Skip to main content
sharethis

รายงานพิเศษ
สุธิดา สุวรรณกันธา

จังหวัดภาคเหนือตอนบนได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน พะเยา เชียงราย แพร่ และน่าน เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ เป็นพื้นที่เกษตรและเกษตรแปรรูป จึงกำหนดให้กลุ่มจังหวัดนี้ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำหรับจังหวัดลำพูน มียุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงและการเกษตร โดยกำหนดพื้นที่ด้านตะวันออกของแม่น้ำกวงเป็นเขตอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน และเขตอุตสาหกรรมสหพัฒน์ ส่วนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำกวง ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัด กำหนดให้เป็นเขตเกษตรกรรม นอกจากนี้ ในอนาคตยังมียุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ โดยการพัฒนาแม่น้ำลี้และการผันน้ำจากลุ่มแม่น้ำปิงโดยระบบท่อ (Water Grid) ทำให้มีศักยภาพสูงในด้านการเกษตร

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน มีพื้นที่รวม 1,788 ไร่ ปัจจุบันพื้นที่ไม่เพียงพที่จะรองรับการขยายการลงทุนของนักลงทุน ประกอบกับจังหวัดลำพูนได้ดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์จังหวัดให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาภาคเหนือตอนบนเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมของ
อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยจังหวัดลำพูนจังหวัดลำพูนมียุทธศาสตร์ในการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพิ่มอีกประมาณ 2,000 ไร่

สอดคล้องกับแผนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศในระยะ 2 ปีนับจากนี้ (2548 - 2549) ของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีบัญชาให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เตรียมแผนจัดตั้งโดยเร็วที่สุด เพื่อรองรับการขยายตัวของการลงทุนอุตสาหกรรมทั้งจากทุนต่างประเทศและในประเทศ ซึ่งในพื้นที่ภาคเหนืออยู่ในเป้าหมายที่ต้องเร่งดำเนินการขยายนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่

การขยายเขตนิคมอุตสาหกรรมลำพูนแห่งใหม่ (แห่งที่ 2) ภายใต้ชื่อ "นิคมอุตสาหกรรมหริภุญชัย ลำพูน" มีเป้าหมายสำคัญเพื่อรองรับการลงทุนและการผลิตเพื่อการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูงและสะอาดของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งมีข้อได้เปรียบด้านทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ แรงงานและที่ดินเพื่อการเกษตร จึงมีศักยภาพอย่างยิ่งในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการ
เกษตรและเกษตรแปรรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์เกษตรมูลค่าสูง เกษตรอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ อาหารเสริมสุขภาพ เครื่องสำอาง สมุนไพร และชุดตรวจสอบสุขภาพต่าง ๆ ซึ่งสามารถรองรับการลงทุนทั้งหารผลิตเพื่อส่งออก เนื่องจากความสมบูรณ์ด้านวัตถุดิบจากการเกษตร หรืออีกด้านหนึ่งอาจนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตส่งขายในตลาดประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่มีประชากรมากกว่า 200 ล้านคน

โดยเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2547 ที่ผ่านมา กนอ. ได้ลงนามร่วมดำเนินงานกับเอกชนเพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมหริภุญชัย จังหวัดลำพูน บนเนื้อที่ 1,097 ไร่ บริเวณตำบลบ้านกลางและตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน บนถนนทางหลวงหมายเลข 11 สายเชียงใหม่-ลำปางหน้ากว้างติดถนน 800 เมตร ห่างจากนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ประมาณ 4 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท บริษัทที่ดำเนินการร่วมกับ กนอ.คือ บริษัท เทวี สปา แอนด์ ลองสเตย์ รีสอร์ท จำกัด ซึ่งบริษัทดังกล่าวเคยเสนอขายที่ดินให้ กนอ. เพื่อพิจารณาจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ (ส่วนขยาย) ต่อมาได้เปลี่ยนรูปแบบขอร่วมดำเนินงานกับ กนอ.

แหล่งข่าวจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวกับ "พลเมืองเหนือ" ว่า สำหรับการดำเนินการนิคมอุตสาหกรรมหริภุญชัย ลำพูน ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการก่อสร้าง การทำตลาด คาดว่าจะเปิดดำเนินการเต็มระบบภายใน 1 - 2 ปีนี้

สำหรับเงินลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,106.12 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าที่ดิน 329.10 ล้านบาท ค่าพัฒนาสาธารณูปโภค 733.02 ล้านบาท ค่าบริหารจัดการ (ค่าร่วมดำเนินงานและค่าการตลาด) 44 ล้านบาท ซึ่งเงินทุน (ค่าที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทฯ) จำนวน 329.10 ล้านบาท (30%) เงินกู้จากธนาคารกรุงศรีอยุธยา 777.02 ล้านบาท (70%) โดยได้กำหนดจำนวนพื้นที่เพื่อขายทั้งสิ้นประมาณ 731.42 ไร่ แบ่งการขายออกเป็น 5 ปี แบ่งเป็นปีละ 30:20:20:20:10 ราคาขาย 1.8 ล้านบาท/ไร่ อัตราค่าน้ำประปา 12 บาท/ลบ.ม. ปรับเพิ่ม 10% ทุกๆ 3 ปี อัตราค่าบำบัดน้ำเสีย 9 บาท/ลบ.ม. ปรับเพิ่ม 10% ทุกๆ 3 ปี และอัตราค่าบำรุงรักษา 7,200 บาท/ปี ปรับเพิ่ม 10% ทุกๆ 3 ปี ซึ่งทั้งหมดจะเป็นส่วนของรายรับที่จะได้รับ ทั้งนี้ในส่วนของการดำเนินการ การบริหารการตลาดนั้น ทางภาคเอกชนคือบริษัทเทวี สปา แอนด์ ลองสเตย์ รีสอร์ท จำกัด จะเป็นผู้รับผิดชอบ
นอกจากนี้การดำเนินโครงการนิคมฯแห่งใหม่ที่ลำพูนครั้งนี้ ผู้ดำเนินโครงการมีแผนการตลาดโดยจะเดินทางไป Roadshow เพื่อหาผู้ร่วมธุรกิจเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partners) และผู้ลงทุนหลัก มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือนักลงทุนประเทศญี่ปุ่น ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย ได้แก่ สวีเดน เดนมาร์ค ฟินแลนด์ นอร์เวย์ ประเทศกลุ่มยุโรป ได้แก่ สวิสเซอร์แลนด์ ฮอลอลนด์ และเยอรมัน ประเทศกลุ่มอเมริกาเหนือ ได้แก่ แคนาดา สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ซึ่งพบว่านักลงทุนในกลุ่มประเทศเหล่านี้ ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูงหรือนิคมฯไฮเทค ที่ไม่มีมลภาวะ

อุตฯ อาหาร-เครื่องสำอาง ตบเท้าลงทุน

ทั้งนี้ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่แสดงความจำนงที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่นิคมอุสาหกรรมหริภุญชัย จังหวัดลำพูน ประกอบด้วย 2 กลุ่มอุตสาหกรรมคือ 1.อุตสาหกรรมอาหาร จำนวน 12 ราย พื้นที่รวมประมาณ 200 ไร่ ได้แก่ kawasho Food (Thailand) Kenmin Food (Thailand) Nippon Flour Mills (Thailand) Siam Food Supply Nisshin-STC Flour Milling Nissin Food (Thailand) Snacky Thai Snow Brand Siam Thai Yamazaki Ucc Ueshima Coffee (Thailand) United Kyoei Food ita Food Factory 2.กลุ่มเครื่องสำอางและเคมีภัณฑ์ จำนวน 6 ราย พื้นที่รวมประมาณ 100 ไร่ ได้แก่ Bakelite Shoji (Thailand) Dailchi Pharmaceutical (Thailand) Kao Industrial (Thailand) Kawasumi Laboratories (Thailand) Lion Corporation (Thailand) Thai Maeji Pharmaceutical เป็นต้น

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net