Skip to main content
sharethis

สภาพภูมิอากาศที่ร้อนในระดับรุนแรงส่งผลต่อหลายพื้นที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีกรณีที่เด็กเล็กเสียชีวิตจากอากาศร้อนจัดในมาเลเซีย ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเสี่ยงต่อความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ในสัปดาห์เดียวกันเวียดนามก็ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหลังจากที่อากาศร้อนจัดกว่าปกติในทางตอนใต้ทำให้นาข้าวแล้งทั้งผืน และในฟิลิปปินส์ มีโรงเรียนหลายร้อยแห่งสั่งหยุดการเรียนการสอนชั่วคราวหลังจากที่อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเกิน 42 องศาเซลเซียส

 

นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าอากาศร้อนจัดที่กลับมาอีกครั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น จะยังคงอยู่ไปสักระยะหนึ่ง ไม่หายไปในเร็วๆ นี้

 

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประชากรอยู่มากกว่า 675 ล้านคนจาก 11 ประเทศ และเป็นหนึ่งในพื้นที่ๆ มีความเสี่ยงภัยจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด หลังจากที่อากาศร้อนบรรเทาลงบ้างในช่วงที่ผ่านมา แต่แม็กซิมิลาโน แฮร์เรรา นักอุตุนิยมวิทยาก็กล่าวว่าอุณหภูมิของภูมิภาคนี้ได้พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

 

แฮร์เรรา บอกว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากอากาศร้อนมากที่สุด ดูจากพยากรณ์อากาศที่วิกฤตหนัก อุณหภูมิในไทยสูงขึ้น "ทะลุเพดานสถิติไม่หยุด" เป็นเวลา 13 เดือน ทั้งความร้อนและระดับความชื้นต่างก็สูงแบบไม่บันยะบันยัง

 

"พวกเราเคยคิดว่าอุณหภูมิเมื่อปีที่แล้ว (2566) นั่นสุดแสนจะทนได้ แต่ในปีนี้ (เท่าที่เราเห็น) มันได้ทำลายสถิติของปีที่แล้ว ตลอดช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา อุณหภูมิในกรุงเทพไม่ได้ลดลงต่ำกว่า 30 องศาเลยแม้กระทั่งในตอนกลางคืน ... ซึ่งดูเหมือนว่าเราจะหนีแนวโน้มแบบนี้ไปไม่พ้น ภูมิภาคนี้ควรจะต้องเตรียมรับมือความร้อนในระดับเลวร้ายไปจนปลายเดือน เม.ย. และครอบคลุมไปถึงโดยส่วนใหญ่ของเดือน พ.ค." แฮร์เรรากล่าว

 

ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. เป็นต้นมาประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูแล้ง กรุงเทพมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ราว 42 ถึง 43 องศาเซลเซียส ทำให้คนจำนวนมากพยายามอยู่แต่ในร่มและเปิดเครื่องปรับอากาศ

 

ในประเทศเวียดนาม ภาวะคลื่นความร้อนได้ทำให้เกิดภัยแล้งในทางตอนใต้ของประเทศที่มีอุณหภูมิราว 40 องศาเซลเซียส และสร้างความเสียหายต่อภาคเกษตรกรรมที่มีความสำคัญต่อประเทศเวียดนาม เวียดนามเป็นหนึ่งในแหล่งส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลก และการที่ฝนตกน้อยได้ก่อให้เกิดปัญหาต่อเกษตรกรในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

 

สื่อเวียดนามรายงานว่า ทุ่งนาและแม่น้ำต่างก็แห้งเหือด และเกษตรกรต่างก็ดิ้นรนเพราะไม่มีฝนมาหล่อเลี้ยงพืชผลของพวกเขา

 

ในปี 2566 เคยมีภาวะคลื่นความร้อนที่ก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนไฟฟ้าในหลายเมือง ในปีนี้นักอุตุนิยมวิทยาได้ระบุว่าภาวะภัยแล้งยาวนานเป็นผลมาจาก ปรากฏการณ์ เอลนีโญ ที่มักจะเกิดขึ้นจากมหาสมุทรแปซิฟิกยาวไปตามเขตเส้นศูนย์สูตรและส่งอิทธิพลต่อสภาพภูมิอากาศทั่วโลก

 

แต่นอกจากปัจจัยทางธรรมชาติเหล่านี้แล้ว โลกของเราก็เริ่มมีภาวะอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเกินสถิติและภาวะคลื่นความร้อนรุนแรงก็เริ่มเกิดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ

 

 

อากาศร้อนไม่มีทีท่าว่าจะลดลง

 

ถึงแม้ว่าอุณหภูมิโดยเฉลี่ยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มสูงขึ้นทุกๆ สิบปีมาตั้งแต่ปี 2503 เป็นต้นมา ผู้เชี่ยวชาญก็บอกว่าปรากฏการณ์คลื่นความร้อนที่น่าเป็นห่วงอย่างมากกำลังปกคลุมไปทั่วภูมิภาคเป็นระยะเวลายาวนานแบบไม่เห็นจุดสิ้นสุด

 

นักวิจัยจากกลุ่มวิจัยด้านสภาพภูมิอากาศสวิตเซอร์แลนด์ IQ Air ระบุว่าสาเหตุของคลื่นความร้อนในปัจจุบันนั้นมาจาก "ปัจจัยหลายอย่างร่วมกันทั้งในแง่ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(ภาวะโลกร้อน) ที่มาจากมนุษย์ ปรากฏการณ์เอลนีโญ"

 

IQ Air ระบุในแถลงการณ์วันที่ 5 เม.ย. ว่า "ปรากฏการณ์นี้นำไปสู่ภาวะที่อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นทั่วภูมิภาคในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ... ในตอนนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างชัดเจนว่าความร้อนจะลดลงตอนไหน และมันจะขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัยอย่างเช่นลักษณะแนวโน้มสภาพอากาศและความพยายาม(ของรัฐบาล) ในการบรรเทาปัญหา"

 

มาเลเซียกำลังพิจารณาหนึ่งในความพยายามแก้ไขปัญหาคือ การทำฝนเทียม โดยใช้วิธีการฉีดผงสารขนาดเล็กไปโปรยเหนือเมฆเพื่อให้เกิดฝนตก ซึ่งมักจะทำโดยเครื่องบิน  โดยที่ อาดลี ซาฮารี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวว่าการทำฝนเทียมต้องพิจารณาปัจจัยด้านภูมิอากาศหลายอย่าง เช่น สภาพของเมฆและลม ก่อนถึงจะทำได้

 

ในมาเลเซียนั้นมีกรณีการเสียชีวิตจากความร้อนเกิดขึ้้นอย่างน้อย 2 กรณี คือ กรณีชายอายุ 22 ปี จากทางตอนเหนือของรัฐปะหังของมาเลเซีย และเด็กชายอายุ 3 ปี จากรัฐกลันตันที่อยู่ใกล้เคียงกัน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระบุว่า ทั้งสองคนต่างก็เสียชีวิตจากโรคลมแดด หรือ "ฮีตสโตรก"

 

ฮีตสโตรกหรือโรคลมแดด เกิดจากการที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงมากจนอยู่ในภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ ผู้ที่มีความเสี่ยงมักจะเป็นกลุ่มที่ต้องทำงานอยู่กลางแจ้ง เช่น คนงานก่อสร้าง หรือ นักวิ่งมาราธอน นอกจากนี้ผู้สูงอายุและเด็กก็มีความเสี่ยงต่อฮีตสโตรกมากกว่ากลุ่มช่วงวัยอื่นๆ อีกกลุ่มหนึ่งที่เสี่ยงคือกลุ่มคนไข้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคพาร์กินสัน, โรคความดันโลหิตสูง

 

ช่อง Rama Channel ของโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้คำแนะนำเพื่อการช่วยเหลือผู้เป็นฮีตสโตรก ว่า กรณีที่ผู้ป่วยรู้สึกตัวผิดปกติ ควรทำ CPR และโทร 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาลมารับผู้ป่วย กลุ่มที่ยังรู้สึกตัวดีอยู่ให้นำผู้ป่วยเข้าในร่ม ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำให้เยอะ ๆ และรีบลดอุณหภูมิกายโดยการใช้น้ำแข็ง หรือการใช้ cool blanket คือการใช้ผ้ายาง ใส่น้ำแข็งลงไป แล้วให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในตรงนั้น ถ้ามีพัดลม สามารถเปิดพัดลมได้ หรือถ้าไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ก็ควรเช็ดตัวให้ผู้ป่วยโดยสวนขึ้นมาทางหัวใจ ควรเช็ดเป็นทางเดียวแล้วเปิดพัดลมให้ผู้ป่วย แต่วิธีนี้จะไม่ค่อยได้ผลเท่าการมีน้ำแข็งหรือ Cool Blanket ช่วย

 

นายแพทย์ กานต์ สุทธาพานิช จากภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุให้คำแนะนำเรื่องการป้องกันฮีตสโตรกว่า อย่าอยู่กลางแจ้งนานเกินไป ถ้ามีร่มควรใช้ร่มเพื่อกันแดด ให้ดื่มน้ำมากๆ และทานของเย็นๆ ถ้าหากอยู่ในบ้านควรเปิดประตู เปิดหน้าต่าง ให้อากาศถ่ายเท อย่าอยู่ในพื้นที่อับ เพราะจะทำใหเกิดความร้อนสะสมได้ และผู้ป่วยมีโรคประจำตัวไม่ควรออกไปอยู่กลางแจ้ง

 

 

ภาวะโลกร้อน กับกรณีไฟไหม้พื้นที่เกษตร

 

เจ้าหน้าที่ในรัฐซาบาห์ ซึ่งตั้งอยู่ที่เกาะบอร์เนียว ระบุว่ามีเหตุการณ์ไฟไหม้ที่มีต้นเพลิงมาจากป่าและพื้นที่การเกษตรรวม 300 กรณี ตลอดช่วงเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา

 

ในกัวลาลัมเปอร์ก็มีกรณีที่ผู้คนต้องปรับตัวกับความร้อนไปพร้อมๆ กับช่วงถือศีลอด เช่น นักศึกษาชื่อ ไอดิล อีมาน ไอดิด ผู้ที่บอกว่า "รอมฎอนปีนี้เป็นปีที่ร้อนที่สุดและท้าทายที่สุด" การพยายามรักษาร่างกายให้มีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลาเป็นเรื่องยาก ซึ่งไอดิล เชื่อว่าพวกเขากำลังเผชิญกับ "ภาวะภูมิอากาศสุดขั้ว"

 

"มีอะไรหลายเรื่องที่ต้องทำ แล้วผมก็ต้องการจะเห็นรัฐบาลทั่วภูมิภาคไม่ใช่แค่ปรับตัวรับกับสภาพ (แต่ยังต้อง) จัดเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้วด้วย" ไอดิดกล่าว

 

ในประเทศสิงคโปร์ มีการบอกให้นักเรียนสวมใส่ชุดยิมที่เย็นกว่า หลวมกว่า จนกว่าจะมีประกาศอื่นๆ ตามมาหลังจากนั้น เนื่องจากมีอุณหภูมิสูงอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

 

โฆษกกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่า พวกเขาจะคอยติดตามสถานการณ์ความร้อนต่อไปและคอยติดตามสภาพความเป็นอยู่ของนักเรียนกับคณะทำงานในโรงเรียนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่อาจจะมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากสภาพอุณหภูมิที่สูงขึ้น

 

โรงเรียนหลายร้อยแห่งในฟิลิปปินส์ก็มีมาตรการเกี่ยวกับภาวะอากาศร้อนจัดเช่นกัน พวกเขาสั่งหยุดการเรียนการสอนเพราะอากาศร้อนในระดับไม่สามารถทนได้ มีโรงเรียนหลายสิบแห่งในกรุงมะนิลาที่ประกาศหยุดเรียนเพราะสาเหตุนี้ โดยมีกลุ่มจับตามองที่แสดงความเป็นห่วงต่อเรื่องความปลอดภัยของเด็ก

 

องค์กร "Save The Children" ของฟิลิปปินส์ ออกแถลงการณ์ระบุว่า เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นและนักการศึกษาจำเป็นต้องปิดโรงเรียนหลายสิบแห่งเพราะอากาศร้อนจัดจนนักเรียนไม่มีสมาธิจะเรียนหนังสือ และเสี่ยงต่อสุขภาพของพวกเขา

 

Save The Children ฟิลิปปินส์ระบุอีกว่า "พวกเราควรจะมีปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้สูงสุดอยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียสเหนิอระดับอุณหภูมิยุคก่อนอุตสาหกรรม ... ถ้าไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ก็จะเกิดผลกระทบอย่างหนักต่อสุขภาวะ, ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก"

 

 

เรียบเรียงจาก

Searing heat is back across Southeast Asia and it’s not going away anytime soon,  CNN, 10-04-2024

https://edition.cnn.com/2024/04/10/asia/southeast-asia-extreme-heat-climate-intl-hnk/index.html

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

ฮีตสโตรกจากอากาศร้อน อันตรายถึงชีวิต : Rama Square (Better to know), RAMA Channel, 12-05-2019

 

https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/%E0%B8%AE%E0%B8%B5%E0%B8%95%E0%B8%AA%E0%B9%82%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net