Skip to main content
sharethis

เป็นเรื่องฮือฮาในวงการฟุตบอลไม่น้อย เมื่อ "สเตฟาน เอฟเฟ่นแบร์ก" อดีตกัปตันทีมชาติเยอรมันชุดฟุตบอลโลกปี 1994 และสโมสรบาเยิร์นมิวนิค มีแนวคิดจะตั้งวิทยาลัยฟุตบอลแห่งแรกในเอเชีย (Asian First Football Academy) ที่จังหวัดเชียงราย และประกาศด้วยซ้ำไปว่าจะปั้นนักเตะไทยลงสนามฟุตบอลโลกปี 2010

"ฟุตบอลคือกีฬาของมวลมนุษยชาติ ไม่แบ่ง ชนชั้น เชื้อชาติ และ สีผิว" และ "ในโลกของฟุตบอลไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ " .... เขาเชื่อเช่นนั้น

ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2545 เขาได้บริจาคเงิน 40 ล้านบาท สร้างโรงเรียนที่บ้านแม่โมงกลาง ดอยวาวี อ.แม่สรวย เป็นโครงการที่จุดประกายให้เกิดแนวคิดที่จะปั้นนักเตะไทยขึ้นมา เพราะจังหวัดเชียงรายมีความหลากหลายทางชนเผ่ามาก

ดูเหมือนว่าภาพที่กำลังจะเกิดขึ้นสวยหรู และจะมีผลพวงนานัปการ ฝันถึงขนาดว่าจังหวัดเชียงราย จะเป็นศูนย์กลางการเล่นฟุตบอล ซึ่งประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า-จีน-ลาว,เวียดนาม,กัมพูชา,อินเดีย จะต้องเดินทางมาดูงานที่เชียงราย และจะแก้ไขปัญหายาเสพติดได้อย่างดี

แต่ล่าสุดภาพฝันนั้นส่อเค้าว่าจะเป็นการเตะวืดไปเสียแล้วหรือไม่ เมื่อกระแสข่าวว่าโครงการนี้ติดขัดที่ข้อกฎหมายไปเสียแล้ว เพราะโครงการของสเตฟาร์น เป็นโครงการของชาวต่างชาติ

มีอะไรมากไปกว่านั้นหรือเปล่า ?

เจาะแนวคิด "เอฟเฟ่"
ฝันตั้ง "วิทยาลัยฟุตบอล" ที่เชียงราย

ปี 2545 สเตฟาน เอฟเฟ่นแบร์ก หรือ เอฟเฟ่ อดีตกัปตันทีมชาติเยอรมันชุดฟุตบอลโลกปี 1994 และสโมสรบาเยิร์นมิวนิค และเพื่อนๆ ได้เดินทางมาท่องเที่ยวที่จังหวัดเชียงราย ขณะที่ขับรถผ่านสี่แยกแม่กรณ์ ถนนพหลโยธิน อ.เมืองเชียงราย พวกเขาได้พบภาพเด็กชาวเขามาเดินขายพวงมาลัย จึงถามว่า อยู่ที่ไหน ซึ่งเด็กตอบว่าอยู่ดอยวาวี อ.แม่สรวย

เขาและเพื่อนจึงเดินทางมาอีกครั้ง พร้อมให้เงิน 40 ล้านบาท ร่วมกับมูลนิธิ "ช่วยหนูด้วย" หรือ HELP ME สร้างอาคารโรงเรียน "บ้านเอฟเฟ่" ที่บ้านแม่โมงกลาง ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าอาข่า อยู่กลางหุบเขาสูง ลักษณะเป็นโรงเรียนกินนอน เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่

"เมื่อประมาณสองปีก่อน ผมได้มีโอกาสไปเปิดโรงเรียน "บ้านเอฟเฟ่" ที่ดอยวาวี ที่นั่นผมก็ได้เห็นแววตาที่แสดงความขอบคุณของเด็กสองร้อยคน รู้สึกประทับใจกับความน่ารัก ความจริงใจ และความภาคภูมิใจขอคนไทยที่ปฏิบัติต่อผมด้วยหัวใจเปิดกว้าง ที่ดอยวาวี ผมยังเห็นเด็กชายสามคน อายุประมาณ 8 ขวบเล่นฟุตบอล พวกเขาสามารถควบคุมลูกขณะเดาะบอลได้ดีจนแม้แต่ผมที่เป็นนักฟุตบอลอาชีพยังต้องทึ่ง ตอนนั้นคิดในใจว่าหากเด็กพวกนี้ได้รับการฝึกฝนอย่างมืออาชีพ พวกเขาคงมีโอกาส ไม่เพียงแค่ได้เล่นในทีมชาติเท่านั้น แต่ยังสามารถก้าวสู่เวทีฟุตบอลระดับโลกได้"

โครงการ "บ้านเอฟเฟ่" เป็นจุดเริ่มของแนวคิดที่เขาและสโมสรสเตฟาน เอฟเฟ่นเบิร์ก เอเอฟเอ 999 สนใจที่จะมาก่อสร้างวิทยาลัยฟุตบอลแห่งแรกในเอเชีย (Asian First Football Academy) โดยได้ประสานงานกับทางจังหวัด และเทศบาลเมืองเชียงราย และมีแนวทางว่าจะใช้พื้นที่ของจังหวัดราว 70 ไร่ บริเวณตรงข้ามโรงเรียนเทศบาล 6 สลากกินแบ่งรัฐบาล ต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย มาสร้างเป็นวิทยาลัยฯ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง

วิทยาลัยดังกล่าวจะดำเนินการในลักษณะโรงเรียนประจำและเปิดรับนานาชาติ สอนด้วยภาษาอังกฤษและเยอรมัน รวมทั้งมีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และสารสนเทศอย่างครบครันสำหรับนักเรียนปีละ 450 คน ในระดับเกรด 7-12 (ระดับมัธยมปลาย) และจะได้รับการส่งเสริมด้านการฝึกอาชีพจาก เอเอฟเอ และหลักสูตรประกาศนียบัตร EDCL European Driving Computer License ซึ่งจะร่วมกันระหว่างจังหวัดเชียงราย และคณะครูอาจารย์ในการเฟ้นหาเยาวชนที่มีความตั้งใจที่จะฝึกฝนเข้ามารับการฝึกที่วิทยาลัยแห่งนี้

เอฟเฟ่ กล่าวว่า สถาบันแห่งนี้ จะทำให้อนาคตทางสังคม เศรษฐกิจ และความก้าวหน้าสู่ระดับโลกของนักฟุตบอลไทยจะมั่นคง เนื่องจากเราจะเปิดสอนภาษาต่างประเทศ ให้การศึกษาในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ และมอบประกาศนียบัตรคอมพิวเตอร์ของยุโรป อีกด้านหนึ่ง เราก็จะฝึกสอนด้านกีฬาให้มีโอกาสพัฒนาสู่ความเป็นนักฟุตบอลมืออาชีพระดับโลก พวกเราจะช่วยกันยกระดับยกระดับนักฟุตบอลไทยให้มีมาตรฐานเท่าเทียมกับโลกฟุตบอลตะวันตก เพื่อที่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราจะได้เห็นนักฟุตบอลไทยได้เล่นในสโมสรของเยอรมัน อิตาลี ฮอลแลนด์ สเปน ฝรั่งเศส และอังกฤษ และในฐานะผู้ก่อตั้งและประธานของ Asian First Football Academy ผมจะทุ่มเทนำประสบการณ์ฟุตบอลระดับโลกทั้งหมดมาใช้ในการสอน ให้เยาวชนไทยผู้รักฟุตบอลจะได้รับการฝึกเทคนิค ได้เรียนรู้กลยุทธ์ และการดูแลทางการแพทย์ตามมาตรฐานตะวันตก ความตั้งใจจริงจะทำลายทุกอย่างที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นได้แน่นอน"

เขาคิดว่าภายในปี 2010 ประเทศไทยน่าจะได้นักฟุตบอลที่มาจากวิทยาลัยฟุตบอลแห่งนี้ และเข้าถึงฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ซึ่งเขามองว่า ผู้เล่นของทีมจากเอเชีย ที่ไปไม่ไกลถึงการเป็นแชมป์โลก นั้น น่าจะมีหลายประการ เช่นเรื่องสรีระร่างกายและความแข็งแกร่ง นอกจากนั้นเป็นการจัดการในเรื่องระบบการเล่นและการพัฒนาฝีมือและเทคนิควิธีการเล่น สิ่งเหล่านี้จะหาได้จากวิทยาลัยฟุตบอลเอเชีย

แต่ 18 กันยายน 2547 ที่ผ่านมานายฮารอลด์ ไววิจัส (Mr.Harald Wywijas) เลขาส่วนตัวของ เอฟเฟ่ ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ พร้อมกับนายยงยุทธ ติยะไพรัช ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาฯ นายกรัฐมนตรี ได้ไปสำรวจพื้นที่ของน้ำตกตาดทอง หมู่ 7 ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีที่สาธารณะประโยชน์กว่า 700 ไร่ที่นายณฐกรณ์ ใจรังสี กำนันตำบลป่าตึง เสนอให้ใช้สร้างวิทยาลัยฟุตบอลแห่งเอเชีย บนพื้นที่บางส่วนประมาณ 80 ไร่ที่ห้อมล้อมด้วยป่าเขา ธรรมชาติที่สวยงามมีน้ำตก และบ่อน้ำร้อนใต้ดินธรรมชาติ

นายยงยุทธ ให้เหตุผลว่า พื้นที่อำเภอแม่จัน ถือว่าเป็นพื้นที่กว้างใหญ่สวยงามเหมาะสมที่จะเป็นวิทยาลัยฟุตบอลแห่งเอเชีย หากจะเทียบกับเขตเทศบาลบริเวณหน้าโรงเรียนเทศบาล 6 ที่จังหวัดเชียงราย ที่เน้นการจัดเป็นศูนย์ราชการและกันไว้ทำสถานที่ราชการ ดังนั้น จึงนำเลขาส่วนตัวของสเตฟานฯ มาดูพื้นที่อำเภอแม่จัน เพื่อเป็นทางเลือก แต่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา

ในคราวนั้น นายฮารอลด์ ได้ถ่ายภาพทางอากาศและไปสำรวจทางพื้นที่ดินไว้ เพื่อสรุปว่าพื้นที่ใดจะได้รับเลือกให้ก่อสร้าง เนื่องจากตามแผนงานแล้ววิทยาลัยฟุตบอลแห่งเอเชียน่าจะสร้างเสร็จในปี 2548 เพื่อใช้พัฒนาฟุตบอลของไทยต่อไป และพร้อมจะรับนักเตะเข้าเรียนฟุตบอลหลักสูตรพัฒนาเป็นนักเตะอาชีพตามเป้าหมายที่วางไว้

หลังจากนั้นก็มีข่าวออกมาว่าสถาบันฟุตบอล สเตฟาน เอฟเฟ่นแบร์ก เอเอฟเอ 999 ได้เปิดโครงการคัดเลือกนักเตะทั่วไทย 31 สนามในจังหวัดต่างๆ ดังนี้ เชียงใหม่, พะเยา, ลำปาง, อุตรดิตถ์, ตาก, พิษณุโลก, นครสวรรค์, กรุงเทพฯ, นครราชสีมา, ขอนแก่น, อุดรธานี, สกลนคร, อุบลราชธานี, สุรินทร์ ทำการคัดเลือกนักเตะ อายุ 9-17 ปี เพื่อเข้าสู่สถาบันในปี 2548 โดยโครงการดังกล่าวมีผู้เข้าให้การสนับสนุนอย่างมากมาย

ดับฝันนักเตะชนเผ่า
ติดปัญหาที่สาธารณะ

หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่งในจังหวัดเชียงราย รายงานเมื่อเดือนเมษายน 2548 ระบุว่า เทศบาลฯ ได้ล้มเลิกโครงการวิทยาลัยฟุตบอลแล้ว โดยจะเดินหน้าจัดตั้งโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติด้านวิชาการ ภาษาต่างประเทศ และการกีฬา จะใช้ที่ดินผืนเดิม 75 ไร่ ที่เดิมจะสร้างวิทยาลัยฟุตบอลของสเตฟาร์น

โดยนายวันชัย จงสุทธนามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย เปิดเผยว่า ขณะนี้เทศบาลนครเชียงรายมีแผนเตรียมจัดตั้งโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติเพื่อความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ ด้านภาษาต่างประเทศ ควบคู่กับกีฬา เพื่อส่งเสริมการศึกษาให้มีคุณภาพสูงสุดและมีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้จะเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ หรืออาจใหญ่กว่าโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม หรือโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ สามารถรองรับนักเรียนในเขตเทศบาลและต่างอำเภอได้ คาดว่าจะรองรับจำนวนนักเรียนได้อย่างต่ำ 5,000 คน ความน่าสนใจของโรงเรียนแห่งนี้ จะเน้นความหลากหลายด้านการเรียนการสอน จะมีการแลกเปลี่ยนนักเรียน รวมทั้งครู-อาจารย์จากประเทศจีนหรือประเทศต่างๆ

สำหรับพื้นที่ที่จะจัดสร้างนั้นมีเนื้อที่ประมาณ 75 ไร่ บริเวณฝั่งตรงข้ามโรงเรียนเทศบาล 6 ฝั่งหมิ่น ซึ่งเดิมที่ดินผืนนี้เทศบาลฯ มีแผนจะให้มีการจัดสร้างวิทยาลัยฟุตบอล ซึ่งผู้ที่มาลงทุนคือ สเตฟาร์น เอฟเฟนเบิร์ก อดีตนักฟุตบอลทีมชาติเยอรมัน มีชื่อวิทยาลัยว่า "เอฟเฟนเบิร์ก เอเอฟเอ 999" มูลค่าการก่อสร้าง 130 ล้าน กำหนดการก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 2547 ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากที่ดินผืนดังกล่าวเป็นของกรมธนารักษ์ ที่ได้โอนให้เทศบาลนครเชียงรายนำไปใช้ประโยชน์ แต่ด้วยโครงการสร้างวิทยาลัยฟุตบอลของสเตฟาร์น เป็นโครงการของชาวต่างชาติ เมื่อมีการเปิดสอนต้องมีการเก็บค่าเล่าเรียนในราคาแพง ทำให้ผิดด้วยข้อกฎหมาย

ดังนั้น เทศบาลฯ จึงจะนำที่ดินผืนดังกล่าวมาสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ประชาชนภายในจังหวัด จึงจะได้มีการสร้างโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติขึ้น โดยงบประมาณนั้นเทศบาลเป็นผู้ลงทุน จะมีการก่อสร้างเร็วๆนี้ และคาดว่าภายในปี 2552 จะเปิดดำเนินการสอนได้ แต่หากสเตฟานต้องการเปิดโรงเรียนสอนฟุตบอลในลักษณะดังกล่าวก็ต้องเป็นแผนกหนึ่งของโรงเรียนเท่านั้น ค่าเล่าเรียนก็ต้องถูกด้วย
นายนิกร ชำนาญกุล ผู้ประสานงานโครงการวิทยาลัยฟุตบอล "เอฟเฟนเบิร์ก เอเอฟเอ 999" ให้สัมภาษณ์ล่าสุดกับ "พลเมืองเหนือ" ว่า หลังจากได้ข้อสรุปว่าที่ดิน 75 ไร่บริเวณฝั่งตรงข้ามโรงเรียนเทศบาล 6 ฝั่งหมิ่น ที่เทศบาลนครเชียงรายจะยกให้เป็นที่ก่อสร้างวิทยาลัยฟุตบอล ตามโครงการของสเตฟาร์น เอฟเฟนเบิร์ก อดีตนักฟุตบอลทีมชาติเยอรมัน ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากติดปัญหาข้อกฎหมายเป็นที่สาธารณะ

เทศบาลนครเชียงรายก็ได้ประสานกับเอกชนรายหนึ่งในจังหวัดเชียงราย เพื่อขอทำสัญญาเช่าเป็นโครงการระยะยาว 20 ปี เพื่อทำโครงการวิทยาลัยฟุตบอล ซึ่งเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้จัดการโครงการของสเตฟาร์น ได้เดินทางมาจังหวัดเชียงราย เพื่อประสานข้อมูล ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการรอเซ็นสัญญา พื้นที่อยู่ไม่ไกลจากสถานที่เดิมมากนัก พื้นที่ขนาดประมาณ 70 ไร่ แต่จนถึงขณะนี้ 1 เดือนผ่านไปยังไม่ได้รับการติดต่อมาจากทางสเตฟาร์นแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามโครงการนี้สเตฟาร์นมีความมุ่งมั่นที่จะทำ และต้องการให้เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงราย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ มีความหลากหลายของชนเผ่า

ขณะนี้ จึงมีที่ดินถึง 3 ผืนที่มาเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ และหากไม่นับกับที่ผืนแรกที่เทศบาลมีโครงการใหม่เสียแล้ว ก็เหลืออีก 2 ผืน คือที่เลขาฯ ของสเตฟาร์นมาดูพร้อมกับยงยุทธ ติยะไพรัช และที่เอกชนซึ่งเทศบาลประสานให้ใหม่แทน

ข้อสรุปก็ยังไม่ได้เคาะออกมาว่า เอฟเฟ่จะตัดสินใจอย่างไร

ความเห็นของ "โค้ชหรั่ง" หรือ อ. ชาญวิทย์ ผลชีวิน ประธานฝ่ายผู้ฝึกสอนของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เคยกล่าวถึง โครงการวิทยาลัยฟุตบอลแห่งแรกของเอเชีย ที่มีชาวต่างชาติคือเอฟเฟ่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ว่า เขา เห็นด้วยอย่างมากเลย ซึ่งคิดว่าน่าจะมีความร่วมมือกันระหว่างสมาคม หรืออาจจะเป็นศูนย์หนึ่งของสมาคมเลยก็ได้ ถ้าเขามีนักเตะที่มีแววก็คัดส่งมาได้ เพราะจะเข้าสู่ระบบการคัดเลือกเดียวกัน คือพอถึงระดับอายุ 12 ก็จะเข้ามาคัดกันที่ส่วนกลางเพื่อเอาคนที่ดีที่สุดอีกทีหนึ่ง จะทำให้ตัวเลือกเราก็จะมากขึ้น

ส่วนแนวทางที่สมาคมฯ จะช่วยเหลือภาคเอกชนเช่นโครงการของเอฟเฟ่นั้น เขาบอกว่า เลขาสมาคมฯจะมีการประสานงานอยู่แล้ว ซึ่งตัวเอฟเฟ่นแบร์ก เองคงต้องเข้ามาคุยกับทางเลขาฯเพิ่มเติมด้วย ซึ่งตรงนี้ต้องหารือกันว่าจะเป็นแนวทางไหน เพราะเขาจะทำโดยกองทุนของเขาอย่างเดียวก็ได้ หรือจะเอาโค้ชมาจากเยอรมันล้วนๆก็ได้ แต่ถ้าเอาคนไทยไปผสมผสานมันก็เป็นสิ่งที่ดี

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาคพลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net