Skip to main content
sharethis


 

โดย ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


 


จำเลยม็อบตากใบร้องเรียนสภาทนาย ถูกข้าราชการฝ่ายปกครองระดับสูงในอำเภออ้างอำนาจพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ข่มขู่ให้รับสารภาพต่อศาล


 


 


นายรัษฎา มนูรัษฎา กรรมการฝ่ายสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มจำเลยในคดีชุมนุมประท้วงที่หน้าสภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งพนักงานอัยการจ.นราธิวาส ยืนฟ้องจำเลยรวม 58 คนต่อศาลจ.นราธิวาส ในข้อหาร่วมกันชุมนุมประท้วงก่อความวุ่นวาย ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ว่า มีข้าราชการระดับสูงในอ.ตากใบ ข่มขู่ให้รับสารภาพว่าได้ทำผิดในคดีดังกล่าวจริง หากไม่รับสารภาพก็จะถูกดำเนินการตามอำนาจพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งสภาทนายความได้ส่งตัวแทนมาตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่าเป็นจริงตามที่ร้องเรียนมา จึงรายงานเสนอต่อที่ประชุมกรรมการสภาทนายความ ซึ่งที่ประชุมโดยนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ ได้ทำหนังสือถึงนายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) แล้ว


 


นายรัษฎา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังได้รายงานไปยังพล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานนะที่กำกับดูแลการแก้ปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งพล.ต.อ.ชิดชัย ยืนยันว่าไม่เคยมีนโยบายให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการในลักษณะดังกล่าว และรับปากว่าจะดูแลแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้


 


ทั้งนี้หนังสือร้องเรียนที่สภาทนายความเสนอต่อนายอานันท์ระบุว่ามีการกระทำของพนักงานปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกันข่มขู่ ชักจูง และหว่านล้อมจำเลยในคดีชุมนุมประท้วงหน้าสภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เพื่อให้จำเลยยอมรับสารภาพตามที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาล สภาทนายความพิจารณาเห็นว่า การกระทำของพนักงานปกครอง และเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการสร้างความแตกแยก ความไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่ของรัฐและทำลายกระบวนการยุติธรรม ไม่สอดคล้องกับความพยายามในการสร้างความสมานฉันท์ และเป็นผลทำให้ผู้ที่เป็นจำเลยมีโอกาสสำคัญผิดถึงข้อเท็จจริงของกฎหมายในเรื่องโทษที่จะได้รับซึ่งจะติดตัวไปตลอดชีวิต ในขณะที่คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติได้เคยพิจารณาและเสนอความเป็นต่อรัฐบาลให้ถอนฟ้องคดีอาญาดังกล่าวด้วยเหตุที่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอันเป็นพยานหลักฐานที่จะฟ้องเป็นคดีได้ เพียงแต่ระบบกฎหมายในประเทศเอื้ออำนวยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแจ้งข้อความกล่าวหาไว้ก่อน แต่ไปหาพยานหลักฐานได้ในภายหลังจึงทำให้เกิดการจับกุมแบบเหวี่ยงแหดังที่ปรากฏในข้อเท็จจริงนี้ ผลที่สุดก็มีความพยายามของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่จะทำให้จำเลยรับสารภาพให้จงได้


 


สภาทนายความพิจารณาเห็นว่า พฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้นไม่ได้สร้างเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างผู้ปกครองกับประชาชน จะเป็นสาเหตุสำคัญที่จะเกิดความไม่เข้าใจ และความแตกแยกอย่างถาวรหากมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นจึงเสนอต่อประธานกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ พิจารณาให้ดำเนินการต่อไปตามควรแก่กรณี


 


ทั้งนี้หนังสือร้องเรียนดังกล่าวได้แนบคำร้องของจำเลยรวม 8 คน ซึ่งถูกข้าราชการดังกล่าวเรียกพบ โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2548 เวลาประมาณ 14.00 น. ข้าราชการระดับสูงในอ.ตากใบ ได้ติดต่อกับผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ต.เจ๊ะเห ให้จำเลยกลุ่มหนึ่งไปพบกับข้าราชการดังกล่าวที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน อ.ตากใบ โดยขอให้กลุ่มจำเลยยอมรับสารภาพ เพราะในคดีเดียวกันนี้มีจำเลยคนหนึ่งให้การรับสารภาพแล้ว ศาลพิพากษาจำคุก 8 ปี จำเลยสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 4 ปี โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี ข้าราชการคนดังกล่าวจึงแนะนำให้กลุ่มจำเลยรับสารภาพ อ้างว่าศาลจะได้ตัดสินให้เป็นไปแบบเดียวกับจำเลยที่ได้สารภาพไปแล้ว


 


จำเลยกลุ่มนี้ได้ร้องเรียนอีกว่า หากไม่ยอมรับข้าราชการคนดังกล่าวได้บอกว่าหากกลุ่มจำเลยไม่รับสารภาพจะถือว่าไม่ร่วมมือกับทางราชการ และพูดว่าถึงสู้คดีไปก็ไม่ชนะ เพราะผู้ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลย 58 คนนั้นได้รับสารภาพไปแล้ว 1 คน และหากไม่รับสารภาพจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ตามอำนาจในพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยนายอำเภอตากใบมีอำนาจทำหนังสือร้องขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เรียกตัวไปอบรมได้ และจะให้ไปอบรมที่ไหนก็ได้ ประมาณ 1 เดือน และปรับเงิน (ทั้งจำทั้งปรับ)


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net