Skip to main content
sharethis

ประชาไท-8 มิ.ย. 48 วันนี้ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกัน 2 สภา เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ พ.ศ. ... ในประเด็นคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริต (ป.ป.ช.) ซึ่งมีส.ส.และส.ว. เข้าร่วมอภิปรายและร่วมโหวตเลือกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ร่าง(รัฐบาล-ฝ่ายค้าน) เป็นจำนวนมาก

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านสภาผู้แทนราษฎร กล่าวอภิปรายระหว่างการประชุมว่า ตนเห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรีในตอนแรก ที่มีเจตนารมณ์ดั้งเดิมในการชูธงว่า จะจัดการแก้ไขรัฐธรรม นูญและตัดฝ่ายการเมืองออก แต่ท้ายที่สุดรัฐบาลก็ไม่ได้ทำตามคำที่กล่าวไว้ก่อนหน้า และก็ยังยึดเหนี่ยวกับการเข้าไปเป็นกรรมการสรรหาป.ป.ช.

"ผมมองว่าการที่พรรคการเมืองเข้าไปมีส่วนร่วมในการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. แม้เพียงคนเดียว ก็สามารถส่งสัญญาณในการบล็อกโหวตในการสรรหาได้แล้ว และในขณะนี้รัฐบาลก็กำลังพยายามหาเหตุผลดิ้นรนเพื่อจะนำการเมืองเข้าไปใส่ในระบบการสรรหา ซึ่งได้นำพาประธานสภาเข้าสู่กระบวนการสรรหา ผมว่ามันเป็นความคิดที่แย่ที่สุด เพราะถึงแม้ว่าประธานสภาจะเป็นคนของฝ่ายรัฐบาล แต่ทว่าด้วยสถานะของการเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติควรจะมีความเป็นกลางมากกว่า" ผู้นำฝ่ายค้านกล่าว

ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวต่อว่า พอรัฐบาลถูกทักท้วงในเรื่องของประธานสภา รัฐบาลก็กลับลำแล้วก็เกิดผู้นำเสียงข้างมากขึ้นมา ซึ่งจากที่ได้ทำการศึกษามาระบบเสียงข้ามานั้น จะมีอยู่แต่ในระบบการปกครองแบบประธานาธิบดีที่มีฝ่ายเสียงข้างมากและฝ่ายเสียงข้างน้อย เพราะการทำงานนั้นจะขึ้นกับประชาชนโดยตรง ตนจึงเห็นว่าตำแหน่งผู้นำเสียงข้างมากเป็นสิ่งแปลกปลอมในระบบรัฐสภา

"และรัฐควรกลับมาทบทวนอีกทีว่า ที่เคยอ้างถึงองค์กรอิสระที่จะมาทำหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหา ว่าต้องเป็นองค์กรอิสระที่มีตำแหน่งโปรดเกล้าฯ แล้วเท่านั้น ดังนั้นจึงอยากถามนายกฯ ว่า ผู้นำเสียงข้างมากนั้นมีตำแหน่งที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ หรือเปล่า" นายอภิสิทธิ์กล่าวทิ้งท้าย

ด้านนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง เขต 2 พรรคชาติไทย กล่าวว่า ที่มาพูดในวันนี้ได้รับมอบหมายจากบรรหาร ศิลปะอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ให้เป็นตัวแทนพรรคมาอภิปรายในครั้งนี้

นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า เนื่องจากเจตนารมณ์ขององค์การอิสระที่มาจากรากฐานของรัฐธรรมนูญ จะต้องทำหน้าที่ได้อย่างอิสระและปราศจากการแทรกแซง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นรัฐธรรมนูญเองได้เป็นผู้กำหนดการหากรรมการสรรหาของทั้ง 3 องค์กร คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง และศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องมาจากภาคประชาชนในการสรรหาคณะกรรมการ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีการยึดโยงอยู่กับประชาชนแต่ก็มีการเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองด้วยเช่นกัน

"เมื่อองค์กรอิสระองค์กรหนึ่งมีปัญหา และอีก 2 องค์กรที่ส่อเค้าปัญหาเช่นกัน แต่รัฐกลับเห็นว่าควรแก้แค่องค์กรเดียวแบบเฉพาะหน้า เป็นการสมควรแล้วหรือที่รัฐจะทำเช่นนั้น และมีหลัก
ประกันอะไรไหมว่าองค์กรอีก 2 องค์กรที่เหลือจะไม่เกิดปัญหาตามมา เช่นเดียวกับกรณีของป.ป.ช. อีก แล้วสุดท้ายรัฐก็จะมาอ้างถึงเวลาอันจำกัดและเร่งรีบในการแก้ไข ซึ่งในตรงจุดนี้มันอาจก่อให้เกิดความผิดพลาดได้" ส.ส.พรรคชาติไทยกล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวเสนอเพิ่มเติมว่า ตนและพรรคเห็นว่า ควรทำไปพร้อมกันทั้ง 3 องค์กรเลยมากกว่าด้วยเหตุผลที่ว่า การกระทำดังกล่าวสามารถเป็นตัวพิสูจน์เพื่อเรียกความมั่นใจและความศรัทธาในพรรคกการเมืองของประชาชนคืนกลับมา เพราะในปัจจุบันความน่าเชื่อถือดังกล่าวได้ลดลงอย่างมาก ทั้งนี้สาเหตุก็มาจากการสรรหาป.ป.ช.ครั้งที่แล้ว ที่มีพรรคการเมืองเป็น 10 พรรค และต้องคัดให้เหลือเพียงแค่ 4-5 พรรค แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า พรรคประชาธิปัตย์ที่มีเสียงมากเป็นอันดับสอง 100 กว่าเสียง กลับไม่ได้รับเลือกให้อยู่ในคณะกรรมการชุดนั้น แต่บางพรรคที่มีเสียงไม่ถึง 10 เสียง กลับได้รับเลือก มันทำให้เห็นว่ามีการบล็อกโหวตเกิดขึ้น

"และที่มาในวันนี้ ไม่ได้มาเพื่อหักล้างร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาลแต่อย่างใด แต่มาเสนอเพียงแค่ว่าควรเพิ่มเติมในเรื่องของคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. อย่างไร หรือควรเพิ่มเติมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 องค์กรในครั้งเดียวกัน และถือว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่สามารถทำได้" นายสมศักดิ์กล่าว

สิรินภา อิ่มศิริ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net