Skip to main content
sharethis

แรงงานรอลุ้นปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รอบสอง นำร่อง 10 จังหวัด เน้นธุรกิจท่องเที่ยว-บริการ

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำรอบที่ 2 ของปี 2567 ว่า ตามที่คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 ได้มีการประชุมครั้งที่ 2/2567 ไปเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ โดยมีมติเห็นชอบให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำรอบที่ 2 ใน 10 จังหวัดนำร่อง โดยคำนวณตามรายพื้นที่และประเภทกิจการ

ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ สงขลา พังงา ประจวบคีรีขันธ์ และระยอง ส่วนพื้นที่ที่คาดว่าจะมีการปรับค่าจ้างนั้น ยกตัวอย่างพื้นที่กรุงเทพฯ ในเขตปทุมวัน เขตสาทร จ.พังงา ในพื้นที่ อ.เขาหลัก จ.สงขลา อ.หาดใหญ่ หรือ จ.ชลบุรี ใน ต.แสนสุข เป็นต้น

โดยมอบหมายให้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดทั้ง 10 จังหวัด สำรวจในจังหวัดของตนเองว่า มีพื้นที่ใดที่ควรได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และควรปรับเพิ่มในอัตราเท่าไร โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ พร้อมส่งข้อมูลกลับมายังกระทรวงแรงงาน

“ขณะนี้ทางอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดใน 10 จังหวัดได้ส่งข้อมูลมายังกระทรวงแรงงานแล้ว และอยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูล เพื่อส่งให้กับที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างในวันที่ 26 มีนาคมนี้ ซึ่งการประชุมจะมีไตรภาคี ประกอบด้วยฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐบาล ประชุมร่วมกัน เพื่อให้การดำเนินการตามสูตรคำนวณใหม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ แต่ในวันที่ 26 มีนาคม ต้องมีการลงมติหรือขอความเห็นจากที่ประชุมในการพิจารณาค่าจ้างแต่ละจังหวัด” นายไพโรจน์กล่าว

เมื่อถามว่า ทางอนุฯ จังหวัดจะต้องส่งตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำแยกเป็นรายอาชีพหรือไม่ นายไพโรจน์กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบที่ 2 ในปีนี้ เบื้องต้นจะเน้นในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวก่อน เป็นการนำร่องก่อน ทั้งนี้ ปัจจุบันหลายอาชีพก็ได้รับค่าจ้างเกิน 400 บาทต่อวันแล้ว แต่ที่ต้องมองประเด็นประเภทกิจการก่อน เพราะธุรกิจท่องเที่ยวนั้นสร้างรายได้ให้กับประเทศสูง

ผู้ประกอบการจึงควรปรับเพิ่มค่าจ้างให้ลูกจ้าง ซึ่งจากการสำรวจก็พบว่านายจ้างก็จ่ายค่าจ้างเกิน 400 บาทต่อวันให้ลูกจ้างอยู่แล้ว แต่ในการประชุมวันที่ 26 มี.ค. นี้ ก็จะทราบชัดเลยว่าแต่ละจังหวัดมีข้อมูลการจ้างงานเกิน 400 บาทต่อวันมากน้อยแค่ไหน

ที่มา: ข่าวสด, 23/3/2567

รมว.แรงงาน หนุนกาสิโนถูกกฎหมาย ชี้เสริมท่องเที่ยวไทย-จ้างงานเพิ่ม

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ซึ่งจะมีบ่อนกาสิโนถูกกฎหมายรวมด้วยนั้น ในส่วนของภาคแรงงาน ประเมินว่า จะเป็นการสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่เพิ่มเติม ยกตัวอย่าง หากมี 1 กาสิโนเกิดขึ้น เท่ากับจะสร้างเมืองใหม่ได้อีกเมือง มีแรงงานในกาสิโนไม่น้อยกว่า 10,000 คน ประเทศไทยมี 5 ภูมิภาค หากสามารถสร้างกาสิโนได้ทั้ง 5 ภาค เท่ากับจะสร้างการจ้างแรงงานเพิ่มได้ 50,000 คน รวมถึงค่าแรงของกลุ่มแรงงานเหล่านี้จะสูงขึ้นกว่าแรงงานทั่วไปด้วย เพราะเป็นแรงงานในภาคบริการ หรือแรงงานฝีมือที่ใีความต้องการเฉพาะเจาะจง

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการสร้างเป็นสถานบันเทิงครบวงจร รวมกาสิโนด้วย ที่จะดึงเฉพาะรายใหญ่เข้ามาลงทุน เพื่อสร้างเป็นสถานบันเทิงขนาดใหญ่ เนื่องจากถือเป็นการสร้างความเจริญให้กับพื้นที่ตั้งและประเทศไทยในภาพรวมด้วย แต่ต้องดูความเหมาะสมในการเลือกสร้างว่าจะเป็นพื้นที่ใด จังหวัดใด โดยมองว่าควรเลือกจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยว สามารถรองรับนักท่องเที่ยวเข้ามาได้ แต่อาจยังไม่ใช่จังหวัดที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากนัก อาทิ จังหวัดเมืองรองต่างๆ เพื่อให้อัดกำลังคนเข้าไปเที่ยวมากขึ้น กระจายนักท่องเที่ยวจากเมืองหลักๆ ออกมา แต่จังหวัดที่ถูกเลือกก็ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานพร้อม มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ อาทิ สนามบิน

“สนับสนุนแบบ 1 ล้านเปอร์เซ็นต์ เพราะการมีกาสิโนที่ถูกกฎหมาย ถือเป็นการสร้างเศรษฐกิจ และหากมีทั้ง 5 ภูมิภาคได้ จะเป็นการดึงนักท่องเที่ยวที่นิยมการละเล่นรูปแบบนี้เข้ามา ถือเป็นการเพิ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้นด้วย ทั้งยังเป็นการดึงสิ่งที่ไม่ถูกต้องขึ้นมาอยู่ในทางที่ถูกต้อง ลดปัญหาความขัดแย้งได้ด้วย โดยเฉพาะการพนันออนไลน์ที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาลด้วย” นายพิพัฒน์ กล่าว

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า สิ่งที่จะตามมาคือ สามารถป้องกันนักเสี่ยงโชคของไทยที่จะออกไปเล่นในต่างประเทศ ให้เข้ามาเล่นในไทยเองได้ด้วย แต่ต้องตั้งเงื่อนไขให้ดีในการใช้บริการในประเทศ โดยหลักๆ มองว่า คนไทยที่จะใช้บริการกาสิโนในประเทศ จะต้องมีอาชีพเป็นหลักแหล่ง ต้องมีฐานะปานกลางถึงมั่นคง เงินขั้นต่ำจะต้องไม่น้อยกว่าเท่าใด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงในประชาชนกลุ่มที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลจะได้จากสถานบันเทิงครบวงจร รวมกาสิโน ก็เป็นรายได้จากภาษีที่สามารถจัดเก็บได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย อาทิ โมเดลต้นแบบในประเทศสิงคโปร์ ที่สามารถตรวจสอบได้จริง

ที่มา: มติชนออนไลน์, 21/3/2567

กรมการจัดหางานใช้มาตรการเชิงรุกกวาดล้างต่างชาติแย่งอาชีพคนไทย

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีพบคนต่างชาติ เช่น สัญชาติเมียนมา กัมพูชา เวียดนาม จีน รัสเซีย และอินเดีย เดินทางเข้าประเทศไทยแย่งอาชีพคนไทย โดยเฉพาะในตลาดนัด ตลาดสด ร้านทำเล็บ อู่ซ่อมรถ แผงค้าขาย รถเข็น ผับบาร์ตามแหล่งท่องเที่ยว และย่านการค้า ซึ่งเป็นที่นิยมทั้งในกลุ่มชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ จนกระทบต่อบรรดาผู้ประกอบการในพื้นที่ ว่า กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ใช้มาตรการเชิงรุกตรวจสอบต่างชาติแย่งงานคนไทยทั่วประเทศโดยไม่แจ้งล่วงหน้า เผยตรวจสอบสถานประกอบการแล้ว 25,628 แห่ง ดำเนินคดี 820 แห่ง ตรวจสอบคนต่างชาติ จำนวน 306,577 คน ดำเนินคดีแล้ว 1,689 คน เป็นความผิดแย่งอาชีพคนไทย 721 คน ส่วนมากคนต่างชาติจะอาศัยอยู่ตามจังหวัดใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ภูเก็ต สมุย พัทยา และเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งประกอบอาชีพคนไทย และย่านการค้าแหล่งเศรษฐกิจสำคัญที่พบเห็นแรงงานต่างชาติทำงานจำนวนมาก

นายคารม กล่าวด้วยว่า จากผลการดำเนินการของกรมการจัดหางาน ปีงบประมาณ 2567 (วันที่ 1 ต.ค.66 – 18 มี.ค.67) มีการเข้าตรวจสอบสถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างชาติทั่วประเทศแล้ว จำนวน 25,628 แห่ง ดำเนินคดี 820 แห่ง และตรวจสอบคนต่างชาติ จำนวน 306,577 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 232,106 คน กัมพูชา 42,698 คน ลาว 18,001 คน เวียดนาม 236 คน และสัญชาติอื่นๆ 13,536 คน มีการดำเนินคดีทั้งสิ้น 1,689 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 875 คน กัมพูชา 318 คน ลาว 231 คน เวียดนาม 87 คน และสัญชาติอื่นๆ 178 คน

ซึ่งพบเป็นการแย่งอาชีพคนไทย ทั้งสิ้น 721 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 316 คน กัมพูชา 175 คน ลาว 106 คน อินเดีย 65 คน เวียดนาม 42 คน จีน 5 คน และสัญชาติอื่น ๆ 12 คน โดยอาชีพที่พบคนต่างชาติแย่งอาชีพมากที่สุด ได้แก่ งานเร่ขายสินค้า งานตัดผม งานขับขี่ยานพาหนะ และงานนวด ตามลำดับ และงานที่คนต่างชาติถูกดำเนินคดีเพราะไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ได้แก่ งานขายของหน้าร้าน งานช่างก่อสร้าง งานกรรมกรตามลำดับ

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 21/3/2567

ก.แรงงาน รุกโรงงานอยุธยา สร้างต้นแบบสวัสดิการ แนะอาชีพอิสระให้กู้ดอก 0%

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำคณะ ประกอบด้วย นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสันติ นันตสุวรรณ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) และรักษาการผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ว่าที่ ร.ต.สมศักดิ์ พรหมดำ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ ณ บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด โรงงานข้าวนครหลวง ต.แม่ลา อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินงานด้านการจัดสวัสดิการต่างๆ ให้แก่ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ พร้อมพบปะหน่วยงานภาคีภาคเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน โดยมี นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายชัยกฤต พุ่มเข็ม ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายธรรมวิทย์ ศรีเกริกกริช รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านการผลิตและวิศวกรรม หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน จ.พระนครศรีอยุธยา ร่วมให้การต้อนรับ พร้อมรายงานภาพรวมเศรษฐกิจใน จ.พระนครศรีอยุธยา

นายพิพัฒน์กล่าวว่า จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมภาคกลาง จึงได้หารือกับ 35 บริษัท แบ่งเป็น อุตสาหกรรมยานยนต์, เทคโนโลยีดิจิทัล, ขนส่งโลจิสติกส์ และหน่วยงานเครือข่ายแรงงาน 22 หน่วยงาน

วันเดียวกัน นายพิพัฒน์ มอบหมายให้เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจเยี่ยมโครงการกระทรวงแรงงานพบปะกลุ่มแรงงานนอกระบบ และภาคีเครือข่ายด้านแรงงาน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมี นายธนณัฏฐ์ รุ่งแจ้ง ประธานชมรมแรงงานนอกระบบจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รายงานการส่งเสริม สนับสนุนสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มแรงงานนอกระบบ โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นอกจากนี้ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้พบปะพูดคุยกับกลุ่มแรงงานนอกระบบและภาคีเครือข่ายด้านแรงงาน เยี่ยมบูธของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน จ.พระนครศรีอยุธยา อาทิ สำนักงานประกันสังคม ได้เชิญชวนแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เข้าสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองสิทธิประโยชน์จากประกันสังคม เช่น กรณีประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วย หรือทุพพลภาพ ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีเสียชีวิต ได้รับค่าทำศพ กรณีชราภาพ ได้รับบำเหน็จชราภาพ ทุกเดือน กรณีจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน รับเงินเพิ่ม 10,000 บาท และรับเงินสงเคราะห์บุตรทุกเดือน เป็นต้น ขณะที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดให้คำแนะนำแก่แรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระในการกู้ยืมเงินจากกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนถูกกฎหมายดอกเบี้ยต่ำ สอดคล้องกับของขวัญปีใหม่ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มอบให้แรงงานนอกระบบที่เป็นผู้รับงานไปทำที่บ้าน สามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนในอัตราดอกเบี้ย 0% นาน 24 เดือน เพื่อทุนนำไปซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการผลิตสินค้าได้มากขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการมอบป้ายชมรมแรงงานนอกระบบจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเครือข่ายแรงงานนอกระบบเข้มแข็งด้วย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 20/3/2567

เปิดผลการศึกษา ชี้ไทยขาดแคลนหนักบุคลากรด้าน Al ชวนลูกจ้าง-นายจ้าง อัปเลเวล ช่วยแรงงานไทยอัปค่าจ้างได้ถึง 41% เปิดโอกาสก้าวหน้าในสายอาชีพ

การศึกษาล่าสุดจากบริษัท Amazon Web Services (AWS) เผยว่า ทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่โอกาสในการเพิ่มค่าจ้างให้บุคลากรในประเทศไทย โดยพบว่าบุคคลที่มีความสามารถด้าน AI มีแนวโน้มที่จะได้รับการปรับเพิ่มค่าจ้างสูงกว่า 41% เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสายงาน IT และธุรกิจ ที่ตัวเลขนี้สูงถึง 54% และ 51% ตามลำดับ นอกจากนี้ ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นว่าบุคลากรไทยเกือบทั้งหมด (98%) มองว่าการพัฒนาทักษะในด้าน AI จะเปิดโอกาสให้พวกเขาก้าวหน้าในอาชีพได้มากขึ้น ทั้งในเรื่องของประสิทธิภาพในการทำงาน ความมั่นคงของอาชีพ และการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ การสำรวจนี้ยังระบุว่าผู้คนในทุกช่วงอายุในไทยมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาทักษะ AI เพื่อเสริมสร้างโอกาสในอาชีพการงาน โดยมีการตอบรับที่สูงมากในกลุ่ม Gen Z Gen Y และ Gen X ซึ่งมีความสนใจถึง 93% 95% และ 95% ตามลำดับ แม้กระทั่งกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ ที่อยู่ในช่วงเกษียณหรือใกล้เกษียณก็ยังแสดงความสนใจที่จะยกระดับทักษะด้าน AI หากมีโอกาส

ความสามารถด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของบุคลากรไทยมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร โดยมีการคาดการณ์ว่า ประสิทธิภาพขององค์กรจะปรับปรุงขึ้นถึง 58% ภายใต้การช่วยเหลือของ AI ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาการสื่อสารได้มากถึง 66% ลดซ้ำซ้อนและเพิ่มความสามารถในการทำงานแบบอัตโนมัติได้ถึง 65% และยังส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้ถึง 60% ทั้งนี้ บุคลากรเองมีความเชื่อมั่นว่า AI สามารถเสริมสร้างประสิทธิผลในการทำงานของพวกเขาได้มากถึง 56% ในขณะที่องค์กรต่างๆ ในไทยกำลังดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วย AI โดยมีการรายงานว่า 98% ของนายจ้างมีความคิดเห็นว่าบริษัทของตนจะปรับตัวเป็นองค์กรที่ใช้ AI เต็มรูปแบบภายในปี 2571 แม้ว่ามีการมองว่าแผนก IT จะได้รับประโยชน์สูงสุด แต่ยังมีความเชื่อว่าแผนกอื่นๆ เช่น ฝ่ายวิจัยและพัฒนา 95% การเงิน 95% การดำเนินธุรกิจ 94% ฝ่ายขายและการตลาด 93% ทรัพยากรบุคคล 91% และกฎหมาย 90% ก็สามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้เช่นกัน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 19/3/2567

ครม.เห็นชอบแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2571 จำนวน 731 อัตรา งบประมาณรวมทั้งสิ้น 208.08 ล้านบาท

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา (แผนอัตรากำลังโรงพยาบาลฯ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2571 จำนวน 731 อัตรา งบประมาณรวมทั้งสิ้น 208.08 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ ทั้งนี้ แผนอัตรากำลังฯ จะส่งผลต่อการเพิ่มอัตรากำลังและบุคลากร และภาระค่าใช้จ่ายในอนาคต จึงเห็นควรที่มหาวิทยาลัยพะเยาจะพิจารณาดำเนินการเท่าที่จำเป็นตามภารกิจหลัก อย่างประหยัด และคุ้มค่า และคำนึงถึงความครอบคลุมของทุกแหล่งเงินที่จะนำมาใช้จ่าย โดยเฉพาะรายได้หรือเงินนอกงบประมาณอื่นใดที่มหาวิทยาลัยมีอยู่หรือสามารถนำมาใช้จ่ายเป็นลำดับแรก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ และเกิดผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการภาครัฐอย่างยั่งยืน ตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้  (1) ขยายศักยภาพเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็ก ระดับ M1 ขนาด 200 เตียง ในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2571 เพื่อรองรับการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและการขยายศักยภาพเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ระดับ S  (2) เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของเขตสุขภาพที่ 1 ในเขตพื้นที่ล้านนาตะวันออก (จังหวัดเชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน และพะเยา) เป็นหน่วยให้บริการที่เป็นโรงพยาบาลรับผู้ป่วยส่งต่อระดับสูง รวมทั้งพัฒนาเรื่องต่าง ๆ เช่น ระบบบริการสุขภาพด้านอุบัติเหตุฉุกเฉิน การดูแลผู้สูงอายุในเขตบริการ ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินและระบบการส่งต่อเพื่อลดความแออัดในเขตสุขภาพที่ 1 (3) พัฒนาศูนย์การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพเพื่อรองรับการเป็นสถานฝึกปฏิบัติการในชั้นคลินิกสำหรับนิสิตแพทย์มหาวิทยาลัยพะเยาให้มีศักยภาพ สามารถใช้เป็นแหล่งฝึกบุคลากรทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ รวมทั้งเพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนทั้งก่อนปริญญาและหลังปริญญา และ (4) พัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ เช่น ศูนย์ตรวจสุขภาพ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุครบวงจร ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง ศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง

“สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลฯ แล้ว เห็นว่า แผนความต้องการอัตรากำลังฯ มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาขีดความสามารถ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น (1) ควรทบทวนภารกิจของหน่วยงานให้สอดคล้องกับภาระงาน เช่น การขยายสถานที่บริการ ควรฝึกวิชาชีพเฉพาะทางหลักสูตรต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น (2) ควรวิเคราะห์ปริมาณงานเฉลี่ย (3) การของบประมาณตามแผนความต้องการอัตรากำลังฯ ควรคำนึงถึงภาระผูกพันในการจัดสรรงบประมาณด้านบุคลากรที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยพะเยาได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระยะเวลาการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณเพื่อรองรับการขอเพิ่มอัตรากำลังดังกล่าวไม่สอดคล้องกับระยะเวลาการขอรับจัดสรรงบประมาณในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยพะเยาจึงได้ปรับระยะเวลาของแผนอัตรากำลังฯ จากเดิมปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2569 เป็นปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2571” นายคารม กล่าว

ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย, 19/3/2567

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net