Skip to main content
sharethis


 



ภาพจาก www.biothai.net


 


 


ประชาไท - 7 ก.พ.49       นักวิชาการ "เอฟทีเอวอทช์" เปิดเอกสารข้อเรียกร้องทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐจากการเจรจาเอฟทีเอรอบที่ 6 ที่เล็ดรอดไปโผล่ในเว็บไซต์ต่างประเทศ หวั่นรัฐบาลแก้กฎหมายก่อนลงนามเหมือนซุกหุ้นรอบ2  มีผลทำลายระบบสาธารณสุข-เปิดช่องโจรกรรมทรัพยากรชีวภาพ


 


นายวิฑูรย์  เลี่ยนจำรูญ ผอ.ไบโอไทย สมาชิกกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ วอทช์) กล่าวว่า เอกสารที่นำมาทำการศึกษาก่อนแถลงข่าวครั้งนี้ เป็นเอกสารเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นข้อเรียกร้องของสหรัฐในการเจรจารอบ 6 ซึ่งได้มาจาก www.bilaterals.org คาดว่าน่าจะหลุดรอดมาทางสหรัฐ เนื่องจากฝ่ายไทยมีการคาดโทษผู้เจรจาไม่ให้มีการนำเอกสารมาเผยแพร่เด็ดขาด แต่สหรัฐจะมีการรายงานต่อสภาคองเกรสเป็นระยะ 


 


รศ.ดร. จิราพร  ลิ้มปานานนท์ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม จุฬาฯ  กล่าวว่า  ขอเรียกร้องให้หัวหน้าคณะเจรจาคนใหม่ยกเลิกสัญญารักษาความลับกับสหรัฐ เพื่อให้ภาคประชาชนมีโอกาสร่วมศึกษาข้อตกลงด้วยก่อนจะลงนาม


 


อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาข้อเสนอของสหรัฐแล้วพบว่า  มีส่วนที่เป็นเรื่องสิทธิบัตรที่มากเกินไปกว่าในข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในองค์การการค้าโลก (TRIPs) และมีของแถมที่ยัดเยียดมาในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับสิทธิบัตร ซึ่งขยายขอบเขตและอายุการให้สิทธิบัตรในพืช สัตว์ สิ่งมีชีวิต วิธีการวินิจฉัยโรค การรักษาผู้ป่วยและการผ่าตัด    หากไทยยอมรับข้อเสนอดังกล่าว ระบบสาธารณสุขของไทยจะล่มสลาย เช่นเดียวกับที่ระบบควบคุมราคายาที่ดีที่สุดของโลกในออสเตรเลียได้ล่มสลายไปแล้วหลังออสเตรเลียทำเอฟทีเอกับอเมริกา


 


นายบัณฑูร  เศรษฐศิโรตม์ ผอ.โครงการนโยบายฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ยังชี้อีกว่า ขณะนี้สหรัฐต้องการทำลายกฎหมายดีๆ ของไทยที่มีอยู่ เช่น กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการโจรกรรมทรัพยากรชีวภาพของไทย  สหรัฐรู้ดีว่าหากกฎหมายไทยฉบับนี้ยังอยู่ สหรัฐต้องแบ่งปันผลประโยชน์หลายล้านๆ บาทจากการนำพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ภูมิปัญญาไปต่อยอดแล้วจดสิทธิบัตร ดังนั้นข้อเสนอสหรัฐจงจงใจจะฉีกกฎหมายไทย


 


นายบัณฑูร ยังกล่าวต่อไปอีกว่า  ขณะนี้ตนได้เห็นร่างกฎหมายสิทธิบัตรที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาแก้ไขแล้ว มีเนื้อหาเช่นเดียวกับข้อเรียกร้องของสหรัฐอเมริกา  จึงเกรงว่าเรื่องนี้อาจจะเหมือนกับกรณีซุกหุ้นรอบที่ 2  ที่มีการแก้ไขกฎหมายก่อน 1 หรือ 2 วัน ก่อนที่จะมีกรลงนามในข้อตกลงเอฟทีเอไทย-สหรัฐ จึงขอให้สื่อมวลชนและประชาชนเฝ้าติดตามเรื่องนี้ด้วย


 


 อนึ่ง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับสหพันธ์ผู้บริโภคสากล Consumers International ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ คณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา เตรียมที่จะนำเสนอผลกระทบภาพรวมของเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในส่วนที่เกี่ยวกับลิขสิทธ์ต่อระบบการศึกษาไทย เรื่อง "ข้อตกลงเขตการค้าเสรี ไทย-สหรัฐ - นักเรียน ครู ผู้ปกครอง ได้รับผลกระทบอย่างไร?"  ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ นี้ เวลา 9:00 - 16:00. ที่ห้องประชุมรัฐสภา


 


ขณะที่ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ มีการแต่งตั้งหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ คนใหม่ คือ นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เพื่อทำหน้าที่แทนนายนิตย์ พิบูลย์สงคราม ที่ยื่นใบลาออกไป


 


นายการุณ ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลที่ไว้วางใจ พร้อมทั้งยอมรับว่างานนี้ยากลำบาก เนื่องจากการเจรจามีหลายมิติ โดยมีทั้งส่วนได้และส่วนเสีย ส่วนการเจรจาในรอบต่อ ๆ ไป ก็จะมีความร้อนแรงขึ้น ซึ่งจะต้องรับฟังทุกฝ่าย และยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก โดยให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด  อย่างไรก็ตาม เมื่อรับหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ก็ต้องถอดหมวกปลัดกระทรวงพาณิชย์ออกก่อน เพื่อมองผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน


 


ส่วนที่หลายฝ่ายห่วงเรื่องสิทธิบัตรยาและการคุ้มครองพรรณพืชต่าง ๆ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า กระทรวงให้ความสำคัญการเจรจาในเชิงลึกมากขึ้น เชื่อว่าไม่น่าห่วงมาก เพราะมีความถนัดด้านการเจรจา


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net