Skip to main content
sharethis
  • หลังงบประมาณปี 67 ผ่านสภาฯ วาระ 2 และ 3 แล้วนั้น ในโอกาสนี้ชวนย้อนดูงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ปีงบประมาณ 2567 ตามร่างและเอกสารประกอบที่เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์สำนักงบประมาณเอกสารขาวคาดแดง(ก่อนที่ กมธ.พิจารณา) หน่วยงานต่างๆ ตั้งงบใช้จ่ายเกี่ยวกับสถาบันที่พบรวมประมาณ 36,192 ล้านบาท หรือเพียง 1.04% ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด 3.48 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายโดยตรง 18,472 ล้านบาท รายจ่ายโดยอ้อม 17,720 ล้านบาท ซึ่งจำนวนมากมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่มีการอ้างอิงหรือมีจุดเกาะเกี่ยวกับสถาบันฯ หรือเสริมสร้างบารมีให้กับสถาบันฯ ผ่านการเทิดพระเกียรติ ประชาสัมพันธ์พระเกียรติคุณ ปลูกจิตสำนึกเทิดทูนสถาบันฯ ด้วย
  • ปีนี้รายจ่ายรวมเพิ่มขึ้นจากปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับสัดส่วนต่องบประมาณรวมแล้วกลับลดลงด้วยงบประมาณรวมสูงขึ้น พบบางโครงการที่มีชื่อหรือวัตถุประสงค์เคยอ้างอิงหรือมีจุดเกาะเกี่ยวกับสถาบันฯ ปีนี้กลับไม่ระบุแล้ว แม้จะมีรูปแบบกิจกรรมคล้ายกัน ซึ่งรายงานชิ้นนี้จะไม่นับโครงการหรือกิจกรรมเหล่านั้นเข้ามา
  • ขณะที่ 'ส่วนราชการในพระองค์' ตามเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 เล่มที่ 17 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (เอกสารขาวคาดแดง) ยังคงมีจำนวนรายละเอียดที่น้อย ซึ่งมีข้อมูลเพียง 8 หน้า และน้อยกว่าปีที่แล้ว 1 หน้า ขณะที่งบประมาณที่ตั้งไว้ถึง 8,478 ล้านบาท เมื่อเทียบกับส่วนราชการที่ของบฯ ระดับเดียวกัน เช่น กระทรวงดิจิทัลฯ กลับมีรายละเอียดถึง 366 หน้า
  • อนึ่งรายจ่ายโดยตรง นั้น ซึ่งหมายถึงรายจ่ายที่ใช้เพื่องานเกี่ยวกับสถาบันโดยตรง กับ รายจ่ายโดยอ้อม ซึ่งหมายถึงรายจ่ายที่ใช้ผ่านโครงการที่ดำเนินการในเรื่องอื่นๆ เช่น โครงการเทิดพระเกียรติ เผยแพร่ เทิดทูน ประชาสัมพันธ์พระเกียรติคุณ โครงการหลวง โครงการพระราชดำริ รวมถึงโครงการในชื่ออื่นๆ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่มีการอ้างอิงหรือมีจุดเกาะเกี่ยวกับสถาบันฯ หรือเสริมสร้างบารมีให้กับสถาบันฯ ด้วย

 

ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่เพิ่งผ่านสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 2 และ 3 ด้วยมติ 298 เห็นชอบ 166 ไม่เห็นชอบ งดออกเสียงกับไม่ลงคะแนนอย่างละ 1 เสียง เมื่อวันที่ 22 มี.ค.นั้น รายงานชิ้นงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ทั้งทางตรงและอ้อมตามร่างและเอกสารประกอบที่เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์สำนักงบประมาณเอกสารขาวคาดแดง(ก่อนที่กรรมาธิการจะพิจารณา) ตามหน่วยรับงบต่างๆ พบว่ามีการตั้งงบประมาณการใช้จ่ายเกี่ยวกับสถาบันจากร่างงบฯ ทั้งหมดราว 36,192 ล้านบาท หรือเพียง 1.04% ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด 3.48 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายโดยตรง 18,472 ล้านบาท รายจ่ายโดยอ้อม 17,720 ล้านบาท

  • เปิดงบประมาณปี 2563 ส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.9 หมื่นล้านบาท https://prachatai.com/journal/2020/03/86761
  • เปิดงบเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ปี 2564 รายละเอียดตามเอกสาร ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ https://prachatai.com/journal/2020/08/89306
  • เปิดงบเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ปี 65 รายละเอียดตามเอกสาร ร่างพ.ร.บ.งบฯ พบราว 3.57 หมื่นล้าน https://prachatai.com/journal/2021/08/94506
  • เปิดงบเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ปี 66 รายละเอียดตามเอกสาร ร่างพ.ร.บ.งบฯ พบราว 3.47 หมื่นล้าน https://prachatai.com/journal/2022/08/99977

 

ตารางเปรียบเทียบงบสถาบันฯ ปี 63-67 (หน่วย : ล้านบาท)

ปีงบประมาณ

ทางตรง (ล้านบาท)

ทางอ้อม

(ล้านบาท)

รวม

(ล้านบาท)

งบประมาณรวม(ล้านบาท)

สัดส่วนต่องบประมาณรวม

2563

19,685

10,043

29,728

3,200,000

0.93%

2564

20,653

16,575

37,228

3,300,300

1.12%

2565

20,931

14,829

35,760

3,100,000

1.15%

2566

16,923

17,829

34,752

3,180,000

1.09%

2567

18,472

17,720

36,192

3,480,000

1.04%

เมื่อพิจารณาเฉพาะส่วนของงบรายจ่ายตรงทั้งหมดจะพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงจากปีที่ 63, 64, 65 และ 66 ดังปรากฏรายละเอียดในตาราง

ตารางเทียบรายจ่ายโดยตรงบางส่วนเทียบร่างงบฯ ปี 63-67 (หน่วย : ล้านบาท)

หน่วยงาน/รายการ

63

64

65

66

67

ส่วนราชการในพระองค์

7,685

8,981

8,761

8,611

8,478

(สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) โครงการการถวายความปลอดภัยพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์

1,976

1,650

2,119

1,574

1,753

(กรมโยธาธิการ) โครงการสนับสนุนกิจกรรมพิเศษหลวง/เขตพระราชฐาน ตามแผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ

2,378

1,700

1,500

1,500

1,500

(สำนักเลขาธิการนายกฯ) พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ได้รับความปลอดภัยสูงสุด (การถวายปฏิบัติการบิน)

5,528

5,184

3,523

2,342

3,384

(สนง.ปลัดกระทรวงกลาโหม) การสนับสนุนการถวาย ความปลอดภัยสถาบันพระมหากษัตริย์

1,201

1,218

1,296

1,015

1,015

(งบกลาง)ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ

1,000

1,000

800

800

800

(สำนักเลขาฯ ครม.) การประสานงานกับส่วนราชการในพระองค์และการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์

506

496

412

410

430

(กอ.รมน.) งานเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ

-

80

21

34

33

นอกจากนี้ยังมี โครงการพิทักษ์รักษา การเทิดทูน และการสนับสนุนภารกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ของ กองทัพบก 291.2 ล้านบาท  กองทัพเรือ 395.55 ล้านบาท กองทัพอากาศ 65.4045 ล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 17.7532 ล้านบาท และกองบัญชาการกองทัพไทย 58.0806 ล้านบาท

ค่าใช้จ่ายในการจัดงานพระราชพิธีและพิธีสำคัญของรัฐบาล 33 ล้านบาท ค่าดำเนินการโครงการที่พักอาศัยข้าราชการกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ของการเคหะแห่งชาติ งบเงินอุดหนุน 16.344 ล้านบาท เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการดูแลช้างสำคัญจากสำนักพระราชวังของ โดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ 8.6648 ล้านบาท รวมถึงหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมมีกิจกรรมโครงการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ อย่างเช่น สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม 127.4619 ล้านบาท กรมการศาสนา 37.3320 ล้านบาท กรมศิลปากร 5 ล้านบาท และ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมมีโครงการเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ โครงการสร้างจิตสำนึก ค่านิยม และอัตลักษณ์ความเป็นไทย 16.5012 ล้านบาท ส่วนของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ มีค่าใช้จ่ายในการจัดงานเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ 3.8 ล้านบาท เป็นต้น

  • ประมวลความเคลื่อนไหวว่าด้วย ‘งบสถาบันกษัตริย์’ ย่างเข้าสู่ปีที่ 4 ที่มีการพูดถึง https://prachatai.com/journal/2024/01/107478
  • 'พิธา' เผย ‘ราชการในพระองค์’ ปรับวิธีแจงการใช้งบ-ขอหน่วยงานอื่นเลี่ยงต่อท้ายชื่อโครงการด้วย ‘เฉลิมพระเกียรติ’ https://prachatai.com/journal/2022/07/99510

สำหรับรายจ่ายโดยอ้อมของปี 2567 นั้นมีความหลากหลาย โดยลักษณะโครงการเป็นไปตามพันธกิจของหน่วยงานนั้นๆ แต่หากจัดกลุ่มโดยดูโครงการลักษณะเดียวกันที่ปรากฏตัวอยู่ในหลายหน่วยงานก็สามารถแบ่งประเภทได้คร่าวๆ

ดังนี้

1. โครงการพระราชดำริ/โครงการหลวง/โครงการเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง งบรวมประมาณ 11,396.6471 ล้านบาท

2. โครงการเทิดพระเกียรติ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์พระเกียรติคุณ ปลูกจิตสำนึกเทิดทูนสถาบันฯ  งบรวมประมาณ 4,542.6635 ล้านบาท

3. โครงการ TO BE NUMBER ONE  งบรวมประมาณ 125.6 ล้านบาท

4. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช/พรรณไม้หายากในสมเด็จพระเทพฯ งบรวมประมาณ 305.1 ล้านบาท

5. โครงการสัตว์ปลอดโรคคนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศ.ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี งบรวมประมาณ 580.5 ล้านบาท

6. โครงการอื่นๆ ตามหน่วยงานต่างๆ งบรวมประมาณ 769.7543 ล้านบาท

รายการ

ปีงบประมาณ / หน่วย : ล้านบาท

65

66

67

โครงการพระราชดำริ/โครงการหลวง/โครงการเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง

11,936.6 

13,361

11,396.6

 โครงการเทิดพระเกียรติ การปลูกจิตสำนึกเทิดทูนสถาบัน

299

1,844.9

4,542.66

 โครงการ TO BE NUMBER ONE

191

195.3

125.6

โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช/พรรณไม้หายากในสมเด็จพระเทพฯ

277

407.5

305.1

โครงการสัตว์ปลอดโรคคนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศ.ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี

455

455.84

580.5

โครงการอื่นๆ ตามหน่วยงานต่างๆ

1,671 

1,564

769.75

ในจำนวนนี้พบงบประมาณหลายส่วนที่มีลักษณะเดียวกับปีก่อน แต่ปีนี้กลับเปลี่ยนชื่อรวมทั้งวัตถุประสงค์ของโครงการไป ตัวอย่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เงินอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายโครงการการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ชุมชนบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน มีลักษณะคล้ายกับโครงการ เงินอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ ในปี 2566 แผนงานพื้นฐานด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ งบเงินอุดหนุน 21.55 ล้านบาท หรือเงินอุดหนุนศูนย์ทันตกรรมและหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ จากปี 2566 ใช้ชื่อเงินอุดหนุนศูนย์ทันตกรรมพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ งบ 20 ล้านบาท เป็นต้น

ซึ่งในส่วนนี้สอดคล้องกับที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลขณะนั้นโพสต์ผ่านแฟนเพจของตัวเอง 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' เมื่อวันที่ 14 ก.ค.66 ถึงความก้าวหน้าของ “ส่วนราชการในพระองค์” ในการชี้แจงระหว่างการพิจารณางบประมาณประจำปี 2566 ตอนหนึ่งว่า กมธ.สังกัดพรรคก้าวไกลที่นั่งอยู่ในได้เล่าให้เขาฟังว่า เมื่อถามตรงนี้ไป เลขา ครม.ในฐานะผู้ชี้แจง ได้ตอบเรื่องนี้อย่างชัดเจนว่า "ขอให้หน่วยงานต่างๆ หลีกเลี่ยงคำว่า ‘เฉลิมพระเกียรติ’ ในการจัดทำโครงการ โดยเฉพาะบางหน่วยงานที่มักใช้ต่อท้ายชื่อโครงการและรายการต่างๆ"

ตัวอย่างรายละเอียดรายจ่ายโดยตรงบางรายการ

1.ส่วนราชการในพระองค์

จัดตั้งขึ้นในยุครัฐบาล คสช. โดยอาศัยการออก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 มีการโอนย้าย 5 หน่วยงานราชการมาสังกัดส่วนราชการในพระองค์ และการจัดระเบียบส่วนงานกำหนดไว้ให้เป็นไป “ตามพระราชอัธยาศัย” ได้แก่ 1.สำนักราชเลขาธิการ (เดิมเป็นส่วนราชการอิสระ มีฐานะเทียบเท่ากรม ราชเลขาธิการอยู่ใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี) 2.สำนักพระราชวัง (เดิมเป็นหน่วยราชการในพระองค์ มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง โดยขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี) 3.กรมราชองครักษ์ (เดิมสังกัดกระทรวงกลาโหม) 4.หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (เดิมสังกัดกระทรวงกลาโหม) 5.สำนักงานนายตำรวจราชสำนัก (เดิมสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ)

นอกจากนี้ปี 2562 ยังมีการออกพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ อันได้แก่ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

ปัจจุบันมีการจัดโครงสร้างส่วนราชการในพระองค์ ประกอบด้วย 3 หน่วยหลักคือ 1.สำนักงานองคมนตรี 2.สำนักพระราชวัง 3.หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์

ตามเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 เล่มที่ 17 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (เอกสารขาวคาดแดง) ยังคงมีจำนวนรายละเอียดที่น้อย ซึ่งมีข้อมูลเพียง 8 หน้า และน้อยกว่าปีที่แล้ว 1 หน้า ระบุเพียงว่าเป็น “เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายส่วนราชการในพระองค์” ตั้งงบไว้ถึง 8,478 ล้านบาท เมื่อเทียบกับส่วนราชการที่ของบฯ ระดับเดียวกัน เช่น กระทรวงดิจิทัลฯ กลับมีรายละเอียดถึง 366 หน้า

  • เปิดเอกสารงบประมาณ 67 'ส่วนราชการในพระองค์' 8 หน้า กับงบประมาณ 8.4 พันล้านบาท https://prachatai.com/journal/2023/12/107454

สำหรับงบประมาณส่วนราชการในพระองค์นั้น เริ่มต้นจาก 6,391 ล้านเมื่อปี 2561 ที่เริ่มก่อตั้ง และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ปีนี้จะลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย แต่การประมาณการถึงปีงบประมาณ 2570 ก็เพิ่มขึ้นโดยมีการประมาณการรายจ่ายล่วงหน้าว่าหน่วยงานนี้จะได้รับงบประมาณกว่า 9,981.752 ล้านบาท 

 

ก้าวไกล ‘ไม่ติดใจ’ งบส่วนราชการในพระองค์ พร้อมข้อสังเกตพัฒนาการในรอบ 5 ปี ชั้น กมธ.เพิ่มเป็น 21 หน้า

ขณะที่การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ วาระ 2 และ 3 ใน มาตรา 36 ส่วนราชการในพระองค์ เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา ไม่มีการแก้ไข มีกรรมาธิการขอสงวนความเห็น มีผู้แปรญัติขอสงวนคำแปรญัติ โดย ศิริกัญญา ตันสกุล สส. พรรคก้าวไกล ระบุว่าตนสงวนความเห็นไว้ในมาตรา 36 ส่วนราชการในพระองค์ ในปีนี้ส่วนราชการในพระองค์ขอและได้รับการอนุมัติงบประมาณจากทางสำนักงบประมาณ 8,478.3830 ล้านบาท ในคำสงวนของตนได้ขอปรับลดหลือ 8,224 ล้านบาท

สำหรับปีนี้เป็นปีที่ตนต้องตั้งขอสังเกตไว้ในสภาว่าทางหน่วยงานได้มีการมอบหมายให้กับทางสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเข้ามาชี้แจงให้กับกรรมาธิการได้รับทราบในรายละเอียดของที่มาที่ไปของงบประมาณ ที่พิเศษไปกว่านั้นปีนี้มีการส่งเอกสารชี้แจงในรูปแบบที่ได้ตกลงกับทางสำนักงบประมาณและส่งมาค่อนข้างครบถ้วนรวม 21 หน้า รวมถึงส่งแผนการเบิกจ่ายงบประมาณไปพลางก่อนในปี 2566 ด้วย

ศิริกัญญา กล่าวด้วยว่าในฐานะที่ตนเป็น กมธ. ปีที่ 5 สังเกตถึงพัฒนาการที่เกิดขึ้นในการชี้แจงของส่วนรายการในพระองค์ ปี 63 ไม่ได้มีการส่งเอกสารชี้แจง มีเพียง ผอ.สำนักงบประมาณ เป็นผู้เข้ามาแล้วจบไม่ได้มีการซักถาม ปี 64 มีการพูดในรายละเอียดเล็กน้อย โดย ผอ.สำนักงบประมาณ เป็นผู้เข้ามาชี้แจง จนปี 2566 เป็นปีแรกที่ทางส่วนราชการในพระองค์ได้มอบหมายให้ทางเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นผู้มาชี้แจงแทน มีการฉายคลิปวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับพันธกิจ ภารกิจ และมีการส่งเอกสารชี้แจงเป็นจำนวน 8 หน้า สำหรับปีนี้ได้รับเอกสาร 21 หน้าที่มีรายละเอียดและตรงตามฟอร์แมทที่สำนักงบประมาณได้ให้กับหน่วยรับงบประมาณทั้งหมด ทำให้ทางเราสามารถศึกษาในรายละเอีดยเพิ่มขึ้น รวมถึงได้ซักถามผู้มาชี้แจงคือเลขาฯคณะรัฐมนตรีถึงข้อสงสัยต่างๆ

ปรากฏว่างบประมาณที่ลดลงราว 133 ล้านบาทเศษมาจากการที่บุคลากรของหน่วยรับงบประมาณลดลง ปีนี้มีบุคลากรรวมทั้งสิ้น 14,704 ราย อยู่สำนักองคมนตรี 83 ราย อยู่ในสำนักพระราชวังมีข้าราชการ 6,658 ราย และในหน่วยถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ 7,943 ราย มีลูกจ้างประจำอยู่ในสำนักพระราชวังอีก 20 ราย และจำนวนบุคลากรที่ลดลงนี้จึงเป็นสาเหตุให้งบประมาณลดลงในปีนี้ 133 ล้านบาท  ในปีที่ผ่านมาเราได้ตั้งข้อสังเกตุในเรื่องของความซ้ำซ้อนของโครงสร้างหน่วยงาน อาจจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในวันนี้ แต่ตนเชื่อมั่นว่าในอนาคตจะมีวิธีการที่จะพูดคุย หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ได้ในอนาคตได้

"การยิ่งเปิดเผยยิ่งโปร่งใสจะยิ่งนำไปสู่ความสง่างามและเป็นการเทิดพระเกียรติของพระองค์ท่าน" ศิริกัญญา กล่าวพร้อมระบุด้วยว่า ในมาตรานี้ตนในฐานะกรรมาธิการ "ไม่ติดใจ"

2. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ได้รับงบประมาณรวมทั้งสิ้น 117,198.2473 ล้านบาท (ขณะที่ปี 66 อยู่ที่ 115,081.404 65 ล้านบาท ปี 64 อยู่ที่ 114,879.65 ล้านบาท และปี 64 อยู่ที่ 121,907 ล้านบาท) กำหนดวิสัยทัศน์ว่า เป็นองค์กรบังคับใช้กฎหมายที่ประชาชนเชื่อมั่น ศรัทธา และกำหนดพันธกิจว่า 1.ถวายความปลอดภัยพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ 2.บังคับใช้กฎหมายและอำนวยความยุติธรรม 3.รักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของราชอาณาจักร

สตช. มีหลายภารกิจ หลายแผนงาน หนึ่งในนั้นคือแผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ ซึ่งมีเพียง 1 โครงการ คือ โครงการการถวายความปลอดภัยพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ พร้อมระบุตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ ว่า “ถวายความปลอดภัย อย่างสมพระเกียรติต้องตามพระราชประสงค์” สำหรับงบปี 2567 มีจำนวน 1,753.1719 ล้านบาท

มีการกำหนดตัวชี้วัดที่น่าสนใจคือ ข้าราชการตำรวจที่ผ่านการฝึกอบรมผู้ปฎิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยในพื้นที่ (Local CAT) ไม่น้อยกว่า ปีละ 4,000 นาย ตั้งแต่เริ่มต้น – ปี 70 – จบ

3. กรมโยธาธิการและผังเมือง

กรมโยธาธิการและผังเมืองมีงบประมาณโครงการสนับสนุนกิจกรรมพิเศษหลวง (ตามแผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ) อยู่ที่ 1,500 ล้านบาท

โดยในร่างงบฯ ปี 67 ในวัตถุประสงค์มีตัดคำว่า "ในเขตพระราชฐาน" ออกด้วย ซึ่งตัดออกตั้งแต่ปี 65 เป็นต้นมา ในขณะที่ปี 64 และ 63 มีคำนี้

เมื่อเดือน ม.ค.64 iLaw เผยแพร่รายงานงบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ปีย้อนหลัง (บางส่วน) โดยชี้ว่า 'กรมโยธาธิการและผังเมือง' เป็นหนึ่งในหน่วยงานภาครัฐที่ได้รับจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้เช่นเดียวกันในรูปแบบของ 'โครงการสนับสนุนกิจกรรมพิเศษหลวง' ปี 2555 นับเป็นปีที่งบประมาณส่วนดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบจากงบในปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นการปรับงบเพิ่มขึ้นกว่า 135% ส่งให้ตัวเลขงบจาก 429 ล้านบาทในปี 2554 ขึ้นมาอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท เอกสารงบประมาณปี 2555 เล่มที่ 6 หน้าที่ 222 – 224 พบตัวอย่างโครงการภายใต้การใช้จ่ายงบดังกล่าว อาทิ งบสำหรับจ้างที่ปรึกษาเพื่อบริหารดูแลและบำรุงรักษางานระบบพระที่นั่งอัมพรสถาน วังทวีวัฒนาและพื้นที่ควบคุมในพระองค์ 904 จำนวน 40 ล้านบาท และงบสำหรับค่าปรับปรุงห้อง Gym อาคารศูนย์ราชการวังทวีวัฒนา จำนวน 10 ล้านบาท

เมื่อย้อนกลับไปดูงบในปี 2554 พบว่า มีโครงการสำคัญๆ อาทิ งบสำหรับค่าก่อสร้าง POOL HOUSE BALI และสระสรง วังทวีวัฒนา จำนวน 100 ล้านบาท รวมไปถึงงบสำหรับค่าก่อสร้างปรับปรุงอาคาร VVIP GYM วังทวีวัฒนา อีก 50 ล้านบาท และงบสำหรับการจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างปรับปรุงหมู่พระที่นั่งอัมพรสถาน วังทวีวัฒนา และโครงการก่อสร้างกิจกรรมพิเศษในพระบรมวงศานุวงศ์ อีก 30 ล้านบาท

iLaw ยังระบุว่า แม้ตัวเลขงบประมาณจะมีอย่างชัดเจนทุกปี ทว่ารายละเอียดโครงการที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณเหล่านั้นกลับไม่มีการชี้แจงอย่างละเอียดนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 เป็นต้นมา หรือตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2557 จนถึงปัจจุบัน เป็นเพียงการใช้วิธีอธิบายแบบรวมๆ แทนว่าตั้งงบประมาณสำหรับค่าก่อสร้าง ค่าจ้างที่ปรึกษา หรือค่าสนับสนุนโครงการพิเศษหลวงแทน

งบ 'โครงการสนับสนุนกิจกรรมพิเศษหลวง'

  • ปี 2554 - 429 ล้านบาท
  • ปี 2555 - 1,010 ล้านบาท
  • ปี 2556 - 885 ล้านบาท
  • ปี 2557 - 916 ล้านบาท
  • ปี 2558 - 865 ล้านบาท
  • ปี 2559 - 901 ล้านบาท
  • ปี 2560 - 1,269 ล้านบาท
  • ปี 2561 - 1,999 ล้านบาท
  • ปี 2562 - 2,276 ล้านบาท
  • ปี 2563 - 2,378 ล้านบาท
  • ปี 2564 - 1,700 ล้านบาท
  • ปี 2565 – 1,500 ล้านบาท
  • ปี 2566 – 1,500 ล้านบาท
  • และล่าสุด ปี 2567 – 1,500 ล้านบาท

4. สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตั้งงบประมาณปี 2567 จำนวน 4,243 ล้านบาท โดยเกือบทั้งหมดนำมาใช้จ่ายในแผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง โดยเกือบทั้งหมด คือ 3,384 ล้านบาท ถูกใช้ไปเพื่อให้พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ได้รับความปลอดภัยสูงสุด โดยมีตัวชี้วัดเชิงคุณภาพคือการถวายการปฏิบัติงานได้รับการตอบสนองอย่างสมพระเกียรติเมื่อได้รับการร้องขอ

ซึ่งก้อนใหญ่สุดเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง 1,817.86 ล้านบาท และ ค่าใชจ้ายสำหรับชำระการบริการและสนับสนุนจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) 848.94 ล้านบาท เป็นต้น

5. กระทรวงกลาโหม

ระบุไว้ในตัวชี้วัดและเป้าหมายการให้บริการกระทรวงว่า สถาบันพระมหากษัตริย์มีความปลอดภัยสูงสุดและได้รับการเทิดทูนอย่างสมพระเกียรติ พร้อมตัวชี้วัดเชิงคุณภาพว่า ความสำเร็จของการพิทักษ์รักษา การเทิดทูนและการสนับสนุนภารกิจของสถาบันพรมหากษัตริย์

วงเงิน 1,843.4285 ล้านบาท โดยกระจายไปตามหน่วยงานหลักในกระทรวงเช่น สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และ กองบัญชาการกองทัพไทย

ตัวอย่างรายละเอียดรายจ่ายโดยอ้อม

1. โครงการพระราชดำริ/โครงการหลวง/โครงการเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง งบรวมประมาณ 11,396.647  ล้านบาท

โดยมีโครงการที่น่าสนใจ ตัวอย่างเช่น

  • งบกลาง ค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2,500 ล้านบาท
  • กรมชลประทาน "โครงการส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2,843.47 ล้านบาท
  • กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เงินอุดหนุนสำหรับการดำเนินงานตามแนวทางโครงการพระราชดาริด้านสาธารณสุข 1,599.6 ล้านบาท
  • สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ งบเงินอุดหนุนโครงการสนับสนุนการดำเนินงานโครงการตามแนวพระราชดำริ  739.4454 ล้านาท

เป็นต้น

2.โครงการเทิดพระเกียรติ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์พระเกียรติคุณ ปลูกจิตสำนึกเทิดทูนสถาบันฯ งบรวมประมาณ 4,542.6635 ล้านบาท

โดยมีโครงการที่น่าสนใจ ตัวอย่าง 

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โครงการเฉลิมพระเกียรติเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์เนื่องในโอกาสมหามงคลพระชนมายุ 60 พรรษา 2,479.35 ล้านบาท

สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โครงการพระราชดำริและเฉลิมพระเกียรติ 943.466 ล้านบาท

สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) เผยแพร่พระเกียรติคุณและพระอัจริยภาพด้านการเกษตร ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ 175.7523 ล้านบาท

สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี "โครงการเสริมสร้างความมั่นคงในการเทิดทูนสถาบันหลักและเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ" 102.0741 ล้านบาท

3.TO BE NUMBER ONE งบรวมประมาณ 125.6 ล้านบาท

ซึ่งมีหน่วยรับงบกระจายไปตั้งแต่ส่วนกลาง และจังหวัด ตั้งแต่ 0.6-15 ล้านบาท  เช่น กรมกิจการเด็กและเยาวชน, สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม, กรมการปกครอง, กรมคุมประพฤติ, กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด, สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

ขณะที่จังหวัดต่างๆ เช่น จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา จังหวัดสตูล จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนครพนม จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดยโสธร จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน และจังหวัดพะเยา เป็นต้น

4. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช/พรรณไม้หายากในสมเด็จพระเทพฯ งบรวมประมาณ 305.1 ล้านบาท

มีหน่วยรับงบรับงบประมาณตั้งแต่ระดับแสนจนถึง 74.92 ล้านบาท โดนส่วนกลางมีกระทรวงกลาโหม กองทัพอากาศ แต่ที่มากที่สุดคือมหาวิทยาลัยต่างๆ แทบทุกมหาวิทยาลัยจะมีการตั้งงบประมาณส่วนนี้เป็นเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช

5. โครงการสัตว์ปลอดโรคคนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศ.ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี งบรวมประมาณ 580.5 ล้านบาท

มีหน่วยรับงบตั้งแต่หลักแสนจนถึง 68.36 ล้านบาทของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีงบเงินอุดหนุนในโครงการนี้ รองลงมาคือ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เงินอุดหนุนสำหรับสำรวจข้อมูลจำนวนสัตว์และขึ้นทะเบียนสัตว์
ตามโครงการนี้ งบประมาณ 66 ล้านบาท, กลุ่มจังหวัดภาคมต้ฝั่งอ่าวไทย (ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี สงขลา) จัดตั้งศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี (ระยะที่ 2) 57.1 ล้านบาท และกรมปศุสัตว์ ตั้งงบดำเนินงานในชื่อโครงการนี้ 53.93 ล้านบาท เป็นต้น

6. โครงการอื่นๆ ตามหน่วยงานต่างๆ งบรวมประมาณ 769.75 ล้านบาท

ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น เงินอุดหนุนมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จประเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) ของ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 289.3 ล้านบาท เงินอุดหนุนทุนการศึกษาเฉลิมราชกุมารี 68.93 ล้านบาท ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, เงินอุดหนุนการศึกษาสำหรับเด็กออทิสติก และเด็กพิการในมูลนิธิคุณพุ่ม ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 53.3 ล้านบาท เงินอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายโครงการทุนการศึกษาเฉลิมราชกุมารี ของสํานักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม 88.4 ล้านบาท เงินอุดหนุนทุนการศึกษาพระราชทาน ของสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา 30.88 ล้านบาท เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง :

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net