Skip to main content
sharethis

คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ Working Group on Justice for Peace


 


กรณีคนหายในเหตุการณ์สามจังหวัดชายแดนใต้


 


1) ในระหว่างที่เกิดความรุนแรงต่างๆ ขึ้นมากมายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีข่าวลือและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการอุ้มหายประชาชนในภาคใต้จำนวนมาก หลายกรณีเป็นการกระทำที่อาจจะเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้มีการปกปิดความผิด และอำพรางข้อเท็จจริง โดยการทำลายศพเพื่อมิให้มีพยานหลักฐานในการผูกมัดตัวผู้กระทำความผิด ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ก่อให้เกิดบาดแผลในใจของผู้บริสุทธิ์จนยากที่จะเยียวยา


 


2) ในระหว่างเดือนสิงหาคม พ.ศ.2548 ถึง เดือนธันวาคมพ.ศ.2548 โดยการทำงานของคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้และแสดงความรับผิดชอบโดยให้การเยียวยาแก่บรรดาครอบครัวผู้สูญหายที่ยินดีเปิดเผยตัวกลุ่มหนึ่งเป็นจำนวนทั้งสิ้นราย 17 ราย รายละ 100,000 บาท


 


3) เป็นที่รับรู้กันในวงกว้างว่ายังมีครอบครัวผู้สูญหายอีกมากมายที่อยู่ในความหวาดกลัวและไม่กล้าที่จะเปิดเผยตัวเองต่อสาธารณะชนเพี่อเรียกร้องความยุติธรรม แม้แต่บรรดาครอบครัวผู้สูญเสียที่ได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล แล้วนั้นก็ปรากฎข้อเท็จจริงว่าบุคคลเหล่านั้นก็ยังไม่อาจเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรมได้เลย หลายครอบครัวไม่กล้าไปแจ้งความด้วยหวั่นเกรงต่ออำนาจและอิทธิพลต่างๆ ที่สำคัญคือความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ไม่ให้ความสำคัญในการค้นหาความจริง ไม่เคยมีความพยายามในการค้นหาบรรดาผู้สูญหายเหล่านั้นอย่างจริงจัง และไม่พยายามตอบคำถามให้กับครอบครัวใดใดเลย สิ่งต่างๆเหล่านี้เองจึงเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้รัฐไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นศรัทธาคืนจากประชาชนได้อย่างแท้จริง


 


4) ปัจจุบันจากการทำงานและสอบถามจากผู้ได้รับผลกระทบได้รวบรวมรายชื่อได้จำนวนบุคคลสูญหายได้ทั้งสิ้น 27 ราย หลายรายเป็นเยาวชนวัยหนุ่มที่ถูกบังคับให้หายตัวไป บางรายมีหลักฐานและได้มีความพยายามการดำเนินการและเอาผิดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง บางรายได้แจ้งความแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ไม่มีการดำเนินการ บางรายมีญาติหรือภรรยาประสบเห็นเหตุการณ์ขณะถูกนำตัวไปและหายไปไม่ได้กลับมา บางรายเป็นการอุ้มหายไปพร้อมๆ กันถึง 4 คน ทั้งที่เป็นเพียงนักศึกษาและเยาวชน บางรายมีการพบศพที่คาดว่าอาจจะเป็นบุคคลสูญหายแต่ยังไม่มีการดำเนินการตรวจพิสูจน์โดยหลักการทางนิติวิทยาศาสตร์ เป็นต้น 


 


5) สุสานจีนมูลนิธิท่งเต็กเซี่ยงตึ่ง อ. เมือง จังหวัดปัตตานี เป็นสุสานจีนที่ทางคณะกรรมการสิทธิฯ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์กำลังเตรียมการเพื่อขุดและพิสูจน์บุคคลสูญหายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในสุสานจีนแห่งนี้พบเบื้องต้นว่าภายในปี พ.ศ.2548 มีร่างนิรนามมาฝังอยู่กว่า 300 ร่าง โดยไม่มีการตรวจพิสูจน์บุคคลและระบุสาเหตุการตายตามกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งทำให้เป็นที่สงสัยของญาติผู้สูญหายใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ว่าร่างของญาติของตนอาจปนเปอยู่ในสุสานแห่งนี้ และเพื่อจัดระบบการจัดการศพนิรนามในประเทศไทยขึ้นมาใหม่ ซึ่งถ้ามีระบบที่ดีเราอาจจะหาค้นพบคนหายและอาจจะทำให้ชาวบ้านมีความไว้ใจรัฐมากขึ้น โดยในระยะเร่งด่วนที่สำคัญคือต้องหยุดเผาศพนิรนามทั้งหมด และการทำข้อมูลของศพนิรนามทุกรายให้ละเอียดเพื่อสะดวกในการติดตาม


 


6) นายวสันต์ พานิช ได้ร่วมกับแพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ภายใต้การทำงานในนามอนุกรรมการค้นหาทนายสมชาย นีละไพจิตร ของกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งจัดตั้งขึ้นติดตามหาการหายไปของทนายสิทธิมนุษยชนชื่อดังมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2548 และเมื่อปี พ.ศ.2548 ทางการยอมรับแล้วว่ามีคนหายประมาณ 17 คนที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งระบุว่าหายไปตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2547- ปัจจุบัน ทางอนุกรรมการติดตามการหายตัวไปของทนายสมชายฯ จึงแสดงความสนใจที่จะสืบค้นหาคนหายจำนวนนี้ด้วย ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการจัดตั้งเป็น "ศูนย์ติดตามคนหายและพิสูจน์ร่างนิรนาม" เพื่อคลี่คลายปัญหาคนหายทั่วประเทศ โดยเริ่มในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่แรก และจากการสืบสวนเบื้องต้นสุสานจีนมูลนิธิท่งเต็กเซี่ยงตึ่ง อ.เมือง จังหวัดปัตตานี เป็นพื้นที่แรกที่ถูกดำเนินการตรวจพิสูจน์ตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ ดังก่อให้เกิดข้อถกถียง และกระแสต่อต้านการทำงานในครั้งนี้อย่างหนัก ซึ่งยังไม่สามารถวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่แท้จริงได้ว่าการตรวจพิสูจน์ความจริงและการระบุเอกลักษณ์บุคคลของศพไร้ญาติที่สุสานจีนแห่งนี้จะกระทบกระเทือนต่อวงการหรือหน่วยงานใด 


 


7) ในช่วงปลายปี พ.ศ.2548 จากการสำรวจจำนวนศพไร้ญาติในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เบื้องต้น พบว่าที่ปัตตานีนี่ยังมีศพนิรนามอยู่ 300 ศพ นราธิวาสนี่มีอยู่ประมาณ 20-30 ศพ แต่ยะลาไม่มี เนื่องจากไม่มีมูลนิธิของจีน    ส่วนศพไร้ญาติที่เผาในปี พ.ศ.2547 ไปแล้ว และจากการสำรวจพบว่า ในกุโบร์อีกทั้ง 3 จังหวัดมีศพไร้ญาติประมาณ 20-30 รายซึ่งยังคงเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ต้องพิสูจน์  


 


8) ในวันที่5 เมษายน พ.ศ.2549 นายวสันต์ พานิช, พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รักษาการผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์  พร้อมด้วยคณะได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อ ขอหมายศาลตามอำนาจหน้าที่ของกรรมการสิทธิฯ  จัดเตรียมการขุด และจัดเตรียมการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลของศพไร้ญาติที่สุสานจีนมูลนิธิ  ท่งเต็กเซี่ยงตึ่ง      โดยมีนางอังคณา นีละไพจิตรและตัวแทนองค์กรสิทธิมนุษยชนที่สนใจเรื่องประเด็นคนหาย ร่วมสังเกตการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย โดยที่หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนได้ยื่นหนังสือสนับสนุนการทำงานของกรรมการสิทธิมนุษยชน และเรียกร้องให้คณะกรรมการอิสระเพื่ออำนวยความยุติธรรมฯ (กอยส.) ในขณะนั้น ส่งเสริมกระบวนการการตรวจสอบ และการค้นหาบุคคลสูญหายกรณี 3 จังหวัดชายแดนใต้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่กำลังเข้าทำการตรวจสอบและพิสูจน์ศพนิรนามที่พบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ สามารถทำงานได้อย่างอิสระ โปร่งใส และเป็นธรรม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และความสมานฉันท์ในสังคมไทยสืบไป


 


9) กรณีพบร่างผู้เสียชีวิตในกระบวนการกฎหมายจะต้องมีการหาสาเหตุพฤติกรรม ศพเหล่านี้เป็นการนำมาฝังจากหลายๆ พื้นที่จากจังหวัดปัตตานี และฝังมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว จำเป็นที่จะต้องใช้ทีมเฉพาะที่จะมาดำเนินการ โดยจะนำศพไปตรวจนั้นมีความพร้อมอยู่แล้ว ซึ่งจะนำไปตรวจบริเวณสุสานในอำเภอหาดใหญ่ อย่างน้อยที่สุดเราจะทำเพียงเพื่อพิสูจน์บุคคลให้ และในบางกรณีก็อาจจะสาเหตุการตายได้ อย่างเช่น มีกระสุนอยู่ในตัวเขา ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ก็จะนำไปให้ตำรวจเพื่อสืบสวนต่อไป แต่คงไม่ได้อะไรมากเนื่องจากแต่ละศพไม่มีข้อระบุว่านำมาจากพื้นที่ใด ในเบื้องต้นทางตำรวจให้ข้อมูลว่าศพไร้ญาติทั้งหมดน่าจะเป็นคนพม่ากับเขมรเข้าเมืองผิดกฎหมาย เป็นลูกเรือประมงฆ่ากันตายแล้วลอยน้ำมา และระบุว่า 80 % เป็นฆาตกรรม     


 


10) เบื้องต้นนายดำรงค์ สิงค์โตทอง เลขานุการมูลนิธิท่งเต็กเซี่ยงตึ่ง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่าสำหรับจำนวนของศพนิรนามที่ทางมูลนิธิฯ ได้จัดการฝังศพตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2547 - 21 พฤษภาคม 2549 จำนวน 299 ศพ โดยแยกเป็นศพนิรนามปี 2547 จำนวน 79 ศพ ปี 2548 จำนวน 163 ศพ และปี 2549 จำนวน 53 ศพ ซึ่งเป็นศพต่างด้าวและยืนยันว่าเป็นศพที่ไม่ใช่ศพมุสลิม ทั้งนี้ก่อนที่จะมีการฝังศพนิรนาม ได้มีการตรวจสอบเบื้องต้นใน 5 ลักษณะคือ อวัยวะเพศ รอยสัก ใบหน้าหนวดเครา การแต่งกาย และเครื่องประดับ และถ้าพบว่าเป็นศพมุสลิมเราได้มอบให้กับสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ


 


11) เมื่อระหว่างเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549 ประเด็นเรื่องศพนิรนามไร้ญาติที่ปัตตานี ได้ถูกนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณะอีกครั้ง ทำให้มีการเดินทางไปเตรียมการเพื่อขุดและพิสูจน์บุคคลสูญหายจากสถานที่ฝังศพของสุสานจีนดังกล่าวอีกครั้ง และขณะนั้นทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แต่งตั้งให้จเรตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ. เสรีพิสุทธิ์  เตมียเวช เป็นผู้แทนในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับศพนิรนามจำนวน 300 ศพที่จังหวัดปัตตานีดังกล่าว  ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้ากรณีการดำเนินการสืบค้นหาบุคคลสูญหายในกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในสุสานแห่งนี้หรือในที่อื่นๆ แต่อย่างใด


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net