Skip to main content
sharethis

จากที่รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนออกแถลงการณ์ความกังวลสถานการณ์ในพม่า 'กัณวีร์' แสดงความผิดหวังต่อแถลงการณ์ดังกล่าว เนื่องจากไม่มีการพูดถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมที่เป็นปัญหารากเหง้าในพม่า

 

19 เม.ย. 2567 จากที่วานนี้ (18 เม.ย.) รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนออกแถลงการณ์แสดงความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมานั้น กัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม แสดงความผิดหวังต่อแถลงการณ์ดังกล่าว โดยระบุเหตุผลว่าแถลงการณ์ดังกล่าวไม่มีการพูดถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมซึ่งเป็นปัญหารากเหง้าในเมียนมาที่ต้องอยู่บนโต๊ะเจรจาเพื่อนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืน 

 

กัณวีร์ ระบุว่า ประชาคมโลกรอคอยมาตั้งแต่ปี 2564 ว่าจะมีแถลงการณ์จากรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนต่อสถานการณ์ในเมียนมา การออกแถลงการณ์นี้ออกมาตอนกลางเดือนเมษายน 2567 หลังสถานการณ์ที่เมียวดี รัฐคะยิน (กะเหรี่ยง) ทำให้ประชาคมโลกมองว่าพวกคุณกังวลถึงความเพลี่ยงพล้ำของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือไม่

 

"เหมือนในหนังในละครที่พระเอกมาตอนจบ ให้รบกันจนเจียนตาย แถมออกมาช่วยผู้ร้ายไม่ให้ตายเพื่อผดุงความเป็นละครที่ย้อนยุค ผมพยายามหาข้อดีของอาเซียนเพื่อช่วยให้ความร่วมมือแบบพหุภาคีของอนุภูมิภาคที่ไทยเป็นสมาชิกได้แสดงบทบาทที่สำคัญอย่างแท้จริง ใครๆ บอกว่าอาเซียนช้า ช้า และช้า แบบสามล้อรอ แต่ผมก็พยายามบอกว่า “ช้าแต่ชัวร์” แต่คราวนี้ผมคงต้องกระโดดตามคำครหาต่างๆ เพราะอาเซียน ชัวร์ทั้งช้า ชัวร์ทั้งเอียง ชัวร์ทั้งเดาทางได้ว่าไม่มีประสิทธิภาพ ขายหน้าการแสดงละครเวทีโลก ที่ย้ำถึงความเป็นระบบอนุรักษ์นิยม กลัวการกระทบระหว่างรัฐต่อรัฐจนน่าอายที่อนุภูมิภาคนี้ มันตกยุคของการทูต 3 หลง(s) จริงๆ"

 

กัณวีร์ กล่าวว่ากว่ารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะตื่น โลกไปถึงไหนกันแล้ว แถมสะลึมสะลือบอกว่ายังสนับสนุนความพยายามอย่างต่อเนื่องของศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในการจัดการภัยพิบัติ (AHA Centre) รวมทั้งข้อริเริ่มด้านมนุษยธรรมข้ามพรมแดนของไทย ทั้งๆ ที่ไม่เวิร์ค

 

"หยุดเถอะการใช้คำว่า “มนุษยธรรม” นี่คือการเรียกร้องของนักมนุษยธรรมที่มองว่าพวกคุณไม่เข้าใจคำนี้จริงๆ"

 

กัณวีร์ กล่าวด้วยว่าตนเข้าใจว่าแถลงการณ์ดังกล่าวพยายามจะไม่ประณามใคร แต่รากเหง้าแห่งปัญหาของสถานการณ์ความรุนแรงและสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม ที่มีการเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นว่าเล่นนานถึง 3 ปี ก็จำเป็นต้องอยู่ในแถลงการณ์นี้และจำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ต้องนำมาวางบนโต๊ะหารือสำหรับตนในประเทศเมียนมาหากการหารือ inclusive national dialogue เพื่อบรรลุถึงการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนและครอบคลุมในสถานการณ์การเมืองภายในเมียนมาด้วย

 

“เราไม่ประณามกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่คนผิดต้องรับผิด คนเข่นฆ่าผู้คน จะต้องไม่ถูกลืมและละเลย กลุ่มคนพวกนี้ต้องรับโทษตามกฎหมายทั้งภายในและระหว่างประเทศ” 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net