Skip to main content
sharethis

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) เรียกร้องให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะและชี้แจงการตรวจสอบและการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง กรณีการขนย้าย 'กากแคดเมียม' จากโรงงานถลุงแร่สังกะสีใน จ.ตาก ไปเก็บไว้ในโรงงานหลอมอลูมิเนียมใน จ.สมุทรสาคร และโกดังใน จ.ชลบุรี โดยเร่งด่วน

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) เปิดเผยว่าตามที่ปรากฏข่าวในช่วงต้นเดือน เม.ย. 2567 ว่ามีการตรวจพบการขนย้ายตะกรันจากการหลอมสังกะสีที่ปนเปื้อนสารแคดเมียม หรือ “กากแคดเมียม” ปริมาณ 15,000 ตัน จากโรงงานถลุงแร่สังกะสีในจังหวัดตาก โดยบรรจุใส่ในถุงบิ๊กแบ็กขนส่งไปเก็บในพื้นที่ทั้งภายในและภายนอกอาคารโรงงานของบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการหล่อหลอมอะลูมิเนียม โดยบริษัทดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีศักยภาพในการหลอมกากแคดเมียม และการขนย้ายกากแคดเมียมยังเป็นการฝ่าฝืนมาตรการตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการโรงงานถลุงแร่สังกะสีของบริษัทต้นทาง โดยตามรายงานการตรวจสอบของกรมควบคุมมลพิษ  ระบุว่า มีกากแคดเมียมและสังกะสีบรรจุในถุงบิ๊กแบ็กจำนวน 1,267 ถุง คิดเป็นปริมาณ 2,440 ตัน และตรวจวัดตัวอย่างกากแคดเมียม พบว่ามีปริมาณแคดเมียมสูงถึง 24,884 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (มก./กก.) ซึ่งถือเป็นของเสียอันตรายตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566 เนื่องจากมีปริมาณวัสดุเจือปนแคดเมียมสูงเกิน 100 มก./กก. และต่อมามีการตรวจพบกากแคดเมียมบรรจุในถุงบิ๊กแบ๊กลักษณะเดียวกันเก็บอยู่ในโกดังในพื้นที่จังหวัดชลบุรีเพิ่มเติมอีกประมาณ 7,000 ตัน นั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการออกคำสั่งปิดโรงงานชั่วคราว พร้อมทั้งยึดอายัดกากแคดเมียมที่ตรวจพบทั้งหมด และปิดกั้นไม่ให้มีการเข้าออกพื้นที่โรงงานแล้วก็ตาม แต่โดยที่กากแคดเมียมที่ตรวจพบเป็นสารอันตรายที่สามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งและโรคอิไต-อิไต และปัจจุบันยังมีข้อมูลคำชี้แจงจากหน่วยงานกำกับดูแล โดยเฉพาะกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่คลุมเครือไม่ชัดเจน ทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวลและเคลือบแคลงสงสัยในการทำหน้าที่ของหน่วยงาน ดังนั้นเพื่อให้สังคมได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง และเพื่อให้กระบวนการตรวจสอบและดำเนินการกับผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิดกฎหมายเป็นไปอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายสิ่งแวดล้อม มีข้อสังเกตและข้อเรียกร้องต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 

1. ต้องเปิดเผยข้อมูลผู้ประกอบการโรงงานเจ้าของกากแคดเมียมและการขออนุญาตขนย้าย

แม้จะมีการเปิดเผยข้อมูลการประกอบกิจการโรงงานของบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ผู้ครอบครองกากแคดเมียมในจังหวัดสมุทรสาครแล้วบางส่วน แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่ามีการชี้แจงยืนยันข้อมูลและแสดงเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงานและการจัดการกากอุตสาหกรรมว่า กากแคดเมียมที่มีข้อมูลระบุว่าขนส่งมาจากจังหวัดตาก ส่งออกมาจากโรงงานของผู้ประกอบการรายใด และในการขออนุญาตขนย้ายกากแคดเมียม ซึ่งจัดเป็นของเสียอันตรายตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม โรงงานผู้ก่อกำเนิดมีการแจ้งระบุรายละเอียดชนิดและปริมาณของเสียอันตรายที่ขออนุญาตนำออก วิธีการจัดการ และข้อมูลโรงงานผู้รับดำเนินการจัดการกากแคดเมียมว่าเป็นโรงงานใดบ้าง มีโรงงานอื่นนอกเหนือจากบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ด้วยหรือไม่ และปัจจุบันกากแคดเมียมที่ขนส่งออกมาจากโรงงานต้นทางแล้วมีปริมาณทั้งหมดเท่าไร ส่งไปถึงผู้รับปลายทางที่ใดบ้าง โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมสามารถตรวจสอบและเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะได้โดยทันที จากฐานข้อมูลการขออนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกจากโรงงานและฐานข้อมูลการติดตามรถขนส่ง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ต้องแสดงและบันทึกไว้ในระบบข้อมูลกลาง ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566  

2. ต้องตรวจสอบและชี้แจงการไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดในรายงาน EIA

จากการสืบค้นข้อมูลมาตรการจัดการกากของเสียตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการโรงถลุงสังกะสี ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดตาก ของบริษัท ผาแดง อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่าเป็นโรงงานต้นทางที่ส่งกากแคดเมียมมาที่โรงงานในจังหวัดสมุทรสาครนั้น พบว่า ในรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการโรงถลุงสังกะสี (ครั้งที่ 2) ที่ได้รับความเห็นชอบเมื่อปี 2554  ระบุในข้อ 4.7 หน้า 17 เรื่องการจัดการกากของเสีย ในส่วนตะกอนแคดเมียม (Cadmium Cake) ระบุว่า ตะกอนแคดเมียมที่เกิดขึ้นจะถูกนำไปผสมด้วยปอร์ตแลนด์ซีเมนต์ เพื่อทำลายฤทธิ์และทำให้แข็งตัว ก่อนนำไปฝังกลบในบ่อเก็บตะกอนแคดเมียม สอดคล้องกับข้อมูลที่ปรากฏในรายงานข่าวหลายสำนัก แต่ตามรายงานการตรวจสอบพื้นที่ตั้งโรงงานถลุงแร่สังกะสีของบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567  ระบุว่า บริษัทได้รับอนุญาตให้นำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกโรงงานปริมาณ 15,000 ตัน ไปกำจัดยังโรงงานปลายทางที่ จ.สมุทรสาคร และจากการตรวจสอบบ่อเก็บกากแคดเมียมจำนวน 7 บ่อ พบว่ามีจำนวน 2 บ่อ ที่ได้มีการขนย้ายกากแคดเมียมออกไปแล้ว และยังมีอีกหลายบ่อที่เตรียมทำการขุดและขนย้ายในระหว่างปี 2567-2568

ในประเด็นนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องชี้แจงข้อมูลต่อสาธารณะให้ชัดเจนว่าข้อเท็จจริงเป็นประการใด และหากข้อมูลดังกล่าวถูกต้อง เหตุใดจึงมีการอนุญาตให้ขุดกากแคดเมียมขึ้นมาจากบ่อฝังกลบและขนส่งออกไปกำจัดยังโรงงานในจังหวัดสมุทรสาครได้ และจะมีการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงาน EIA และเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอย่างไร 

3. ต้องสั่งการและกำกับดูแลให้โรงงานผู้ก่อกำเนิดเป็นผู้รับผิดชอบการจัดการกากแคดเมียม

แม้กากแคดเมียมจะถูกส่งออกจากต้นทางคือโรงถลุงสังกะสีในจังหวัดตาก มาเก็บไว้ที่โรงงานของบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ที่จังหวัดสมุทรสาครแล้ว แต่เมื่อยังไม่ได้รับการจัดการตามที่ได้รับอนุญาต โดยเฉพาะหากปรากฏว่าการอนุญาตขนย้ายนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย กรณีย่อมถือว่า กากแคดเมียมนั้นยังอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ก่อกำเนิด คือ โรงถลุงสังกะสีที่จังหวัดตาก เป็นผู้มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบจัดการ ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566 ข้อ 12 ดังนั้นกรมโรงงานอุตสาหกรรมต้องสั่งการและกำกับดูแลให้โรงงานผู้ก่อกำเนิดรับผิดชอบจัดการกากแคดเมียมให้เป็นไปตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และโรงงานผู้ก่อกำเนิดต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อการจัดการดังกล่าว และต้องชดใช้เยียวยาความเสียหายที่ประชาชนได้รับ หรือค่าใช้จ่ายใดๆ ที่รัฐต้องเสียไปเพื่อการดำเนินการป้องกันแก้ไขมลพิษที่เกิดขึ้นจากกากแคดเมียมของตนด้วย   

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ขอเรียกร้องให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตรวจสอบและชี้แจงข้อมูลข้อสงสัยต่างๆ ดังกล่าวต่อสาธารณะโดยเร่งด่วน และขอให้ดำเนินการลงโทษผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิดต่อกฎหมายในกรณีนี้อย่างโปร่งใสและเด็ดขาด เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการป้องปรามไม่ให้เกิดการกระทำความผิดในลักษณะที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของสาธารณะอย่างร้ายแรงขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก พร้อมทั้งขอให้ชี้แจงมาตรการและความคืบหน้าในการจัดการกากแคดเมียม ทั้งในส่วนที่ตรวจพบที่โรงงานในจังหวัดสมุทรสาครและส่วนอื่นที่เหลือให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมกันติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น กับทั้งต้องมีการทบทวนปรับปรุงระบบการขออนุญาตและการกำกับดูแลการขนส่งเคลื่อนย้ายและจัดการกากอุตสาหกรรม โดยเฉพาะที่เป็นของเสียอันตรายให้มีความรัดกุมรอบคอบมากยิ่งขึ้น 

และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมขอเรียกร้องให้รัฐบาลและทุกภาคส่วนร่วมกันผลักดันให้ประเทศไทยมีกฎหมายว่าด้วยการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ หรือ ‘กฎหมาย PRTR’ (Pollutant Release and Transfer Register) เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษต่างๆ ทั้งจากโรงงานและแหล่งกำเนิดอื่นๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยในระยะยาว ทั้งในการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์มลพิษ และเป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลการดำเนินโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ดังเช่นกรณีปัญหากากแคดเมียมที่เกิดขึ้นด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net