Skip to main content
sharethis

 

 

 

 

 

ประชาไท - 15 ส.ค.48      "จากการประเมินคุณภาพนักเรียนหลังปฏิรูปการศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว พบว่าเด็กไทยมีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ มีวิจารณญาณ ความคิดสร้างสรรค์ในระดับดีเพียงร้อยละ 11.1 เท่านั้น" ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) (สมศ.) กล่าวในการสัมมนา "6 ปีกับการปฏิรูปการศึกษา" ที่โรงแรมสยามซิตี้ วานนี้( 15 ส.ค.)

 

 

 

 

 

งานสัมมนาดังกล่าวมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการเป็นประธาน โดยเป็นการนำเสนอผลการประเมินการศึกษาระดับพื้นฐานทั่วประเทศ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สมศ. ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

 

 

 

 

 

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การนำเสนอผลการประเมินจากทั้ง 3 หน่วยงานจะเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่จะมีการเผย แพร่ในวงกว้าง และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกส่วนอย่างจริงจังต่อเนื่อง โดยได้กำหนดให้ สำนักเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว นอกจากนี้ตนจะตั้งคณะทำงานในการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอน และการพัฒนาครู ซึ่งยังเป็นปัญหาสำคัญของการศึกษาไทย เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ โดยจะเชิญนักวิชาการจากภายนอกมาร่วมด้วย และจะให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

 

 

 

 

 

"ที่ผ่านมา6ปี เราใช้เวลาไปมากกับการปรับโครงสร้างกระทรวงและออกกฎหมายต่างๆ ซึ่งก็มีการใช้ตรงกับเจตนารมณ์บ้างไม่ตรงบ้าง ตอนนี้ต้องเร่งปรับปรุงคุณภาพ แต่สิ่งที่เราขาดคือการวิจัยพัฒนา ที่จะนำมาใช้ในการปฏิรูปการศึกษา ตอนนี้ที่ใช้อยู่คือการประเมินกึ่งวิจัย ที่พอเชื่อถือได้"นายจาตุรนต์กล่าว

 

 

 

 

 

ทั้งนี้ ผลการประเมินของสมศ.ระบุว่า สถานศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศยังเผชิญปัญหาการจัดทำหลักสูตรที่ส่วนใหญ่เน้นวิธีลอกแบบกัน โดยโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลางจะมีปัญหาเรื่องคุณภาพผู้เรียนมากที่สุด ครูที่จัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพดีมีเพียงร้อยละ 34 แต่ที่เห็นเด่นชัดหลังการปฏิรูปการศึกษาคือ เด็กนักเรียนมีความสุขมากยิ่งขึ้นถึงร้อยละ 72  ทั้งนี้ วัดจากสุขภาพจิตทั่วไป ความมีสุนทรียภาพและความสนใจกีฬา ศิลปะ ดนตรี ไม่ใช่ความสุขจากการเรียนวิชาต่างๆ

 

 

 

 

 

ผอ.สมศ.กล่าวว่า นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบมาตรฐานทั้งหมดแล้ว โดยส่วนใหญ่โรงเรียนเอกชนจะมีคุณภาพดีกว่าโรงเรียนรัฐบาล ซึ่งนำไปสู่คำถามที่ว่าควรให้เอกชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานมากยิ่งขึ้นหรือไม่ เพียงไร

 

 

 

 

 

ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ ผู้ตรวจราชการ ศธ.ระบุว่า ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานมีอยู่หลายประการ อาทิ งบอุดหนุนรายหัวที่จัดสรรให้โรงเรียนขนาดเล็กไม่เป็นธรรมและไม่เพียงพอรวมทั้งยังขาดแคลนครูอีกด้วย เด็กไทยชั้นประถมศึกษาตอนต้นตามแนวชายแดนยังอ่านภาษาไทยไม่ออกขณะที่ส่วนกลางพยายามออกนโยบายเร่งการสอนภาษาอังกฤษและคอมพิวเตอร์ให้ก้าวทันโลก รวมทั้งครูจำนวนมากยังสอนแบบเดิม ขาดความรู้ในเนื้อหาวิชาและทักษะการจัดการเรียนการสอน

 

 

 

 

 

ในส่วนของข้อเสนอแนะ ดร.เจือจันทร์ กล่าวว่า นโยบายการศึกษาควรเปิดโอกาสให้มีการดำเนินงานที่หลากหลาย สนองกับสภาพและปัญหาของชุมชน ขณะที่ต้องเร่งปรับปรุงระบบตรวจสอบ ประเมินผลที่ยังไม่เข้มแข็ง ไม่ชัดเจน ไม่เป็นระบบ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค รวมทั้งการนำผลการประเมินมาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ให้เต็มที่มากขึ้น

 

 

 

 

 

ในส่วนของภาคปฏิบัติการ ควรลดภารกิจของครูที่มีมากเกินไป รวมทั้งกำหนดรูปแบบวิธีการพัฒนาครูโดยคำนึงถึงความเหมาะ โดยเฉพาะครูในโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งไม่สามารถทิ้งห้องเรียนไปอบรมได้ และเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานทั้งส่วนกลางและภูมิภาคเพื่อลดขั้นตอนการทำงาน รวมทั้งเร่งพัฒนาความเข้มแข็งและความเชื่อมโยงระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) คณะกรรมการพื้นที่ คณะกรรมการสถานบันการศึกษา

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net