Skip to main content
sharethis



ประชาไท -10 ม.ค. 2549 แก้ปัญหาที่ดินสึนามิส่อเค้าเหลว "อธิบดีกรมที่ดิน" ต่อรองชาวมอแกนบ้านในไร่ 47 ครอบครัว ลดปริมาณที่ดินอยู่อาศัยและทำกินจากเดิม 14 ไร่ เหลือแค่ 7 ไร่เศษ บีบชาวบ้านถ้าไม่รับข้อเสนอ เหลือทางเดียวต้องให้ศาลตัดสิน

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 9 มกราคม 2549 ที่บ้านทับตะวัน ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา นายพีระพล ไตรทศาวิทย์ อธิบดีกรมที่ดิน ในฐานะคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบพิบัติภัย พร้อมคณะ ได้เดินทางมาประชุมร่วมกับชาวบ้านในชุมชนบ้านทับตะวัน เพื่อแก้ไขปัญหากรณีพิพาทที่ดินในชุมชนบ้านทับตะวัน ระหว่างชาวไทยใหม่ หรือชาวมอแกน กับนางรำภา กุลวานิช ผู้ถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว



นายพันธ์ หาญทะเล ตัวแทนชุมชนบ้านทับตะวัน หนึ่งในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ พร้อมกับนายวโรตน์ โฮ่สกุล ผู้ใหญ่บ้านทับตะวัน หมู่ที่ 7 ตำบลบางม่วง ร่วมกันชี้แจงกับนายพีระพลและคณะว่า ขณะนี้มีชาวไทยใหม่ อยู่ในที่ดินพิพาท 35 ครอบครัว ชาวไทยพุทธ 12 ครอบครัว โดยชาวไทยพุทธทั้ง 12 ครอบครัว เข้ามาซื้อที่ดินจากชาวมอแกนที่ครอบครองมาก่อนนานแล้ว ทั้งหมดทำอาชีพทำประมงและเกษตร จำนวนที่ดินอยู่อาศัยและทำกิน รวมพื้นที่ส่วนกลาง 24 ไร่ เมื่อหักพื้นที่ส่วนกลางออกไป จะเหลือที่ดินที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์จริงเฉลี่ยครอบครัว 100 กว่าตารางวาเท่านั้น ขณะนี้ชาวบ้านทั้ง 47 ราย ถูกนางรำภาฟ้องศาลในคดีบุกรุก
นายวโรตน์ ชี้แจงต่อไปว่า ที่ดินในแปลงที่กำลังพิพาท เดิมเป็นที่สัมปทานบัตรเหมืองแร่ หลังจากหมดระยะเวลาสัมปทานบัตร ทางบริษัทฯ เจ้าของสัมปทานได้ถอนตัวออกจากที่ดินแปลงดังกล่าว จากนั้นมีบุคคลที่ทำงานอยู่ในบริษัทฯ ที่ได้รับสัมปทานวิ่งเต้นขอออกเอกสารสิทธิ์ได้สำเร็จ เมื่อปี 2515 และเปลี่ยนมือมาเป็นของนางรำภาในปัจจุบัน


นายพันธ์ ชี้แจงด้วยว่า บรรพบุรุษของชาวไทยใหม่ หรือมอแกน ได้มาตั้งชุมชนในที่ดินพิพาทมานานกว่า 150 ปี มีการปลูกสร้างบ้านเรือนและผลอาสินมานาน พิสูจน์จากอายุของต้นมะพร้าวในชุมชน เช่นเดียวกับนายวโรตน์ที่ยืนยันว่า ตนเห็นชาวมอแกนอยู่ในชุมชนนี้มาตั้งแต่จำความได้
นายพีรพล กล่าวกับชาวทับตะวันว่า แนวทางการแก้ปัญหามีอยู่ 2 แนวทาง แนวทางแรก ต่อสู้คดีให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด ซึ่งต้องใช้มีหลักฐานต่างๆ มาพิสูจน์ว่า อยู่ในชุมชนนี้มานาน 100 กว่าปีจริงหรือไม่ ซึ่งมีโอกาสแพ้และชนะ ถ้าแพ้หมายถึงต้องออกจากที่ดินแปลงนี้สถานเดียว แนวทางที่ 2 เจรจากับเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งชาวบ้านจะต้องยอมถอยบ้าง ตนเสนอว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่ 47 ครอบครัวนี้ จะใช้ที่ดินเฉพาะตัวบ้านบวกเพิ่มบริเวณบ้านอีก 4 X 5 เมตร หรือประมาณ 5 ตารางวา ก็น่าจะเพียงพอ คือ ลดลงจากที่อยู่อาศัยและทำกินในปัจจุบัน 47 ครอบครัว 24 ไร่ เหลือประมาณ 7 ไร่เศษ
บรรดาชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมต่างปฏิเสธข้อเสนอของนายพีระพล พร้อมกับยืนยันว่า จะขอใช้ที่ดินแปลงนี้ 24 ไร่ ตามที่อยู่กันในขณะนี้ เพราะแต่ละครอบครัวต่างมีสมาชิกหลายคน ถ้าปริมาณเนื้อที่น้อยลงตามข้อเสนอของอธิบดีกรมที่ดิน ในอนาคตเมื่อลูกหลานแยกครอบครัวออกไป จะเอาที่ดินจากที่ไหนให้ลูกหลานได้อยู่อาศัย


นายพีระพล ยืนยันว่า ถ้าชาวบ้านไม่ยอมรับเงื่อนไขที่ตนเสนอ ตนก็ไม่สามารถไปเจรจากับเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ คงต้องปล่อยให้ชาวบ้านต่อสู้ คดีเพื่อให้ศาลชี้ขาด ตนจึงต้องการให้ชาวบ้านคิดให้ดี
ในที่สุด นายพันธ์ ได้ลุกขึ้นสอบถามชาวบ้านที่เกี่ยวข้องกับกรณีพิพาทว่า ยอมถอยด้วยการลดลงพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินลงเหลือ 7 ไร่เศษหรือไม่ ชาวบ้านทั้งหมด ยืนยันว่า ไม่รับข้อเสนอของนายพีระพล พร้อมกับยืนยันว่า ต้องการใช้ประโยชน์ในที่ดิน 24 ไร่ ที่บรรพบุรุษครอบครองมานาน
นายพันธ์ จึงขอให้นายพีระพล ใช้ผลการสอบสวนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ธรณีพิบัติ 6 จังหวัด ที้มีพล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธาน ซึ่งระบุว่าเอกสารสิทธิ์ในที่ดินแปลงที่มีกรณีพิพาทได้มาโดยมิชอบ ทว่านายพีระพล ตัดบทว่า กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกรรมการชุดต่างๆ ทำได้เพียงให้คำเสนอแนะ ไม่มีอำนาจในการแก้ไขปัญหา กรมที่ดินเป็นผู้มีอำนาจในแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน



ขณะที่กำลังถกเถียงกันอยู่นั้น นางราตรี คงวัดใหม่ ตัวแทนชุมบ้านแหลมป้อม ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา หนึ่งในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบพิบัติภัย ซึ่งเดินทางมารอพบนายพีระพล ได้ส่งบันทึกให้นายพันธ์มีเนื้อหาว่า อธิบดีกรมที่ดินไม่ดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบพิบัติภัย ที่มีพล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2548 ที่ให้นายพีระพลลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริง แล้วหาทางแก้ปัญหาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน สร้างความไม่พอใจกับนายพีระพล ที่เข้าใจว่า เป็นบันทึกที่ส่งมาจากเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน


"ผมกับชาวบ้านคุยกันรู้เรื่อง ถ้าไม่มีบุคคลภายนอกมาคอยยุแหย่ชาวบ้าน" นายพีระพล กล่าว ก่อนที่การประชุมจะยุติลง


ทั้งนี้ นายพีระพลปฏิเสธที่จะแก้ปัญหากรณีพิพาทระหว่างเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินกับชาวบ้านทับตะวัน เนื่องจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินปิดทางเดินของชาวบ้านทับตะวัน ไปยังขุมเหมืองชายทะเล ที่ชาวบ้านทับตะวันใช้เป็นที่จอดเรือประมงมานานหลายสิบปี สำหรับขุมเหมืองดังกล่าว มีเอกชนนำไปออกเอกสารสิทธิ์ครอบครองเป็นของตนเองเช่นกัน โดยนายพีระพลอ้างว่า ที่ดินชายทะเลผู้มีหน้าที่แก้ปัญหา คือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนกรณีที่ดินพิพาทนอกเหนือจากชุมชนบ้านแหลมป้อม ชุมชนบ้านทับตะวัน และชุมชนบ้านในไร่ อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ผู้แก้ไขปัญหา คือ อนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ธรณีพิบัติ 6 จังหวัด ที่มีพล.อ.สุรินทร์ เป็นประธาน


ภายหลังการประชุม นายพีระพล ให้สัมภาษณ์ นายKim Barker ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ชิคาโกทรีบูนว่า ชาวมอแกนและไทยพุทธที่อยู่ในที่ดินพิพาททั้ง 47 ครอบครัว ต้องยอมถอยโดยลดการครอบครองที่ดินในพื้นที่พิพาทจาก 24 ไร่ เหลือเพียง 7 ไร่เท่านั้น ตนถึงจะพอมีข้อเสนอไปเจรจาขอที่ดินจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้



จากนั้น นางราตรีได้นำเอกสารรายละเอียดข้อเสนอของชาวบ้านแหลมป้อม ที่ยอมลดการครอบครองที่ดินในพื้นที่พิพาทจาก 82 ไร่ เหลือเพียง 51 ไร่ ตามแนวทางที่นายพีระพลเสนอ ในการประชุมที่บ้านแหลมป้อม เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2549 มอบให้นายพีระพลนำไปเจรจากับบริษัท ฟาร์อีสต์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นคู่กรณี



                                                                                         กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net