Skip to main content
sharethis

รายงานพิเศษ

หลายคนคงสงสัยว่า เหตุใดชาวบ้านถึงลุกขึ้นมาฟ้องคณะรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1 รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นจำเลยที่ 2 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการพลังงาน เป็นจำเลยที่ 3 และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นจำเลยที่ 4 ต่อศาลปกครองกลาง กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา กรณีสุสานหอยแม่เมาะ "ประชาไท" ได้มีโอกาสลงพื้นที่ที่ขุดค้นพบแหล่งฟอสซิลหอยน้ำจืดที่มีความหนาที่สุดในโลก จึงอยากนำข้อมูลมาเสนอ

ค้นพบซากหอยน้ำจืดดึกดำบรรพ์แม่เมาะ ที่หนาที่สุดในโลก
ย้อนกลับไปเมื่อเดือน มิ.ย.2546 ที่ผ่านมา มีการขุดพบซากฟอสซิลหอยน้ำจืดดึกดำบรรพ์ ซึ่งมีอายุประมาณ 13 ล้านปี ในบริเวณเหมืองแร่ลิกไนต์แม่เมาะ จ.ลำปาง

จากนั้นทาง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้แจ้งให้เจ้าพนักงานแร่ ผู้มีหน้าที่ในการดูแลขุดเจาะเหมืองแร่ในเขตท้องที่ จ.ลำปาง ในเบื้องต้น ได้มีการขุดพบซากหอยครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 43 ไร่

หลังจากนั้น ได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันสำรวจบริเวณที่มีการค้นพบซากหอยโบราณ จำนวน 4 ครั้ง และได้ข้อสรุปว่า ชั้นซากหอยดังกล่าวมีลักษณะรูปเลนซ์แทรกอยู่ระหว่างชั้นถ่านหิน K4 ซึ่งปิดทับอยู่ด้านบนคลุมพื้นที่ 43 ไร่ และเป็นชั้นหอยดึกดำบรรพ์น้ำจืดที่มีความหนาถึง 12 เมตร และมีชั้นความหนาที่มากที่สุดในโลก

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ได้มีหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรม(อก.) เพื่อให้พิจารณาการดำเนินการกันพื้นที่ที่พบซากหอยดึกดำบรรพ์ จำนวน 43 ไร่ ออกจากเขตประทานบัตรของกฟผ. ตามมาตรา 6 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 เพื่อทาง ทส.จะได้ประกาศเป็นพื้นที่สำรวจ ทดลอง ศึกษาวิจัย ตามมาตรา 6 ทวิ แห่ง พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 และจะได้ดำเนินการร่วมกับ กฟผ. เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งศึกษาของนักเรียน นักศึกษา และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของประเทศต่อไป

ทางกรมทรัพยากรธรณี ได้สรุปกรณี การอนุรักษ์แหล่งซากหอยน้ำจืดดึกดำบรรพ์ เหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง เอาไว้ว่า แหล่งซากหอยดึกดำบรรพ์แม่เมาะแห่งนี้ แผ่กระจายตัวในแนวเกือบเหนือใต้ กว้างมากกว่า 90 เมตร และยาวมากกว่า 575 เมตร มีความหนาสูงสุดถึง 12 เมตร เป็นชั้นสะสมตัวอย่างของหอยขมน้ำจืดดึกดำบรรพ์เพียงแห่งเดียวของโลกที่มีความหนาที่สุด

เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดการสะสมตัวอย่างต่อเนื่องของซากหอยเพียงชนิดเดียว จำนวนมากมายมหาศาล จนเป็นชั้นหนาเช่นนี้หาได้ยากยิ่ง เป็นข้อมูลที่นักวิชาการจะต้องค้น หาคำตอบถึงต้นเหตุของปรากฏการณ์ดังกล่าว เพื่อศึกษาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอดีตที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำรอยได้ในอนาคต

พื้นที่พบแต่เดิมนั้น ทาง ทส. โดยกรมทรัพยากรธรณี ได้ทำเรื่องขอมติจาก คณะรัฐมนตรีผ่านทางคณะกรรมการกลั่นกลองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 6 (ฝ่ายสังคม) เพื่อมี รองนายกรัฐมนตรี(ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์) เป็นประธาน เพื่อขอกันพื้นที่ทั้งหมด 43 ไร่ออกจากแปลงประทานบัตรของ กฟผ. เพื่อให้สามารถนำไปดำเนินการศึกษาวิจัยหรือพัฒนาให้เหมาะสมได้ และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 17 ก.พ.2547

ต่อมา ทาง กฟผ. ได้ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้อนุรักษ์เฉพาะพื้นที่ทางตอนเหนือเป็นจำนวน 18 ไร่ ซึ่งทางกรมทรัพยากรธรณี ระบุย้ำว่า หากเป็นตามการขอทบทวน พื้นที่ด้านใต้ ซึ่งเป็นส่วนของชั้นหอยที่หนาต่อเนื่องถึง 12 เมตร และเป็นส่วนที่หนาที่สุดในเหมืองแม่เมาะ จะถูกทำลายลง และทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียชั้นหอยที่หนากว่า 10 เมตร ซึ่งขณะนี้ มีเพียง 3 แห่งในโลกทันที

กรมทรัพยากรธรณี ได้สรุปเอาไว้เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า ที่ กฟผ.กล่าวว่า หากมีการกันพื้นที่ 43 ไร่ เป็นพื้นที่อนุรักษ์ซากฟอสซิลหอยน้ำจืดดึกดำบรรพ์เอาไว้นั้น จะส่งผลกระทบต่อโครงการ จำนวนกว่า 308,000 ล้านบาทนั้น ไม่ใช่เป็นความเสียหายจริง เพราะตัวเลขความเสียหายที่เกิดจากการคำนวณตามสมติฐานว่า มีการสูญเสียถ่านหินจำนวนมากที่จำเป็นต้องทิ้งไว้ในพื้นที่กันออก

แต่ตามความเป็นจริง ปริมาณถ่านหินจำนวนยังคงอยู่ สามารถนำกลับมาใช้ได้ในทันที และจากการศึกษาสถานการณ์ของการใช้เชื้อเพลิงจากแหล่งอื่นๆ ในประเทศไทย ยังคงผลิตถ่านหินนอกพื้นที่เขตอนุรักษ์ได้อย่างต่อเนื่องอีก 30 ปีข้างหน้า

ดังนั้น จึงควรใช้ถ่านหินจากบริเวณอื่นๆ ของแอ่งถ่านหินแม่เมาะก่อน โดยขอให้ใช้แหล่งถ่านหินจากพื้นที่อนุรักษ์แห่งนี้เป็นลำดับสุดท้าย ทั้งนี้ เพื่อรักษาชั้นหอยน้ำจืดที่หนาที่สุดในโลกนี้ไว้นานที่สุด อันนำมาซึ่งความภาคภูมิใจของคนไทย ที่จะได้เป็นเจ้าของสมบัติล้ำค่าระดับโลกตลอดไป

กฟผ.ขอยกเลิกกันพื้นที่ 43 ไร่ เหลือ 18 ไร่
กฟผ.ได้ขอให้มีการพิจารณามติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2547 โดยระบุว่า การกันพื้นที่ซากหอยขมดึกดำบรรพ์ ทั้ง 43 ไร่ จะมีผลทำให้ กฟผ.ต้องปรับแผนการทำเหมือง เนื่องจากไม่สามารถขุดตักดินเพื่อทำเหมืองลิกไนต์ในพื้นที่ตะวันตกของพื้นที่ 43 ไร่ได้ และจำเป็นต้องกันพื้นที่เพื่อค้ำยันชั้นซากหอยไว้เป็นจำนวนพื้นที่ถึง 3,150 ไร่ ทำให้เสียปริมาณถ่านหิน 265 ล้านตัน และสูญเสียมูลค่าทั้งถ่านหินและผลกระทบอื่นๆ อีก รวม 3 แสนล้านบาท

จากนั้นวันที่ 10 ก.ค.2547 คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี(ร.ต.อ. ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เพื่อศึกษาและตรวจสอบแหล่งชั้นหอย และลงความเห็นสนับสนุนให้มีการอนุรักษ์พื้นที่ไว้ 18 ไร่

16 ธ.ค.2547 กรมทรัพยากรธรณี และกฟผ. ได้มีการประชุมหารือร่วมกัน และมีความเห็นร่วมกันว่า ให้กันพื้นที่ทางด้านเหนือของพื้นที่เดิมทั้งหมด(43 ไร่) ให้กันเหลือเพียงจำนวน 18 ไร่ พร้อมกับให้มีการเพิ่มพื้นที่เบี่ยงขึ้นไปทางตะวันตก รวมเป็น 52 ไร่

นอกจากนั้น ทส.ได้เสนอ โดยกำหนดพื้นที่อนุรักษ์จากเดิม 43 ไร่ เป็นพื้นที่ใหม่ จำนวนทั้งหมด 52 ไร่ และคณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2547 หลังจากนั้น กฟผ.ได้ดำเนินการปรับพื้นที่นอกเขตอนุรักษ์ทั้ง 52 ไร่ ตามแผนการทำเหมือง ซึ่งได้ทำการขุดชั้นซากหอยดึกดำบรรพ์ออกไปบางส่วน

เป็นที่น่าสังเกตว่า การเปลี่ยนแปลงพื้นที่อนุรักษ์ซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ จาก 43 ไร่ เป็น 52 ไร่ดังกล่าว เป็นการกำหนดพื้นที่อนุรักษ์แหล่งซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ให้ลดน้อยลง และก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อซากฟอสซิลหอยฯ ซึ่งพื้นที่ที่ ทาง กฟผ. ได้คัดเลือกเป็นพื้นที่แปลงใหม่และคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบนั้น คิดเป็นพื้นที่ที่ครอบคลุมซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์เหลือเพียง 18 ไร่เท่านั้น

และพื้นที่ที่เหลือ 34 ไร่นั้น ไม่ได้มีซากฟอสซิลหอยฯ แต่อย่างใด แต่เป็นพื้นที่ที่จะถูกไปใช้สำหรับการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง อาคารพิพิธภัณฑ์ถาวร และเส้นทางถนนเท่านั้น

กฟผ.ยังเดินหน้าขุดพื้นที่ซากฟอสซิลหอย
ปัญหาดังกล่าว ได้เริ่มจากการที่ บ.อิตาเลียน-ไทยดิเวลลอปเมนต์ (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้เข้าไปไถทำลายซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ที่อยู่นอกเขตที่อนุรักษ์ไว้ 18 ไร่ ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 21 ธ.ค.2547 จนเกิดความเสียหายไปแล้วบางส่วน โดยมีการอ้างว่า มีมติครม.ให้อำนาจไว้

จนทำให้ประชาชน ชุมชน องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ลำปาง องค์การบริหารส่วนตำบลแม่เมาะ รวมทั้งภาคธุรกิจเอกชนในจังหวัดร่วมกันคัดค้านการทำลายซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ สมบัติโบราณคดีชิ้นสำคัญของโลกและของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

โดยทุกฝ่ายได้มีข้อเรียกร้อง ให้ชะลอการขุดทำลายและทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงแนวทางอนุรักษ์เพื่อศึกษาวิจัยก่อนตามกฎหมาย ซึ่งทางกรมศิลปากร เห็นว่า ซากหอยขมดึกดำบรรพ์ดังกล่าว เป็นโบราณวัตถุ ผู้ใดทำลายมีความผิดทางอาญา และจะขอความร่วมมือ กฟผ. ขอให้หยุดการดำเนินการไว้ก่อน

อนุกรรมการสิทธิฯ ชี้ชัดว่า ขัดรัฐธรรมนูญ-กม.อื่นชัดแจ้ง
ต่อมา เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพพื้นที่ที่ค้นพบซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ และมีความเห็นว่า ควรดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม ก่อนที่จะมีการประกอบกิจการเหมืองแร่ในบริเวณดังกล่าวต่อไป

ซึ่งอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความเห็นว่า มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21ธ.ค.2547 ขัดหรือแย้งต่อพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 อีกทั้งยังเป็นผลให้มีการประกอบกิจการเหมืองแร่ต่อไป โดยอาจส่งผลต่อซากหอยขมดึกดำบรรพ์ได้ จึงเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 อย่างชัดแจ้งอีกด้วย

หลังจากนั้น วันที่ 4 มี.ค.2548 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ทำหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอข้อเสนอแนะนโยบาย กรณีซากหอยดึกดำบรรพ์ ในบริเวณโครงการเหมืองแร่ลิกไนต์แม่เมาะดังกล่าว

ทว่า แม้จะมีการคัดค้านการขุดไถทำลายซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์กันอย่างต่อเนื่อง แต่ปรากฏว่าทาง กฟผ.ยังคงยืนยันว่า มีความจำเป็นที่จะต้องทำการขุดเหมืองในพื้นที่แหล่งหอยขมดึกดำบรรพ์ต่อไปอีก 25 ไร่ จากทั้งหมด 43 ไร่ ต่อไปอีก

โดยทาง กฟผ.อ้างว่า หากหยุดชะลอเกิดผลกระทบต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าจากลิกไนต์จำนวน 265 ล้านตัน หากหยุดก็จะสร้างความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1.32 แสนล้านบาท และกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงาน และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

ชาวบ้านร่วมกันฟ้อง ครม.- หน่วยงานรัฐ
เมื่อการคัดค้านไม่เป็นผล ชาวบ้านแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง นำโดยนายเฉลียว ทิสาระ สมาชิก อบต.แม่เมาะ และชาวบ้านซึ่งเป็นตัวแทนผู้นำชุมชน และมีภูมิลำเนาอยู่บริเวณรอบเหมืองลิกไนต์แม่เมาะ จ.ลำปาง ได้พากันยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง

โดยได้มอบอำนาจให้ นายสุรชัย ตรงงาม จากสภาทนายความแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นจำเลยที่ 2 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการพลังงาน เป็นจำเลยที่ 3 และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นจำเลยที่ 4 ต่อศาลปกครองกลาง กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา

โดยได้มีการแยกสำนวนฟ้องดังนี้ คือ 1.ฟ้องคณะรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม เรียกอาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรมาเปลี่ยนแปลงเนื้อที่ในเขตประทานบัตร ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้อนุรักษ์พื้นที่สุสานหอยขมน้ำจืดไว้เพียง 18 ไร่ จากเดิมที่พบทั้งหมด 43 ไร่ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์

ซึ่งชั้นซากฟอสซิลหอยฯ ที่อยู่ในพื้นที่ที่ปรับใหม่ 52 ไร่นั้น จะมีพื้นที่ที่มีความหนาของชั้นหอย 10 เมตร เพียง 7-8 ไร่ การลดพื้นที่อนุรักษ์เหลือเพียง 18 ไร่นั้น ทำให้ความหนาสูงสุดของชั้นหอยดึกดำบรรพ์ ไม่มีคุณค่าระดับโลก

2. ฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะที่เป็นผู้รับคำสั่งจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) และเป็นผู้มีอำนาจอนุญาตหรือเพิกถอนประทานบัตรการทำเหมืองแร่ ตาม พรบ.แร่ พ.ศ.2510 แก่ กฟผ.

3.ฟ้องกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ในฐานะเป็นหน่วยงานรัฐ ที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยแร่ ในส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบ ควบคุมดูแลให้ผู้ได้รับประทานบัตร ซึ่งก็คือ กฟผ. ปฏิบัติตามกฎหมาย

และ 4. ยื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย( กฟผ.)ในฐานะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า แหล่งพลังงานอันได้มาจากธรรมชาติ แร่ธาตุ และเชื้อเพลิง และเป็นผู้ได้รับประทานบัตรดำเนินการโครงการเหมืองลิกไนต์ในบริเวณแหล่งซากหอยขมดึกดำบรรพ์ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง

นั่นคือที่มา ของการฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้มีให้มีการระงับการขุดพื้นที่อนุรักษ์ซากฟอสซิลหอยขมน้ำจืด ที่มีอายุ 13 ล้านปี จนกว่าจะมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net