Skip to main content
sharethis



ทันทีที่นายไกรสีห์ กรรณสูตร ประธานบริษัท กฟผ. ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 ..ที่ผ่านมา ถึงแผนการที่จะลงนามบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลทหารพม่าในวันที่ 9 ..นี้ ในโครงการร่วมทุนเพื่อก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำหลายเขื่อนในแม่น้ำสาละวินและตะนาวศรี หลังจากมีการพูดถึงโครงการสร้างเขื่อนบนลำน้ำสาละวินกันมาหลายปี


 


กลุ่มพันธมิตรสาละวินว็อชต์ ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ติดตามโครงการพัฒนาต่างๆ บนลุ่มน้ำสาละวินและเกาะติดปัญหาในฝั่งพม่า ก็ได้ร่วมกับเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อน ออกแถลงการณ์ด่วนแสดงความกังวลในความร่วมมือดังกล่าว ซึ่งไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ขาดความโปร่งใส และจะก่อผลกระทบด้านลบตามมามากมาย


 


แถลงการณ์ระบุว่า โครงการนี้เป็นการลงทุนด้วยเงินทุนจากภาคเอกชนและภาครัฐนี้จะส่งผลให้คนจำนวนมากต้องอพยพหาที่อยู่ใหม่ สร้างผลกระทบอย่างกว้างขวางทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม การเมืองและเศรษฐกิจ  แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับแผนการสร้างเขื่อนมาโดยตลอด ไม่มีการพูดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ไม่มีการปรึกษาหารือกับผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 58, 59 และ 60 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.. 2540 และพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.. 2540


 


นอกจากนี้พื้นที่ของโครงการเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลทหารพม่ากระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำสงครามเพื่อปราบปรามกลุ่มชาติพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีคลื่นผู้อพยพจำนวนมาก มีการทรมาน ข่มขืน และสังหารผู้คนจำนวนมาก โครงการนี้อาจไปซ้ำเติมปัญหาเหล่านี้ ยังไม่นับรวมความเดือดร้อนจากน้ำท่วมเนื่องจากการสร้างเขื่อนและโครงการพัฒนาที่ตามมา


 


"การลงทุนร่วมกับรัฐบาลทหารพม่าจะทำให้ทั้งบริษัทกฟผ.และบริษัทจากจีนที่คาดว่าจะร่วมทุนด้วย มีส่วนร่วมในการกระทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ "แถลงการณ์ระบุ


 


นอกจากนี้แถลงการณ์หยิบยกคำกล่าวอ้างของประธานบริษัท กฟผ.ที่ว่า "โครงการนี้จะช่วยสร้างรายได้ที่จำเป็นต่อประเทศพม่าอย่างมาก" โดยระบุว่ารัฐบาลทหารพม่าใช้เงินงบประมาณมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศเพื่อซื้ออาวุธและพัฒนากำลังพล ดังนั้น ผลกำไรจากการสร้างเขื่อนในพม่าจะทำให้มีการกดขี่ชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่อไป และทำให้กองทหารพม่าเข้าไปยึดพื้นที่ทำกินของพวกเขามากขึ้น ส่วนการที่รัฐบาลไทยอ้างเรื่องการได้ไฟฟ้า "ราคาถูก" ก็เป็นการมองข้ามต้นทุนที่แท้จริงทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งพม่า ลาว และประเทศอื่น ๆ ดังกรณีการสร้างเขื่อนน้ำเทิน 2 ขนาด 1,070 เมกะวัตต์ ในประเทศลาว


 


ในส่วนของข้อเรียกร้องนั้น ทั้ง 2 เครือข่ายระบุว่า "ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและบริษัทกฟผ. ซึ่งยังคงเป็นหน่วยงานของรัฐยกเลิกการลงนามในบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลทหารพม่าเพื่อร่วมทุนในการสร้างเขื่อน และไม่เข้าร่วมในโครงการใด ๆ ที่ไม่มีกระบวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีการชี้แจงข้อมูลอย่างถ่องแท้ ทั้งนี้ตามข้อเสนอจากคณะกรรมการเขื่อนโลกและบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไทย"


 


นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะโดยทันที ทั้งข้อมูลเกี่ยวกับโครงการและผลกระทบที่จะมีต่อประชาชนในฝั่งไทยและพม่า โดยเฉพาะรายละเอียดเกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการที่ผ่านมา รายงานการศึกษาผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ข้อตกลงด้านการร่วมทุน และบันทึกความเข้าใจซึ่งมีการลงนามไปตั้งแต่หลายปีก่อน และบันทึกซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2548


กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net