Skip to main content
sharethis

 



 


การดำเนินคดีอย่างถูกฝาถูกตัวกับผู้ต้องหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือสิ่งจำเป็น ทว่า ณ เวลานี้กลับเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะความไม่ไว้วางใจที่มีต่อกันกำลังพุ่งขึ้นสูงมากจากข่าวลือต่างๆ ในพื้นที่ ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ จึงมักขาดพยานบุคคล เพราะจากการ "พูด" ก็หมายถึงการตกเป็น "เป้า"  ไม่ว่าการพูดนั้นจะให้ประโยชน์กับฝ่ายเจ้าหน้าที่หรือฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบก็ตาม


 


 "นิติวิทยาศาสตร์" จึงกลายเป็น สิ่งที่สามารถ "พูด" แทนได้อย่างที่ทุกๆ ฝ่ายยอมรับ เพราะเป็นกระบวนการแสวงหาความจริงที่สามารถพิสูจน์ได้ และกลายเป็นกุญแจสำหรับไขไปสู่ความไว้วางใจ


 


แต่รัฐบาลไม่ค่อยนำมาใช้ !


 


ในโอกาสครบรอบ 1 ปี ของการตั้งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ภายใต้กระทรวงยุติธรรม แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ได้เปิดใจกับ "ประชาไท"  ถึงเรื่องราวต่างๆ ทั้งปัญหาและความคืบหน้าของนิติวิทยาศาสตร์ในฐานเครื่องมือแก้ปัญหาภาคใต้ รวมทั้งมุมมองต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นมูลเหตุ เช่นการรับฟังข้อมูลที่ผิดพลาดของผู้ออกนโยบายจนนำมาสู่ความผิดพลาดในการจัดการพื้นที่ การยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มุมมองต่อคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เป็นต้น


 


บทสัมภาษณ์นี้คงเป็นอีกเสียงหนึ่งที่ทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรจะรับฟังเพื่อเป็นอีกความเห็นที่อาจจะนำไปสู่การแก้ปัญหาในภาคใต้ต่อไป


 


ตอนนี้นิติวิทยาศาสตร์ถูกนำไปใช้เหตุการณ์ต่างๆกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไรบ้าง


ดูจะเริ่มต้นด้วยดี จะช่วยให้ตามหาคนร้ายได้ แต่จะดีจริงหรือไม่ ต้องมาจากการร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย สองต้องไม่มีกระบวนการใต้ดิน นิติวิทยาศาสตร์จะทำให้เจอว่าใครทำ ธรรมชาติของหมอก็ตรงไปตรงมา กระบวนการยุติธรรมก็ต้องโปร่งใส จะทำสำเร็จก็ต้องตรงนี้


 


แต่ว่าไม่ใช่ทั้งหมด นิติวิทยาศาสตร์ไม่ได้แก้ปัญหาที่เกิดในภาคใต้ แต่อย่างน้อยคือสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่า ยังมีหน่วยงานที่คงความโปร่งใสไว้ให้ เพราะขณะนี้ปัญหาภาคใต้ หมอแยกไว้เป็นหลายประเด็น ที่ตรงที่สุดก็คือเขาไม่ไว้ใจใคร เพราะฉะนั้นถ้าเกิดข่าวลือมันก็ไปเลย ประมาณนั้น


 


นิติวิทยาศาตร์ได้นำไปใช้ในทางปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน เพราะหลายฝ่ายดูจะคาดหวังมาก


ยังน้อยมาก เพราะว่าในกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลหลักฐาน มันเพิ่งจะเริ่มต้น ก็ต้องอาศัยความร่วมมือ แต่ขอร้องเลยว่า ต้องเลิกเรื่องศักดิ์ศรี เป็นประเด็นที่ต้องระวัง หมอเองก็ยังไม่อยากมีปัญหา แต่หมอก็ยังไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ปฏิบัติ


 


พนักงานสอบสวนไม่มีปัญหา ตอนนี้ขอความเชื่อมั่นจากทางวิทยาการเท่านั้นว่า เราเข้าใจตรงกันและร่วมงานกัน


 


ยังมีอีกเรื่องคือ ยังไม่ได้นำไปใช้ในกระบวนการสอบสวน ทุกวันนี้เวลาที่เขาออกมาบอกว่าเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีนั้นคดีนี้ ไม่ได้ใช้นิติวิทยาศาสตร์ แต่ใช้พยานบุคคล แบบนี้คือสิ่งที่บอกว่ายังขาดความเข้าใจที่สมบูรณ์แบบ เวลาจับคนร้ายจะรู้ว่าคนนี้เป็นคนร้ายได้ยังไงก็ต้องใช้นิติวิทยาศาสตร์


 


มีขั้นตอนอย่างไร


มีทั้งหมด 3 ส่วน ส่วนแรกเวลาเกิดคดีขึ้น นิติวิทยาศาสตร์ก็คือ เรื่องของการเก็บข้อมูลพยานหลักฐาน แล้วก็เอาไปใช้ มันจะบอกว่าผู้กระทำผิดน่าจะเป็นใคร บอกจากหลักฐาน


 


สอง นำมาใช้ในการหาตัวผู้กระทำความผิด เช่น เราคิดว่าคนๆ นี้น่าจะเป็นกลุ่มที่ฆ่าตัดคอเขา มันก็มีวิธีที่จะช่วยพิสูจน์ว่าคนเหล่านี้เกี่ยวไหม ตรงนี้เป็นกระบวนการที่จะไปหาพยานเพิ่มเติมไม่ใช่การหาในที่เกิดเหตุ ตรงนี้มันค่อนข้างที่จะไม่ค่อยได้ใช้


 


งานส่วนที่สามก็คือ งานที่เราต้องออกไปปฏิบัติงานในทุกๆ จุด เวลาที่เราจะหาข่าวหรืออะไรต่อมิอะไร เราสามารถนำนิติวิทยาศาสตร์ไปใช้ได้ ตรงนี้อธิบายมากไม่ได้ เพราะมันเป็นรายละเอียดในแง่ของการทำงาน


 


ที่ผ่านมามีตัวอย่างที่นิติวิทยาศาสตร์ใช้แล้วได้ผลหรือไม่


มีค่ะ คดีที่คนร้ายยิงตำรวจ ตำรวจก็ยิงตอบไป คนร้ายก็หนี สุดท้ายก็คงเจ็บ แล้วทิ้งรถ เราก็ตามรอยเลือดคนร้ายได้ ตามรอยดีเอ็นเอจากแฮนด์มอเตอร์ไซค์ พอจับผู้ต้องหาได้ เขาปฏิเสธแต่หลักฐานมันบอก ก็เป็นตัวอย่าง


 


ตอนนี้ที่ยังไม่ได้นำไปใช้มากเพราะมันขัดข้องในหลายอย่าง แต่ไม่ใช่ไม่มีหนทาง ในปีกว่าๆ ที่ผ่านมามันขัดข้องในเชิงนโยบายระดับสูง มีความขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นท่านชิดชัย วรรณสถิตย์ ปัญหาทุกอย่างมันคลายลง คือยอมรับฟังและยอมร่วมงานกันดีขึ้น


 


นิติวิทยาศาสตร์ในการจัดการปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้จัดวางระบบโครงสร้างกันอย่างไร


หมอยังไม่เห็นคำสั่ง อาจจะมีแล้ว แต่หมอยังไม่เห็น แต่ต้องทำให้ประชาชนเชื่อมั่นให้ได้ คือต้องไม่ใช่ระบบเดิมซึ่งผูกขาดโดยตำรวจ อันนี้ต้องยอมรับ เพราะฉะนั้นเราต้องไม่คิดถึงเรื่องศักดิ์ศรีนะ เราต้องคิดเรื่องความสงบให้ได้


 


ดูเหมือนว่าก่อนหน้านี้คุณหมอได้พูดถึงเรื่องการฟื้น ศอ.บต. คุณหมอเห็นอะไร


ประเด็นที่หนึ่ง ปัญหาภาคใต้เกิดมาจากระบบราชการอ่อนแอ คือส่งคนไม่ดีลงไป แล้วคนไม่ดีก็ไปทำลายคนในพื้นที่


 


สองก็คือระบบการศึกษาอ่อนแอ อาจจะเรียกว่าการศึกษาของโรงเรียนปอเนาะไม่เอื้อให้เขาผูกพันกับแผ่นดิน ไม่เอื้อให้เขามีความรู้ในการประกอบอาชีพต่อไปได้


 


อันที่สามกระบวนการยุติธรรมอ่อนแอ กระบวนการยุติธรรมมันอ่อนแอมาทั้งประเทศอยู่แล้ว แต่ในสามจังหวัดภาคใต้ยิ่งอ่อนแอมาก เมื่อไปประกอบกับความไม่ดี เรื่องอุ้มฆ่า อุ้มหาย เลยไปกันใหญ่


 


อันที่สี่ คือเรื่องของระบบการเมือง ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้แทนในทุกระดับพยายามรักษาฐานเสียงมากเกินไป เลยไม่ยอมแก้แก่นของปัญหา ปัญหามันลุกลาม แล้วที่หนักที่สุด ไม่ใช่ผู้แทน แต่เป็นระบบการเมืองการรับฟังข้อมูลที่มีผู้รายงานผิดเพี้ยน จึงทำให้ตัดสินใจผิด จึงทำให้เกิดการยุบ ศอ.บต.


             


ประเด็นที่ห้า ณ วันนี้ ระบบของศาสนามันถูกบิดเบือน ผู้นำศาสนาต้องเข้ามาช่วยกันที่จะปลูกฝังเพราะศาสนาอิสลามนั้นสอนให้คนเป็นคนดี จะเห็นว่าพอมองต่อไป ประชาชนไม่สามารถไว้วางใจใครได้เลย เหล่านี้เป็นประเด็นหลักของภาคใต้


 


ช่วยขยายความสำคัญของ ศอ.บต. ได้ไหมครับ


ศอ.บต. ในอดีตเป็น Balance of Power ที่ดึงเอาทุกส่วนให้มาร่วมกัน การยกเลิก ศอ.บต. ก็เหมือนเป็นการให้ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนซึ่งเป็นคนในพื้นที่มีบทบาทน้อยลง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ส่งผลให้ปัจจัยทั้งหมดที่ร้อยความสัมพันธ์ของคนถูกทำลาย ที่สุดก็ทำให้สถานการณ์แย่ลง


 


แล้วถ้าจะสร้างขึ้นมาใหม่ควรจะเป็นอย่างไร


หมอไม่มีความเห็น  เพราะว่าเท่าที่เขาพยายามจะผลักดัน ก็คือการใช้ กอ.สสส.จชต. เข้าไปแทน ซึ่งก็ดูคล้ายอยู่แล้ว แต่ประเด็นก็คือ ไม่ว่าการตั้งองค์กรอะไรมารองรับในตอนนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือทุกหน่วยงานยังไม่ร่วมใจกัน มันก็ไม่ก่อให้เกิดความร่วมมือ ต่างฝ่ายต่างก็กั๊ก ต่างก็ทำ อะไรประมาณนี้ซึ่งมันเห็นชัด เราหนีความจริงเรื่องนี้ไม่พ้น


 


จะบอกว่า ศอ.บต.เดิมดีอยู่แล้วมันก็ไม่ใช่ทีเดียว แต่ต่อให้เกิดองค์กร ศอ.บต.ขึ้นมาใหม่ หมอเชื่อว่ามันก็ไม่สามารถแก้ได้ ณ เวลานี้แล้ว


 


เพราะอะไรหรือครับ


คือข้าราชการไทยขาดแนวคิดในการบูรณาการ มองการปกครองที่อำนาจและงบประมาณ หากภาคราชการมองที่เป้าหมายและร่วมใจกันจะแก้ได้


 


ถ้าจะเริ่มตั้งใหม่ล่ะครับ จะเริ่มอย่างไร


ตรงนั้นมันเกินความสามารถหมอ แต่วันนี้ก็ไกลเกินกว่าที่จะย้อน ต้องไปแก้ทุกจุดอย่างจริงจังพร้อมกันก่อน


 


สมมติว่าไปจับในกระบวนการยุติธรรมแต่ไม่แก้ระบบราชการ แก้ระบบราชการแต่ไม่แก้ระบบศึกษา แก้ระบบศึกษาแต่ไม่แก้กระบวนการยุติธรรมมันก็ไม่สำเร็จ


 


วันนี้อย่างตันหยงลิมอ บอกได้เลยว่าศาสนาอ่อนแอ นำไปใช้ผิดๆ นั่นก็คือ ผู้หญิงทำไมจึงถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือของการให้การสนับสนุนการใช้ความรุนแรง อันนี้หมอไม่เห็นเลยว่าจะมีใครออกมาบอกความจริง ทุกคนเงียบทำไม


 


อย่าง กอส. ละครับเท่าที่คุณหมอเห็น คิดว่ามาถูกทางหรือยัง


คงไม่อาจบอกได้ว่า กอส.มาถูกทางหรือเปล่า ทุกคนทำงานด้วยความตั้งใจดี แต่หมอมองในฐานะคนนอก มองในฐานะคนที่เข้าไปทำงานในพื้นที่ กอส.ถูกคนไทยพุทธไม่พอใจ ถูกข้าราชการผู้สูญเสียไม่พอใจ เพราะดูประหนึ่งว่า กอส. จะเป็นห่วงเป็นใยทวงหาความเป็นธรรมให้กับเฉพาะมุสลิม


 


ไม่ต้องดูอะไร ดูตันหยงลิมอที่เกิดขึ้น ทำไมจึงไม่มีบทบาท โดยเฉพาะบทบาทกรรมการ กอส. ที่เป็นมุสลิม จะต้องกล้าพอที่จะออกมาวิพากษ์สิ่งที่เกิดขึ้นกับนาวิกโยธิน คือเราต้องไม่เลือก ไม่ใช่ว่าพอถึงเรื่องนี้เราก็ไม่พูด แต่ถ้าเป็นอีกเรื่องเราพูด ตรงนี้อยากจะเตือนด้วยความเป็นห่วง คือไม่ได้บอกว่า กอส.ทำไม่ดี แต่เป็นภาพที่มันสะท้อนมาในพื้นที่ ภาพที่มันสะท้อนว่า อันนี้ไม่ได้ห่วง ประชาชนที่สูญเสีย เขามองว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ตายเยอะมาก คนเหล่านี้ก็ควรได้รับการชดเชย


 


ทั้งหมดหมอมองว่า ในกรณีของตันหยงลิมอ ห้าหกคน คนตายคนเจ็บ เขาก็ต้องได้รับการเยียวยาเหมือนกัน


 


คือ กอส.ก็ต้อง บริหารความรู้สึกทุกฝ่ายด้วย


ใช่ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ ก็ต้องทำให้เต็มที่ด้วยในทุกกรณีที่สูญเสีย คือในการอภิปรายเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา หมอก็พยายามไม่ให้ที่ประชุมเอนเอียงเฉพาะของนาวิกโยธิน ของชาวบ้านตันหยงลิมอเองก็สูญเสีย ในกรณีอื่นๆ ก็สูญเสียทั้งนั้น คือมันถึงเวลาที่จะต้องใช้กรณีของนาวิกโยธินเป็นตัวจุดประกายของการร่วมใจกัน


 


ในกรณีตันหยงลิมอ นิติวิทยาศาสตร์ ได้เข้าไปเต็มตัวหรือยัง


ไม่เต็มค่ะ การตรวจในที่เกิดเหตุมีข้อจำกัด แล้วขาดความเข้าใจในภาพรวม แต่อย่างน้อยก็ทำให้เกิดความกระจ่างและทำให้เกิดการยอมรับในมุสลิม เพราะหมอเป็นคนทวงให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ ไม่อย่างนั้นสังคมก็จะมุ่งไปแต่กรณีนาวิกโยธิน ซึ่งไม่ใช่แค่นั้นเพราะทั้งสองกลุ่มสูญเสียค่ะ


 


ข่าวที่ออกมาดูจะเน้นไปที่นาวิกโยธิน


ก็อย่างที่บอกว่าอำนาจมันยังไม่เต็ม การดำเนินทุกอย่างมันต้องรอ 1 ตุลาคม เพิ่งเปลี่ยนอำนาจการดำเนินการหลายๆ อย่าง หมอเองยังอยู่ในกระบวนการของการแต่งตั้งเหมือนกัน ก็อิรุงตุงนังไปหมด


 


ถ้าให้ดีมันควรนำมาใช้ตั้งแต่มกราคมที่แล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์พวกนี้ ผู้ที่ไปรายงานต่อท่านผู้นำควรประเมินตัวเองหรือยัง ต้องย้อนไปถึงโน่น  ทางหมอในนามกระบวนยุติธรรม เราทราบและตระหนักในเรื่องนี้ เพียงแต่ว่าเราไม่ได้รับความร่วมมือ แต่ถ้าท่านนายกรัฐมนตรีมีโอกาสได้ย้อน ท่านจะรู้ว่าแนวคิดของเราที่เสนอไปตั้งแต่เมื่อปีที่แล้วมันไม่ผิดจากความเป็นจริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net