Skip to main content
sharethis

“ณัฐพล ใจจริง” ร้องเรียนถึงสภา จุฬาฯ ทำไมคนนอกรู้ว่าคณะกรรมการสอบสวนประเด็นวิทยานิพนธ์อิทธิพลสหรัฐฯ ต่อการเมืองไทยยุคจอมพล ป. มีผลพิจารณาออกมาแล้ว แต่ ณ วันนี้เขายังไม่ได้รับแจ้งผล และวิจารณ์ว่าที่ผ่านกระบวนการสอบสวนของคณะกรรมการชุด “บวรศักดิ์” มีปัญหาอยู่แล้วทั้งกระบวนการทั้งหลักฐานที่ใช้

25 เม.ย.2567 ณัฐพล ใจจริง เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิการบดี และคณะกรรมการสภาฯ ร้องเรียนถึงการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่มีบวรศักดิ์ อุวรรณโณเป็นประธานและปาริชาต สถาปิตานนท์ เป็นเลขานุการสอบสวนกรณีวิทยานิพนธ์ “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)” ของเขา หลังมีเพจเฟซบุ๊ก “ตบดิ้น” และ “วิรังรอง ทัพพะรังสี” โพสต์ให้มหาวิทยาลัยเผยแพร่ผลสอบข้อเท็จจริงและมติของ จุฬาฯ รวมถึงให้ทางมหาวิทยาลัยมีการดำเนินการกับณัฐพลด้วย

ณัฐพลกล่าวว่าจากการเรียกร้องของทั้งสองเพจดังกล่าวนี้ทำให้เห็นว่าทางคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชุดที่มีบวรศักดิ์ อุวรรณโน ที่ถูกตั้งขึ้นเมื่อปี 2564 เพื่อมาสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องวิทยานิพนธ์ของเขาฉบับนี้อีกเป็นครั้งที่สองได้มีการสรุปผลแล้วและยังมีการรายงานถึงสภาจุฬาฯ ด้วย ทั้งที่ตัวเขาเองกลับยังไม่ได้รับทราบผลการสอบข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการเลยจนถึงวันนี้ แต่คนภายนอกกลับมีการโพสต์ที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขาทราบว่าคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงมีการออกผลพิจารณามาแล้ว

ณัฐพลกล่าวว่าจากโพสต์ของเพจตบดิ้นนี้ทำให้เขาถูกกลุ่มผู้ติดตามในเพจบางรายยังมีการพูดในเชิงข่มขู่และชักชวนให้ฆ่าหรือทำร้ายเขาและกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ด้วย

ณัฐพลยังชี้ปัญหาอีกว่าที่ผ่านมาคณะกรรมการชุดบวรรศักดิ์นี้ก็มีกระบวนการสอบข้อเท็จจริงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วเพราะก่อนสอบข้อเท็จจริงก็ไม่เคยแจ้งให้ทราบถึงประเด็นที่เขาถูกกล่าวหา และก่อนหน้านี้ รศ.ดร.เขมรัฐ โอสถาพันธุ์ กรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประเภทคณาจารย์ประจำ ยังเคยเปิดเผยถึงปัญหาการสอบสวนของคณะกรรมการชุดนี้ว่ามีการใช้ข้อมูลปลอมมาประกอบรายงานการสอบสวนและใช้กล่าวหาเขาอย่างผิดๆ ด้วย โดยเป็นข้อกล่าวหาที่เพิ่มเข้ามาภายหลังโดยไม่เคยแจ้งให้ณัฐพลทราบก่อนคือกล่าวหาว่าหนังสือพิมพ์ “เอกราช” ฉบับวันที่ 10 พ.ย.2490 ที่ณัฐพลใช้อ้างอิงในวิทยานิพนธ์นั้นไม่มีอยู่จริงและเลขานุการของคณะกรรมการยังเคยนำเสนอเรื่องนี้ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยด้วย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ณัฐพลได้ยืนยันว่าหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวมีอยู่จริงและเป็นหนังสือพิมพ์ที่ร่วมก่อตั้งโดยอิศรา อมันตกุล นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยและสุดท้ายแล้วภายหลังคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงยังส่งสำเนาหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวที่มีตราประทับของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ พร้อมการลงนามรับรองสำเนาถูกต้องโดยพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากรด้วย

หน้าสำเนาข่าวหนังสือพิมพ์ที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงส่งกลับให้ณัฐพล มีตราประทับของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติในกรอบสีแดงข้างล่าง พร้อมลายมือชื่อของพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากรในกรอบสีแดงมุมขวา (กรอบสีแดงเน้นโดยผู้สื่อข่าว)

นอกจากนั้นผู้เชี่ยวชาญ 4 คนที่คณะกรรมการสอบสวนชุดบวรศักดิ์ตั้งมา แม้จะมีข้อท้วงติงเรื่องเอกสารอ้างอิงในวิทยานิพนธ์แต่เมื่อเขาได้ชี้แจงแล้วหลังจากนั้นก็ไม่ได้มีข้อโต้แย้งอะไร

ณัฐพลได้ชี้แจงย้ำในหนังสือร้องเรียนด้วย ว่าการตั้งคณะกรรมการสอบสวนครั้งนี้เป็นครั้งที่สองแล้ว ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2561 ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เคยร้องเรียนมาแล้วหนึ่งครั้งในประเด็นเดียวกัน และครั้งนั้นมีเพียงประเด็นเดียวที่คณะกรรมการเห็นว่าควรแก้ไขคือข้อมูลที่อ้างอิงมาจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ซึ่งทางเขาเองยอมรับว่ามีความผิดพลาดและได้พยายามดำเนินการแก้ไขแล้ว แต่ทางบัณฑิตวิทยาลัยไม่ให้แก้ไขเนื่องจากกระบวนการทางวิทยานิพนธ์สิ้นสุดไปแล้วซึ่งทางประธานคณะกรรมการ ศ.ดร.ไชยวัฒน์ คํ้าชู ก็ได้รับทราบเรื่องนี้แล้ว

นอกจากนั้นไชยันต์เองก็ทราบเรื่องที่ทางบัณฑิตวิทยาลัยไม่ให้แก้ไขด้วยเช่นกันเพราะไปพร้อมกับไชยวัฒน์แต่ก็ยังมีการร้องเรียนซ้ำอีกครั้ง และไชยันต์ยังเป็นผู้แจ้งให้ม.ร.ว.ปรียานันทนา รังสิตมาเป็นผู้ฟ้องคดีกับเขาและร.ศ. ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อีกด้วย

ทั้งนี้ณัฐพลมองว่าจากการที่มีคดีความกันอยู่ในขณะนี้ ความพยายามเหล่าที่จะเอาผลสอบสวนนี้ออกมาเพื่อเอามาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ในทางคดี ทั้งที่ผลการสอบสวนนี้จะเป็นรายงานเท็จ เขาเกรงว่าทางสภามหาวิทยาลัยจะไม่ทราบว่าความจริงเป็นอย่างไรเขาจึงมารายงานต่อสภาฯ และชี้ให้เห็นความมีพิรุธและความเคลื่อนไหวเหล่านี้ที่สอดประสานกัน แม้ว่าจะเคยร้องเรียนต่อมหาวิทยาลัยหลายครั้งแล้วแต่ก็ยังไม่เคยแจ้งผลให้ทราบ แต่ถ้าได้ทราบผลแล้วก็อาจจะมีการดำเนินการทางศาลปกครองต่อไปกับคณะกรรมการชุดบวรศักดิ์นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net