรุงเทพฯ ที่คอยดูดนักฟุตบอลเยาวชนฝีเท้าดีจากต่างจังหวัด

ส่วนกิตติพงศ์ ประธานสโมสรเขลางค์ ยูไนเต็ด มองว่ารากฐานของฟุตบอลท้องถิ่นควรให้ความสำคัญตั้งแต่ระดับชุมชน และควรเริ่มตั้งแต่ระดับเยาวชน ตั้งแต่โรงเรียนประถมศึกษา มีอะคาเดมี มีกิจกรรมทัวร์นาเมนต์ให้เด็ก ๆ ได้ซึมซับบรรยากาศ และการให้โอกาสเยาวชนในท้องถิ่น ได้ลองเล่นฟุตบอล ไล่ตั้งแต่แบบสมัครเล่น กีฬาเยาวชนแห่งชาติ ไปจนถึงระดับคัดตัวเยาวชนทีมชาติ อะไรทำนองนี้ ซึ่งทั้งหมดก็ต้องเริ่มตั้งแต่ระดับโรงเรียนเชื่อมโยงกับท้องถิ่น

“ก่อนหน้านี้สโมสรเขลางค์ ยูไนเต็ด มีอะคาเดมีอยู่แล้วแต่จะเป็นในรุ่นตั้งแต่อายุ 10 ปีขึ้นไป ตอนนี้เราทำรุ่นเด็กลงไปอีก คือตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป มีความคาดหวังคือ อยากให้เด็ก ๆ ในลำปาง ได้มาซึมซับบรรยากาศ ให้เขามีแรงจูงใจ ให้เขามาเจอนักฟุตบอลที่เป็นคนในพื้นที่ ให้เขาได้รู้จัก และอยากจะซ้อมฟุตบอลอย่างจริงจัง ก็คือเปลี่ยนทัศนคติให้ก่อน เยาวชนในอะคาเดมีของเรา ทั้งหมดเป็นคนลำปาง คนท้องถิ่นแท้ ๆ วัตถุประสงค์หลักทั้งหมดเลยคือเราอยากจะเซ็นต์สัญญาเยาวชนเหล่านี้เข้าทีมชุดใหญ่ของเรา ที่สร้างเด็ก ก็อยากจะดันเขา จะได้ไม่ต้องออกไปตระเวนในพื้นที่อื่น เราสร้างของเราเองก็มีความผูกพันธ์กับทีม เราก็จะได้จากเขามากกว่าฝีเท้า คือเราจะได้สภาพจิตใจด้วย ความเป็นสโมสรด้วย และยังได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองของเขาด้วย ซึ่งก็เป็นคนท้องถิ่นนี่แหละ” กิตติพงศ์ กล่าว

กิตติพงศ์ ยังมองว่าภาระหน้าที่ในการพัฒนาฟุตบอลเยาวชนไม่ใช่แค่ทีมสโมสรเท่านั้น สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยควรเป็นตัวหลัก เนื่องจากเป็นผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับแผนการสร้างลีก การสนับสนุนงบประมาณในลีก ต้องให้สอดคล้องลีกเยาวชน (Youth League) ตั้งแต่เริ่มต้น ต้องทำให้สโมสรฟุตบอลมีรายได้ หรือหาสิทธิประโยชน์ให้สามารถใช้งบประมาณส่วนหนึ่งมาสร้างอคาเดมี่ตั้งแต่พื้นฐาน 

“กล่าวโดยสรุปคือสมาคมฟุตบอลเองต้องเป็นตัวหลักในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งทุกวันนี้เราไม่เห็นความชัดเจนของสมาคมเลย เหมือนปล่อยให้สโมสรเขาทำกันเอง” กิตติพงศ์ กล่าว

นักฟุตบอลระดับเยาวชนของสโมสรขุนหาญ ยูไนเต็ด (ที่มาภาพ: เพจ Khunhan United : สโมสรฟุตบอล ขุนหาญ ยูไนเต็ด)

ด้านถนัด ผู้ร่วมก่อตั้งสโมสรขุนหาญ ยูไนเต็ด ย้ำว่ารัฐต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำอย่างจริงจัง จะยกระดับฟุตบอลตั้งแต่ฐานรากต้องยกระดับตั้งแต่อะคาเดมี เช่นช่วยเหลือเด็กที่กำลังจะหลุดออกจากระบบการศึกษา ช่วยเหลือเด็กที่เรียนวิชาการไม่เก่งแต่ชอบฟุตบอลหรือกีฬา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอะคาเดมีต้องได้มาตรฐาน จึงต้องมีบุคลากรที่มีมาตรฐาน มีวิสัยทัศน์ เนื่องจากนักฟุตบอลไทยนั้นยังมีจุดอ่อนหลายอย่าง เริ่มจากโภชนาการ ที่กินตามมีตามเกิด คนไทยไม่ได้ตัวสูงใหญ่ แม้ความสูงใหญ่จะเป็นเรื่องพันธุกรรมแต่อาหารก็มีส่วน ฉะนั้นนักฟุตบอลไทยแพ้ตั้งแต่เรื่องสรีระ นอกจากนั้นทัศนคติก็แพ้ คือไม่ได้คิดไปข้างหน้า ไม่มีความคิดไปข้างหน้า ไม่มีเรื่องส่วนรวม มีแต่เรื่องส่วนตัว เวลาเราทำอะคาเดมีหรือสโมสร เราต้องปลูกฝังเรื่องการทำเพื่อส่วนรวม หรือทำเพื่อทีม เพราะตัวเองพัฒนาอยู่แล้วชีวิตมนุษย์ แต่คุณต้องคิดถึงส่วนรวม คิดถึงสาธารณะ ฟุตบอลมันสร้างเรื่องพวกนี้ เหล่านี้จะส่งผลต่อความคิดความอ่าน และระเบียบวินัย ที่ไม่ใช่ระเบียบวินัยแบบทหาร คือคุณรับผิดชอบตัวเองได้ ตื่นมาซ้อมฟุตบอล พักผ่อนตามกำหนด ไปเล่นในสนามทำเต็มที่ทุ่มสุดพลัง คิดแต่เรื่องฟุตบอล เหล่านี้คือทัศนคติ ถ้าสองส่วนนี้ได้ทักษะพื้นฐานการต่อยอดอื่น ๆ ในระดับสูงทำได้ง่ายมาก

"ถ้ารัฐจะมาทำอะไร ควรมาเริ่มจากระบบอะคาเดมีตั้งแต่ 9-10 ขวบ ไปจนถึง 16-18 ปี ที่ทีมสมัครเล่นเริ่มเอามาเตะ หรือใครเก่งกว่านั้นไประดับสูง รัฐต้องเข้ามาวางพื้นฐาน เพราะมีอะคาเดมี มีสโมสรสมัครเล่นที่พัฒนาไปได้ มีงบประมาณสนับสนุน นอกจากจะสร้างนักฟุตบอลที่มีคุณภาพมาทดแทนกันได้เรื่อย ๆ นอกจากส่งผลต่อทีมชาติ  ยังส่งผลต่อการตำแหน่งงานด้วย ประเทศไทยอบรม C License ทีหนึ่งมา 2-3 พันคน แต่ไม่มีงานให้ทำ ทั้งที่ไปอบรมเสียเงินมา ถ้าเราสร้างระบบนิเวศน์ดี ๆ อย่างที่กล่าวไป มันมีความมาตรฐาน ได้ความต่อเนื่อง นอกจากจะต่อยอดได้นักเตะคุณภาพไต่ชั้นไปเรื่อย ๆ ยังจะได้สร้างตำแหน่งงาน อย่างอำเภอขุนหาญ เป็นอำเภอที่ไม่มีห้างสรรพสินค้า กิจกรรมในชุมชนถ้าไม่ไปเดินตลาดนัดก็ไม่ได้ไปไหน แล้วเสาร์อาทิตย์จะทำอะไรล่ะ ลองมีกิจกรรมเตะฟุตบอลขึ้นมา ตำบลหนึ่งอยู่ห่างจากตัวอำเภอไม่เกิน 20 กิโลเมตรที่ผู้คนสามารถเดินทางมาได้" ถนัด กล่าว

ถนัดกล่าวทิ้งท้ายว่าถ้าบ้านนอกมีสนามฟุตบอล มีกิจกรรมฟุตบอล ผู้คนจะรอคอยกิจกรรมเหล่านั้นขนาดไหน ทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชน ไปดูฟุตบอล ไปดูฟุตบอล และจะสร้างเศรษฐกิจของอำเภอนั้น ๆ ได้ด้วย การยกระดับเศรษฐกิจรากหญ้าในชนบทประเทศไทยอาจทำได้หลายอย่างซึ่งหนึ่งในนั้นคือกีฬา สมมติว่าขุนหาญ ยูไนเต็ด มีสนามแข่งขันเกมเหย้าในอำเภอตัวเอง มีลีกแข่งขันที่เป็นลีกสมัครเล่นที่เตะกันทั้งปี ทุกสัปดาห์คนจะต้องมาดูฟุตบอล การค้าขายรอบสนามก็จะเกิดขึ้น รัฐต้องมาวางแผนและทำอย่างจริงจัง หากจะหวังไปฟุตบอลโลก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net