Skip to main content
sharethis

ประชาไท - วานนี้ (7 ธ.คง2549)          ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 3 ฉบับคือ ร่างพ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยทักษิณ และร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่า เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการที่เป็นอิสระและคล่องตัว สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ 


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่วนใหญ่ลุกขึ้นอภิปรายเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มีเพียงบางส่วนที่เป็นห่วงว่าจะส่งผลให้ค่าเทอมสูงขึ้นหรือไม่ ซึ่งในส่วนรัฐบาลชี้แจงว่าจะไม่มีกระทบ เพราะมีระบบจัดการรวมทั้งมีกองทุนให้ความช่วยเหลือนักศึกษาอยู่แล้ว ในที่สุดที่ประชุมมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับ โดยกำหนดแปรญัตติ 7 วัน 


 


ด้านนายโคทม อารียา สมาชิก สนช. กล่าวก่อนประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับว่า พร้อมสนับสนุนมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เพราะไม่ได้ทำให้เกิดผลเสียอย่างที่เรากลัว อีกทั้ง เรื่องนี้พูดกันมานานแล้ว ถ้าไม่ทำอะไรทุกอย่างก็อยู่กับที่ก็คือการถอยหลัง สิ่งที่คนส่วนใหญ่ค้านกัน ตนมองว่าเป็นเรื่องความอาลัยอาวรณ์สถานภาพเดิม โดยที่ยังไม่ได้ดูสารัตถะของการศึกษา แต่ก็เป็นความเห็นส่วนตัวของแต่ละคน 


 


ส่วนที่มีนิสิตนักศึกษาประท้วงการออกนอกระบบนั้น นายโคทม กล่าวว่า ก็ต้องรับฟัง โดยอาจนำไปเสริมในการแปรญัตติบางประเด็น ส่วนถึงขั้นทำให้ยับยั้งหรือถอนร่างหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับที่ประชุม สำหรับความกังวลเรื่องค่าเทอมแพงนั้น มีตัวอย่างของมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบที่ไม่ได้ขึ้นค่าเทอม แต่ความกังวลนี้น่าจะบันทึกไว้ 


 


นายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวก่อนการประชุมยืนยันว่า ที่ประชุมสนช.ต้องพิจารณาร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับ 3 แห่งตามวาระที่เสนอไป เชื่อว่าคงไม่เป็นการกระตุ้นให้นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านมากขึ้น เพราะตนพูดชัดแล้วว่าเป็นการตัดสินใจของมหาวิทยาลัยโดยสมัครใจ ถ้านักศึกษาไม่เห็นด้วยก็ต้องไปหารือกับทางมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ 


 


อย่างไรก็ตาม เท่าที่ทราบตอนนี้มีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือที่ไม่คัดค้าน แต่กลับมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้รีบออกนอกระบบ เพราะมีพนักงานอัตราจ้างอยู่ 500-600 คนมากกว่าราชการ แสดงให้เห็นถึงปัญหาแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน จึงขึ้นอยู่กับสภามหาวิทยาลัยต้องตัดสินใจ ถ้ามีการเสนอมาตามขั้นตอนกระทรวงก็ต้องดำเนินการตามที่เสนอ ไม่ได้ไปรวบรัด เรื่องนี้ทำต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ใครเป็นรัฐบาลใหม่ก็ต้องนำมาพิจารณา 


 


นายเก่งกิจ กิติเรียงลาภ นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะแกนนำกลุ่มนิสิตนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เปิดเผยว่า วันที่ 8 ธันวาคม เวลา 16.00 น.ประชาคมทุกมหาวิทยาลัยที่คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบจะรวมตัวจัดเวทีที่หน้าหอสมุดกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมออกแถลงการณ์ร่วมกัน นอกจากนี้ จะมีการจุดเทียนในเวลา 19.00 น. ซึ่งมีมหาวิทยาลัยที่ยืนยันการจัดเวทีแสดงความเห็นคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมาแล้วคือจุฬาฯ ขอนแก่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) แต่รับแจ้งว่า เพื่อนที่ สจพ.ถูกสั่งห้ามไม่ให้จัดเวที 


 


ด้านนายธนาชัย สุนทรอนันตชัย อดีตนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.)เปิดเผยว่า สถาบันการศึกษาหลายแห่งได้ออกร่างพ.ร.บ.แล้ว แต่นักศึกษาบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยยังไม่เห็นร่างพ.ร.บ.ฉบับนั้น แสดงถึงความไม่โปร่งใส จึงไม่ควรนำกฎหมายดังกล่าวไปใช้ เพราะยังไม่ผ่านความเห็นชอบของคนในมหาวิทยาลัย ควรทบทวนทำให้ถูกต้องตามขั้นตอน


 


         


 


ที่มา: http://www.naewna.com


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net