Skip to main content
sharethis


ประชาไท—30 พ.ย. 2548 — คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ร่อนแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลแก้ปัญหาวิกฤติ กสช. ซัดรัฐรวมหัวทุนเป็นเหตุให้การปฏิรูปสื่อตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 40 ล้มเหลว


 


แถลงการณ์ของ คปส. ระบุว่าที่ผ่านมาการปฏิรูปสื่อของไทยล่าช้ามาโดยตลอดและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนเนื่องจาก การยึดครองและแย่งชิง ผลประโยชน์ในทรัพยากรคลื่นความถี่ระหว่าง กลุ่มคนที่มีอำนาจรัฐ/การเมือง และกลุ่มทุนที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์ไม่สิ้นสุดจากทรัพยากร คลื่นความถี่ วิทยุ-โทรทัศน์-โทรคมนาคมซึ่งเป็นสมบัติของสาธารณะ ไม่ใช่สมบัติส่วนตัว ส่วนครอบครัว ส่วนธุรกิจ หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง


 


"การขาดความจริงใจในการปฏิรูปสื่อ และความเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง คือเหตุผลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความล่าช้าของ กสช อีกทั้งขัดขวางการปฏิรูปสื่อไม่ให้คืบหน้า แต่ยังถดถอยลงไปทุกวัน" ความตอนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุ


 


ทั้งนี้ ในส่วนของคำตัดสินของศาลปกครองกลางที่ตัดสินว่าการสรรหา กสช. ไม่ชอบด้วยกฎหมายทุกขั้นตอนนั้น คปส. เห็นว่าสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และ คณะกรรมการสรรหา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ไม่ควรอุทธรณ์ คดี กสช. ต่อศาลปกครองสูงสุดอีก โดยระบุเหตุผล 3 ประการคือ


 


1. คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง มีความชัดเจน เป็นธรรมกับทุกฝ่ายแล้ว ทั้งนี้สะท้อนและตอกย้ำให้เห็นถึงความบกพร่อง และ ความผิดพลาดในทางกฎหมายของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และ คณะกรรมการสรรหา กสช. ในการทำงานที่ผ่านมา


 


2. การอุทธรณ์คดีต่อไป ยิ่งส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการเกิดขึ้นของ กสช. ส่งผลเสียหายต่อวงการสื่อสารมวลชนและประโยชน์ประชาชน มากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะตลอดระยะเวลาการทำงานอย่างผิดพลาดมากว่า 6 ปี (พ.ศ.2543-2548) นั้นทำให้สังคมไทยเสียเวลาไปมากเกินพอแล้ว


 


และ 3. คณะกรรมการสรรหาชุดนี้ขาดความชอบธรรมทั้งในทางกฎหมายและทางสังคมในการดื้อดึงทำหน้าที่ต่อไป เพราะความผิดพลาดซ้ำซาก (ถูกตัดสินให้การสรรหา กสช. เป็นโมฆะมาแล้วถึง 3 ครั้ง) รวมทั้งข้อครหาเรื่องการมีผลประโยชน์ทับซ้อน ระหว่างกรรมการสรรหา และผู้สมัครตัวเก็งที่ผ่านเข้ารอบ ส่งผลให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อองค์กร กสช. และ การปฏิรูปสื่ออย่างร้ายแรง


 


และแม้คณะรัฐมนตรีจะได้มีมติไม่แก้ไของค์กรจัดคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 มาตรา 80 แล้วก็ตาม แต่คปส. ยังคงยืนกรานว่ารัฐบาลจะต้องไม่แก้ไขมาตราดังกล่าวในอนาคต โดยระบุเหตุผล 3 ข้อคือ


 


1.การแก้กฎหมายมาตราดังกล่าวถือเป็นการใช้อำนาจรัฐตามใจชอบ ขาดความชอบธรรมทางสังคม


 


2. ส่อให้เห็นวาระซ่อนเร้นในการเอื้อประโยชน์กับกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม เพราะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ที่กลุ่มทุนโทรคมนาคมพยายามผลักดันการร่างกฎหมายประกอบมาตรา 40 ให้มีองค์กรอิสระเพียงองค์กรเดียวที่มีอำนาจดูและทั้งกิจการโทรคมนาคมแลสื่อสารมวลชน


 


และ 3. จะนำไปสู่การครอบงำกิจการสื่อสารมวลชน ของกลุ่มทุนโทรคมนาคม อีกทั้งทั้งอาจนำไปสู่การเปิดช่องในการ ฮุบ คลื่นความถี่ วิทยุ โทรทัศน์ โทรคมนาคม ให้อยู่ภายใต้กลุ่มทุนโทรคมนาคมผูกขาดที่มีฐานอำนาจทางการเมือง ในการออกกฎหมายวางนโยบายเลือกปฏิบัติได้ตามใจ


 


คปส. มีข้อเสนอต่อรัฐบาลว่า ต้องมีปฎิบัติการเร่งด่วน3 ประการคือ คณะกรรมการสรรหาควรลาออกทั้งชุด และแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม, รัฐบาลควรเร่งให้มีการดำเนินการสรรหาครั้งใหม่ ที่ถูกต้อง โปร่งใส เป็นธรรม ไม่ขัดกับหลักกฎหมายปกครองและมาตรฐานธรรมาภิบาล และรัฐบาลต้องยุติการฉวยโอกาสของความล่าช้าในการแก้กฎหมายสื่ออย่างมีวาระซ่อนเร้น แต่ควรสนับสนุนกระบวนการปฏิรูปสื่อทั้งระบบ เช่นการนำร่าง พรบ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ... ซึ่งจะเป็นกรอบสำคัญจากการทำงานของ กสช. เข้าสู่สภาฯโดยให้ ตัวแทนสื่อ นักวิชาการ และ ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณากฎหมาย


 


ทั้งนี้ คปส. ระบุว่า การจัดสรรสถานีวิทยุ - โทรทัศน์ และ ให้ใบอนุญาตการประกอบกิจการนั้นยังทำไม่ได้เพราะยังไม่มี กสช. และแม้ว่าจะมี กสช. แล้ว แต่ถ้าไม่มี พรบ.ประกอบกิจการวิทยุ - โทรทัศน์ ยังยังไม่สามารถจะจัดสรรสถานีวิทยุ-โทรทัศน์ และออกใบอนุญาตประกอบกิจการได้เช่นกัน ดังนั้นในปี พ.ศ. 2549 รัฐควรดำเนินการสรรหา กสช. ชุดใหม่ และ ผลักดัน พรบ.การประกอบกิจการวิทยุ - โทรทัศน์ ไปพร้อมๆ กัน จึงจะทำให้การปฏิรูปสื่อเดินหน้าไปได้เร็วขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net