Skip to main content
sharethis

ระหว่างวันที่ 25-26 ตุลาคม 2549 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีโอกาสต้อนรับ "นพ.มงคล ณ สงขลา"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ลงมาตรวจเยี่ยมและหารือเรื่องการพัฒนางานสาธารณสุขใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้กับข้าราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข


 


โอกาสนี้ "นายแพทย์มงคล" ได้เปิดโอกาสให้สมัชชา นิลปัทม์ รวยริน เพ็ชรสลับแก้ว แห่งสถาบันข่าวอิศรา พร้อมด้วย มูฮำหมัด ดือราแม แห่งสำนักข่าวประชาไท สัมภาษณ์พิเศษ ดังต่อไปนี้


 


---------------------------------


 


ภารกิจในการลง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ มีอะไรบ้าง


มาหาวิธีการที่เหมาะสม ในการพัฒนางานสาธารณสุขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บวกอีก 2 จังหวัดในบางส่วน คือ สตูลและสงขลา ให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่ดีที่สุด


 


ประเด็นที่มีการหารือกัน เป็นเรื่องของการบริการที่ยังขาดส่วนประกอบในบางเรื่อง เช่นบุคลากร ทรัพยากรในบางส่วน และการเข้าถึงผู้รับบริการในบางพื้นที่ ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงประชากรบางกลุ่มที่อยู่ห่างไกลได้ ซึ่งเป็นบางพื้นที่เท่านั้นเอง ก็หารือกันเรื่องนี้เป็นเรื่องหลัก


 


การขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางด้านการเงิน หรือบุคลากร ก็อาจจะบอกได้ว่า ในพื้นที่ที่นี่ ที่หลายๆ คนคิดว่า ขาดแคลนมาก จริงๆ แล้วขาดแคลนไม่มากเหมือนที่คิด ส่วนที่ยังขาดอยู่ คือการเข้าถึงประชาชน การที่ประชาชนมารับบริการไม่ทั่วถึง ยังไม่ได้ตามเป้าหมายที่ควรจะเป็น


 


ปัญหาด้านสุขภาพ ด้านสาธารณสุขในพื้นที่ 3 - 4 จังหวัด บริเวณนี้ ที่ยังมีปัญหาจะเป็นเรื่องของสุขภาพแม่ สุขภาพเด็ก สุขภาพของผู้สูงอายุ และอัตราการมีเลือดไม่พอ ซีด ค่อนข้างจะสูง


 


เพราะฉะนั้น สุขภาพทั่วไปของคน 4 - 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเทียบค่าเฉลี่ยของประเทศแล้ว พูดได้ว่ายังต่ำกว่าพื้นที่อื่นๆ การหาวิธีที่เหมาะสมในการให้บริการให้ทั่วถึง และมีคุณภาพดียิ่งขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ในการพัฒนาสุขภาพของประชาชนให้มีความเท่าเทียมสม่ำเสมอกัน


 


เรื่องการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ระดับล่าง เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย จะมีการแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร


เจ้าหน้าที่ระดับอนามัย ที่นี่ไม่ได้ขาดแคลนมากกว่าที่อื่นเลย อาจจะพูดได้ว่าเจ้าหน้าที่อนามัยขาดแคลนทั่วประเทศ ในโรงพยาบาลก็ขาดแคลน แต่ถ้าถามว่าที่นี่ขาดแคลนมากกว่าที่อื่นไหม ก็ไม่ได้ขาดแคลนมากกว่าที่อื่น


 


อันนี้ ก็อาจจะบอกได้ว่า ในเรื่องขาดแคลนบุคคลากร เรื่องการขาดแคลนเงิน ทรัพยากรอื่นๆ ไม่ได้ขาดแคลนมากกว่าที่อื่น แต่วิธีการที่จะเข้าไปให้บริการคนให้ทั่วถึง เป็นปัญหาหลัก บางพื้นที่ยังเข้าไปลำบาก อาจจะไม่ปลอดภัย อาจจะไม่ได้รับความร่วมมือดีเท่าที่ควร จึงทำให้คนเหล่านี้ขาดการบริการที่เหมาะสม


 


จริงๆ แล้วงานสาธารณสุขเรา ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเรื่องความมั่นคง ไม่เกี่ยวกับเรื่องของทางตำรวจ - ทางทหารทั้งสิ้น เราคำนึงแต่สุขภาพ ไม่ว่าใครที่อยู่ในผืนแผ่นดินไทย เราต้องการให้ทุกคนมีสุขภาพอนามัยที่ดี แต่ที่นี่เข้าใจว่า ถ้าเป็นหน่วยงานของรัฐ เขาอาจจะมีความรู้สึกไม่ไว้วางใจ


 


ตรงนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นอุปสรรค จะต้องทำให้ทุกคนเข้าใจว่า เรามีหน้าที่อย่างเดียวที่ต้องทำ คือ ทำให้เขามีความสุข


 


การเข้าไปเยียวยาซ้ำซ้อนของหน่วยงานต่างๆ ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบต้องรื้อฟื้นเรื่องเดิมหลายๆ รอบ เหมือนกับยิ่งเป็นการตอกย้ำ จะแก้ปัญหาอย่างไร


ถ้าหากเราเยียวยาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง มันคงไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด การเยียวยามันไม่ได้หมายถึงการดูแลทางด้านภาวะจิตใจอย่างเดียว มันต้องชดเชยถึงความสูญเสีย และชดเชยอะไรอีกหลายๆ อย่าง ที่เขาหายไป กระทรวงสาธารณสุขที่มีอยู่ ก็มีการเยียวยาทางด้านจิตใจ โดยกรมสุขภาพจิตมาดำเนินการอยู่ในพื้นที่ ตรงนั้น เป็นแค่ปัจจัยหนึ่งในหลายปัจจัยเท่านั้น ในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกกระทบกระเทือน


 


ข้อมูลที่หลายหน่วยงานเก็บไว้ เช่น ทหาร หมอ นักวิชาการ ไม่ค่อยตรงกัน จะทำอย่างไรให้มีการปรับข้อมูล หรือหลักเกณฑ์ในการเก็บข้อมูลให้มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อจะนำไปสู่การแก้ปัญหาในอนาคต


จริงๆ แล้วข้อมูลที่เอาไปใช่ในวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน อาจจะมีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน ข้อมูลทางตำรวจ ทางทหาร ทางฝ่ายความมั่นคง อาจจะเป็นข้อมูลอีกส่วนหนึ่ง แต่ข้อมูลทางด้านสังคมมัน น่าเป็นฐานข้อมูลเดียวกัน ตรงนี้ จริงๆ แล้วได้มีการบูรณาการข้อมูลกันไปแล้วระดับหนึ่ง เพื่อที่จะเอามาใช้ร่วมกัน ส่วนใครจะเอาข้อมูลไปใช้โดยมีวัตถุประสงค์ต่างกันออกไป อันนั้น ต่างคนต่างพยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมกันเอาเอง


 


จริงๆ แล้วอยากจะเรียนว่า ส่วนหนึ่ง ได้มีการแบ่งข้อมูลนำมาใช้ร่วมกันแล้ว โดยเฉพาะทางด้านสังคม ทางด้านสาธารณสุข ทางด้านการศึกษา ทางด้านการพัฒนามนุษย์ สิ่งแวดล้อม อะไรต่างๆ เหล่านี้ แต่สำหรับข้อมูลทางด้านความมั่นคง จะเป็นข้อมูลที่ต่างออกไป เขาจะเก็บของเขาต่างหาก รวมไปถึงข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจ และข้อมูลส่วนบุคคล อันนี้ เป็นวัตถุประสงค์ที่แยกออไปอีกส่วนหนึ่ง ในการนำเอาข้อมูลไปใช้


 


หน่วยงานเฉพาะกิจด้านสาธารณสุข ที่จะตั้งขึ้นมีลักษณะอย่างไร


คือ เป็นความคิดในระดับเริ่มต้นเท่านั้นเอง เราจะมีคณะทำงานเรื่องนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ ได้เรียนเชิญอาจารย์ธาดา ยิบอินซอย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาเป็นประธานคณะทำงาน เพื่อรวบรวมผู้รู้ในพื้นที่ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ และปราชญ์ผู้รู้ของท้องถิ่น มาร่วมกันดูว่า จะทำงานสาธารณสุข เพื่อให้สุขภาวะสุขภาพของประชาชนดีขึ้นในภาวะเช่นนี้ จะมีวิธีการอย่างไร


 


เราจะไม่คำนึงถึงเรื่องของความสงบ ความปลอดภัย ความสมานฉันท์อะไรต่างๆ ในพื้นที่ เพราะมีหน่วยงานอื่นทำอยู่แล้ว ของเราจะเน้นแก้ปัญหาสุขภาวะของประชาชน เพราะสุขภาวะของคนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเทียบแล้วยังต่ำกว่าจังหวัดอื่นๆ ของประเทศ เราจะพยายามทำงานเชิงรุกมากขึ้น เนื่องจากว่าถ้าทำงานเชิงรับอย่างเดียว งานสาธารณสุขจะกลายเป็นงานแก้ปัญหา ไม่สามารถจะสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนให้ดีขึ้นมาได้


 


ทีมใหญ่จะมีอาจารย์ธาดา ยิบอินซอย เป็นประธาน จากนั้นทีมงานชุดนี้ ก็จะตั้งคณะทำงานต่างๆ ขึ้นมาอีก ขึ้นอยู่กับที่ประชุมจะพิจารณากันเอง ทางกระทรวงสาธารณสุขให้การสนับสนุน เพื่อที่จะให้การทำงานบรรลุวัตถุประสงค์ ตามที่ได้กล่าวไว้แล้ว


 


ผลกระทบจากความไม่สงบทำให้ชาวบ้านหวาดกลัว กระทรวงสาธารณสุขจะตั้งศูนย์สุขภาพจิตเหมือนอย่างฝั่งอันดามัน ที่ตั้งขึ้นช่วยผู้ได้รับผลกระทบจากสึนามิหรือเปล่า


คงจะไม่ใช่ศูนย์เฉพาะเรื่องการบำบัดทางจิต คงจะเป็นศูนย์แก้ปัญหาองค์รวมมากกว่า ถ้าเผื่อจำเป็นจะต้องแก้ปัญหาเฉพาะเรื่อง ก็จะส่งไปยังศูนย์ที่ทำงานเรื่องนั้นโดยเฉพาะ โดยเฉพาะโรงพยาบาลจิตเวช ซึ่งที่จังหวัดสงขลาก็มี ใหญ่ขึ้นไปก็ที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี อาจจะส่งคนไข้ไปที่นั่น หรืออาจจะส่งทีมนักจิตวิทยาลงมาในพื้นที่ก็ได้


 


อันนี้ ก็แล้วแต่ว่าคณะทำงานที่อาจารย์ธาดา ยิบอินซอย เป็นประธาน จะพิจารณาว่าจะเยียวยาอย่างไร เพราะในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีเองก็มีทีมนักจิตวิทยาอยู่ เพราะฉะนั้น การที่จะทำประเด็นหนึ่งประเด็นใด ก็ขึ้นอยู่กับปัญหาแต่ละเรื่อง จะแก้อย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุด


 


จะนำประเด็นการออกกฎหมายควบคุมเหล้า ซึ่งสอดคล้องกับวัฒนธรรมของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาใช้ประโยชน์ในการทำงานมวลชนอย่างไร


วัตถุประสงค์จริงๆ ตรงนี้ ผมคิดว่า ไม่ว่าจะเป็นชุมชนพุทธ หรือมุสลิม หรือชุมชนคริสต์ มีความต้องการตรงกันหมดทุกศาสนา ต้องการจะหลีกเลี่ยงอันตราย หรือสิ่งที่เป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพ เพราะฉะนั้น เมื่อผลการวิจัยหลายต่อหลายคณะออกมาชัดเจนว่า ความสูญเสียที่เกิดจาการดื่มแอลกอฮอล์ เกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี แล้ว 5 แสนล้านบาทที่สูญเสียไปต่อปี เฉพาะแค่ตัวเลขที่นับได้เท่านั้นเอง ไม่รวมกับการสูญเสียทางด้านจิตใจ สูญเสียทางด้านร่างกายที่ทุพลภาพ เพราะนับเป็นออกมาตัวเลขไม่ได้


 


ตรงนี้ ถ้าหากคำนึงถึงรายได้จากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปีหนึ่งประมาณ 2 แสนล้านบาท แต่เกิดการสูญเสียไม่น้อยกว่า 5 แสนล้านบาท ทำไมเราจะต้องมาแลกระหว่าง 2 แสนล้านบาท กับ 5 แสนล้านบาท แล้ว 5 แสนล้านบาท ยังไม่ได้นับการสูญเสียทางด้านจิตใจในครอบครัวของบุคคลที่จากไป ไม่ว่าจะจากไปด้วยอุบัติเหตุ ด้วยอาชญากรรม ด้วยการถูกข่มขืน ด้วยการเป็นโรคเอดส์ อะไรทั้งหลาย มันเกิดจากสุราทั้งนั้น


 


ถ้าเผื่อจะเดินไปดูที่สถานพินิจเด็กและเยาวชน จะเห็นเลยว่าเด็กที่นั่น 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ ที่เข้าไปสู่สถานพินิจมาจากสุรา แล้วอาชญากรรมที่กระทำโดยอาชญากร อายุระหว่าง 19 - 25 ปี ไม่ว่าจะเป็นการข่มขืน การก่ออาชญากรรม ทำร้ายร่างกาย ก็มาจากวัยรุ่นที่ดื่มแอลกอฮอล์โดยไร้สติ แล้วไปก่อก่ออาชญากรรม ข่มขืนกระทำชำเรา มาจากสุราทั้งนั้น


 


เราไม่ต้องการให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบขาดสติ สมมติจะดื่มแค่เป็นพิธีการ ดื่มเพื่อสังคม ดื่มเพื่อเป็นยา ก็อาจจะไม่ได้เสียหายอะไร แต่ถ้าหากดื่มจนไร้สติ มันเป็นการทำลายตัวเองและเพื่อนมนุษย์ในสังคมด้วยกัน


 


การห้ามโฆษณาเหล้า มีผู้อ้างว่าจะกระทบต่อคนบางอาชีพ เช่น อาชีพเชียร์เบียร์ หรือกระทบต่อวงการกีฬา ที่ปัจจุบันมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสปอนเซอร์หลัก


จริงๆ แล้วผมเรียนว่า คนที่เชียร์ให้คนอื่นมาซื้อมาดื่มเบียร์ คนเหล่านั้นมีศักยภาพที่จะไปทำอาชีพอื่นได้มากมาย ไม่ใช่ว่าเขาไม่ทำอาชีพนี้แล้ว จะตายหรือตกงานกันหมด มันมีงานอย่างอื่นอีกมากมายที่รองรับ


 


ถ้าจะบอกว่าธุรกิจอะไรต่างๆ เหล่านี้จะสูญเสีย จริงๆ แล้วธุรกิจสุรา ถึงแม้เราจะต่อต้าน เราจะออกกฎหมายมาบังคับใช้อะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ มันก็ยังเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรได้อยู่ดี เนื่องจากว่า มีคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำนวนหนึ่งอยู่แล้ว เพียงแต่อย่าสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นกับสังคมเท่านั้น อันนั้นเป็นสิ่งที่เรายอมรับได้


 


สิ่งที่เรารับไม่ได้ ก็คือ การดื่มจนขับรถไปชนคนตาย หรือเกิดอุบัติเหตุ แล้วมีคนตายคนบาดเจ็บอะไรทำนองนี้ ดื่มแล้วก่ออาชญากรรม หรือไปทำสิ่งที่ไม่ดีไม่ถูกไม่ต้อง หรือไปเสพยาเสพติด เราต้องยอมรับว่า คนดื่มสุราเข้าไปแล้วมักจะทำอะไรก็ได้


 


เพราะฉะนั้น การสูญเสียที่เกิดจากควบคุมเหล้า นับเป็นการสูญเสียเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่สังคมจะมีความสุขมาก ไม่สามารถประเมินค่าได้


 


ทีนี้ ในเรื่องของกีฬา ผมเรียนว่าการที่ทีมกีฬาต่างๆ สมาคมกีฬาต่างๆ ไปขอสปอนเซอร์จากผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีหนึ่งได้มา ไม่เกิน 200 ล้านบาทต่อปี สปอนเซอร์จากบริษัทใหญ่ๆ มารวมกันแล้วได้ประมาณ 200 ล้านบาท ถ้าหากเราไม่ให้บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหล่านี้โฆษณา ค่าใช้จ่ายก็ลดลง คนดื่มที่ไร้สติส่วนหนึ่งก็ลดลง แต่สุดท้ายแล้วก็ได้กำไรเพิ่มขึ้น เพราะไม่ต้องมาจ่ายค่าโฆษณา แล้วถ้าเกิดเราเพิ่มภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สัก 2 เปอร์เซ็นต์  2 เปอร์เซ็นต์จากราคาจำหน่าย มันก็จะเก็บเงินได้ปีหนึ่งประมาณ 2 พันล้านบาท แล้วเอาเงิน 2 พันล้านบาทที่ได้มานี้ ไปสนับสนุนกีฬาละ จาก 200 ล้านบาท มันก็จะเป็น 2 พันล้านบาท เราจะได้นักกีฬาอาชีพ สร้างนักกีฬาอาชีพตั้งแต่เล็กแต่น้อย ไม่ใช่มาจับเอาคนไหนที่มีทีท่ามีฝีมือดี แล้วก็มารวมเป็นทีม  แข่งทุกทีเราก็ต้องแพ้เขาทุกที เพราะฉะนั้น เวลาจะไปแข่งก็บนบานศาลกล่าวกัน จุดธูปจุดเทียนกันไม่รู้กี่ดอก เพราะเราไม่มีหลักไม่มีการสร้าง การกีฬาไม่ใช่ของ หรือเรื่องที่มันเกิดโดยบังเอิญ มันต้องสร้างนักกีฬาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่เริ่มต้น


 


ผมว่าถ้าเราได้ 2,000 ล้านบาท ผมเชื่อว่าประเทศไทยจะมีนักกีฬาดีๆ ระดับชาติได้ ในระดับสากลได้ แต่ที่เราเป็นอยู่ในขณะนี้ เราไม่เคยมีนักกีฬาอาชีพที่เรามั่นใจได้เลย


 


ที่ผ่านมา เราหักภาษีเหล้า 2% เข้ากองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ปีหนึ่งประมาณ 2,000 ล้านบาท ถ้าเราเพิ่มอีก 2% เป็น 4% เงิน 2% ก็เข้า สสส. นำไปใช้สร้างเสริมสุขภาพเหมือนเดิม ส่วนอีก 2% ก็มาดูแลเรื่องของการกีฬา ดูแลเรื่องเด็กและเยาวชน มาดูแลในเรื่องอื่นที่เกี่ยวกับสังคม


 


ในส่วนนี้ สมมติกีฬาเคยได้สปอนเซอร์จากเหล้าปีละ 200 ล้านบาท ซึ่งก็ไม่แน่นอน บางปีก็ได้ บางปีก็ไม่ได้ แต่แบบนี้ได้แน่ๆ 2% เงิน 2 พันล้านบาท เงินจำนวนนี้ ถ้าเราปรับไปเลย 500 ล้านบาท เอาไปพัฒนาเด็กและเยาวชน เอาไปพัฒนาเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องของสื่อ ทำให้สื่อเป็นสื่อสร้างสรรค์จริงๆ แบบนี้มันจะเกิดประโยชน์ต่อสังคม


 


แรงเสียดทานมีมากน้อยแค่ไหน


มีเยอะ มันออกมาในหลายรูปแบบ เพราะเราก็รู้ว่าธุรกิจตรงนี้เป็นธุรกิจที่ปกติแล้วไม่มีใครอยากจะเปลืองตัวเข้าไปยุ่ง  แต่ผมมองเห็นว่าสังคมเราเสียหายกับเรื่องนี้มามาก แล้วก็วิธีการที่เราทำกันอยู่ ไม่ว่าจะการให้ความรู้กับผู้บริโภคยังไงก็แล้วแต่ ศาสนา ไม่ว่าจะศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม หรือศาสนาคริสต์ ก็มีบทห้ามอยู่เหมือนกันหมด ศาสนาอิสลามเขาก็ดื่มเหล้าห้ามเด็ดขาด ศาสนาพุทธก็มีห้ามอยู่ในศีลข้อ 5 ศาสนาคริสต์ก็ไม่ให้มีการเสียสติ อะไรต่างๆ เหล่านี้  แต่ปรากฏว่า เราใช้รณรงค์แบบนี้ไม่เคยประสบความสำเร็จ


 


เราจึงต้องอาศัยหลายๆ ปัจจัย ในการที่จะแก้ไข การทำแบบนี้ เป็นการทำที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เคยได้รับประโยชน์อยู่ ได้รับผลประโยชน์ลดลง เพราะฉะนั้น การเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน อะไรต่างๆ เหล่านี้ เพื่อจะดิสเครดิตคนทำ เพื่อจะสร้างแนวร่วมให้เห็นด้วย เพื่อให้เขาสามารถทำอะไรได้อย่างเดิม ต้องเกิดขึ้นแน่ แต่ทีนี้จะบอกว่า เกิดมาแล้วกี่เรื่องกี่ราว ผมคงจะระบุลงไปไม่ได้ แต่มันมีแล้ว


 


ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเอาจริงกับเรื่องเหล้า แล้วกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง จะเอาด้วยหรือไม่ รัฐบาลเอาจริงหรือเปล่า


ผมมั่นใจ โดยเฉพาะพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ท่านเอาจริง เพราะจะเห็นชัดว่า วันที่เราไปเปิดการรณรงค์การงดเหล้าในวันทอดกฐินหลังออกพรรษา ที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ เรามีการตั้งจิตอธิฐานกันว่า ต่อไปนี้ ทุกคนรวมทั้งรัฐมนตรี จะให้การสนับสนุนเรื่องการต่อสู้กับพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างเต็มตัวอย่างเต็มกำลัง เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมเชื่อว่า ความร่วมจากส่วนราชการต่างๆ จะเป็นไปด้วยดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net