Skip to main content
sharethis

คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปสื่อ วุฒิสภา ชี้ขายชินคอร์ป ขายสิทธิเสรีภาพของประชาชน หวั่นเป็นการแปรรูปรูปแบบใหม่ เรียกร้องรัฐแก้ไขเร่งด่วน


โดยแถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้


 


แถลงการณ์ "วิกฤตปฏิรูปสื่อ จากอำนาจรัฐสู่กลุ่มทุนข้ามชาติที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ"


โดย คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
และ คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปสื่อ วุฒิสภา

สถานการณ์ปัจจุบันนับเป็นภาวะวิกฤติอย่างยิ่งของสังคมไทยในเรื่องการปฏิรูปสื่อสารมวลชนและสิทธิเสรีภาพทางการสื่อสารของประชาชน สืบเนื่องจากการใช้อำนาจรัฐ และการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจการเมือง ส่งผลให้เกิดการแปรรูปทรัพยากรการสื่อสารของชาติในเรื่องของคลื่นความถี่กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ให้กลายไปเป็นทรัพย์สินของภาคเอกชน ทั้งทุนการเมืองในชาติ และกลุ่มทุนข้ามชาติ โดยไม่มีหลักประกันใดๆว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์แต่อย่างใด


ในขณะที่รัฐเร่งการเปิดเสรีให้กลุ่มทุนข้ามชาติเข้ามาครอบงำกิจการสื่อสารของประเทศไทยได้อย่างง่ายดาย แต่ในทางกลับกันรัฐบาลยังคงจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนผ่านสื่อสาธารณะหรือสื่อทางเลือกอย่างหนักหน่วงและควบคุมปิดกั้นการสื่อสารของประชาชนมากยิ่งขึ้นทุกวัน

คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปสื่อ วุฒิสภา
ตระหนักถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น เนื่องเพราะ 4 กรณีปัญหาที่กำลังสะท้อนความล้มเหลวของรัฐในเรื่องการปฏิรูปสื่อ คือ


1. กรณีการที่บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน ซึ่งมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่เดิมคือบุคคลในครอบครัวตระกูลชินวัตรและตระกูลดามาพงศ์ ได้ทำการขายหุ้นรายใหญ่ทั้งหมดกว่า 50 % ให้กับบริษัทเทมาเส็ก จำกัด มหาชน ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจของรัฐบาลสิงคโปร์ ทั้งนี้ การขายหุ้นดังกล่าวไม่ใช่เรื่องปรกติธรรมดาของธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เนื่องเพราะกิจการในเครือของบริษัทชินคอร์ปฯ ที่ได้ขายหุ้นไปให้ต่างชาตินั้น ประกอบด้วยกิจการสำคัญด้านการสื่อสาร 3 ประเภท คือ


 


1)กิจการโทรคมนาคม (โทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้บริษัทเอไอเอส จำกัด มหาชน) ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐและเป็นกิจการที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองว่าเป็นทรัพยากรของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ


2) กิจการสถานีโทรทัศน์ (บริษัทไอทีวี จำกัด มหาชน)


 


3)กิจการดาวเทียม (ดาวเทียมไทยคม 1,2,3 และไอพีสตาร์ ภายใต้บริษัทชินแซทเทิลไลท์ จำกัด มหาชน)


การขายหุ้นชินคอร์ปฯ ซึ่งรวมกิจการด้านสถานีโทรทัศน์ไอทีวีนั้นถือเป็นการกระทำที่ละเมิดหลักการในรัฐธรรมนูญตามมาตรา 40 เพราะเท่ากับเป็นการขายทอดตลาดกิจการโทรทัศน์ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติให้กับบรรษัทของรัฐบาลต่างชาติ โดยที่รัฐบาลไม่ได้ทำหน้าที่แทนประชาชนในการทัดทานและปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ เปิดช่องให้เกิดการครอบงำกิจการสื่อสารมวลชนครั้งสำคัญ

อีกทั้งการขายทอดตลาดกิจการสื่อสารมวลชนและวงโคจรดาวเทียมของชาตินั้นถือเป็นเรื่องร้ายแรงที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐในทางการการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาละเมิดอธิปไตยของไทย

คณะกรรมาธิการฯ มีความกังวลว่ารูปแบบที่เกิดขึ้นกับการขายหุ้นชินคอร์ปฯ นี้จะกลายเป็นแบบแผนในการแปรรูปสื่อของรัฐอื่นๆ เช่น บริษัท อสมท จำกัด มหาชน , สื่อในเครือกองทัพ และสื่อในเครือกรมประชาสัมพันธ์ ให้เข้าสู่กลไกตลาดทุนแล้วเปิดช่องให้กลุ่มทุนข้ามชาติเข้ามาเป็นเจ้าของทั้งหมดในท้ายที่สุด

2. การแปลงสภาพสื่อในเครือกรมประชาสัมพันธ์ให้กลายเป็นของเอกชน จากมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้มีการแปลงสภาพสถานีวิทยุและโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ออกนอกระบบเพื่อทำธุรกิจและแสวงหารายได้ในรูปแบบของ SDU (Service Delivery Unit) นั้นยังเป็นนโยบายที่มีความคลุมเครือ
และสร้างความกังวลว่าท้ายที่สุดจะต้องแปรสภาพไปเป็นบริษัทมหาชนแล้วเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนการเมือง หรือ กลุ่มทุนข้ามชาติเข้ามาถือหุ้นใหญ่ เช่นเดียวกับรูปแบบของบริษัทชินคอร์ปฯ ในท้ายที่สุด


ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงย่อมส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพและความมั่นของของรัฐ เพราะสื่อในเครือกรมประชาสัมพันธ์ถือเป็นทรัพยากรสื่อชุดสุดท้ายที่ยังไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนและยังมีโอกาสในการปรับเปลี่ยนเป็นสื่อเพื่อบริการสาธารณะ (Public Service Broadcasting-PSB)ได้ แต่ถ้ารัฐบาลยังคงเดินหน้าในการปรับเปลี่ยนเป็นสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ ในแบบ SDU เท่ากับรัฐบาลไม่มีความจริงใจในการปฏิรูปสื่อและมีเจตนาแฝงเร้นในการแปรรูปสื่อของรัฐให้กลายเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนข้ามชาติในท้ายที่สุด และละเมิดสิทธิประชาชนในการได้มาซึ่งสื่อเพื่อบริการสาธารณะตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

3. กรมประชาสัมพันธ์มีคำสั่งให้ปิดวิทยุชุมชน ทั้ง 174 แห่งที่ตั้งอยู่ในสถานที่ราชการทั่วเทศยุติการดำเนินการจนกว่าจะมีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) โดยอ้างเหตุมติคณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ทั้งที่หน่วยงานราชการเป็นผู้ทำสัญญาอนุญาตให้เอกชนดำเนินการเอง ดังนั้น การที่กรมประชาสัมพันธ์มีนโยบายที่ลักลั่นและแก้ปัญหาไม่ตรงจุด
ในการสั่งปิดกลุ่มที่ดำเนินการสถานีวิทยุชุมชน แต่กลับละเลยการตรวจสอบหน่วยงานราชการที่ได้ไปทำสัญญากับกลุ่มเอกชนหรือวิทยุชุมชนดังกล่าว


 


อีกทั้งการออกจดหมายสั่งปิดวิทยุชุมชนจำนวนหนึ่งด้วยเหตุผลว่ารบกวนคลื่นความถี่วิทยุและโทรทัศน์นั้น สะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดของภาครัฐที่ต้องการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการสร้างสื่อภาคประชาชน และสื่อขนาดเล็กในท้องถิ่น แต่รัฐบาลจะมุ่งเน้นในการควบคุมสื่อทางตรง หรือไม่ก็ผลักดันให้สื่อเข้าสู่ระบบทุนนิยมที่เน้นประโยชน์ของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ มากกว่าการสนับสนุนสื่อประชาธิปไตย สื่อท้องถิ่นและประกอบการรายย่อย


4. ความล่าช้าในการออกพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์พ.ศ.. ซึ่งจะเป็นหลักการสำคัญในการปฏิรูปสื่อ จะมีบทบัญญัติที่สำคัญหลายประเด็น เช่น สัดส่วนของผู้ถือหุ้นต่างชาติในการเป็นเจ้าของสื่อวิทยุและโทรทัศน์ หรือลักษณะการประกอบการสื่อในรูปแบบใหม่ มาตรการการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และมาตรการการครอบงำสื่อ เป็นต้น


ทว่าบัดนี้เวลาผ่านไปกว่า 8 ปีแล้ว รัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการออกกฎหมายดังกล่าวให้เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามรัฐบาลกลับเดินหน้าในการออกกฎหมาย วางกติกา
หรือเปิดช่องให้มีการแปรรูปสื่อของรัฐทั้งหมดให้กลายเป็นเอกชน ดังเช่นกรณี ไอทีวีตกเป็นของกลุ่มทุนข้ามชาติ การแปลงสภาพสื่อกรมประชาสัมพันธ์เป็นระบบ sdu หรือ ทำให้วิทยุชุมชนกลายเป็นวิทยุธุรกิจที่หน่วยงานราชการและกลุ่มธุรกิจใกล้ชิดการเมืองได้รับประโยชน์เป็นด้านหลักในขณะที่ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์อันใดเลย


ดังนั้นคณะกรรมาธิการฯ จึงมีข้อเสนอมายังรัฐบาลดังต่อไปนี้

1. คณะกรรมาธิการฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการขายสถานีโทรทัศน์ และ
วงโคจรดาวเทียมของชาติให้ตกเป็นของบรรษัทรัฐบาลต่างชาติในครั้งนี้ เพราะถือเป็นความผิดพลาดของรัฐผ่านสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นคู่สัญญาสัมปทานสถานีโทรทัศน์ไอทีวีที่ไม่สามารถปกป้องทรัพยากรของชาติเพื่อประชาชนไทยได้ รัฐบาลต้องรับผิดชอบในการผลักดันให้การนำสถานีโทรทัศน์ไอทีวีกลับคืนมาจากบรรษัทต่างชาติ เพื่อเป็นสถานีบริการสาธารณะของชาติที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของทางตรง ไม่ใช่กลุ่มทุนหนึ่งกลุ่มทุนใด



2. ขอให้รัฐบาลยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการเปลี่ยนสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ให้เป็นระบบ SDU แต่ควรผลักพันให้สื่อของกรมประชาสัมพันธ์เปลี่ยนมาเป็นสื่อเพื่อบริการสาธารณะที่มีความอิสระการเมือง แต่รับผิดชอบต่อประชาชน


3. ขอให้รัฐบาลยุติการคุกคามวิทยุชุมชน แต่ควรทบทวนนโยบายวิทยุชุมชนทั้งหมด โดยให้ทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วม และมีการแบ่งสัดส่วนให้ชัดเจนระหว่างวิทยุชุมชนที่ไม่แสวงหากำไร และ วิทยุท้องถิ่นขนาดเล็กที่แสวงหากำไรได้ ทั้งนี้ รัฐบาลควรตั้งคณะกรรมการสามฝ่ายเพื่อแสดงหาทางออกอย่างบูรณาการให้กับนโยบายของวิทยุชุมชน


4.ขอให้รัฐบาลยกเลิกการใช้ พ.ร.บ.วิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2498 แล้วให้เปิดเวทีในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ..ฉบับใหม่โดยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญให้มากที่สุดเพื่อแก้วิกฤติการปฏิรูปสื่อที่กำลังถดถอยอยู่ในปัจจุบัน


27 มกราคม 2549

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net