Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ 1 ธันวาคม 2549 - กรีนพีซ และกลุ่มเอฟทีเอ วอท์ช (FTA-Watch) ประณามข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ หลังพบข้อมูลอนุญาตให้ญี่ปุ่นนำขยะพิษ และสารเคมีอันตรายมาทิ้งในประเทศไทยได้ ทั้งนี้รายละเอียดในข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นบ่งชี้ถึงความพยายามในการหาช่องทางนำเถ้าและกากที่ได้จากการเผาขยะเทศบาล ของเสียจากอุตสาหกรรมเคมี ขยะเทศบาล และตะกอนจากน้ำเสีย และของเสียอื่นๆ มาทิ้งยังประเทศไทย


 


กิตติคุณ กิตติอร่าม ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ความพยายามเพื่อให้ประเทศไทยเป็นแหล่งทิ้งขยะพิษอย่างถูกกฎหมายของญี่ปุ่นครั้งนี้ ไม่ต่างอะไรจากความพยายามก่ออาชญากรรม ญี่ปุ่นพยายามบีบบังคับอย่างไม่รู้สำนึกละอายต่อประเทศไทย ให้กลายเป็นที่ทิ้งขยะโดยใช้ข้อตกลงการค้าเสรีเป็นเครื่องมือ


 


กลุ่มเคลื่อนไหวทั้งสองยังได้ร่วมกันประณามการไม่เปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดในข้อตกลงนี้


 


บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ นักวิชาการของกลุ่ม FTA Watch และผู้อำนวยการโครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ต้องมีการเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดของข้อตกลงเปิดเสรีการค้าไทย-ญี่ปุ่นต่อสาธารณชน กระบวนการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีไม่โปรงใส คณะเจรจาของฝ่ายไทยอ้างว่า ร่างข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นทั้งฉบับได้ถูกส่งไปให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตั้งแต่ 2 มิถุนายน 2549 แต่จะเป็นไปได้อย่างไรเมื่อเป็นช่วงเวลาที่รัฐสภาถูกยุบไปแล้วโดยอดีตนายกฯทักษิณ


 


นายบัณฑูร กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อตกลงเปิดเสรีการค้าไทย-ญี่ปุ่นยังไม่ได้มีการการประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากข้อตกลงฉบับนี้ อำนาจการตัดสินใจจะลงนามไม่ควรยกให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ควรจะรอให้มีผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเสียก่อน


 


กระทรวงการต่างประเทศของไทยระบุว่า ร่างฉบับล่าสุดของข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น จะถูกนำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรีชั่วคราวในเดือนธันวาคมนี้ ก่อนเข้าสู่กระบวนการประชาพิจารณ์ในวันที่ 22 ธันวาคม และจะนำเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (NLA) เพื่อพิจารณาการลงนามรับรองในเดือนมกราคม 2550


 


ไทยและญี่ปุ่นได้ลงนามในอนุสัญญาบาเซล ซึ่งบังคับใช้กฎหมายในระดับสากลเพื่อยับยั้งการส่งออกสารเคมีเป็นพิษจากประเทศอุตสาหกรรมไปยังประเทศกำลังพัฒนา อย่างไรก็ตามทั้งไทยและญี่ปุ่นยังไม่ให้สัตยาบันต่อข้อห้ามบาเซล ซึ่งมีการแก้ไขในตัวอนุสัญญาที่ไม่อนุญาตแม้แต่การค้าขยะพิษที่แอบแฝงมาในรูปของการรีไซเคิล


 


เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่น-ฟิลิปปินส์ได้กลายเป็นประเด็นร้อนและก่อกระแสประท้วงขึ้นในกรุงมะนิลา หลังจากมีการเปิดเผยว่า ข้อตกลงเสรีการค้านี้ได้อนุญาตให้นำเข้าขยะซึ่งเป็นสารเคมีอันตรายเข้ามาทิ้งในฟิลิปปินส์ โดยสถานะของฟิลิปปินส์ยังไม่ได้ให้สัตยาบันต่อข้อห้ามบาเซลเช่นกัน


 


กิตติคุณกล่าวว่า จุดยืนของญี่ปุ่นต่อประเด็นนี้เป็นดั่งผู้คุกคาม และเป็นการทำร้ายประชาชนชาวไทย และสิ่งแวดล้อมของไทย ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องให้สัตยาบันต่อข้อห้ามบาเซลเพื่อปกป้องตัวเองจากแรงถาโถมของขยะพิษซึ่งซ่อนอยู่ในข้อกำหนดข้อตกลงเปิดเสรีการค้า หรืออยู่ภายใต้ข้ออ้างของคำว่า นำเข้ามาเพื่อรีไซเคิล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net