Skip to main content
sharethis

เวทีที่ 2 เครือข่ายนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี 450 องค์กร พร้อมนับถอยหลัง หวังรัฐบาลอนุมัติ สวัสดิการเด็กเล็ก 600 บาทถ้วนหน้า ด้านเทศบาลนครยะลานำร่อง sandbox  ลงระบบตั้งแต่แม่ตั้งท้อง ในขณะที่เทศบาบนครหาดใหญ่ ไม่รอส่วนกลางใช้ โรงเรียน วัด มัสยิด ดูแลเด็ก ด้านชาวเกาะ ร้อง อบจ.พังงา หามาตรการช่วยเหลือเด็กเล็กบนเกาะ ที่ยังไม่มีใครดูแล

ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่าเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา เครือข่ายนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี 450 องค์กร ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนติดตามนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (ภาคใต้) ณ โรงแรมญันนะตีย์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งเวทีนี้เป็นเวทีที่ 2 โดยจัดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้

เครือข่ายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าฯ นับถอยหลัง วันที่ 30 เม.ย. รัฐจะอนุมัติสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 600 บาท

ผศ.สุนี ไชยรส ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 450 องค์กร  กล่าวว่าการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนติดตามนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (ภาคใต้) ในวันนี้ เป็นเวทีที่ 2 ที่จัดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อจะได้รับฟังความคิดเห็นจากเครือข่ายพี่น้องภาคใต้ ด้วยการถอดบทเรียนทบทวนสถานการณ์และร่วมกันกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย  เพื่อให้เกิดขึ้นและเป็นผลกับเด็กๆ ทุกคนที่เป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ 
            
ประธานคณะทำงานฯ นำเสนอภาพรวมในการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าว่า เครือข่ายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าฯ ที่ขณะนี้มีอยู่ 450 องค์กร ได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ช่วงก่อนหาเสียงเลือกตั้ง เครือข่ายเข้าพบพรรคการเมืองทุกพรรค แต่ละพรรคมีนโยบายสนับสนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าเหมือนกัน แต่หลังเลือกตั้งยังไม่มีการเคลื่อนไหวจากรัฐบาล  ซึ่งเครือข่ายฯ ต้องผลักดันอย่างหนัก จนทำให้รัฐบาลตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาในประเด็นนี้  ท้ายสุด กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยนายวราวุธ  ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้รับข้อเสนอนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า และได้แถลงสรุปว่า เด็กเล็กได้ 600 บาทถ้วนหน้าในงบปี 2568 ซึ่งจะมีข้อสรุปในวันที่ 30 เม.ย. 2567 นี้ หากรัฐบาลยอมรับนโยบาย 600 บาทถ้วนหน้า รัฐบาลจะเพิ่มงบอีก 14,000 ล้านบาท และของเดิม 17,000 ล้านบาท รวมแล้วรัฐบาลจะใช้เงิน 31,000 ล้านบาท จะสามารถสนับสนุนเด็กได้ 4,000,000 คน

เทศบาลนครยะลาล้ำ นำร่อง sandbox ลงระบบตั้งแต่แม่ตั้งท้อง

ด้าน วิศาล จิรภาพงพันธ์ รองนายกเทศมนตรีนครยะลา  กล่าวว่า ขณะนี้ที่เทศบาลยะลาเริ่มขยายการรับเด็กของศูนย์เด็กเล็ก จาก 2 ขวบ ตอนนี้ลดลงมารับเด็กที่อายุ 1.5 ขวบ  ทั้งนี้โดยเด็กจะต้องเข้าเกณฑ์ คือ ผู้ปกครองต้องลำบาก เป็นแรงงานทีไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ ต้องทำมาหากิน ในขณะที่เทศบาลไม่สามาถรับเด็กได้ทั้งหมด จึงต้องกำหนดเงื่อนไข เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องการดูแล เนื่องจากเด็กในวัยขวบครึ่งต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด  ต้องเพิ่มบุคลกรครูพี่เลี้ยง หากรับจำนวนมาก จะดูแลไม่ทั่วถึง

“ผมเชื่อว่ารัฐบาลมองเห็นความสำคัญของเด็กแรกเกิด เพราะปัจจุบันจำนวนเด็กเล็กน้อยกว่าจำนวนผู้สูงอายุ ในระยะยาวมีปัญหาแน่นอน ปัจจุบัน โรงเรียนในสังกัดหลายโรงเรียนเป็นโรงเรียนร้างอย่างมีนัยสำคัญ เราอาจจะต้องปรับบทบาทโรงเรียน ให้เป็นโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทในสังคม”

รองนายกเทศมนตรีนครยะลา  กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้นายกเทศมนตรีนครยะลา ได้นำร่องเทศบาลให้เป็น sandbox เริ่มตั้งแต่แม่ตั้งท้องต้องมาลงทะเบียน ระบุพิกัดลงในระบบ เพื่อลงข้อมูลนำมาลงระบบเพื่อให้การสนับสนุนช่วยเหลือ ทั้งนี้ สำหรับเงินช่วยเหลือจากส่วนกลาง หากยังไม่มา นายกฯ พยายามศึกษาระเบียบว่าจะนำเงินส่วนไหนมาใช้สนับสนุนส่วนนี้ได้ เพราะประเด็นเด็กกำลังจะเป็นปัญหาในอนาคต

เทศบาลนครหาดใหญ่  ยืนยันไม่ลดศูนย์เด็กเล็ก เดินหน้าขยายเข้าสู่ชุมชน ใช้วิธีการโรงเรียน วัด มัสยิด ดูแลเด็ก

อาหมัด เบ็ญอาหลี  รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่  กล่าวว่า ในเทศบาลนครหาดใหญ่นั้นให้ความสำคัญกับเด็กในทุกระดับ ทุกรูปแบบ วันนี้มีเด็กประมาณ 1,000 คน ที่ท้องถิ่นจะต้องเข้ามาดูแล  โดยโรงเรียนต่างๆ จะมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการ ซึ่งมีทั้งมีโรงเรียนสำหรับเด็กกลุ่มเปราะบาง พิการ หูหนวก ตาบอด และเด็กพิเศษ

รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่  กล่าวอีกว่า ขณะนี้ศูนย์เด็กเล็กของเทศบาลนครหาดใหญ่ ได้มีการขยายสาขาออกไปยังชุมชนให้มากขึ้น  ซึ่งยังมีเด็กมาเข้าเรียนไม่เต็มจำนวน อาจจะเป็นเพราะอายุของเด็ก เนื่องจากเทศบาลจะรับเด็กอายุตั้งแต่ 2 ขวบครึ่ง ตามที่กำหนด หากจะขยับอายุการรับเด็กเป็น 2 ขวบ เทศบาลจะต้องจัดหางบประมาณที่สามารถดำเนินการในส่วนนี้ได้

เทศบาลหาดใหญ่จะเข้าไปดูแลเด็กในส่วนที่พ่อแม่ ผู้ปกครองมีความลำบาก พ่อแม่ยากจน  รวมไปถึงเด็กที่มีผู้ปกครองเป็นคนงานก่อสร้างจะย้ายเข้าออกบ่อย เราจะติดตามและดูแล โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มาช่วย โดยจะแยกเด็กกลุ่มนี้ออกมา  เพื่อให้เขาได้เรียนหนังสือ เรียนรู้ภาษาไทย รวมถึงเด็กที่มาขายพวงมาลัย ขอทาน ซึ่งการที่เทศบาลจะนำเด็กเหล่านี้มาดูแล ต้องได้รับความยินยอมจากพ่อแม่ด้วย ถ้าเด็กมาโรงเรียนก็จะได้กินข้าวกลางวัน    
         
“กลุ่มเด็กที่ที่มาขายพวงมาลัย ขอทาน ต้องใช้ระบบวัด มัสยิด เทศบาลเข้ามาช่วยดูแล เมื่อเด็กเข้ามาในระบบ ก็จะได้กินอาหารกลางวัน

P-MOVE  พร้อมขับเคลื่อนนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า

ทัศนา นาเวศน์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) กล่าวว่า พีมูฟก่อเกิดเมื่อปี 2552 เริ่มจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก พีมูฟ ต่อมามีการขยายแนวทาวการต่อสู้ปัญหาต่าง ๆ มากขึ้น เช่น ปัญหาชาติพันธ์ คนชายขอบ หลักๆคือปัญหาที่ดิน แต่ละปัญหามิใช่เรื่องง่าย เราแค่ต้องการสังคมที่เป็นธรรม ทุกคนอยู่ด้วยกันอย่างเป็นสุข

นอกจากนี้ ประเด็นที่เราขับเคลื่อนคือสวัสดิการจากรัฐ ที่รัฐบาลแจก พีมูฟจึงพิจารณาว่าสังคมไทยควรจะเป็นสังคมรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า เพราะในปัจจุบันผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง ซึ่งเราได้จากการสำรวจของ อสม. ดังนั้น พีมูฟจึงบรรจุรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าเป็นหนึ่งใน 10 ข้อของนโยบายพีมูฟ โดยใน 10 ข้อ อาทิ การกระจายอำนาจ  การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม  สร้างระบบสวัสดิการให้มีความเท่าเทียมจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

ในขณะเดียวกัน ในฐานะ อบจ.พังงา และคณะทำงานยุทธศาสตร์แห่งความสุข จังหวัดพังงา นั้น ทุกเทศบาลศูนย์เด็กเล็กจะรับเด็ก 2 ขวบครึ่ง ซึ่งก็ยังมีปัญหาเพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่จะทำงานรับจ้าง ยังมีปัญหาเรื่องเวลา    

ชุมชนบนเกาะ ร้องขอศูนย์เด็กเล็กฯ

สำหรับเครือข่ายฯ ที่เข้าร่วมในเวที จาก สภาชนเผ่าพื้นเมืองภาคใต้   ได้นำเสนอต่อวิทยากรว่า  ในฐานะประชาชนที่อาศัยอยู่บนเกาะ   โรงเรียนบนเกาะยังไม่มีศูนย์เด็กเล็กรองรับเพื่อดูแลเด็กเล็ก ซึ้งบนเกาะจะมีโรงเรียนรองรับเด็กที่มีอายุ 4 ขวบขึ้นไปตามที่ระเบียบกำหนด  แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเด็กเล็กจำนวนมากบนเกาะ ที่ควรจะได้รับสวัสดิการเหล่านี้และการดูแลเหมือนเด็กที่อยู่บนฝั่ง บางคนพ่อแม่ผู้ปกครองต้องไปรับจ้าง ไม่มีใครดูแลลูก  นอกจากนี้ โรงเรียนบนเกาะ ยังมีปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่ไม่มีใครอยากไปอยู่เกาะ  จึงอยากให้ อบจ.พิจารณามาตรการการดูแลช่วยเด็กเล็กในพื้นที่บนเกาะด้วย 
          
นอกจากนี้ มาเรียม ในฐานะภาคประชาสังคม เสนอให้เทศบาลใช้เงินกองทุนสุขภาพตำบล ในการทำงานกับเด็กเล็ก โดยการรวมตัวกันแค่ 3 คนสามารถขอเงินจากกองทุนนี้ได้ เพื่อให้เด็กได้กินข้าวเช้า และช่วยในเรื่องสวัสดิการเด็กเล็ก
       

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net