Skip to main content
sharethis

"ขอให้พี่น้องที่ถูกจับกุม อย่าเพิ่งสิ้นหวัง สักวันหนึ่งเราจะต้องพบกับอิสรภาพและเสรีภาพ ได้พบกับดวงตะวันที่โผล่พ้นหลังก้อนเมฆ และพี่น้องที่ลี้ภัยอยู่ต่างแดน ก็อย่าเพิ่งท้อถอย ทุกคนต้องก้าวพ้นจากความกลัว ทุกคนต้องมีความหวัง ว่าสักวันหนึ่งเราจะได้กลับคืนสู่บ้านของตัวเอง ได้ร่วมกันพัฒนาประเทศชาติของเราต่อไป" นั่นเป็นสาส์น
ของ ดอว์ อองซาน ซูจี ที่กล่าวผ่านวิดีทัศน์ในงาน ออง ซาน ซูจี 60 ปี แห่งตะวันหลังก้อนเมฆ ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา

แม้ว่าวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา จะถึงวาระครบรอบวันเกิด 60 ปี ของนางออง ซาน ซูจี และคนทั่วโลกได้ร่วมกันจัดงานเพื่อรำลึกถึงเธออย่างต่อเนื่อง ทว่าชีวิตเธอยังคงถูกกักบริเวณไว้ในบ้านพักริมทะเลสาบอินยา โดยที่ไม่มีผู้ใดทราบได้เลยว่า นางออง ซาน ซูจี จะใช้ชีวิตเช่นไรภายใต้อิสรภาพที่ถูกจำกัด

ในงาน ออง ซาน ซูจี 60 ปี แห่งตะวันหลังก้อนเมฆ ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในครั้งนี้ ได้มีการมอบปริญญารัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ให้แก่ นางออง ซาน ซูจี โดยมี ดอว์ ซาน ซาน เลขานุการสหภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งพม่า วัย 72 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งของผู้ลี้ภัยออกมาจากประเทศพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 ภายหลังจากถูกคุมขังถึงสองครั้งสองครา ก่อนออกมาและทำการลี้ภัยด้วยเหตุผลทางการเมือง เป็นผู้แทนของนางออง ซาน ซูจี ขึ้นรับพร้อมกับการกล่าวสุนทรพจน์

ดอว์ ซาน ซาน กล่าวว่า ข้าพเจ้าเชื่อว่า ดอว์ ออง ซาน ซูจี ไม่รู้สึกเสียใจกับอิสรภาพที่สูญเสีย เธออุทิศดวงใจให้กับประชาชนพม่าที่กำลังทุกข์ทนอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร เธอมีความเข้าใจต่อผู้ที่ลี้ภัยออกจากประเทศ เธอห่วงใยประชาชนผู้ยากไร้ในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่พลัดถิ่นมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย อินเดีย และบังคลาเทศ

"คนเหล่านี้ต้องจากบ้านเพราะกลัวการถูกฆ่า ถูกข่มขืน และการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆที่กระทำโดยทหารของรัฐบาลฯ เธอคิดถึงประชาชนที่ต้องมาเป็นแรงงานผิดกฎหมายในประเทศไทย เพราะต้องการแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า แรงงานเหล่านี้เช่นกัน ต่างเป็นเหยื่อของรัฐบาลทหารที่ได้ทำลายเศรษฐกิจของประเทศ" นางซาน ซาน กล่าว

เลขานุการสหภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งพม่า ยังกล่าวอีกว่า การจำกัดอิสรภาพของ ดอว์ ออง ซาน ซูจี ครั้งหลังสุดนี้ เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2546 หลังเกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมหมู่ที่เดพายิน ผู้สนับสนุนดอว์ ออง ซาน ซูจี ประมาณ 200-300 คนถูกสังหารอย่างทารุณ

"สำหรับการมอบเกียรติยศนี้แก่ ดอว์ ออง ซาน ซูจี ถ้าเธออยู่ที่นี่ในวันนี้ เธอจะขอบคุณท่านสำหรับการสนับสนุนของท่านที่มีให้กับการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยในประเทศของเรา เธอจะต้องกล่าวว่า เกียรติยศที่ได้นี้มิใช่เป็นของเธอคนเดียว แต่เป็นของประชาชนพม่าทั้งหมดและปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ใบนี้ จะเป็นสาส์นแห่งความหวังจากประชาชนไทยถึงประชาชนพม่า" ดอว์ ซาน ซาน กล่าวในตอนท้าย

ด้าน ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หากนางออง ซานรับรู้ว่าเรามีการจัดงานครบรอบ 60 ปีในครั้งนี้ เชื่อว่าเธอคงไม่เห็นด้วยกับการกระทำของเรา ซึ่งคล้ายเป็นลัทธิบูชา ในเรื่องของการเทิดทูนปัจเจกบุคคล แต่เราเชื่อว่า การชุมนุมในครั้งนี้ ถือว่าเป็นวันที่มีความหมายที่ยิ่งใหญ่ของประชาชนหลายสิบล้านคนในพม่า ประชาชนหลายร้อยล้านคนในโลกใบนี้ที่ใฝ่ฝันถึงสันติสุขและเสรีภาพ เพราะถือว่า นางออง ซาน ซูจี เป็นแบบอย่างของผู้หญิงแห่งศตวรรษที่ 21

"การจัดการชุมนุมครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงทางการเมืองของพม่า แต่เป็นแสดงให้เห็นถึงความเห็นอกเห็นใจในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถือว่า ไฟไหม้บ้านข้างเคียง แล้วเราจะไม่ช่วยกันดับไฟกันเลยนั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะปัญหาเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง" ดร.ชาญวิทย์ กล่าว

ดร.ชาญวิทย์ กล่าวอีกว่า ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลไทย ให้ดำเนินการนโยบายต่อเพื่อนบ้าน โดยขอให้มีการผลักดันให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี และนักโทษการเมืองในพม่าทุกคน และขอให้มีการผลักดันให้เกิดความสมานฉันท์ภายในประเทศพม่า ระหว่างรัฐบาล กลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยของนางออง ซาน ซู จี และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่า เพื่อความปรองดองและเกิดสันติสุขขึ้นในพม่า

สำหรับชีวิตภายใต้การจองจำของ ออง ซาน ซูจี นั้น เธอได้ถูกสั่งกักบริเวณครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2532 เมื่อรัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งในขณะนั้นใช้ชื่อว่า "สภาฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐ" หรือ SLORC ได้ใช้กฎอัยการศึกสั่งกักบริเวณนางซูจี เป็นเวลา 3 ปี โดยไม่ข้อหาใดๆ เลย

14 ต.ค.2534 คณะกรรมการโนเบลแห่งประเทศนอร์เวย์ ประกาศชื่อ นางออง ซาน ซูจี เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ทว่าซูจีไม่มีโอกาสเดินทางไปรับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ด้วยตนเอง แต่บุตรชายของเธอ คือ อเล็กซานเดอร์และคิม ขึ้นไปรับรางวัลแทนมารดาที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เมื่อสองพี่น้องเดินถือภาพถ่ายของมารดาขึ้นเวที เสียงปรบมือต้อนรับดังกระหึ่มกึกก้อง

"ผมรู้ว่า ถ้าแม่มีอิสรภาพและอยู่ที่นี่ในวันนี้ แม่จะขอบคุณพวกคุณ พร้อมกับขอร้องให้พวกคุณร่วมกันสวดมนต์ให้ทั้งผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่โยนอาวุธทิ้ง และหันมาร่วมกันสร้างชาติด้วยความเมตตากรุณาและจิตวิญญาณแห่งสันติ" อเล็กซานเดอร์ กล่าวกับคณะกรรมการและผู้มาร่วมงานในพิธีวันนั้น

ซูจี ประกาศใช้เงินรางวัลจำนวน 1.3 ล้านเหรียญ เพื่อจัดตั้งกองทุนเพื่อสุขภาพและการศึกษาของประชาชนพม่า

10 ก.ค.2538 เธอ ออง ซาน ซูจีได้รับอิสรภาพจากการถูกกักบริเวณเป็นครั้งแรก

ชีวิตภายใต้การถูกจองจำในบ้านพักของตัวเองในช่วงขณะนั้น ซูจี ปฏิเสธข้อเสนอทุกอย่างของรัฐบาลเผด็จการทหาร เธอขายทรัพย์สินในบ้านเพื่อเป็นทุนในการดำรงชีวิต เหลือเพียงเปียโนและโต๊ะอาหารเท่านั้น ที่เธอยังเก็บมันไว้

"ดิฉันไม่ยอมรับสิ่งใดจากทหารเลย บางครั้งดิฉันแทบไม่มีเงินพอที่จะซื้ออาหารรับ
ประทาน ทำให้ร่างกายดิฉันอ่อนแอมาก ผมของดิฉันร่วง ดิฉันอ่อนแอจนไม่สามารถลุกจากเตียงได้ ทุกครั้งที่เคลื่อนไหว หัวใจดิฉันเต้นแรง แทบหายใจไม่ออก น้ำหนักของดิฉันลดจาก 106 ปอนด์ เหลือเพียง 90 ปอนด์ ดิฉันคิดว่าต้องตายจากเหตุที่หัวใจล้มเหลว ไม่ใช่อดอาหาร..."
ซูจีเล่าให้นักข่าวฟังถึงสภาพของเธอ ภายใต้วันเวลาที่ถูกกักบริเวณครั้งแรก เมื่อเดือน ต.ค.2538

ซูจี ถูกรัฐบาลเผด็จการทหาร สั่งกักบริเวณเป็นครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย.2545 รวมเป็นเวลา 18 เดือน

ต่อมา ถูกรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ภายใต้นาม "สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ" หรือ SPDC สั่งกักบริเวณให้ใช้ชีวิตอยู่แต่ภายในบ้านพักเป็นครั้งที่ 3 ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2546 ภายหลังเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างมวลชนจัดตั้งของรัฐบาลพม่า กับกลุ่มผู้สนับสนุนซูจี เมื่อวันที่ 30 พ.ค ในระหว่างที่นางซูจี เดินทางเพื่อพบปะประชาชนในเมืองเดพายิน ทางตอนเหนือของพม่า

"ดิฉันมิได้เป็นนักโทษการเมืองสตรีเพียงคนเดียวในประเทศพม่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ยังคงมีสตรีจำนวนมากที่ถูกจับขัง เนื่องจากความเชื่อทางการเมืองของพวกเธอ" ซูจี ได้เขียนไว้ในหนังสือจดหมายจากพม่า

จากวันนั้น วันที่ 8 สิงหาคม 2531 ประชาคมโลกต่างรับรู้จักนาม ออง ซาน ซูจี กันไปทั่ว หลังเกิดเหตุการณ์ 8-8-88 ในประเทศพม่า เมื่อนักศึกษา ประชาชนพม่าหลายแสนคนลุกฮือขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยจากรัฐบาลพม่าที่ปกครองประเทศมายาวนาน

จวบจนบัดนี้ รวมระยะเวลา 17 ปี ที่เธอได้เรียกร้องสันติภาพและประชาธิปไตยให้แก่แผ่นดินเกิด ซูจีได้แลกอิสรภาพของตัวเองกับการเรียกร้อง เพื่อให้ประชาคมโลกได้หันมาสนใจต่อความทุกข์ยาก และชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการทหารพม่า ซึ่งเธอเน้นย้ำมาตลอดว่า "ความรักและสัจจะเท่านั้น จะโน้มน้าวใจมหาชนได้มากกว่าการถูกบังคับ"

"ดิฉันหวังว่า ชาวพม่าจำนวนมาก จะตระหนักถึงสัญชาติญาณภายในที่กระตุ้นให้เราพยายามมองหาสวรรค์และเสียงอันหนักแน่นที่คอยพร่ำบอกแก่เราว่า เบื้องหลังก้อนเมฆที่เรียงรายสลับซับซ้อน ยังคมมีดวงตะวันที่คอยเวลาอันเหมาะสม ที่จะโผล่พ้นออกมาให้แสงสว่างคุ้มครองแก่เรา" ซูจีบอกกล่าวให้ประชาชนชาวพม่า

ใช่, แม้ว่าในห้วงขณะนี้ เธอยังคงถูกกักบริเวณอยู่ในพื้นที่ที่จำกัด และเพื่อนพี่น้องอีกหลายร้อยคนยังคงถูกคุมขังอยู่ แต่เธอคงเชื่อมั่นและพยายามบอกกล่าวแก่ประชาคมโลกว่า "คุกตารางทำร้ายได้แต่ร่างกาย แต่ไม่อาจทำลายขวัญและวิญญาณลงได้"

ซูจี ยังได้กล่าวย้ำเตือนให้ประชาคมโลกอีกว่า องค์กร หน่วยงานใดๆ ที่พยายามจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือในกิจการต่างๆ ในประเทศพม่านั้น ขอให้ไตร่ตรองคิดให้จงหนักว่า เป็นการช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่ เพราะมิเช่นนั้น อาจเป็นการสนับสนุนกิจการให้กับรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งจะกลายเป็นผู้มีส่วนส่งเสริมให้มีการละเมิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รายงานพิเศษ
องอาจ เดชา รายงาน
/color]

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net