Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1.

ในกิจกรรมมหกรรมดอยหลวงเชียงดาว ที่จัดขึ้นที่ลานชุมชนริมฝั่งน้ำแม่ปิง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 3-5 ธันวาคมที่ผ่านมา เราได้รับเอกสารร่างแนวทางการจัดทำโครงการปรับปรุงดอยหลวงเชียงดาวเป็นนันทนาการ ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพรรณพืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจที่หลายคนให้ความสนใจถึงที่มาที่ไปของโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาว

ในเอกสารระบุว่า ดอยเชียงดาวเป็นชื่อเทือกเขาหินปูนล้วนทั้งลูก เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัยตะวันออกที่ทอดตัวในแนวเหนือ-ใต้ มีความสูงเฉลี่ยระหว่าง 300-2,225 เมตร จากระดับน้ำทะเล ซึ่งสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศ รองจากดอยอินทนนท์ และดอยผ้าห่มปก ดังนั้น ดอยหลวงเชียงดาวจึงเป็นภูเขาหินปูนที่สูงที่สุดในประเทศไทย

ความลาดชันสูงของดอยหลวงเชียงดาว จึงถือว่าเป็นระบบเฉพาะที่เกิดจากการสะสมของยอดดอยไหลรวมลงมากัดเซาะกร่อนพื้นหินปูนด้านล่างเป็นเวลานาน โดยทางน้ำไหลจะไม่ปรากฏตามพื้นผิว แต่จะซึมลงใต้ดิน ทำให้พื้นหินปูนด้านล่างถูกกัดเซาะ เป็นถ้ำหรือโพรงใหญ่ เช่น ถ้ำหลวงเชียงดาว จนท้ายสุดเป็นลำห้วยใต้ดินที่มีน้ำไหลอยู่ตลอดปี อันเป็นต้นน้ำของลำห้วยสาขาหลายสาย ไหลผ่านที่ราบเชียงดาวลงสู่แม่น้ำปิง และไหลลงสู่ลุ่มน้ำแม่แตงทางทิศตะวันตก

ดอยหลวงเชียงดาว จึงเป็นเทือกเขาลักษณะเฉพาะ มีบริเวณโดยรอบเป็นหน้าผาสูงชัน บางแห่งตั้งฉากกันพื้นผิวโลก อันเกิดขึ้นเนื่องจากรอยทรุดตัวเป็นแนวตรง และแนวเลื่อนทางตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ได้ทำให้แผ่นดินบางแห่งถูกยกสูงขึ้น และบางแห่งทรุดต่ำลงสลับกันไป และผลของรอยเลื่อนผิวโลก ทำให้เกิดพื้นที่ว่างกลายเป็นป่าหินโผล่ และหลุมบ่อที่เกิดจากการที่น้ำฝนละลายหินปูน

นอกจากนั้น ในเอกสารยังได้ระบุถึงสภาพป่าที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ด้วยสัตว์ป่าสงวนที่สำคัญ 2 ชนิด คือ กวางผา และเลียงผา อยู่กระจัดกระจาย และมีสัตว์ป่าอื่นๆ เช่น เสือลายเมฆ อ้นใหญ่ ลิงวอก แมวดาว เป็นต้น อีกทั้งยังประกอบไปด้วยพรรณไม้พรรณพฤกษชาติหายาก อุดมไปด้วยพืชเฉพาะถิ่นที่ทรงคุณค่าและงดงามยิ่ง

ในร่างรายงานตอนหนึ่ง ได้ระบุว่า...จึงเป็นที่น่าเสียดายยิ่ง ที่บุคคลที่ร่างกายไม่แข็งแรง ไม่มีโอกาสได้เยี่ยมชมธรรมชาติที่สวยงามและพรรณพฤกษาที่หายาก ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้ เป็นสมบัติของคนไทยทั้งประเทศ และยังเป็นสมบัติของคนทั้งโลก

...ดังนั้น จึงควรที่จะได้ปรับปรุงเส้นทางต่างๆ เพื่อชมธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพรรณพฤกษาที่มีค่าหายาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นไปเพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางที่สูงชัน เพื่อให้เดินทางชมความสวยงามได้โดยสะดวกและทั่วถึง เพื่อให้นักท่องเที่ยวหลายหลากอายุและสุขภาพ สามารถขึ้นชมดอยหลวงได้โดยสะดวก

นอกจากนั้น จะมีการดำเนินงานเกี่ยวกับไฟฟ้า โทรศัพท์ และน้ำ และการดำเนินงานโครงการ จะมีการบริหารจัดการโดยมุ่งเน้นความโปร่งใสและธรรมาภิบาล โดยจะใช้แรงงานในท้องถิ่นเป็นหลัก โดยจะจัดให้มีการพัฒนาแรงงานท้องถิ่นเพื่อให้เหมาะสมกับแรงงาน ในขณะเดียวกัน ท้องถิ่นจะต้องปรับสมรรถนะและความสามารถให้เหมาะกับงานนั้นด้วย

ซึ่งจะเกิดระบบการบริการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยมีการจัดการอย่างเป็นระบบ โดยประชาชนมีส่วนร่วม ทำให้ท้องถิ่นมีรายได้จากกิจกรรมการท่องเที่ยว และธุรกิจการลงทุนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

2.

"คนที่คิดโครงการนี้คิดได้อย่างไร ที่จะสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาว และถือว่าการทำEIA ในขณะนี้ โดยที่ชาวบ้านไม่รู้ แสดงให้เห็นว่า รัฐไม่เคารพกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทำให้ชาวบ้านเสียความรู้สึกมาก ที่ไม่มีการสอบถามความคิดเห็นของชาวบ้านก่อน" นายชาญชัย จันทร์เผือก ตัวแทนชาวบ้านอำเภอเชียงดาว ลุกขึ้นแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

จากการดำเนินงานของรัฐในห้วงขณะนี้ ได้ทำให้คนท้องถิ่นและคนทั่วประเทศได้แสดงความห่วงใยและสร้างความเคลือบแคลงต่อการดำเนินงานของรัฐ ที่มีการเสนอโครงการ การจ้างนักวิชาการต่างประเทศ ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA โดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมแต่อย่างใด และที่สำคัญ ไม่มีการสำรวจผลกระทบ ทางด้านวัฒนธรรม จารีตความเชื่อทางด้านจิตใจของคนทั่วไปในเรื่องความเคารพต่อเจ้าหลวงคำแดง

ดร.อาคม ตุลาดิลก วุฒิสมาชิกจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ตนเคยเป็นนายอำเภอเชียงดาว จึงรู้ว่า เชียงดาวนั้นมีความสุขสงบ และมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ และรับรู้ว่าชุมชนเชียงดาวนั้นมีความเข้มแข็ง และรับรู้ว่าชุมชนมีความเข้มแข็ง แต่สุดท้ายก็ยังได้รับผลกระทบกระเทือนจนได้ ชุมชนเกิดความสับสน เมื่อมีกระแสสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาว

"ในส่วนตัว ตนไม่เห็นด้วย และขอสนับสนุนการคัดค้าน เพราะตนถือว่า ดอยหลวงเชียงดาว มีความสำคัญต่อคนทั้งประเทศ เพราะถือว่าเป็นต้นกำเนิดของสายน้ำปิง และรัฐน่าจะพัฒนาให้เป็นมรดกทางธรรมชาติ เพื่อใช้เป็นแหล่งศึกษาทางธรรมชาติ ให้นักเรียนนักศึกษาได้เป็นห้องเรียนธรรมชาติ ซึ่งหากสร้างกระเช้าไฟฟ้า เชื่อว่าจะได้ผลประโยชน์น้อยมาก และจะเกิดความสูญเสียมากกว่า" ดร.อาคม กล่าว

นายรณฤทธิ์ ธนโกเศศ จากกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน กรมศิลปากร เปิดเผยว่า ขณะนี้ทราบมาว่า โครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาวยังเดินหน้าอยู่ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ว่าจ้างนักวิชาการต่างชาติ เข้าทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ซึ่งได้ศึกษาการออกแบบว่าจะสร้างกระเช้า แต่ไม่ได้มีการศึกษาเรื่องระบบนิเวศน์ เรื่องวัฒนธรรมความเชื่อ หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมของประชาชน

"หลังจากที่ทางกรมศิลปากร ได้รับการร้องเรียนและได้รับเรื่องจากพี่น้องชุมชน เรากำลังรวบรวมข้อมูลทางด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ แม้กระทั่งเมืองเก่า ที่เพิ่งไปสำรวจมา เพื่อนำไปประกอบว่า สมควรที่จะสร้างกระเช้าไฟฟ้าหรือไม่ จากนั้นทางกรมศิลปากร จะได้นัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาพูดคุยกันที่เชียงดาวกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อประชาชนได้รับทราบอีกครั้ง" นายรณฤทธิ์ กล่าว

ในขณะที่ นางสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวว่า จากที่วันนี้ได้มีโอกาสเดินทางไปเยือนดอยหลวงเชียงดาว พบว่า ดอยหลวงเชียงดาวนั้นมีความหลากหลาย โดยมีนัยยะสำคัญระดับโลก เพราะในอนุสัญญาต่างๆ ทั่วโลกนั้น มีการพูดถึงเรื่องสิทธิในการจัดการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ ร่วมกัน เพราะฉะนั้น ดอยหลวงเชียงดาว ไม่ใช่เป็นของคนเชียงดาวเท่านั้น แต่คนเชียงดาว คนกรุงเทพ คนทั่วประเทศ และคนทั่วโลก ต่างมีสิทธิในการเข้ามาร่วมกันดูแลกันได้

"ที่สำคัญ 22 องค์กรชุมชนที่อยู่รอบๆ บริเวณดอยหลวงเชียงดาว จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการดูแลและตัดสินใจ โครงการต่างๆ ของรัฐ จะต้องให้ความสำคัญกับคนท้องถิ่น ยิ่งขณะนี้ข่าวว่ารัฐกำลังเดินหน้าศึกษาโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้า ซึ่งตนเห็นว่า เป็นกระบวนการผิดขั้นตอน ข้ามขั้นตอน ทั้งที่ประชาชนท้องถิ่นจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วม ดังนั้น หากรัฐยังไม่ยอมหยุด ชาวบ้านต้องรีบลุกขึ้นมาใช้สิทธิขั้นพื้นฐานโดยเร็ว" นางสุนี กล่าว

องอาจ เดชา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net