Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-2 มิ.ย.48 นักวิจัยต่างชาติ เสนองานวิจัยนำร่องในเขตพื้นที่ อ.แม่แจ่ม เผยการทำไร่หมุนเวียนบนพื้นที่สูง ไม่ส่งผลให้พื้นที่ป่าลดลง อีกทั้งป่า ไม่ใช่ตัวการทำให้เกิดฝน แต่ระดับความสูงของพื้นที่ ทำให้มีความชื้นมาก ขณะที่นักวิชาการไทยลุกเตือนงานวิจัยชิ้นนี้อาจทำให้คนรุกป่ามากขึ้น

ในเวทีแสดงความคิดเห็น เรื่อง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดขึ้นที่ห้องประชุม อาคารรวมวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีข้อถกเถียงกันหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่อง ผลกระทบจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน และความสัมพันธ์ของป่ากับน้ำ กันอย่างกว้างขวาง

ดร.เดวิด ธอมัส นักวิจัย ศูนย์วิจัยเกษตรแห่งชาติ ได้มีการนำเสนองานวิจัยนำร่อง Relation ships between Forests and Water:Some findings from modeling & mapping research in the Mae Chaem sub-basin ซึ่งเป็นงานวิจัยในเขตพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 7 ปี โดยมีการนำกรณีศึกษาผลกระทบการใช้ประโยชน์ที่ดินเขต อ.แม่แจ่ม มาใส่ในโมเดลจำลองสภาพความเป็นจริง ตามองค์ประกอบทางชีวภาพ ก่อนทำการวิเคราะห์สภาพพื้นที่ป่าเมื่อ 50 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน

ดร.เดวิด กล่าวว่า จากการที่ดูภาพถ่ายทางอากาศ เมื่อ 50 ปีก่อนนั้น พบว่า นอกจากมีพื้นที่ป่าแล้ว จะมีไร่เหล่าและทุ่งหญ้าอยู่มาก แต่ตอนนี้ พบว่าไร่เหล่าและทุ่งหญ้าหายไป เปลี่ยน เป็นพื้นที่เกษตรบนพื้นที่สูง ซึ่งจากการทดสอบพบว่า ระดับความสูงของพื้นที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศ คือระดับพื้นที่สูงเพียงใด ยิ่งมีความชื้นหรือมีน้ำมากเท่านั้น และป่านั้นเป็นผลมาจากความชื้นบนพื้นที่สูง เพราะฉะนั้นป่าไม่ได้ทำให้เกิดฝน

"จากการศึกษายังพบอีกว่า การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่สูง ทำให้น้ำหลากมากขึ้นและพื้นที่สูงระดับกลาง ที่มีการทำไร่หมุนเวียน หรือไร่เหล่า ดูเหมือนว่าไม่ได้ส่งผลกระทบ หรือเป็นสาเหตุทำให้พื้นที่ป่าลดลง หรือทำให้น้ำลดลงแต่อย่างใด แต่การปลูกพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง ทำให้การไหลของน้ำไม่สม่ำเสมอ ทำให้เกิดน้ำท่วมน้ำหลากมากขึ้น" ดร.เดวิด กล่าว

นายเดวิด บอกอีกว่า งานวิจัยชิ้นนี้ถือว่าเป็นงานวิจัยนำร่อง ซึ่งถือว่าเชื่อถือได้ระดับหนึ่ง และอยากให้มีศึกษาวิจัยกันต่อ เพื่อเป็นแนวทางการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนต่อไป

ในขณะที่ ดร.วสันต์ จอมภักดี คณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่ปิงและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตนเชื่อว่า พื้นที่ยิ่งสูง ยิ่งมีความชื้นมาก แต่ไม่อยากให้ชี้ว่า ป่า ไม่ได้ทำให้เกิดฝน เพราะถ้าไม่มีป่า ความชื้นก็จะไม่มีด้วย เพราะป่าเป็นตัวกักเก็บน้ำใต้ผิวดินด้วย

ด้านนายสุวิทย์ รัตนมณี สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงราย กล่าวว่า ประเด็นที่ ดร.เดวิด ได้อ้างถึงในรายงานวิจัยนั้น ตนขอให้มองแบบครบวงจร อย่าเพิ่งตัดสินใจยอมรับว่า ไม่มีป่า ก็มีน้ำ ตนกังวลว่า เดี๋ยวจะมีการรุกป่ามากขึ้น ป่าจะหมดไปเสียก่อน

ด้าน ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้พูดถึงเรื่อง ชุมชนกับการจัดการต้นน้ำในประเทศไทย และทิศทางในอนาคต ว่า ที่ผ่านมา มีรายงานวิจัย ระบุเอาไว้ว่า ต้องมีการบูรณาการจัดการน้ำอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ผลักภาระให้คนบนพื้นที่สูงต้องแบกรับภาระฝ่ายเดียว แต่คนที่อยู่ข้างล่างต้องรับผิดชอบดูแลร่วมกัน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ปริมาณน้ำลดลงนั้นไม่ใช่ว่าเพราะป่าลด แต่เป็นเพราะการขยายตัวของภาคเกษตรกรรมทั้งบนพื้นที่สูง และในพื้นที่ราบข้างล่างด้วย

องอาจ เดชา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net