Skip to main content
sharethis



(แฟ้มภาพ) ภาพการชุมนุมประท้วงของสหภาพแรงงานจีน่าสัมพันธ์กว่า 500 คนหน้าสถานทูตสหรัฐเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2549 ที่ผ่านมา โดยเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2549 พนักงานได้ไปชุมนุมหน้ากระทรวงแรงงาน จนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเตรียมเรียกผู้นำแรงงานต่างๆ หารือ หากมีปัญหาให้ส่งตัวแทนมาพบ ไม่ต้องเดินขบวนมา (ที่มาของภาพ : AP Photo/Sakchai Lalit)


 


ตามที่ช่วงบ่ายของวันที่ 24 ต.ค. 2549 ที่ผ่านมา หลังจากที่ลูกจ้างบริษัทจีน่าฟอร์มบรา จากสหภาพแรงงานจีน่าสัมพันธ์กว่า 500 คน ได้ชุมนุมปิดถนนหน้ากระทรวงแรงงาน เรียกร้องให้บริษัทจ่ายเงินค่าชดเชยเพิ่มอีก 6 เดือน รวมทั้งโบนัสและระบุว่าที่ผ่านมายังไม่ได้รับเงินชดเชยใดๆ ต่อมาในช่วงค่ำนายอภัย จันทนจุลกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ว่าจะเตรียมเชิญหัวหน้าแรงงานกลุ่มต่างๆ หารือสภาพปัญหาการจ้างงาน เพื่อสกัดการก่อม็อบช่วงประกาศกฎอัยการศึก โดยย้ำว่าหากต้องการเรียกร้องเรื่องใดให้ส่งเฉพาะตัวแทนเข้าหารือนั้น


 


แรงงานไม่ปลื้ม ชี้ชนชั้นนำแค่ลดกระแส ไม่ควรพึ่ง


จากกรณีดังกล่าว ในวันนี้ (26 ต.ค.49) "ประชาไท" ได้สอบถามไปยังผู้ปฏิบัติงานในภาคแรงงานต่างๆ โดยนายศิริชัย สิงห์ทิศ กรรมการสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอตัดเย็บเสื้อผ้าและเครื่องหนังแห่งประเทศไทย เห็นว่า การที่รัฐมนตรีแรงงานจะเชิญผู้นำแรงงานเข้าหารือเรื่องสภาพการจ้างงาน เพื่อสกัดไม่ให้มีการชุมนุมเรียกร้องในช่วงกฎอัยการศึก เป็นเพียงการลดกระแสความขัดแย้งทางการเมืองชนชั้นที่เกิดขึ้น ผู้ใช้แรงงานไม่ควรไปพึ่งหวัง โดยเห็นว่ารัฐมนตรีแรงงานคงไม่สามารถจัดการอะไรให้ได้


 


"ผู้นำแรงงานไม่ควรไปเรียกร้องกับรัฐบาลที่มาจากระบอบที่ไม่ถูกต้อง ผมเห็นว่าน่าจะต้องปฏิเสธ เพราะแม้แต่รัฐบาลประชาธิปไตยผู้ใช้แรงงานก็เรียกร้องมาแทบจะคอขาด เรื่องนี้เป็นเพียงการแก้เกมการเมือง เป็นการยับยั้งการต่อสู้ของมวลชน เพราะกลัวฝั่งกรรมกรและคนจนจะไปเป็นแนวร่วมกับอีกขั้วอำนาจหนึ่ง ผมเห็นว่าการต่อสู้ที่ท้องถนน ยังคงเป็นเรื่องใหญ่ และสำคัญมาก" นายศิริชัยกล่าวในที่สุด


 


 


เชื่อถึงเรียกพบก็แก้ปัญหาไม่ได้ ยืนยันเรียกร้องค่าแรง 7,000 ต่อเดือน


น.ส.จรรยา ยิ้มประเสริฐ เจ้าหน้าที่โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (Thai Labour Campaign) กล่าวว่าการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเรียกผู้นำแรงงานเข้าพบ คงไม่ต่างจากการที่องค์กรชุมชนเข้าไปเสนอข้อเรียกร้องต่อนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยเชื่อว่าคงแก้ปัญหาอะไรไม่ได้


 


น.ส.จรรยากล่าวถึงข้อเรียกร้องของขบวนการแรงงานต่อรัฐบาลไม่ว่าจะรัฐบาลใดก็ตาม คือ ค่าแรงขั้นต่ำต้องเดือนละ 7,000 บาทเท่ากันทั่วประเทศ มีสถาบันเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงานที่เป็นอิสระ ยกเลิกการทำงานแบบรับเหมาค่าแรง รัฐบาลต้องลงนามในสัตยาบันอนุสัญญาขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) มาตรา 87 และ 98 ซึ่งเป็นการสนับสนุนเสรีภาพของสหภาพแรงงาน ข้อเรียกร้องเหล่านี้ ขบวนการแรงงานเสนอมาตลอดในช่วงหลายปี ถ้าจะไปพบก็ต้องเอาข้อเรียกร้องเหล่านี้ขึ้นโต๊ะและถามเลยว่าทำได้ไหม ซึ่งรัฐบาลที่มาจากเผด็จการเธอไม่เชื่อว่าจะทำได้


 


"เราจะพบว่าคณะรัฐมนตรีชุดนี้มาจากอดีตปลัดกระทรวง อดีตข้าราชการ อดีตชนชั้นสูงทั้งหลายกว่า 80-90% และในประวัติศาสตร์ของขบวนการแรงงาน กลไกที่มีอุปสรรคต่อขบวนการแรงงานคือกลไกความล้าหลังของระบบราชการของกระทรวงแรงงาน เราไม่เชื่อว่าคนที่มีวิธีคิดแบบข้าราชการจะจริงจังในการจัดการอะไรได้ ดังนั้นการปฏิวัติใหญ่ที่สุดในประเทศไทยคือการปฏิวัติกลไกระบบราชการทั้งหมดประเทศ" น.ส.จรรยากล่าว


 


เผยแรงงานจีน่าประท้วงแล้ว 5 ครั้ง ภายใต้กฎอัยการศึก 4 ครั้ง!


อนึ่ง ในช่วงบ่ายของวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา พนักงานบริษัทจีน่าฟอร์มบรา จากสหภาพแรงงานจีน่าสัมพันธ์กว่า 500 คน ได้ชุมนุมปิดถนนหน้ากระทรวงแรงงานเมื่อช่วงบ่าย เรียกร้องให้บริษัทจ่ายเงินค่าชดเชยเพิ่มอีก 6 เดือน รวมทั้งโบนัสและระบุว่าที่ผ่านมายังไม่ได้รับเงินชดเชยใดๆ โดย น.ส.ดวงใจ เมืองทอง ประธานสหภาพแรงงานจีน่าสัมพันธ์และคณะกรรมการสหภาพแรงงานฯ ยืนยันว่า ลูกจ้างทุกคนของบริษัทฯ ยังไม่มีใครได้รับเงินชดเชยตามที่กระทรวงแรงงานแถลงข่าวไป เนื่องจากเงินที่บริษัทจะจ่ายยังไม่ครบ ขาดสิทธิประโยชน์เรื่องโบนัสและเงินช่วยเหลืออีก 6 เดือน พนักงานยังไม่ตกลงในจำนวนเงินดังกล่าว และไม่มีใครรับเงิน


 


ในขณะที่ตัวแทนบริษัทจีน่า ฟอร์มบรา จำกัด ยืนยันว่า ได้จ่ายค่าจ้างจำนวน 14 ล้านบาท รวมถึงค่าชดเชยอีก 84 ล้านบาทให้กับพนักงานทั้ง 1,200 คนแล้ว ส่วนกรณีที่เรียกร้องสิทธิประโยชน์อื่นๆ นั้น ทางบริษัทคงให้ไม่ได้ เนื่องจากบริษัทขาดทุนต่อเนื่องกว่า 5 ปี


 


ล่าสุดวันนี้ ทวงถามย้ายจริงหรือ? หน้าสถานทูตสหรัฐ


โดยที่ผ่านมามีการชุมนุมของพนักงานบริษัทจีน่าฟอร์มบรา จากสหภาพแรงงานจีน่ามาแล้ว 5 ครั้ง เพื่อเรียกร้องเงินชดเชยหลังจากบริษัทปิดกิจการ โดยเป็นการชุมนุมภายใต้รัฐบาลทักษิณ 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2549 และภายใต้รัฐบาลทหารท่ามกลางการประกาศกฎอัยการศึกแล้ว 4 ครั้ง คือในวันที่ 8 ตุลาคม หน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย วันที่ 13 ตุลาคม และวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมาหน้ากระทรวงแรงงาน โดยเมื่อเย็นวันที่ 24 ตุลาคม รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานได้ให้สัมภาษณ์ว่าเตรียมเรียกผู้นำแรงงานต่างๆ เข้าพบเพื่อขอให้ผู้นำแรงงานหากมีปัญหา ให้ส่งตัวแทนเข้าพบเพื่อหารือ แทนการเดินขบวนชุมนุมในช่วงที่มีการประกาศกฎอัยการศึก


 


และล่าสุดวันที่ 26 ตุลาคม คนงานได้ไปชุมนุมหน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา ทวงถามว่าบริษัทดังกล่าวมีการย้ายฐานการผลิตไปประเทศจีนจริงหรือไม่ ตามที่ผู้บริหารบริษัทใช้เป็นข้ออ้างในการเลิกจ้างพนักงาน


 


ข่าวย้อนหลังจากประชาไท


"พนักงานจีน่าฟอร์มบรา" ยกขบวนบุกกระทรวงแรงงาน เรียกร้องค่าชดเชยเลิกจ้าง แบบไม่ขัดกฎอัยการศึก - 14 ต.ค. 49


แรงงานเตรียมประท้วงหน้าสถานทูตสหรัฐ อาทิตย์นี้ เหตุบริษัทไม่ยอมจ่ายเงินชดเชย - 7 ต.ค. 49


 


ข้อมูลประกอบย้อนหลัง


ประมวลภาพคนงานจีน่าฟอร์มบรา "ยื่นหนังสือสถานทูตอเมริกา" ที่มา : โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net