Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 6 พ.ย. 2549 เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ สถาบันพระปกเกล้า จัดการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 8 ประจำปี 2549 เรื่อง "การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ: มุมมองเชิงเปรียบเทียบ" โดยเวลา 9.00น. มีการสัมมนากลุ่มย่อยที่ 4 เรื่อง "การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยภาคประชาชน"

 


รสนา โตสิตระกูล เครือข่าย 30 องค์กรพัฒนาเอกชนต้านคอรัปชั่น กล่าวว่า จากประวัติศาสตร์การเมืองไทย แทบไม่เคยมีการตรวจสอบอำนาจของรัฐเลย แม้คณะรัฐประหารที่ผ่านๆ มามักอ้างว่า ยึดอำนาจเพราะทนการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลก่อนหน้าไม่ได้ แต่ก็ไม่เคยมีการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยทุจริตเพื่อเอาผิดกับรัฐบาลก่อนหน้าอย่างจริงจังตามข้อกล่าวหา


 


โดยพบว่าก่อนปี 2540 มีการนักการเมืองคอรัปชั่นได้รับโทษจำคุกเพียง 1 คน คือ พล.อ.สุรจิต จารุเศรณี รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ซึ่งรับสินบนจากพ่อค้าในคดีกินป่าในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งต้องต่อสู้กันถึง 3 ศาล ขณะที่มีการยึดทรัพย์ด้วยฝีมือของรัฐบาลที่ยึดอำนาจ 2 ครั้ง คือ ยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์ และจอมพลถนอม ขณะที่หลังปี 2540 มีการยึดทรัพย์และจำคุกนักการเมืองที่ทุจริตเพียง 1 ราย คือ นายรักเกียรติ สุขธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข


 


ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 เน้นที่ภาคตัวแทนของประชาชนเป็นส่วนใหญ่นั้น ทำให้การตรวจสอบอำนาจรัฐโดยประชาชนเองยากมาก ศ.ดร.กมล ทองธรรมชาติ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ เคยบอกว่า กระบวนการล่า 50,000 รายชื่อนั้นเป็นเพียงการกระทำในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ถ้าจะฟ้องจริงๆ ให้ยื่นเรื่องให้ ส.ส.มาร้องเอา แต่ตลอดการใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ไม่เคยมี ส.ส. 1 ใน 4 เข้าชื่อร้องทุจริตเลย เรื่องทุจริตยา ทั้ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างก็ปฏิเสธ


 


จะเห็นว่า ประชาชนในฐานะผู้เสียประโยชน์มากที่สุด แต่กลไกรัฐธรรมนูญกลับไม่ให้ความสำคัญ โดยให้เครื่องมือตรวจสอบแก่ประชาชนน้อย โดยที่ผ่านมา มีการใช้กลไกเพื่อตรวจสอบอำนาจรัฐโดยการล่า 50,000 ชื่อยื่นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่ง ผ่านคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) การฟ้องร้องผ่านศาลปกครอง ร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา และการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ


 


อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบอำนาจรัฐมักถูกสกัดกั้นโดยรัฐในหลายรูปแบบ อาทิ การอุ้มฆ่า ไม่ว่าจะเป็นทนายสมชาย นีละไพจิตร นายเจริญ วัดอักษร พระสุพจน์ สุวโจ ฯลฯ ทั้งหมดแล้ว 25 ราย การฟ้องคดีหมิ่นประมาท และฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนมาก


 


รสนา มองว่า การทุจริตคอรัปชั่นเป็นกระบวนการที่มีพลวัตสูง มีการเปลี่ยนแปลงเทคนิคใหม่ๆ จนยากที่กฎหมายจะตามทัน เหมือนกับการใช้เกวียนเป็นพาหนะไปไล่ตามจับคนที่ขี่จรวด โดยเสนอวิธีเพิ่มอำนาจการตรวจสอบของประชาชน ดังนี้


 


สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวกับการทุจริต ควรมีอายุความเท่าคดีอาญา คือ 20 ปี ไม่ควรรอลงอาญาและไม่มีการลดโทษ ในกรณีทุจริตยานั้น นายรักเกียรติถูกตัดสินจำคุก 15 ปีแต่ปรากฏว่า จำคุกอยู่เพียง 2 ปีเท่านั้น ควรมีสินบนนำจับให้ประชาชนที่ชี้เบาะแส เพื่อให้ประชาชนช่วยกันจับตาดูนักการเมืองที่ทุจริต และพัฒนาเครื่องมือหรือกฎหมายในการตรวจสอบให้ทันสมัย เช่น การอายัดทรัพย์สินของนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตก่อน เพราะกว่าจะมีการตัดสิน นักการเมืองก็ผ่องถ่ายเงินไปหมดแล้ว


 


นอกจากนี้ ยังเสนอให้เปิดให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายในกรณีการทุจริตของภาครัฐ โดยให้ประชาชนสามารถฟ้องคดีได้ ในกรณีที่หน่วยงานราชการที่เป็นผู้เสียหายไม่ฟ้อง การใช้กลไกข้อมูลข่าวสารที่ภาครัฐต้องเปิดกว้างให้ประชาชนเข้าถึง มีงบประมาณสำหรับประชาชนเพื่อใช้ในการเคลื่อนไหว กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการป้องกันคอรัปชั่น สื่อเสรีสำหรับประชาชน และการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย เพื่อหลีกเลี่ยงวัฎจักรการยึดอำนาจของคณะรัฐประหาร


 


 


ด้าน บุญเลิศ คชายุทธเดช (ช้างใหญ่) บรรณาธิการอาวุโส หนังสือพิมพ์มติชน และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า การตรวจสอบอำนาจรัฐ ดูจะเป็นคำใหม่ที่มีในรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกฉีกไปเรียบร้อยแล้ว โดยในรัฐธรรมนูญที่ถูกฉีกไปแล้ว คำว่า การตรวจสอบอำนาจรัฐไปปรากฏในหมวด 10 การแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ การถอดถอนออกจากตำแหน่ง การดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง


 


ขณะเดียวกัน ก็ปรากฎในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 หมวด 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 76 บัญญัติไว้ว่ารัฐบาลใดที่เข้ามาบริหารประเทศจากการเลือกตั้ง ต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการกำหนดนโยบายการตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนา ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ แต่ในความเป็นจริง ไม่มีผู้ใช้อำนาจรัฐที่จะใจดีให้ใครมาตรวจสอบตัวเองตลอดเวลาทุกเรื่องทุกราว ในเมื่อการใช้อำนาจรัฐเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชาติและอาจรวมถึงประโยชน์ของคนใช้อำนาจด้วย


 


ด้านอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มาตรา 182 ซึ่งระบุว่า "สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีอำนาจควบคุมการ บริหารราชการแผ่นดินโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้" การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การตั้งกระทู้ถามสด ซึ่งถามได้แค่ 4-5 คำถามแล้วก็นั่งลง การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจซึ่งเป็นมาตรการทางการเมืองสูงสุดของส.ส. แต่เมื่อมีคะแนนเสียงไม่ถึงก็ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ส.ว.ไม่เคยใช้อำนาจที่รัฐธรรมนูญให้ไว้เลย ต้องตอบคำถามว่า อีก 10 ปีข้างหน้า กลไกจะนำไปสู่การเลือกส.ว. อิสระได้หรือเปล่า


 


ดังนั้น นับแต่ใช้รัฐธรรมนูญมาจนถูกฉีกเมื่อ 19 ก.ย. ประชาชนได้เรียนรู้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยองค์กรอิสระทั้งหลายที่รัฐธรรมนูญบัญญัติขึ้น ซึ่งพบว่าล้มเหลวเนื่องจากองค์กรอิสระถูกครอบงำ จึงเกิดการตรวจสอบอำนาจรัฐโดยภาคประชาชนขึ้น โดยภาคประชาชนนี้หมายถึงผู้ที่ไม่ได้เข้ามาใช้อำนาจรัฐ ซึ่งคือประชาชนรวมถึงสื่อสารมวลชนด้วย บ้างแสดงบทบาทเป็นรายคน บ้างเป็นกลุ่ม หรือคณะ เช่น เครือข่าย 30 องค์กรพัฒนาเอกชนต้านคอรัปชั่น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยวิธีการตรวจสอบที่หลากหลาย เช่น การให้สัมภาษณ์กับสื่อ การจัดอภิปราย สัมมนา การยื่นหนังสือ การเข้าชื่อ


 


อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ภาคประชาชนสามารถตรวจสอบอำนาจรัฐอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นฝ่ายถ่วงดุลการตรวจสอบอำนาจรัฐทางการเมืองและโดยองค์กรอิสระ เขามีข้อเสนอ ดังนี้


 


ควรเขียนรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนและออกกฎหมายลูกให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงเพื่อคุ้มครองสื่อมวลชนและประชาชนให้สามารถใช้เสรีภาพในการพูด แสดงความเห็น เขียน พิมพ์ โฆษณา สื่อความหมายอื่นที่กระทบต่อบุคคลสาธารณะผู้ใช้อำนาจรัฐ ในประเด็นที่เกี่ยวกับสาธารณะ พฤติกรรมส่วนตัวที่ส่งผลถึงส่วนรวม จะต้องไม่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ทางอาญาหรือแพ่ง


 


ต้องคุ้มครองการใช้สิทธิการชุมนุมของประชาชน อันเป็นสิทธิตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่ระบุว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่การใช้เสรีภาพที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งความแกนนำไปหลายคน คนละหลายข้อหา คล้ายเป็นการกลั่นแกล้งภาคประชาชนไม่ให้ตรวจสอบผู้ใช้อำนาจรัฐ


 


ข้อสงสัยของภาคประชาชนและสื่อมวลชนอันเกิดจากการมีเงื่อนงำในการบริหารราชการแผ่นดิน และการทุจริตของผู้ใช้อำนาจรัฐ ต้องได้รับการชี้แจงและตรวจสอบจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรอิสระโดยเร็ว ยกตัวอย่าง กรณีนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตส.ว.นครราชสีมากล่าวบนเวทีพันธมิตรฯ ที่สวนลุมพินี ว่า ได้ข่าวว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส่งจดหมายถึงประธานาธิบดีบุช ของสหรัฐฯ โดยหลักแล้ว นายกฯ ต้องเปิดเผยเรื่องนี้ นำจดหมายมาแสดง ต่อมาเมื่อมีการนำจดหมายมาตีพิมพ์ นายกฯ ก็ควรแสดงความรับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่ง


 


องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรเป็นองค์กรที่ชาวบ้านเข้าถึงและตรวจสอบได้ เนื่องจากองค์กรเหล่านี้ได้เงินงบประมาณจากภาษีท้องถิ่นและเงินสนับสนุนจากภาครัฐ และสุดท้าย ควรมีกลไกให้องค์กรภาคประชาชนสามารถตรวจสอบการปฏิบัติงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญได้ เพื่อการบริหารขององค์กรอิสระที่มีประสิทธิภาพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net