Skip to main content
sharethis
  • เสมสิกขาลัย เปิดตัวนิทรรศการออนไลน์เสมือนจริง (virtual exhibition) ภายใต้ชื่อ ‘In Between’ หรือ ‘ชีวิตติดกับ ไปต่อไม่ได้ กลับไปก็ไม่ถึง’ ของผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในชาวเมียนมาที่ได้รับผลกระทบหลังการทำรัฐประหารของกองทัพพม่าเมื่อปี 2564
  • เปิด 2 ปัจจัยที่ทำให้ชาวเมียนมาต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายใน และผู้ลี้ภัย 1. การโจมตีทางอากาศโดยมุ่งเป้าที่พลเรือน 2. การประกาศบังคับเกณฑ์ทหารเมื่อเดือน ก.พ. 2567 ขณะที่ตั้งแต่รัฐประหารจนถึงตอนนี้มีผู้พลัดถิ่นภายในเมียนมาเพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านราย
  • 'วิชัย' สมาชิกเสมสิกขาลัย มองการจัดการผู้ลี้ภัยของรัฐไทย ควรให้สถานะ 'ผู้ลี้ภัย' แก่ชาวเมียนมาที่หนีการประหัตประหารเข้ามา เคารพตัวตนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขา และเชื่อว่า การมอบสถานะผู้ลี้ภัย หรือมีความชัดเจนเรื่องนี้ จะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาอื่นๆ ตามมา

 

วานนี้ (18 เม.ย.) เฟซบุ๊ก "มูลนิธิเสมสิกขาลัย" เปิดตัวนิทรรศการออนไลน์เสมือนจริง หรือ virtual exhibition หัวข้อ “In Between” หรือ “ชีวิตติดกับ ไปต่อไม่ได้ กลับไปก็ไม่ถึง” สะท้อนชีวิตของผู้ลี้ภัย และผู้พลัดถิ่นภายในเมียนมา หลังรัฐประหารเมื่อปี 2564 ที่ต้องเผชิญสภาวะกึ่งกลาง หรือ “ชีวิตติดกับ ไปต่อไม่ได้ กลับไปไม่ถึง” ทั้งด้านการใช้ชีวิต จิตใจ และสถานะทางกฎหมาย

ถ่ายโดยมูลนิธิเสมสิกขาลัย

ก่อนมาเป็นนิทรรศการออนไลน์เสมือนจริง งานนี้เคยถูกจัดแสดงที่รัฐสภาไทย เป็นฐานะส่วนหนึ่งของงานประชุมนานาชาติและสัมมนา "3 ปีหลังรัฐประหาร : สู่ประชาธิปไตยในเมียนมา และผลกระทบต่อความมั่นคงชายแดนไทย" ระหว่างวันที่ 2-3 มี.ค. 2567 ร่วมกันจัดโดย คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร สถาบันระหว่างประเทศเพื่อความช่วยเหลือด้านประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง (International IDEA) กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) องค์กรภาคประชาสังคม "Fortify Rights" มูลนิธิเสมสิกขาลัย และสำนักข่าว "Mizzima Media Group"

สำหรับผู้ที่อยากชมงานในรูปแบบนิทรรศการออนไลน์เสมือนจริง สามารถคลิกได้ที่ลิงก์นี้ https://www.artsteps.com/view/660b988ef7ed84b7189a17cc

ชีวิตติดกับของผู้ลี้ภัยหลังรัฐประหารเมียนมา-นโยบายของรัฐไทยที่ไร้ความชัดเจน

"ตั้งแต่เกิดรัฐประหารในประเทศเมียนมา มากกว่า 3 ปี มีผู้คนมากกว่า 2 ล้านคน ถูกบังคับให้อพยพย้ายถิ่นไปอาศัยในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ในป่า หรือตามแนวชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน พวกเขาไม่สามารถกลับบ้านได้ ไม่สามารถไปต่อและสร้างชีวิตใหม่ได้ พวกเขาติดหล่มอยู่ระหว่างทาง"

นี่เป็นข้อความที่ระบุถึงแนวคิดของนิทรรศการ 'In Between' และนิทรรศการยังชี้ให้เห็นว่า การไปต่อไม่ได้ส่วนหนึ่งมาจากทิศทางและนโยบายของรัฐไทยในการจัดการ ‘ผู้ลี้ภัย’ ที่ไม่มีความชัดเจน ส่งผลให้ผู้หนีภัยประหัตประหารต้องพบกับสภาวะความไม่แน่นอนในชีวิต 3 ด้าน ทั้งในด้านการใช้ชีวิตที่ทำให้เขาต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ โดยไม่สามารถวางแผนชีวิตไปไหนได้ สภาวะจิตใจ และสถานะทางกฎหมาย

ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ประชาชนกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายใน

ข้อมูลนิทรรศการทำให้ผู้เข้าชมได้เข้าใจว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ประชาชนเมียนมาต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย หรือผู้พลัดถิ่นภายใน 1. การใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของกองทัพพม่าโดยไม่เลือกเป้าหมาย กล่าวคือเป็นการโจมตีทั้งเป้าหมายทางการทหาร และเป้าหมายพลเรือน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล และอื่นๆ ซึ่งการกระทำเช่นนี้เข้าข่ายการก่อ ‘อาชญากรรมสงคราม’ และ 2. คือมาตรการบังคับเกณฑ์ทหารที่ถูกนำมาบังคับใช้อีกครั้งเมื่อ 10 ก.พ. 2567

ถ่ายโดยมูลนิธิเสมสิกขาลัย

สถิติการใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของกองทัพพม่า ทำให้ชาวบ้านต้องหลบหนีออกจากบ้าน บางส่วนไปอาศัยในป่า เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย ก่อนหน้านี้กองทัพพม่าเคยก่อเหตุสังหารพลเรือนโดยใช้เครื่องบินรบ ยกตัวอย่าง เหตุการณ์สังหารหมู่ ‘ปาซิจี’ ภูมิภาคสะกาย ประเทศเมียนมา จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดครั้งหนึ่ง กว่า 210 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชน 40 คน และผู้ใหญ่อีก 170 คน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ข้อมูลจากนิทรรศการเปิดเผยด้วยว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปี ระหว่าง 1 ก.พ. 2564 จนถึง 1 ม.ค. 2567 มีการใช้เครื่องบินโจมตีรวมกว่า 1,717 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิต 940 คน และได้รับบาดเจ็บ 900 คน 

ทั้งนี้ หลังทำรัฐประหารปี 2564 เป็นต้นมา มีรายงานว่าชาวพม่ากลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายใน หรือ IDP แล้ว จำนวนกว่า 2,280,900 คน

กฎหมายบังคับเกณฑ์ทหาร อีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้มีผู้ลี้ภัยเมียนมาเข้าไทย

ข้อมูลในนิทรรศการชี้ด้วยว่า กฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารของกองทัพพม่า มรดกจากรัฐบาล SPDC ที่กำลังถูกนำกลับมาบังคับใช้เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งปัจจัยผลักให้ชาวเมียนมาที่ไม่ต้องการรับใช้กองทัพพม่าอพยพเข้ามาในประเทศไทย นอกจากนี้ มีรายงานแล้วว่ามีชาวเมียนมาบางส่วนอพยพเข้ามาในประเทศไทยบ้างแล้วด้วยเหตุผลดังกล่าว

ทั้งนี้ กฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารพม่า เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นในช่วงรัฐบาล SPDC หรือ State Peace and Development Council เมื่อปี 2553 ผลจากกลับมาบังคับใช้กฎหมาย ทำให้ชายที่อายุตั้งแต่ 18-35 ปี ต้องรับราชการเป็นเวลา 24 เดือน หรือ 2 ปี และอาจต้องรับราชการนานถึง 5 ปี ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ขณะที่ยังไม่มีการบังคับเกณฑ์ทหารหญิงเป็นการชั่วคราว

ประจักษ์พยานสิ่งของจากรัฐกะเรนนี

เมื่อย่างก้าวเข้าไปในพื้นที่นิทรรศการ สิ่งที่เห็นเป็นสะดุดตาคือ 'สิ่งของ' ที่ถูกแขวนลงมาจากเพดานกระจายทั่วพื้นที่ มีทั้งหนังสือเรียน ขนม ดอกไม้ เครื่องใช้เด็ก อุปกรณ์การเรียน เครื่องแต่งกายที่มีรอยขาด จานโลหะที่ปรากฏรอยถูกกระสุนยิง ฯลฯ แล้วมันมาจากไหนนั้น วิชัย จันทวาโร สมาชิกมูลนิธิเสมสิกขาลัย หนึ่งในทีมร่วมจัดนิทรรศการและสัมมนา ไขคำตอบให้ฟังว่า เป็นสิ่งของที่ชาวบ้านในพื้นที่รัฐกะเรนนี และได้ผลกระทบจากสงครามส่งมาให้

ถ่ายโดย มูลนิธิเสมสิกขาลัย

เพื่อให้เข้าใจตัวนิทรรศการชิ้นนี้มากขึ้น ผู้สื่อข่าวขอให้วิชัย เล่าให้ฟังเพิ่มเติมเรื่องแนวคิดของงาน

วิชัย กล่าวว่า นิทรรศการ ‘In Between’ ได้รับการพัฒนามาจากนิทรรศการวันผู้ลี้ภัยโลกเมื่อปี 2022 ในจังหวัดเชียงใหม่ แต่เดิมนิทรรศการมีแนวคิดจำลองบรรยากาศและความรู้สึกที่ผู้ลี้ภัยต้องเผชิญ และชีวิตที่ต้องอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย โดยตอนนั้นเป็นผู้จัดได้จำลองบรรยากาศสภาพแวดล้อม และห้องมืด เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้ลองเข้าไปอยู่และได้สัมผัสบรรยากาศ และความรู้สึกคล้ายที่ผู้ลี้ภัยหรือผู้พลัดถิ่นต้องเผชิญประมาณคนละ 5 นาที

ส่วนงานครั้งนี้เนื่องด้วยภายในงานประชุมนานาชาติมีคนให้ความรู้เยอะแยะมากมายแล้ว สิ่งที่วิชัยอยากเติมเต็มให้กับงานคือ ทำให้คนที่มาดูได้รู้สึก และเห็นหลักฐานร่องรอยที่ประชาชนต้องเผชิญในภาวะสงครามหลังรัฐประหารเมียนมา

“รอบนี้เรามีความรู้ให้เยอะมาก ให้ตัวเลขเยอะ มาก เลยอยากหน้าที่ให้ความรู้สึกกับคนที่มาดุให้รู้สึกว่า มันมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ามีร่องรอยอะไรที่พวกเขาผ่านพบมา ทำให้เขาจำเป็นต้องอพยพโยกย้ายจากบ้านมาอยู่ที่นี่หรือไปที่ไหนก็ตาม อยากให้คนเห็นและรู้สึกว่ามันเห็นจากเศษซากจากวัสดุมาทิ้งจากในพื้นที่เมียนมา ของที่นำมาจัดแสดงส่วนใหญ่มาจากเมืองเดโมโส่ และลอยก่อ รัฐกะเรนนี ในพื้นที่ปกติและในค่ายพลัดถิ่นผู้ลี้ภัยภายใน เพราะฉะนั้น มันจะสะท้อนสถานการณ์ในพื้นที่ทั้งนั้น” วิชัย กล่าวถึงไอเทมที่ถูกนำมาจัดแสดง

ถ่ายโดย มูลนิธิเสมสิกขาลัย

มองการช่วยเหลือของไทยต่อผู้ลี้ภัยในปัจจุบันเป็นอย่างไร

สมาชิกมูลนิธิเสมสิกขาลัย มองว่าเขาเห็นความคืบหน้าจากรัฐบาลทหารมาเป็นรัฐบาลพลเรือน อย่างน้อยที่สุดรัฐบาลพลเรือนมีการประกาศนโยบายระเบียงมนุษยธรรมที่ไม่เกิดขึ้นในรัฐบาลทหาร อันนี้เป็นเรื่องของนโยบายด้านมนุษยธรรม แต่ในเรื่องนโยบายปรับเปลี่ยนกฎหมาย เรายังไม่เห็นมากเท่าไรนักในสมัยรัฐบาลพลเรือน แต่เราเห็นการหยิบยกเรื่องนี้มาคุยมากขึ้นในสภาชุดปัจจุบัน มีการตั้งกระทู้ถามสดอภิปรายเรื่องนี้มากขึ้นเมื่อเทียบกับสภาฯชุดที่แล้ว

นอกจากนี้ สมาชิกทีมเสมสิกขาลัย กล่าวว่า การประชุมและจัดสัมมนาในวันครบรอบ 3 ปีหลังรัฐประหารเมียนมาที่รัฐสภา (2-3 มี.ค. 2567) สะท้อนเรื่องนี้อย่างแท้จริง เพราะว่าเป็นครั้งแรกที่มีการจัดการในพื้นที่ทางการของประเทศไทยอย่างเปิดเผย เขาเห็นว่ามีความคืบหน้า แม้ว่าความคืบหน้าไม่ได้เร็ว หรือเปลี่ยนทันทีอย่างที่ใจเราต้องการ

การช่วยเหลือต้องคำนึงถึงหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

วิชัย กล่าวว่า ในมุมมองของเขาไทยควรช่วยเหลือผู้ลี้ภัยบนฐานของมนุษยธรรม และอยู่บนฐานศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

“ไทยควรจัดการผู้ลี้ภัยบนฐานการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งในประวัติศาสตร์เราทำเรื่องนี้ได้ดีมาก ดีกว่าสมัยรัฐบาลทหารที่ผ่านมา แต่มันยังเป็นการช่วยเหลือแบบสงเคราะห์ แต่ไม่ได้เป็นการช่วยเหลือแบบศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการให้สถานะผู้ลี้ภัยที่ไม่แน่ใจว่าสถานะตรงนี้ไทยจะให้หรือไม่ เคารพความยากลำบาก และตัวตนของเขาในฐานะผู้ลี้ภัย

วิชัย จันทวาโร

"รู้สึกว่าโดยส่วนตัวถ้าจะแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยจริงๆ หรือทำให้เขาได้รับการยอมรับในฐานะผู้ลี้ภัย มันถือเป็นศักดิ์ศรีของผู้ลี้ภัยในการมีสถานะนี้ คือมันเป็นความจริง เขาต้องลี้ภัยมา ยอมรับเขาในสถานะผู้ลี้ภัย ไม่ใช่บอกว่าเขามีสถานะอื่นๆ เพื่อจะเลี่ยงบาลี ไม่ให้เขาในสถานะดังกล่าว ซึ่งถ้ามีการยอมรับสถานะผู้ลี้ภัย ผมว่ามันมีการแก้ไขปัญหาหลายๆ อย่าง แก้ไขปัญหาเรื่องการเข้าเมืองผิดกฎหมาย แก้ไขปัญหาเรื่องสถานะบุคคล คอรัปชันได้เยอะ เพราะว่าเขามีสถานะ เขามีศักดิ์มีศรีในสถานะผู้ลี้ภัย การมีสถานะผู้ลี้ภัยมาพร้อมกับการอนุญาตให้เขาได้อยู่ในราชอาณาจักรชั่วคราว ยาวเท่าไรก็ว่ากันไป ความยากคือพอไม่มีสถานะมันทำให้เขาถูกกระทำแบบไหนก็ได้ ด้วยความไม่เป็นระบบ ความสีเทา" วิชัย ทิ้งท้าย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net