Skip to main content
sharethis


เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 29 มกราคม 2549 ที่โรงแรมเลกอินน์ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ชมรมครู/วิทยากรอิสลามศึกษา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดสัมมนาโครงการการศึกษาเพื่อพัฒนาสู่อาชีพเอื้ออาทร มีผู้เข้าร่วม 150 คน

 


นายเชต ซาหีมซา ประธานชมรมครู/วิทยากรอิสลามศึกษา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า ตามสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีคำสั่งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่งที่มีสถานในสังกัด สพฐ.ที่จัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษา ดำเนินตามแนวปฏิบัติการดำเนินงานจัดการวิทยากรอิสลามศึกษาในสถานศึกษา ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติใหม่ที่กำหนดว่าต้องมีนักเรียนที่นับถือศาสนาอิสลาม 40 คนต่อห้องเรียนใน 1 ช่วงชั้น จึงจะสอนอิสลามศึกษาได้จากเดิมที่กำหนดเพียง 20 คนต่อ 1 ห้องเรียน จะส่งผลให้วิทยากรอิสลามศึกษามีชั่วโมงการสอนลดลง ทำให้ได้รับค่าตอบแทนลดลงด้วย โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนที่นับถือศาสนาอิสลามไม่ถึง 40 คน ซึ่งเรื่องนี้ทางชมรมได้เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทบทวนมาตลอด แต่ก็ยังไม่มีการตอบรับใดๆ จนกระทั่งขณะนี้มีบางเขตพื้นที่การศึกษาเริ่มดำเนินการตามแนวปฏิบัตินี้แล้ว


 


นายเชต เปิดเผยอีกว่า ที่ประชุมครั้งนี้ได้มีความเห็นร่วมกันว่า จะยื่นหนังสื่อเรียกร้องต่อนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ทบทวนในเรื่องนี้อีกครั้งในวันที่ 18 กุมภาพันธุ์ 2549 ในงานมอบประกาศนีบัตรนักเรียนที่ผ่านโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพเอื้ออาทร ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยจะเสนอให้ยกเว้นการใช้แนวปฏิบัตินี้ใหม่ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้ขอให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาระงับการใช้แนวปฏิบัติใหม่นี้ไว้ก่อน


 


"แนวปฏิบัตินี้น่าจะเหมาะสมในจังหวัดอื่นมากกว่า เพราะโรงเรียนส่วนใหญ่เพิ่งเปิดให้มีการเรียนการสอนอิสลามศึกษา และแต่ละแห่งก็มีนักเรียนที่นับถือศานาอิสลามจำนวนไม่มากนัก" นายเชต กล่าว


 


นายเชต กล่าวว่า แม้ว่าการกำหนดเกณฑ์จำนวนนักเรียนใหม่นี้จะไม่กระทบต่อชั่วโมงการเรียนของนักเรียน แต่จะส่งผลต่อคุณภาพการเรียนการสอนของนักเรียน เนื่องจากในห้องเรียนมีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น อีกทั้งโรงเรียนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการเรียนการสอนอิสลามศึกษาที่เข้มข้นอยู่แล้ว ถ้าหากมีการยุบรวมห้องเรียนกันใหม่ ก็จะทำให้การเรียนการสอนไม่ต่อเนื่อง


 


"เราไม่น่าไปปิดกั้นการเรียนรู้อิสลามศึกษาของเด็กโดยการลดชั่วโมงการสอนของครูได้ เพราะวิทยากรอิสลามศึกษามีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างศีลธรรมให้กับนักเรียน และยังเป็นตัวเชื่อมที่ดีระหว่างครู โรงเรียนและผู้ปกครองนักเรียน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" นายเชต กล่าว


 


นายเชต เปิดเผยว่า สำหรับวิทยากรอิสลามศึกษาขณะนี้ได้รับค่าตอบแทนชั่วโมงละ 200 บาท โดยสอนห้องละ 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยบางคนสอนได้ 14 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่เมื่อปรับเกณฑ์ตามแนวปฏิบัติใหม่นี้ จะลดเหลือเพียง 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำให้ได้รับค่าตอบแทนเพียง 1200 บาท ต่อสัปดาห์เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอพอต่อการครองชีพแน่นอน


 


นายเชต เปิดเผยต่อว่า นอกจากนี้ ในแนวปฏิบัติดังกล่าว ยังให้คำนิยามของคำว่า "วิทยากรอิสลามศึกษา" หมายถึง บุคคลากรภายนอกที่ได้รับเชิญทำหน้าที่วิทยากรช่วยสอนอิสลามศึกษาในสถานศึกษา ในสังกัด สพฐ. โดยได้รับค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณนั้น เป็นการให้คำนิยามที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากวิทยากรอิสลามศึกษาต้องทำหน้าที่เหมือกับข้าราชการครูทุกอย่าง และการเป็นวิทยากรอิสลามศึกษานั้นทางราชการได้มีการรับสมัครสอบแข่งขันวัดความรู้ด้วยเช่นกัน


           

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net