Skip to main content
sharethis

ดูเหมือนเวลานี้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับ "จีเอ็มโอ" หรือเทคโนโลยีการตัดแต่งพันธุกรรม (Genetically Modified Organisms) ในสังคมไทยจะขยายประเด็นจาก "มะละกอ" ผลไม้เด่น ไปสู่ "ข้าว" ซึ่งเป็นอาหารหลักมากขึ้นทุกขณะ


 


สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง เพราะเกษตรกรในประเทศแถบภูมิภาคเอเชีย ต่างก็ตกอยู่ในภาวะที่จีเอ็มโอแทรกซึมเข้าคุกคามข้าวพันธุ์พื้นเมืองคล้ายคลึงกันในหลายประเทศราวนัดหมาย ถือเป็นสถานการณ์สั่นสะเทือน "อู่ข้าว" แห่งสำคัญของโลก ขณะที่ในประเทศไทย ทิศทางการพัฒนาข้าวจีเอ็มโอก็ยังคงอึมครึม ไม่แพ้สภาพอากาศช่วงนี้


 


สถานการณ์ร่อแรของ "ข้าวพื้นเมือง" ทั่วเอเชีย


 


ในวาระ "วันอาหารโลก" (16 ตุลาคมของทุกปี) องค์กรที่คัดค้านเรื่อง "จีเอ็มโอ" แข็งขันที่สุดองค์กรหนึ่งอย่างกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงถือโอกาสแถลงข่าวและออกแถลงการณ์ร่วมกับองค์กรพันธมิตร และองค์กรพัฒนาเอกชนจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียรวม 17 องค์กร พร้อมทั้งยื่นแถลงการณ์ให้กับตัวแทนองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เพื่อขอให้ยุติการสนับสนุนพืชจีเอ็มโอ


 


ใต้ผืนผ้าสีเขียวเข้มที่เขียนว่า " RICE IS LIFE KEEP IT GE FREE " ตัวแทนจากองค์กรพัฒนาเอกชนของประเทศต่างๆ ทั้งส่วนที่ทำงานกับชาวนาและผู้บริโภค ต่างผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเล่าสถานการณ์ "ข้าว" และ "GE" (Genetic Engineering-เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม) ในประเทศของตัวเอง


 


ปาลาซ บาราล หนุ่มใหญ่จากบังคลาเทศ ระบุว่า หลังยุคปฏิวัติเขียว ข้าวพันธุ์พื้นเมืองของบังคลาเทศที่เคยมีกว่า 15,000 สายพันธุ์ เหลือเพียง 1,500-1,600 สายพันธุ์ในขณะนี้ ซึ่งสำหรับชาวบังคลาเทศแล้ว เรื่องพันธุ์ข้าวไม่ใช่เรื่องของอาหารหรืออาชีพเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมชาวนาที่ดำรงอยู่ในแต่ละท้องถิ่นด้วย 


 


ไม่เพียงความล่มสลายจากการเกษตรเชิงพาณิชย์เท่านั้น หากแต่จีเอ็มโอก็เริ่มรุกเข้ามาในบังคลาเทศ โดยบริษัทซินเจนต้า ธุรกิจข้ามชาติยักษ์ใหญ่ด้านเกษตรจีเอ็มโออันดับต้นของโลก ได้พยายามผลักดันให้เกษตรกรปลูก "ข้าวสีทอง" โดยอ้างคุณสมบัติด้านโภชนาการที่ผู้คนจะได้รับทั้งเบตาแคโรทีน ไวตามินเอ


 


ในส่วนของประเทศจีน แม้จะยังไม่มีการอนุญาตให้ปลูกข้าวจีเอ็มโอเป็นการค้า แต่ก็มีข่าวการเล็ดรอดของข้าวจีเอ็มโอในมณฑลหูเป่ย และกวางเจา มาตั้งแต่ต้นปี อย่างไรก็ตาม แลม ชี กวง เจ้าหน้าที่กรีนพีซ ประเทศจีน ให้ข้อมูลว่ารัฐบาลจีนได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวพอสมควร มีการสั่งทำลายข้าวจีเอ็มโอที่ตรวจพบ และมีการปรับโครงสร้างของคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพ จากที่มีเพียงตัวแทนนักวิทยาศาสตร์ ก็ให้มีตัวแทนของนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพและด้านอื่นๆ ร่วมด้วย


 


"ในส่วนของชาวนาเอง น่าสนใจว่า แม้แต่คนที่ยอมรับและปลูกจีเอ็มโอเองก็บอกกับเราว่า เมื่อแมลงไม่กล้ากินข้าว พวกเขาก็ไม่กล้ากินเหมือนกัน ดังนั้นจึงปลูกข้าวจีเอ็มโอเอาไว้ขายอย่างเดียว" แลม ชี กวง กล่าว


 


เช่นเดียวกับตัวแทนจากประเทศญี่ปุ่น เวียดนาม อิหร่าน อินโดนีเซียที่ต่างสะท้อนความกังวลในหลายประเด็น ทั้งความเป็นไปได้ที่ชาวนาจะได้รับผลกระทบจากการคุ้มครองสิทธิบัตรข้าวจีเอ็มโอซึ่งบรรษัทข้ามชาติเป็นเจ้าของ ความเสี่ยงในด้านสุขภาพของผู้บริโภค รวมถึงสายพันธุ์ข้าวพื้นถิ่นที่กำลังถูกกลืนหายไปอย่างไม่มีวันกลับ เพราะการผสมข้ามสายพันธุ์ของข้าวจีเอ็มโอ


 


ความอึมครึมของข้าวจีเอ็มโอในไทย


ท่ามกลางความกังวลที่เกิดขึ้น ในส่วนนโยบายเรื่องจีเอ็มโอในประเทศไทยขณะนี้ยังคงชะงักอยู่ที่การอนุญาตเพียงการทดลองโดยไม่อนุญาตให้ปลูกในเชิงพาณิชย์ หลังจากก่อนหน้านี้คณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ซึ่งมีนายกฯ เป็นประธานเตรียมจะให้ปลูกพืชจีเอ็มโอร่วมกับพืชปกติได้ แต่ได้รับการคัดค้านอย่างกว้างขวาง จนต้องให้มีการทบทวนและหาทางออกใหม่ ซึ่งยังไม่ปรากฏชัดกระทั่งปัจจุบัน


 


"ตั้งแต่เราพบการแพร่กระจายของมะละกอจีเอ็มโอ เราได้ติดตามในส่วนของข้าว ภาครัฐก็บอกตลอดว่าไม่มีการทดลอง แต่ข้อมูลเรื่องข้าวยังไม่ค่อยมีการเปิดเผย เป็นเรื่องที่ยังดำมืดพอสมควร" วรุณวาร สว่างโสภากุล เจ้าหน้าที่กรีนพีซ ประเทศไทย สะท้อนการทำงานรณรงค์ในประเทศไทย


 


ในส่วนของภาคราชการ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ (สทช.) นายณัฐวุฒิ ภาษยะวรรณ ยืนยันว่า ขณะนี้มีเพียงมะละกอตัวอย่างเดียวเท่านั้น ที่มีการทดลองในระบบปิด ขณะที่ในประเทศจีนมีการทดสอบข้าวในไร่นาแล้ว คือข้าวที่ทนต่อหนอนกอ 


 


"ประเทศไทยตอนนี้มีเพียงการทำวิจัยขั้นต้น เพื่อหายีนที่ต้านทานต่อหนอนกอและโรคใบไหม้ในข้าว เป็นลักษณะของงานพื้นฐานเพื่อเข้าไปหางานวิจัยพืชดัดแปลงพันธุกรรม แต่ว่าตรงนี้เราใช้เครื่องหมายโมเลกุล ไม่ใช่จีเอ็มโอ เพราะตอนนี้นโยบายของเรายังไม่ชัดเจนในเรื่องนี้ แต่เราก็เตรียมพร้อมข้อมูลพื้นฐานไว้ งานวิจัยเราคงหยุดไม่ได้ คงต้องเดินหน้าต่อไปเพื่อไม่ให้มันล้าหลัง" ผอ.สทช.กล่าว


 


นายณัฐวุฒิยืนยันเรื่องความปลอดภัยด้วยว่า ก่อนจะได้รับการอนุญาตให้ปลูกพืชจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์ ทุกประเทศในโลกล้วนมีขั้นตอนการประเมินความปลอดภัยด้านชีวภาพและสุขภาพอย่างดี


 


ข้าวจีเอ็มโอ นักบุญหรือคนบาป?


เมื่อข้าวจีเอ็มโอที่ต้านทานโรค ศัตรูพืช เพิ่มผลผลิต เพิ่มไวตามิน ปรากฏตัวขึ้น มันมักมาพร้อมข้ออ้างว่าจะช่วยแก้ปัญหาความอดอยากและความยากจนของประชากรในพื้นที่ต่างๆ  แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ เทคโนโลยีนี้มี "เจ้าของ"


 


ตัวอย่างเช่น ข้าวสีทองนั้นมีสิทธิบัตรเกี่ยวข้องกว่า 70 ฉบับ มีบริษัทที่ถือสิทธิในสิทธิบัตรต่างๆ ราว  30 กว่าบริษัท


 


บทความ "ข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับกรณีการผลักดันพืชจีเอ็มโอ" โดยวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ได้ฉายภาพการผูกขาดระดับโลก โดยอ้างถึงข้อมูลของ ETC Group ที่ระบุว่าในปี 2544 มูลค่าการขายเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอของ 2 บริษัทใหญ่คือ มอนซานโต้ และดูปองต์ มีมูลค่ารวมกันกว่า 30,000 ล้านเหรียญ อีกทั้ง 70% ของสิทธิบัตรเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตรทั้งหมด ก็ตกอยู่ในมือของบริษัทใหญ่เพียง 5 บริษัท คือ ซินเจนต้า ดูปองต์ เอเวนติส มอนซานโต และดาว


 


กรณีของพันธุ์ผักที่ใช้กันอยู่ในโลกปัจจุบันนี้ 75% ก็ถูกผูกขาดโดยบริษัทยักษ์ใหญ่เพียง 5 แห่ง และบริษัทเหล่านี้ก็ผลิตเมล็ดผักจีเอ็มโอหลายชนิด เช่น ถั่ว บร็อคโคลี แตงกวา กะหล่ำ แตงกวา มะเขือเทศ ฟักทอง แตงโม ฯลฯ


 


หรือลำดับต่อไปจะถึงคราวของ "ข้าว"?

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net