Skip to main content
sharethis

สุวิทย์  ธีรศาศวัต  อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดี  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ได้เขียนไว้ในหนังสือ "ประวัติศาสตร์เทคโนโลยีการเกษตร"  ที่สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรมตีพิมพ์ได้ระบุว่า  สาเหตุที่ระบบเหมืองฝายดำรงอยู่ได้นานนับพันปี  โดยเฉพาะระบบเหมืองฝายของล้านนาสามารถดำรงอยู่ได้  ตั้งแต่ยุคตำนานจนถึงปัจจุบัน  สืบเนื่องกันมาถึง 1,367  ปี (จาก พ.ศ.1181 - 2548) เพราะ


 


1.ระบบเหมืองฝายเป็นระบบที่มีการวางแผน การก่อสร้างดูแลรักษาและบริหารการใช้น้ำโดยชาวบ้านในพื้นที่นั้นๆ  เอง  ชาวบ้านรู้เรื่องสภาพพื้นที่ของเขาเป็นอย่างดีว่า  จะสร้างฝายตรงไหน  และสร้างเหมืองไปในแนวไหน  จึงจะกระจายน้ำให้ได้พื้นที่มากที่สุด


 


2.ฝ่ายรัฐ  แม้จะไม่ได้ลงมาสนับสนุนงบประมาณ  ไม่ว่าจะเป็นงบก่อสร้าง  งบบำรุงรักษา  หรืองบบริหารการใช้น้ำ  แต่รัฐก็ออกกฎหมายสนับสนุนชุมชนให้เกิดความร่วมมือในการก่อสร้าง  ดูแลรักษา  ใครที่เห็นแก่ตัวไม่ยอมมาช่วยก่อสร้างและดูแลรักษา  จะมาใช้น้ำไม่ได้  ใครทำให้ฝายชำรุด  พัง  จะต้องรับผิดชอบ  ดังตัวอย่างของกฎหมายที่เคยใช้ในล้านนา  ดังต่อไปนี้


 


2.1 การไม่ช่วยสร้างซ่อมเหมืองฝาย  แล้วไปขโมยน้ำเข้านาคนที่มีพื้นที่นาอยู่ในเขตเหมืองฝาย  จะต้องไปช่วยเวลาชุมชนเกณฑ์ไปสร้าง  ซ่อมเหมืองฝาย  หากไม่ไปจะใช้น้ำไม่ได้  หากขโมยน้ำถูกเจ้าของนาตีตายก็ตายฟรี  ดังปรากฏใน "กฎหมายมังรายศาสตร์" ว่า


 


"มาตรา ๑  ทำนาติดกัน  ผู้หนึ่งชวนไปทดน้ำเข้านา  มันไม่ยอมไปช่วย  แต่คอยขโมยน้ำจากท่าน  หรือแอบขุดหนองน้ำท่านเจ้านา  เจ้าหนอง  ได้ฆ่ามันตายก็เป็นอันสุดสิ้นกันไป  อย่าว่าอะไรแก่เจ้านา  ผิไม่ฆ่ามันก็ไห้ไหม  ,๑๐๐,๐๐๐  เบี้ย" (ประเสริฐ    นคร ๒๕๑๔)


 


"อัน ๑  ผู้ใดบ่แปงเหมืองแปงฝายสักเม็ด  มันไปลักเอาน้ำท่าน  หื้อ(ให้)  ตีหัวจนแตก (แล้ว) ปล่อยเสีย  บ่ยะอั้น (มิเช่นนั้น)  ก็หื้อไหม(ปรับ) ๑๑๐  เงิน  หรือมันยังไปลักแถมเล่า  หื้อฆ่าเสียคากับที่นั้น(ฆ่าเสียที่ฝายนั้น)" (วันเพ็ญ  สุรฤกษ์ ๑๕๑๘)


จะเห็นว่า  โทษของการไม่ช่วยคนอื่นสร้างซ่อมเหมืองฝายมีหลายอย่าง  ตั้งแต่ถูกตีหัวแตก  ปรับไหม หรือไม่ก็ฆ่าเสีย  แสดงว่า  โทษขโมยน้ำโดยที่ตัวเองไม่ได้ช่วยชุมชนสร้างซ่อมแซม  เป็นพฤติกรรมที่ชั่วร้ายมากในทัศนะของคนล้านนาสมัยก่อน  จึงมีโทษที่รุนแรงมาก


2.2 ทำลายประตูระบายน้ำ : ในกฎหมายมังรายศาสตร์ ฉบับวัดเสาไห้กำหนดไว้ว่า  ผู้ใดขุดทำลายแต หรือประตูระบายน้ำ  ให้ปรับไหม ๕๒  เงิน สำหรับแตใหญ่และปรับไหม ๑๑ เงิน สำหรับแตน้อย


2.3 พังฝาย : ในกฎหมายมังรายศาสตร์  กำหนดว่า  ผู้ใดพังฝายเสียหาย  ฟันหลักฝาย  ให้ปรับไหม ๓๓,๐๐๐ เบี้ย 


ในกรณีที่ถ่อแพไปชนจนฝายพัง  ผู้กระทำผิดดังกล่าวต้องสร้างฝายให้ดีดังเดิม  ถ้าไม่อาจสร้างได้  ให้ชดใช้เงิน ๑๑๐  เงิน  สำหรับฝายใหญ่  และ  ๕๒  เงิน สำหรับฝายเล็ก 


2.4 ทำให้เหมืองฝายชำรุด ในกฎหมายมังรายศาสตร์  ฉบับนอตอง  กำหนดว่า  ผู้ใดไปแย่งเปิดทางน้ำปากเหมือง  ทำให้เหมืองฝายของท่านชำรุดบางส่วน  หรือทั้งหมด  ให้สร้างฝายชดใช้  ถ้าไม่ยอมสร้างให้ปรับไหม  ถ้าไม่ชดใช้ให้จับใส่คอก (คุก) ๓  เดือน  หรือให้หาผู้มาไถ่แทนโดยเสียค่าปรับให้  เป็นต้น


 


3.ใช้ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์  สังคมล้านนาในยุคนั้น  เชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมองไม่เห็น  แต่มีอำนาจที่จะให้คุณให้โทษต่อคนได้  ที่ฝายก็เชื่อว่ามีผีฝายช่วยปกปักรักษษฝายมิให้พัง  ชาวบ้านจึงสร้างหอเอาไว้ให้ผีฝายอยู่  ถึงปีต้องทำพิธีเซ่นไหว้ผีฝาย  หากใครทำให้หอผีฝายพัง  จะต้องสร้างให้ดีดังเดิมและขอขมา  มิฉะนั้น  ผีฝายจะลงโกรธมาก 


 


กฎหมายมังรายศาสตร์  ฉบับวันเสาไห้  ก็รับรองอำนาจของผีฝายด้วย  กล่าวคือ  กำหนดว่า  ผู้ใดทำให้หอผีฝายเสียหาย  จะต้องทำให้ดีดังเดิม  และจัดเครื่องพลีกรรมบูชามาขอขมาให้ถูกต้อง  ถ้ามันผู้ใดทำหอผีพังเสียหาย  และทำฝายพัง  มันจะยอมสร้าง  แต่ไม่ยอมสร้างหอผี  ไม่ยอมขอขมา  อย่ายอมให้มันสร้างฝาย


 


"ถึงว่ามันเป็นผู้ก่อสร้าง  ก็จะไม่มั่นคง  เพราะเหตุผิดผีฝาย  ให้สร้างหอผีและหาเครื่องพิธีกรรมบูชา(ขอขมา) ให้จงได้ก่อน  จึงให้มันสร้างฝาย  หากมันไม่ยอมขอขมา  ก็ไม่ยอมให้มันสร้างฝาย  ให้คิดราคาฝายใหญ่ ๓๓๐ เงิน  ฝายเล็ก ๑๑๐  เงิน"


 


ความเชื่อในสิ่งที่มองไม่เห็นว่ามีอำนาจ  น่าจะทำให้คนในยุคนั้น  ไม่ค่อยกล้าที่จะทำอะไรที่ผิดจารีตประเพณี  ผิดศีลธรรม  ถึงแม้จะมีกฎหมายกำหนดโทษต่างๆ  เอาไว้มากมาย  แต่สมัยนั้น  ก็ไม่มีใครคอยเฝ้าเหมืองฝายตลอดเวลา  เพื่อจับผิดคนที่ทำนอกลู่นอกทาง  หากคนเชื่อว่าไร่นามีผีไร่ผีนา  ฝายมีผีฝายคอยดูแลปกปักรักษาอยู่ด้วย  ก็น่าที่จะทำให้คนทำผิดกฎหมายน้อยลง


 


4. มีองค์กรและระบบบริหารจัดการที่ดี  ประเด็นนี้  น่าจะสำคัญกว่า  3  ประเด็นที่กล่าวมาแล้ว  องค์กรเหมืองฝายและระบบบริหารการใช้น้ำ  ทำให้ระบบเหมืองฝายดำรงมาได้เกือบ  14  ศตวรรษ  หากไม่มีประเด็นนี้  ระบบเหมืองฝายคงไม่ดำรงยืนยงมาขนาดนี้


 


องค์กรเหมืองฝาย  ประกอบด้วยผู้นำชุมชนและสมาชิกผู้ใช้น้ำทุกครัวเรือน หากฝายใดมีผู้ใช้น้ำหลายชุมชนก็มีเครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำหลายชุมชนประสานงานการใช้น้ำ บางลำน้ำประกอบด้วยฝายหลายแห่ง ชุมชนตลอดลำน้ำนั้นใช้น้ำร่วมกัน ผู้นำเหมืองฝายหลายแห่งหลายชุมชนก็มีการประสานงานด้วยกันด้วย เพราะถ้าฝายต้นนี้กักน้ำไว้ใช้จนไม่มีน้ำเหลือมาถึงท้ายน้ำ ชุมชนท้ายน้ำก็จะเดือดร้อนมาก เครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำคงจะค่อยๆพัฒนามาเป็นลำดับตามจำนวนฝาย ทำเพิ่มขึ้น และความซับซ้อนของปัญหาที่เพิ่มขึ้น


 


องค์กรเหมืองฝายแต่ละชุมชนจะมีผู้นำที่มีตำแหน่งมากน้อยแตกต่าง หากเป็นหมู่บ้านเล็กพื้นที่ทำนาน้อยก็ฝายน้อย จะมีเพียงนายบ้านกับนายฝาย หากเป็นหมู่บ้านใหญ่จะมี 6 ตำแหน่ง คือ


 


4.1  นายบ้าน หรือพ่อบ้าน มีหน้าที่คล้ายกับผู้ใหญ่บ้านในปัจจุบัน คือดูแลกิจการทุกๆด้านของชุมชน (หมู่บ้าน) รวมทั้งการตักเตือน ป่าวร้องให้สมาชิกของเหมืองฝายมาทำงาน


 


4.2 พ่อเวียก หรือนายการ มีหน้าที่เกณฑ์แรงงานไพร่มาทำงานให้รัฐและชุมชน เช่น สร้างวัด สร้างถนน สร้างเหมืองฝาย


 


4.3 นายฝาย หรือขุนนายฝาย หรือกุ๋มเหมือง หรือแก่ฝาย มีหน้าที่ควบคุมดูแลระบบนาเหมืองฝายโดยตรง กล่าวคือ การเรียกเกณฑ์สมาชิกเหมืองฝายของชุมชนไปทำหรือซ่อมเหมืองฝายประจำปีในช่วงก่อนฤดูทำนา จะเป็นผู้กำหนดวัน เวลาทำงาน กำหนดวัสดุอุปกรณ์ และจำนวนแรงงานที่จะใช้ ดูแลการจัดสรรน้ำเข้าสู่ระบบ ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทการใช้น้ำ ปรับลงโทษตลอดจนคิดพัฒนาระบบเหมืองฝายให้มีประสิทธิภาพ เป็นหัวหน้าของหมื่นล่ามนา เลียบน้ำล่ามนา (ล่ามเหมือง) ตำแหน่งนายฝายเป็นตำแหน่งที่ใหญ่ที่สุดในระบบเหมืองฝาย


 


4.4 หมื่นล่ามนา มีหน้าที่ประสานงานระหว่างนายฝายกับสมาชิกของระบบเหมืองฝายในชุมชนของตน เป็นผู้ช่วยนายฝาย


 


4.5 เลียบน้ำ มีหน้าที่ตรวจตราระบบเหมืองฝายควบคุมการจัดสรรน้ำให้เท่าเทียมกัน


 


4.6 ล่ามน้ำหรือล่ามเหมือง มีหน้าที่นำข่าวสารจากนายฝายไปบอกสมาชิกของระบบเหมืองฝาย รวมทั้งบอกกำหนดนัดหมายการประชุม นัดเวลาลอกเหมืองซ่อมฝาย คุมงานเหมืองฝาย


 


ตำแหน่งหมื่นล่ามนา เลียบน้ำ ล่ามน้ำ นายฝายเป็นคนเลือก ฝายที่มีพื้นที่นามาก อาจจะมีหมื่นล่ามนา เลียบน้ำ ล่ามน้ำ ตำแหน่งละหลายคน แต่หมู่บ้านเล็กฝายเล็ก พื้นที่นาน้อย จะมีเพียงนายฝาย หมู่บ้านที่มีขนาดใหญ่มากมีพื้นที่นามากมีฝายมาก บางหมู่บ้านมี 2 ลำน้ำผ่าน มีถึง 7 ฝาย แต่ละฝายจะมีนายฝายประจำ หากฝายเดียวมีหมู่บ้านหลายหมู่บ้านมาใช้ร่วมกันอาจจะมีนายฝายของหมู่บ้านหลัก 1 คน ส่วนหมู่บ้านที่เหลือแต่มีพื้นที่น้อยกว่า ก็ส่งผู้ช่วยนายฝายมาร่วมทำงานกับหมู่บ้านหลัก


 


ตำแหน่งเหล่านี้ปรากฏในกฎหมายมังรายศาสตร์ฉบับวัดนันทาราม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในสมัยสุโขทัยไม่ปรากฏว่ามีการแต่งตั้งถอดถอนอย่างไร แต่ในยุค 100 ปีที่ผ่านที่เป็นสมาชิกเหมืองฝายเลือกนายฝายเอง เพราะนายฝายต้องเป็นซื่อตรงมีความรับผิดชอบสูง  หากได้คนที่ไม่ซื่อตรงตัดสิน จัดสรรน้ำไม่เป็นธรรม คงจะเกิดความวุ่นวายมาก เมื่อรับตำแหน่งก็เป็นนายฝายจนชรา เมื่อตายหรือลาออกชาวบ้านมักจะเลือกลูกของนายฝายคนเก่า เพราะได้ด้วยถ่ายทอดประสบการณ์จากพ่อ


 


ในหนังสืออนุโลมญาณกฎหมายโบราณ หัตถกัมมวินิจฉัยบาฬีฏีการอบสมมุติราช หน้า 10 มีคำว่า "จ่าน้ำ" ในหนังสือ "คลองพิจารณาแต่งถ้อยชนคำ" มีตำแหน่งหมื่นน้ำ หมื่นต้าง คงเป็นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับระบบเหมืองฝาย แต่ไม่มีรายละเอียดว่าทำหน้าที่อะไร ใครแต่งตั้ง


 


สำหรับค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์ที่นายฝายและผู้ช่วยบริหารอีก 5 ตำแหน่งจะได้รับไม่พบหลักฐานในยุคนั้น แต่ในศตวรรษที่ผ่านมา คนเหล่านี้ได้รับอภิสิทธิ์ไม่ต้องทำงานลอกเหมืองซ่อมฝาย บางหมู่บ้านนายฝายได้รับข่าวสารที่ลูกฝาย (สมาชิกฝาย) รวบรวมกันมาให้ ทั้งนี้แล้วแต่จะตกลงกัน


 


ในกฎหมายมังรายศาสตร์ฉบับวัดนันทาราม หน้า 12 ได้กล่าวถึงเลียบน้ำ ซึ่งมีหลายคน คนหนึ่งไปตรวจดูการใช้น้ำ อีกคนไม่ไป เกิดทะเลาะกัน คนที่ไม่ไปตีคนที่ไปดูน้ำตาย ให้ปรับไหมล้านเบี้ย (ประมาณ 156.25 บาท) หากเลียบน้ำไปตรวจพบผู้ลักน้ำ ตีผู้ลักน้ำตายก็ตายไปไม่ต้องรับโทษใดๆ


 


ในกฎหมายของพระเจ้าน่าน หน้า 3 ได้ระบุว่า ให้เจ้านายช่วยดูแลการขุดเหมือง ซ่อมฝาย จะได้มีข้าวกิน ในฤดูทำไร่ทำนาให้พ่อเมือง นายบ้าน ท้าวขุน เจ้านายทั้งหลาย ให้เร่งดูแลการแบ่งปันน้ำให้ทั่วถึง แสดงให้เห็นว่า แม้การบริหารการจัดการระบบเหมืองฝาย ส่วนใหญ่จะเป็นงานของชาวนาในชุมชน แต่ผู้ปกครองก็อดเป็นห่วงไม่ได้ ก็ต้องดูแลด้วย เพราะหัวใจของเศรษฐกิจ คือ ข้าว และปัจจัยที่จะทำให้ได้ข้าวมากหรือน้อย คือระบบเหมืองฝาย


 


...............................


ข้อมูล : สุวิทย์  ธีรศาศวัต  อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดี  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  หนังสือฉบับพิเศษ"ประวัติศาสตร์เทคโนโลยีการเกษตร"  ที่สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรมตีพิมพ์ครั้งแรก  กรกฎาคม 2548

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net