Skip to main content
sharethis

 

 

 

 

 

 

 

 

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2548 ที่โรงแรมพาวิลเลี่ยน อำเภอเมืองสงขลา มีการประชุมสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากนั้นที่ประชุมได้ร่วมกันออกแถลงการณ์สนับสนุนการออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอ้างว่า พระราชกำหนดฉบับดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยิ่ง เพราะจะทำให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐเข้มแข็งมากขึ้น พร้อมกับขอให้รัฐบาลนำพระราชกำหนดมาบังคับใช้ในพื้นที่โดยเร็ว ถึงแม้รัฐจะบังคับใช้ก่อนเพียง 7 มาตรการ แต่ถ้าอีก 9 มาตรการที่เหลือ หากนำมาบังคับใช้แล้ว มีประโยชน์และก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและสันติสุขในพื้นที่ สมาพันธ์ครูฯ ก็เรียกร้องให้รีบนำมาบังคับใช้โดยเร็วเช่นกัน

 

 

 

 

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังได้มีมติให้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย ขอให้รัฐยุติแนวคิดย้ายข้าราชการครู หรือข้าราชการหน่วยอื่นออกนอกพื้นที่ เพราะจะส่งผลต่อขวัญกำลังใจของคนที่ยังอยู่ในพื้นที่ ขอให้รัฐบาลประกาศให้ชัดเจนว่าใคร กลุ่มไหนเป็นผู้ก่อเหตุ และเรียกร้องให้ยกเลิกคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ เพราะไม่มีประโยชน์ต่อการแก้ปัญหา และสิ้นเปลืองงบประมาณ

 

 

   

 

 

 นายบุญสม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครูจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ขณะนี้ครูในพื้นที่อยู่ในความหวาดผวา เพราะไม่ทราบว่าเมื่อออกจากบ้านแล้วตอนเย็นจะได้กลับมาอีกหรือไม่ ก่อนจะออกไปสอนต้องร่ำลาลูกเมีย ไปโรงเรียนเหมือนไปสงคราม ไปสอนที่โรงเรียนก็ต้องไปเป็นเวลาตามกำหนดการรักษาความปลอดภัยของฝ่ายทหาร เพราะหากไม่ไปพร้อมกับชุดรักษาความปลอดภัย หากมีอะไรเกิดขึ้น จะกลายเป็นว่าครูไม่มีวินัยในการเดินทาง ครูกลายเป็นเป้าหมายหลักของกลุ่มก่อความไม่สงบ

 

 

 

 

 

วันเดียวกัน มีผู้เขียนจดหมายข่มขู่ส่งไปยังผู้อำนวยการโรงเรียน 8 แห่ง ในอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านนิคม 3 โรงเรียนบ้านควนติหมุน โรงเรียนบ้านท่าม่วง โรงเรียนบ้านคลองประดู่ โรงเรียนบ้านคลองขุด โรงเรียนบ้านตุหยง โรงเรียนบ้านเกาะแลหนัง และโรงเรียนบ้านบ่อเตย โดยหน้าซองจดหมายประทับตราไปรษณีย์อำเภอเทพา เนื้อความเขียนด้วยลายมือระบุว่า "ให้ครูไทยพุทธทุกคนออกไปจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด" เจ้าหน้าที่ได้เก็บจดหมายทั้งหมดไปตรวจสอบแล้ว แต่ยังระบุไม่ได้ว่าเป็นการข่มขู่หรือของจริง

 

 

 

 

 

หลังเกิดเหตุนายบรรจิต รัตนโชติ นายอำเภอเทพา ได้เรียกผู้บริหารโรงเรียนในอำเภอเทพาทั้งหมด รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและฝ่ายความมั่นคง มาร่วมประชุมประเมินสถานการณ์เพื่อเตรียมความพร้อม และจัดกำลังคุ้มครองครูทั้ง 8 โรงเรียน ในระหว่างเดินทางไปสอน โดยทางผู้อำนวยการโรงเรียนทั้ง 8 แห่ง ยังคงยืนยันจะเปิดการเรียนการสอนตามปกติ

 

 

 

 

 

นายวิชาญ อทิกพันธ์ ประธานสมาพันธ์ครูภาคใต้ เปิดเผยว่า จดหมายข่มขู่ข้าราชการครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นบ่อยมาก แต่ระบุไม่ได้ว่าเป็นของจริงหรือของปลอม สมาพันธ์ครูภาคใต้จะไม่ออกมาเคลื่อนไหว เพราะยิ่งเคลื่อนไหวครูก็ยิ่งตกเป็นเป้าหมายมากขึ้น ขณะนี้ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยดูแลแล้ว

 

 

 

 

 

ขณะเดียวกัน วันที่ 30 กรกฎาคม 2548 สมัชชาจังหวัดสงขลาเพื่อปฏิรูปการเมือง ร่วมกับคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย และนักการเมืองท้องถิ่น จัดสัมมนา "73 ปีแผ่นดินไทย ใครเป็นใหญ่ในแผ่นดิน" ที่จังหวัดสงขลา เพื่อเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายร่วมแสดงความคิดเห็นต่อพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยก่อนหน้านี้ สมัชชาจังหวัดสงขลาเพื่อปฏิรูปการเมืองได้ใช้รายการวิทยุ เปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นแล้วพบว่า เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับพระราชกำหนดฉบับนี้

 

 

 

 

 

เวลา 11.50 น. วันเดียวกัน ขณะที่นายนูยี สุขเสนี อายุ 38 ปี ชาวบ้านอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส และนายดือราแม บากา เป็นคนหมู่บ้านเดียวกัน ลูกจ้างขับรถขนไม้ยางพาราของบริษัทเอกชนในอำเภอแว้ง กำลังขับรถยนต์กระบะออกจากอำเภอแว้งไปส่งไม้ยางพาราที่อำเภอสุไหงโก - ลก มีคนร้าย 2 คน ขับรถจักรยานยนต์ไม่ทราบยี่ห้อและหมายเลขทะเบียนประกบ จากนั้น คนร้ายที่นั่งซ้อนท้าย ได้ใช้อาวุธปืนพกสั้นขนาด 11 มิลลิเมตร กระหน่ำยิงนายนูยีและนายดือราแมในระยะเผาขน กระสุนถูกบริเวณลำตัวนายนูยีเสียชีวิตคาที่ ส่วนนายดือราแมได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลสุไหงโก - ลกในเวลาต่อมา

 

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net