Skip to main content
sharethis



ภาพจากhttp://www.aztlan.net/apartheid.jpg


 


ดูเหมือนจะกลายเป็นเหตุการณ์น้ำผึ้งหยดเดียวที่ลุกลามใหญ่โตไปเสียแล้วในกรณีภาพล้อเลียนศาสดาโมฮัมหมัดของหนังสือพิมพ์เดนมาร์กฉบับหนึ่ง จนกระทั่งสร้างความไม่พอใจให้กับชาวมุสลิมจำนวนมาก และเรื่องนี้เริ่มกลายเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างประเทศไปแล้ว


 


ภาพล้อเลียนภาพศาสดาโมฮัมหมัดของศาสนาอิสลามซึ่งมีทั้งสิ้น 12 ภาพ ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ จิลแลนด์-โพสเทน (Jyllands- Posten) ในเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา และต่อมาเมื่อเดือนมกราคมของปีนี้ นิตยสารแมกกาซีเน็ต ของนอร์เวย์ก็นำมาตีพิมพ์ซ้ำอีก หลังจากนั้นทางโลกมุสลิมก็ได้ออกมาประท้วงหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวและประท้วงประเทศเดนมาร์กด้วย


 


จิลแลนด์-โพสเทน ซึ่งเป็นต้นตอการลงตีพิมพ์ภาพดังกล่าวนี้ได้ยอมออกมาขอโทษต่อเรื่องนี้ไปเมื่อวันที่ 30 ม.ค. โดยกล่าวว่า การ์ตูนเหล่านี้ไม่ได้ละเมิดกฎหมายเดนมาร์ก แต่ได้ล่วงละเมิดต่อชาวมุสลิมจำนวนมากอย่างไม่อาจโต้แย้ง ทางหนังสือพิมพ์จึงต้องขอโทษ


 


แต่คำขอโทษก็ยังไม่สามารถยับยั้งกระแสการต่อต้านจากชาวมุสลิมทั่วโลกได้ มีชาวมุสลิมจำนวนมากเรียกร้องให้รัฐบาลเดนมาร์กขอโทษและลงโทษหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว  ทางการเดนมาร์กบอกว่า แม้จะรู้สึกเสียใจแค่ไหนก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถลงโทษหนังสือพิมพ์ได้ เพราะเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น


 


รัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้เรียกทูตของตนประจำกรุงโคเปนเฮเกนกลับประเทศเป็นการประท้วงกรณีดังกล่าว ในขณะที่ลิเบียประกาศปิดสถานทูตในเดนมาร์ก


 


ต่อมาวันที่ 31 มกราคม ชาวปาเลสไตน์หลายพันคนในเขตฉนวนกาซาได้ออกมาเดินขบวนประท้วง โดยมีการเผาธงเดนมาร์กและเรียกร้องให้ชาวอาหรับคว่ำบาตรสินค้าจากเดนมาร์ก


 


ห้างสรรพสินค้าใหญ่ที่สุดในซาอุดิอาระเบียติดป้ายประกาศ "ที่นี่ไม่จำหน่ายสินค้าที่มาจากเดนมาร์ก" ทางบริษัท อารลา (Arla) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์จากนมที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในยุโรป ประกาศว่า ยอดจำหน่ายสินค้าในตะวันออกกลางนิ่งสนิท เนื่องจากความขัดแย้งที่ยังคงมีอยู่ และเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมานี้ ( 2 ก.พ.) ได้ประกาศปลดพนักงานออกประมาณ 125 คน เนื่องจากความสูญเสียทางธุรกิจซึ่งเกิดจากเหตุการณ์ดังกล่าว


 


ถึงตอนนี้ไม่ใช่เพียงเดนมาร์กเท่านั้น แต่เหตุการณ์กลับลุกลามไปทั่วทั้งกลุ่มสหภาพยุโรป เมื่อต่อมา (1 ก.พ.) หนังสือพิมพ์ ฟรองซ์ ซัวร์ ของฝรั่งเศสก็ได้ออกมาตีพิมพ์ภาพชุดนี้อีก ยิ่งโหมกระหน่ำความโกรธเกรี้ยวในกลุ่มชาวมุสลิมมากขึ้น 2 ก.พ. หนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับในยุโรป ก็นำภาพเหล่านี้มาตีพิมพ์ซ้ำ อาทิ ดี เวลต์ ของเยอรมนี คอร์รีเร เดลลา แซร์รา กับ ลา สแตมปา ของอิตาลี เอเรียลดิโก กับ อาเบเซ ของ สเปน   เลอ ตองส์ กับ ลา ทริบูน เดอ เฌอแนฟ ของสวิสเซอร์แลนด์ และ แมกยอร์ ฮีรแลป ของฮังการี


 


ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์เหล่านี้บ้างก็พิมพ์ภาพดัง 12 ชุด บ้างก็พิมพ์เฉพาะบางภาพ บางฉบับให้เหตุผลในการตีพิมพ์ว่า เพื่อสนับสนุนการต่อสู้เพื่อปกป้องเสรีภาพของสื่อมวลชนในการแสดงความคิดเห็น บางฉบับก็บอกว่า เพื่อเป็นส่วนประกอบให้ผู้อ่านเข้าใจในประเด็นที่กำลังเป็นปัญหากันอยู่


 


สำหรับหนังสือพิมพ์ ฟรอง ซัวร์นั้น มีเจ้าของเป็นชาวฝรั่งเศสเชื้อสายอียิปต์ ได้ประกาศไล่บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ออก พร้อมแถลงขอโทษชุมชนชาวมุสลิมที่มีการตีพิมพ์ภาพดังกล่าว  กระนั้น ทางกองบรรณาธิการดูเหมือนจะไม่ยอมรับในเรื่องนี้ โดยบทบรรณาธิการฟรอง ซัวร์ฉบับวันที่ 2 กพ.ยังคงยืนยันการตัดสินใจพิมพ์การ์ตูนล้อเลียนเหล่านี้ โดยบอกว่า "เราไม่ได้มีความปรารถนาที่จะเอาน้ำมันไปราดลงในกองไฟ เหมือนที่บางคนคิด แต่ว่าขณะนี้หลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยและรัฐทางโลกย์ (secular state) กำลังถูกคุกคาม"  และ บอกกับเจ้าของหนังสือพิมพ์ว่า ไม่ควรเข้ามาก้าวก่ายในกองบรรณาธิการให้มากนัก


 


การตีพิมพ์ยิ่งมากขึ้นก็ดูเหมือนโหมกระแสให้หนักขึ้น เมื่อวันที่ 2 กพ. มีชาวปาเลสไตน์ติดอาวุธกว่าสิบคนได้เข้าไปปิดล้อมสำนักงานสหภาพยุโรป ( อียู) ในเขตฉนวนกาซา เพื่อเรียกร้องให้อียูขอโทษที่มีการตีพิมพ์ภาพล้อเลียนในหนังสือพิมพ์ในประเทศต่างๆ ของอียู โดยในนั้นมีภาพผู้ประกาศศาสนาอิสลามสวมผ้าโพกศีรษะเป็นรูปทรงระเบิด ทั้งนี้ชาวมุสลิมถือว่าการทำรูปเลียนแบบศาสดานั้น แม้ทำด้วยความเคารพก็ยังผิดหลักศาสนา


 


กลุ่มติดอาวุธได้เข้าไปขู่จะทำลายล้างสำนักงาน และสถานกงสุลของประเทศเดนมาร์ก นอร์เวย และฝรั่งเศส หากไม่ยอมปิดทำการ รวมทั้งบอกว่า จะมีการลักพาตัวคนของประเทศเหล่านี้ด้วย  ซึ่งคำขู่ดังกล่าวนี้ทำให้นอร์เวย์ต้องสั่งปิดสถานกงสุลในเขตเวสต์แบงค์ทันที


 


จากสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ นายกรัฐมนตรี แอนเดอร์ส ฟอจ ราสมุสเสน แห่งเดนมาร์ก กล่าวว่า เวลานี้ประเด็นได้ขยายตัวเกินเลยไปกว่าจะเป็นแค่การขัดแย้งกันระหว่างเดนมาร์กกับโลกมุสลิมเสียแล้ว แต่กลายเป็นการขัดแย้งกันระหว่างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของโลกตะวันตก กับข้อห้ามของศาสนาอิสลาม ซึ่งปัจจุบันเป็นศาสนาที่มีคนนับถือมากเป็นอันดับสองในประเทศยุโรป


 


จนกระทั่งถึงบัดนี้เรื่องดังกล่าวก็ยังไม่มีที่ท่าว่าจะมีทางออกว่าจะจบลงเช่นไร จะยืนหยัดเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือจะยอมลงมายอมรับการเซ็นเซอร์หากเป็นประเด็นศาสนา? คงต้องรอดูกันต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net