Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

   


 


กำลังชั่งใจว่าจะคุยกับคุณ 'เรื่องนี้' ด้วยน้ำสียงและท่าทีแบบไหนดี


 


แบบง่ายๆและตรงไปตรงมาที่สุดคงต้องบอกว่า ดูภาพยนตร์โฆษณาไทยประกันชีวิตเรื่องล่าสุดแล้วเกิดอาการปรี๊ดขึ้น และก่อนที่จะปรี๊ดสูงไปกว่านี้ก็ต้องหันมาตระหนักว่า "คงเป็นหนังโฆษณาที่กินใจผู้คน" เป็นแน่แท้ แล้วก็เป็นดังคาดเพียงสองสัปดาห์กลายเป็น Talk of the Town กลายเป็นหนังโฆษณาที่ได้รับการโหวตให้เป็นอันดับหนึ่งของ http://www.adintrend.com ใครที่ยังไม่ได้ดูโฆษณารวมทั้งอ่านความเห็นของผู้คนต่อโฆษณานี้ก็คลิกไปดูได้ตามลิงค์นี้ http://www.adintrend.com/show_ad.php?id=1221


 



ด้วยความประทับใจในความรักที่พ่อมีให้แก่ "ปุยฝ้าย" ลูกสาวที่เป็นดั่งแก้วตาดวงใจ และอาจเผลอไผลคิดเลยไปว่าไทยประกันชีวิตก็จะรักใคร่ใฝ่ดีต่อเราผู้เป็นลูกค้าดุจเดียวกับพ่อที่รักและห่วงใยในลูกสาวตัวน้อย กล่าวอย่างห้วนง่ายคือ "ไม่ต้องมาทำดีขนาดจะเป็นพ่อกันก็ได้" แค่เป็นบริษัทประกันชีวิตที่ให้บริการแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา แบบที่โฆษณาของอีกบริษัทหนึ่งเอามาเป็นจุดขาย ก่อนหน้านี้ดูก็ชอบเฉยๆ แต่ดูไทยประกันชีวิตแล้วทำให้กลับไปชอบโฆษณาอันนั้นมากกว่า อย่างน้อยก็รู้สึกว่า "จริงใจดี"


 


แน่นอนเราไม่ปฏิเสธว่าในแง่ของฝีไม้ลายมือและศิลปะภาพยนตร์แล้ว โฆษณาชุดพ่อกับน้องปุยฝ้ายทำได้ชนิดคะแนนเฉียดเต็ม การตรึงผู้ชมหน้าจอโทรทัศน์ให้จดจ่อและเกิดความรู้สึกซาบซึ้งสะเทือนใจ น้ำตาไหลได้ทั้งหญิงและชาย พ่อแม่และลูกนั้น จากภาพยนตร์สั้นเพียง 30 วินาที ต้องยอมรับในเชิงชั้นภาพยนตร์ว่า "เยี่ยม" แต่ยิ่ง "เยี่ยม ซึ้ง จับใจ" เท่าใด ก็ยิ่งทำให้เราหวั่นใจกับสารที่โฆษณานี้พยายามจะสื่อออกมาว่ามันจะมีมุมกลับที่ตกสะท้อนมาถึงปุยฝ้ายตัวจริงทั้งหลายขนาดไหน


 


คนส่วนใหญ่ประทับใจและปรบมือให้กับโฆษณาชิ้นนี้หนึ่งในเหตุผลคือ ดีที่โฆษณาพยายามถ่ายทอดเรื่องราวที่สะท้อนสังคม เป็นการคืนกำไรให้สังคมทางหนึ่ง


 


บทสรุปของเรื่องที่ให้พ่อตัดสินใจที่จะรักษาสัญญาด้วยการโอบกอดลูกสาวตัวน้อยเอาไว้ แม้ว่าจะโกรธและผิดหวังในสิ่งที่ลูกสาวท้องก่อนแต่งก็ตาม เป็นข้อความสำคัญอันหนึ่งที่เราเคยอยากเห็นมันเกิดขึ้นจริงให้ได้ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องรับรู้รับฟังถึงวิกฤตในชีวิตของเด็กสาวจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญเรื่องนี้เพียงลำพังเพราะไม่คิดว่าพ่อแม่จะยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ หรืออีกไม่น้อยที่ต้องอยู่กับฝันร้ายเมื่อพบว่าพ่อแม่ไม่อาจทำใจได้ อาจแสดงออกด้วยความโกรธเกรี้ยวหรืออยู่ในความเศร้าซึมเนื่องจากผิดหวังอย่างรุนแรง


 


ทั้งที่เคยอยากเห็นการถมช่องว่างความผิดหวังของพ่อแม่ เมื่อเกิดสิ่งที่สังคมเรียกว่าความผิดพลาดขึ้นกับลูกและกรณีท้องก่อนแต่งของลูกสาวกับพ่อคนหนึ่งน่าจะเป็นกรณีคลาสสิคที่สุด แต่เราก็ไม่อาจรู้สึกพึงพอใจ เพราะสิ่งที่หนังโฆษณาชุดนี้พยายามที่จะจับใจคนด้วยการถ่ายทอดความรักและการเฝ้าทะนุถนอมของพ่อ(หน้าตาธรรมดาคนหนึ่ง) ที่มีต่อลูกสาว(สดใสในวัยแรกผลิ) มาแต่วันแรกเกิดจนวันที่มีผู้ชายอีกคนเข้ามาในชีวิต ยิ่งหนังพยายามสร้างท่วงทำนองอารมณ์แบบนี้มากเท่าไหร่ ยิ่งขับเน้นสารอีกด้านที่เป็นมุมสะท้อนกลับมาทิ่มแทงเด็กสาวแบบปุยฝ้ายในชีวิตจริง


 


ด่ากันแบบง่ายๆชินๆกันก็คือ "ทำไมเหลวไหลใจแตก ฟุ้งเฟ้อ จนฟอนเฟะ ทั้งที่พ่อแม่อุตส่าห์เลี้ยงดูอย่างดีตามประสาครอบครัวชนชั้นกลางที่มีพออยู่พอกิน"


 


ตามกรอบจารีตศีลธรรมประเพณี "ท้องก่อนแต่ง" จึงกลายเป็นความผิดที่ถูกหยิบยกมา "เน้น หนา หนัก" เพื่อขยายความรักของพ่อให้ยิ่งใหญ่เหลือคณา ด้วยหวังดีที่จะสะท้อนสังคมของคนทำโฆษณา


 


แต่ขออนุญาตมองอย่างคนปากร้าย อยากบอกว่า "ขอประทานโทษไม่ทำอย่างนี้ได้ไหม" เพราะเรื่องที่กำลังพูดกันมันอาจจะต้องการความเข้าใจในความซับซ้อนของปัญหา และเวลาที่จะสื่อสารได้มากกว่า 30 วินาที


 


รุ่นน้องคนหนึ่งบอกว่า "ไม่รู้ว่าเพื่อนของเธอที่พ่อไม่ยอมพูดด้วยมาหลายปีเพราะท้องก่อนแต่ง จะยิ่งเศร้ามากขึ้นแค่ไหนเมื่อดูโฆษณาชุดนี้"


 


เราเข้าใจดีว่า หนังสั้น 30 วินาทีเรื่องนี้ที่เพียงทำให้ผู้ชมประทับใจในความรักจนกลายเป็นยอดขายประกันชีวิตที่เพิ่มขึ้นของบริษัทที่เป็นลูกค้าแล้ว หรือเปลี่ยนใจพ่อบางคนให้ยอมรับสิ่งที่สังคมเรียกว่าความผิดพลาดของลูกได้ ก็ถือว่าสุดยอดแล้ว


 


แต่มันก็ตามมาด้วยคำถามกวนใจว่าทำไมความรักความใส่ใจที่พ่อมีให้กับลูกสาวตัวน้อยดุจแก้วตาดวงใจเช่นนี้แล้ว ปุยฝ้ายยังท้องก่อนแต่งได้อีก


 


ก็เป็นไปได้ที่จะพบคำตอบว่า "มันคนละเรื่องกัน" หรือคำตอบที่รวดร้าวใจยิ่งกว่าก็คือ เพราะพ่อมัวแต่เห็นปุยฝ้ายเป็นเพียงเด็กหญิงตัวน้อยของพ่อตลอดเวลา จึงไม่ได้ตระเตรียมหรือเสริมเกราะป้องกันให้ลูกได้เรียนรู้ที่จะมีความรักและเพศสัมพันธ์อย่างเท่าทันและป้องกันตัวเองได้


 


เรื่องท้องก่อนแต่งของเด็กสาวอย่างปุยฝ้ายจึงไม่ใช่ปัญหาว่าพ่อแม่ให้ความรักไม่เพียงพอ แต่เนื่องเพราะพ่อแม่ไม่พร้อมพอที่จะมองเห็นลูกเป็นหญิงสาวที่กำลังเติบโตและเรียนรู้ที่จะมีวิจารณญาณและตัดสินใจในทางเดินชีวิตของตัวเองได้มากกว่าจะเป็นเพียงเด็กหญิงตัวน้อยอยู่ร่ำไป


 


เราหวังว่าตำนานความรักของพ่อตัวใหญ่กับ "เด็กหญิงตัวน้อย" ต้องได้รับการพัฒนาความเข้าใจ และถ้าคนที่พยายามจะสื่อสารตำนานรักยังไม่เห็นว่าการทำให้คนเข้าใจและมีคำถามกับความสัมพันธ์ที่ควรจะเป็นนั้น มีความหมายมากกว่าการพยายามปลุกกระแสอารมณ์อันอ่อนไหวของผู้คนในสังคมแล้ว


 


ขอย้ำอีกครั้งว่า "ประทานโทษอย่าทำ" เพราะเราจะไปไม่พ้นจาก "ปิตาธิปไตย" สักที


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net