Skip to main content
sharethis

รีวิววลีปาฐกถาพิเศษเรื่อง "นโยบายการส่งเสริม SMEs" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในงานนครบรอบ 25 ปี โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจอุตสหากรรม (คพอ.) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2548 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง จังหวัดเชียงใหม่

นายกรัฐมนตรี เตรียมแผนปฏิบัติการหนุนเอสเอ็มอีไทยต่อเนื่อง กระทุ้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าหรือ Value Creation ชิงความได้เปรียบคู่แข่งขัน เร่งปั้นแบรนด์ไทยแลนด์ - ผุดดีไซน์เซ็นเตอร์ - สร้างเว็บไซต์เอสเอ็มอีโดยเฉพาะ ย้ำชัดเจนว่าหมดยุครับจ้างผลิต แนะผู้ประกอบการยุคโลกทุนนิยมต้องรู้ลึกระบบการเงิน ขณะที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระตุ้นเอสเอ็มอีไม่หยุด พร้อมต่อยอด คพอ.ดันการลงทุนภาคอุตสาหกรรมทะลุ 40,000 ล้านบาทภายในปี 2548

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สังคมไทยในปัจจุบันยังไม่กล้าที่จะเป็นผู้ประกอบการ เพราะกลัวการล้มเหลว ซึ่งในข้อเท็จจริงของโลกทุนนิยม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งสร้างผู้ประกอบการใหม่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาที่เรียนจบมาได้มีงานรองรับ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะยังคงให้การสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนา SMEs และเร่งสร้างผู้ประกอบการใหม่อย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะ 4 ปีของรัฐบาลชุดนี้ จะมุ่งเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มทางความรู้ในเชิงสร้างสรรค์ให้กับสินค้าหรือ Value Creation เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบจากประเทศคู่แข่งหลาย ๆ ประเทศในโลก โดยเฉพาะจีนที่มีทั้งอุตสาหกรรมหรือสินค้าที่ใช้แรงงานราคาถูกและอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยี ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้น หากยังคงมุ่งรับจ้างผลิต ก็จะยิ่งเสียเปรียบและไม่มีโอกาสที่จะเติบได้อย่างยั่งยืน เพราะต้นทุนการผลิตในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นทั้งระบบ

"การสร้าง Value Creation นั้น ไม่ใช่การใช้ยุทธวิธีการตัดราคาเป็นตัวนำ ทว่าต้องสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าในเชิงสร้างสรรค์ และต้องมีแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งการเพิ่มมูลค่าหรือ Valuaded อย่างเดียวไม่เพียงพอแล้วในยุคนี้"

ขณะนี้รัฐบาลมีแผนที่จะเร่งสร้างแบรนด์ไทยแลนด์ให้ได้ภายใน 4 ปีนี้ โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าร่วมเป็นเครือข่าย ซึ่งผู้ประกอบการที่จะสามารถเข้ามาอยู่ในเครือข่ายไทยแลนด์แบรนด์ได้นั้น จะต้องมีศักยภาพและมีสินค้าที่มี Value Creation

ขณะเดียวกันยังมีแผนที่จะสร้างเว็บไซต์ของเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ เพื่อให้เอสเอ็มอีทั่วประเทศสามารถเข้ามาใช้บริการ และยังจะเป็นช่องทางสร้างเครือข่ายหรือ Cluster เอสเอ็มอี ให้เกิดขึ้นด้วย และอีกไม่นานนี้ก็กำลังจะมี Design Center เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาสินค้าเอสเอ็มอีให้สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้อีกช่องทางหนึ่ง
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยก็คือ การขาดความรู้ความเข้าใจหรือไม่สนใจเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งถือเป็นหัวใจของการทำธุรกิจ ที่มีความสำคัญเท่า ๆ กับการผลิตและการตลาด ผู้ประกอบการจำเป็นต้องบริหารการเงินให้เป็น และต้องเข้าใจการเงินทั้งระบบ

"ต้องรู้ว่าต้นทุน กำไรอยู่ที่เท่าไร เจ้าของธุรกิจจะใช้เงินได้ 2 รูปแบบคือ ได้จากเงินเดือนของตัวเองและได้จากเงินปันผล ไม่ใช่นำกำไรออกไปใช้ เพราะจะทำให้ขาดสภาพคล่องได้ ในโลกทุนนิยมถ้าใครไม่เข้าใจเรื่องระบบการเงินคนนั้นแพ้การแข่งขัน" นายกรัฐมนตรี กล่าว

ด้านนายปราโมทย์ วิทยาสุข อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำหรับโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) ในปีนี้จะเป็นการต่อยอดจากแผนเดิม โดยวางเป้าหมายที่จะให้ครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ เจาะลึกในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น อาหารและเครื่องดื่ม การแปรรูปการเกษตร ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ท่องเที่ยว ก่อสร้าง และระบบโลจิสติกส์ เป็นต้น เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้พัฒนาตนเองอย่างถูกทิศทาง พร้อมทั้งแตกไลน์ธุรกิจให้มีความหลากหลายและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเตรียมวางแผนจัดกิจกรรมให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานต่างประเทศ เพื่อพัฒนาหลักบริหารให้มีความเป็นสากลมากขึ้น โดยจะนำร่องในประเทศแถบเอเชียก่อน เช่น จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และสิงคโปร์

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีผู้ผ่านการอบรมจำนวนทั้งสิ้น 4,296 คน 128 รุ่น ใน 46 จังหวัด ทั้งนี้ จากการประเมินในปี 2547 ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมีอัตราการอยู่รอดทางธุรกิจจำนวน 668 ราย จากทั้งหมด 691 ราย ทำให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น 32,880 ล้านบาท การจ้างงานเพิ่มขึ้น 95,100 ล้านบาท และยอดขายเพิ่มขึ้น 7,520 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้กรมฯ ได้วางเป้าหมายที่จะให้ผู้ประกอบการได้ขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท

นายปราโมทย์ กล่าวต่อว่า นโยบายการส่งเสริม SMEs จากนี้ไปได้มีการกำหนดจุดยืนเพื่อส่งเสริมกลุ่ม SMEs ไว้อย่างชัดเจน โดยต้องการที่จะเห็นผู้ประกอบการขยายการลงทุนและเจาะตลาดเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับเน้นการผลักดันผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าทางความรู้เชิงสร้างสรรค์ให้กับสินค้า หรือ Value Creation เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้น เช่น การศึกษาและวิจัยผลิตภัณฑ์ไหมไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าการผลิตเป็นชุดกีฬา เสนอจุดเด่นที่สามารถระบายอากาศได้ เหมาะกับประเทศที่มีสภาพอากาศร้อน เป็นต้น

Econ Focus

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net