Skip to main content
sharethis

ประชาไท - วันที่ 16 ..49 โครงการจัดประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ ๓: ความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ณ ห้อง 303 คณะศิลปศาสตร์ มีการเสนอรายงานและบทความวิจัย ในหัวข้อเพศสภาพ และความหลากหลายที่ท้าทายมนุษยศาสตร์


รายงานวิจัยชิ้นแรกเสนอในหัวข้อ "ทบทวนวรรณกรรม YAOI: การ์ตูนเกย์โดยผู้หญิงเพื่อผู้หญิง" โดย ญาณาธร เจียรรัตนกุล นักศึกษาสหสาขาวิชาเพศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า YAOI เป็นการ์ตูนที่นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายและผู้ชายของประเทศญี่ปุ่น หรือการ์ตูนเกย์ซึ่งเขียนโดยผู้หญิงและผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิงด้วย


ญาณาธร กล่าวต่อว่า การศึกษาการ์ตูนญี่ปุ่นไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็น ความรู้ทางด้านวิชาการ เห็นได้จากจำนวนของผลงานทางวิชาการ วารสารการศึกษา ทำให้การศึกษาเรื่องการ์ตูนเป็นประเด็นเรื่องผลกระทบจากสื่อ มุ่งเน้นวิเคราะห์ผู้รับสาร ใช้วิเคราะห์ตามหลักจิตวิทยา จึงทำให้การศึกษาเรื่องการ์ตูนลดความสำคัญลง และการ์ตูน YAOI ถูกมองว่าทำลายความเป็นไทย ทำให้เด็กมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร


ญาณาธร อธิบายต่อว่า YAOI คือสื่อทางเลือกของผู้หญิง ในการทำความฝันและจินตนาการ มีอิสรภาพ ไม่มีการกดขี่  คำว่า YAOI จะเป็นการหลีกหนีการกดขี่จากผู้ชายด้วยการทำให้ผู้ชายเป็นวัตถุทางเพศของผู้หญิง จากผู้หญิงเป็นผู้ถูกกระทำ แต่ ใน YAOI ผู้ชายเป็นผู้ถูกกระทำซึ่งผู้หญิงเป็นผู้เขียนเรื่องทั้งหมดขึ้น


รายงานวิจัยชิ้นที่สองนำเสนอในหัวข้อ "ภาพเปลือยในนิตยสาร เพลย์บอย สหรัฐอเมริกา ทศวรรษ 1950 ความหลากหลายที่มีมาก่อนหน้า Sexual Revolution: บทวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์" โดย อาวุธ ธีระเอก นิสิตปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ (ภูมิภาคตะวันตก) คณะศิลปศาสตร์ มธ. ได้กล่าว่า การปฏิวัติวัฒนธรรมและความคิดต่อเรื่องเพศในสหรัฐอเมริกา (Sexual Revolution) ก่อนทศวรรษ 1890 เรื่องเซ็กส์นั้นไม่สามารถที่จะนำออกสู่สาธารณะได้ เป็นเรื่องต้องห้าม ผิดกฏหมาย ผิดศีลธรรม แต่เมื่อสังคมกลายเป็นชนชั้นกลาง มีการสนับสนุนเรื่องศิลปะ หนังสือเพลย์บอย กลายเป็นสิ่งที่บอกถึงฐานะ เพราะมีราคาเเพง เรื่องจริยธรรมถูกมองข้ามไป นิตยสาร เพลย์บอย เล่มที่หนึ่งจำหน่ายในเดือนธันวาคม 1953


อาวุธ กล่าวว่า แม้แต่นิตยสารสำหรับอ่านกันทั้งครอบครัวและมุ่งกลุ่มชั้นกลางอย่าง life ก็ลงภาพถ่ายสาวสวย และคนทั่วไปก็บอกว่าเป็นภาพที่สะอาด ดูดี เจริญตา เจริญใจ เป็นที่ชื่นชมได้ทั้งจากผู้หญิงและผู้ชายดีๆ ทั่วไป ไม่นานนิตยสารเหล่านี้ก็กลายเป็นธุรกิจที่มีเครื่องสำอางค์สำหรับผู้ชายมาเกี่ยวข้อง


ส่วนรายงานวิจัยชิ้นสุดท้ายที่เสนอ คือ "เพศวิถี: ชีวิตคู่ของหญิงรักหญิงที่ออกแบบเองในสังคมไทย" โดย สุมาลี โตกทอง เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.), นักศึกษาสตรีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า


หญิงรักหญิงถูกมองว่า ผิดปกติ ผิดธรรมชาติ ผู้หญิงต้องเป็นภรรยาและแม่เท่านั้น และอยู่ภายใต้ระบบที่ชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงถูกสังคมตอกย้ำว่า การมีเพศวิถีนั้นสามารถมีได้กับต่างเพศเท่านั้นโดยเชื่อว่าเป็นธรรมชาติ ภายใต้ความเชื่อนี้หญิงรักหญิงจึงเป็นเพศวิถีที่ถูกปฏิเสธเรื่องเพศที่ชอบธรรมทางสังคม ซึ่งกำหนดเพศสภาวะและเพศวิถีในแบบที่ตายตัวให้มนุษย์มีเพียง 2 เพศไว้คู่กันคือหญิงกับชายเพื่อการผลิตหรือสืบพันธุ์เท่านั้น


สุมาลี กล่าวต่อว่า ทั้งที่เราทุกคนมีสิทธิ เราก็ต้องมีสิทธิที่จะเลือกได้ว่าเราจะแสดงออกทางเพศได้ว่าเป็นหญิงหรือชาย มีสิทธิในการเลือกชีวิตคู่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย เราสามารถสร้างพื้นที่ให้เห็นความแตกต่างและการมีตัวตนของหญิงรักหญิงปรากฏได้เหมือนมนุษย์ทั่วไป ทุกคนสามารถเลือกในสิ่งที่ตัวเองต้องการโดยไม่มีกรอบเพศภาวะที่สังคมเป็นผู้ขีดขึ้น


สุมาลี เสริมต่อว่า คนทั่วไปอาจมองว่าเรื่องหญิงรักหญิงในสังคมทุกวันนี้เป็นเรื่องที่ถูกยอมรับแล้ว แต่……ไม่มีใครบอกได้ว่ายอมรับแค่ไหน ในรายงานวิจัยในครั้งนี้ได้กลุ่มศึกษาที่เป็นหญิงรักหญิงใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันจำนวน 4 คู่เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ในประสบการณ์ของแต่ละคน พวกเขาคิดว่าเรื่องหญิงรักหญิงเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเสรีภาพ และเป็นทางเลือกของผู้หญิงแต่ละคนที่สามารถจะเลือกได้ ภายใต้คำประกาศว่า เป็นหญิงรักหญิงแต่ไม่ได้อยากเป็นผู้ชาย ถึงอย่างไรกลุ่มคนเหล่านี้ก็ไม่กล้าเปิดเผยฐานะของตนเองให้สาธารณะชนทราบ เพราะเกรงจะมีผลกระทบต่อเรื่องงาน และกลัวครอบครัวจะไม่ยอมรับ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net