Skip to main content
sharethis

23 พ.ย. 2549 หลังจากที่คำกล่าวอ้างของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ออกมาพูดว่าร้านอาหารไทยในมาเลเซียให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยการบริจาคเงินนั้น หลายฝ่ายได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง รวมทั้งมีการเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลให้ชัดเจน


 


เริ่มจาก หนังสือพิมพ์นิวส์ สเตรทส์ ไทมส์ ของมาเลเซีย รายงานอ้างถ้อยแถลงของรัฐมนตรีช่วยกระทรวงความมั่นคงของมาเลเซีย ว่า คำกล่าวอ้างของ พล.อ.สุรยุทธ์ นั้น ปราศจากมูลความจริงโดยสิ้นเชิง ขณะที่รัฐมนตรีอีกรายหนึ่งในกระทรวงความมั่นคงของมาเลเซีย กล่าวว่า รัฐบาลมาเลเซียพร้อมจะดำเนินการสอบสวนข้อกล่าวหานี้ แต่เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงหลักฐานประกอบข้อกล่าวหา


 


ด้านประธานคณะกรรมการฝ่ายบริหารภาครัฐ และการวางแผนด้านการเงินและเศรษฐกิจในรัฐกลันตัน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของมาเลเซีย ซึ่งมีเขตแดนติดต่อกับไทย กล่าวว่า ตนคิดว่า บรรดาผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในมาเลเซีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทยมุสลิม มีขีดความสามารถเพียงส่งเงินกลับไปสนับสนุนครอบครัวของพวกเขาเท่านั้น


 


คำวิจารณ์ของรัฐมนตรีมาเลเซียเป็นการตอบโต้รายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยฉบับหนึ่ง ซึ่งอ้างคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีของไทยวานนี้ ว่า เครือข่ายร้านอาหารของไทยในมาเลเซีย ซึ่งเรียกตนเองว่า กลุ่ม "ต้มยำกุ้ง" ส่งเงินกลับมาสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย


 


ส่วน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธให้ความชัดเจนเรื่องนี้ เพียงแต่บอกว่า จะขอแถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2549


 


ชาวบ้านยันหากินสุจริตอยู่เมืองไทยไม่มีรายได้


สะตอปา อิเฮง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบาราโหม อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า พี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีจำนวนไม่น้อย จะออกไปประกอบอาชีพเปิดร้านต้มยำกุ้ง ที่ประเทศมาเลเซีย ส่วนใหญ่เริ่มต้นจากการเป็นลูกจ้างร้านอาหารมาก่อน แล้วค่อยมาเปิดร้านเล็กๆ ขายอาหารตามสั่งตามริมฟุตปาธ ในหลายรัฐของประเทศมาเลเซีย บางคนใช้เวลา 10-15 ปี กว่าจะสามารถขยับขยายกิจการเปิดเป็นร้านอาหารอย่างเต็มรูปแบบ


 


นายสะตอปา เปิดเผยอีกว่า บางคนประสบความสำเร็จ มีรายได้มากกลับมาสร้างบ้านในประเทศไทยราคานับล้านบาท แต่บางคนไม่ประสบความสำเร็จ ต้องกลับบ้านมือเปล่าพร้อมกับหนี้สิน บางคนถูกหลอกจนหมดตัว บางรายถูกเบี้ยวค่าจ้างซึ่งส่วนใหญ่นายจ้างเป็นชาวมาเลเซีย แต่พี่น้องใน 3 จังหวัดภาคใต้ ต้องทน เพราะถ้าอยู่บ้านไม่มั่นใจกับรายได้


 


นายสะตอปา กล่าวว่า ดังนั้น การที่นายกรัฐมนตรีออกมาพูดว่า ผู้ประกอบการร้านต้มยำกุ้ง สนับสนุนเงินทุนให้ผู้ก่อความไม่สงบนั้นไม่เป็นความจริงและไม่ก่อเกิดผลดีเลย รัฐบาลควรสนับสนุนมากกว่าออกมาพูดลักษณะนี้ เพราะที่ผ่านมาพี่น้องที่ออกไปเปิดร้านอาหารตามสั่งไม่เคยได้รับความสะดวกจากหน่วยงานของรัฐเลย


 


 "หมอแว" แนะเปิดเผยให้ชัดอย่าเหวี่ยงแห


 นายแวมะฮาดี แวดาโอะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขอให้นายกรัฐมนตรีแยกแยะให้ชัดเจนว่าร้านต้มยำกุ้งในมาเลเซียเป็นร้านใด เพราะคนไทยเปิดร้านต้มยำกุ้งในมาเลเซียประมาณ 3,000 ร้าน และขณะนี้คนไทยในมาเลเซียที่ได้รับความเดือดร้อนจากความไม่สงบ และเป็นแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตกว่า 200,000 คน กำลังกังวลว่าจะได้รับผลกระทบ และถูกผลักดันออกนอกประเทศ จึงเห็นว่านายกรัฐมนตรีไม่ควรตั้งสมมติฐานแบบเหวี่ยงแห


 


แฉเครือข่าย "ต้มยำกุ้ง" สมยอมป่วนใต้-ตรวจสอบยาก


 ส่วนในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พล.อ.ปานเทพ ภูวนารถนุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ผู้ก่อความไม่สงบเมื่อ 20-30 ปีก่อนใช้วิธีเรียกค่าคุ้มครองกับนักธุรกิจไทยในพื้นที่ แต่เพิ่งทราบว่าขณะนี้มีการขยายเครือข่ายเรียกค่าคุ้มครองคนไทยที่ทำงานในประเทศมาเลเซีย แต่ไม่ทราบรายละเอียดว่าเป็นร้านขายต้มยำกุ้ง เรื่องนี้คงเป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ยาก เพราะเป็นลักษณะของการสมยอมกันด้วยการบริจาคเงิน และคนไทยที่ทำงานในมาเลเซียก็มีศูนย์รวมอยู่ในร้านอาหารเหล่านั้น


 


มหาดไทยย้ำไม่กระทบสัมพันธ์มาเลย์


นายอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่า อาจเป็นข้อมูลที่นายกรัฐมนตรีรับมา ซึ่งเรื่อง การสนับสนุนของภาคเอกชนที่อยู่ในมาเลเซียได้ข่าวมานานแล้ว แต่บอกชัดเจนไม่ได้ เพราะรายละเอียดยังไม่ทราบ ไม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับมาเลเซีย เพราะเป็นเรื่องเอกชน และไม่ได้หมายความว่าทุกร้านต้มยำกุ้งจะทำอย่างนี้


 


นายกิตติ วะสีนนท์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ความสัมพันธ์ระดับผู้นำของไทยและมาเลเซียอยู่ในระดับที่ดีมาก มีการพบปะ ประชุมระดับผู้นำหลายเวที ซึ่งกรณีร้านอาหารต้มยำกุ้งได้มีการหารือระหว่างผู้นำทั้งสองฝ่ายแล้ว และเข้าใจกันดี


 


แต่นายกิตติ ปฏิเสธเปิดเผยช่วงเวลาการหารือเรื่องดังกล่าว นายกิตติ แต่เปิดเผยด้วยว่า ได้รวบรวมคำสัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับร้านต้มยำกุ้ง ส่งให้สถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เก็บเป็นข้อมูลแล้ว


 


000


เรียบเรียงจากเว็บไซด์ผู้จัดการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net