Skip to main content
sharethis



 



ประชาไท - 17 ก.พ. 49 กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับพิจารณาความผิดการขายหุ้นของนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 209 ด้วยคะแนน 8 ต่อ 6 เสียงไม่รับวินิจฉัยคำร้องของ 28 ส.ว.โดยอ้างว่าไม่ปรากฎหลักฐานชัดเจน ก่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการทำหน้าที่ของตุลาการ ตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากคำตัดสิน



 


นักวิชาการ อดีตตุลาการ หวั่นคำตัดสินศาล รธน. ปลุกการเคลื่อนไหวนอกระบบ


นายสุจิต บุญบงการ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แสดงความเห็นกรณีศาลรัฐธรรมนูญไม่รับพิจารณาความผิดการขายหุ้นของนายกรัฐมนตรีว่า หากพิจารณาจากข้อมูลการส่อทุจริตที่ปรากฎในสังคม และเปรียบเทียบกรณีการรับพิจารณาความผิดมาตรา 208 ของ 10 รัฐมนตรีที่เข้าเกี่ยวข้องเป็นกรรมการบริษัทเอกชนเมื่อปี 2544 น่าจะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณากรณีนี้ จึงมองว่าการไม่พิจารณาแสดงถึงการถูกปิดกั้นกลไกตามรัฐธรรมนูญ และอาจส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวนอกระบบมากขึ้น เพราะทั้งฝ่ายร้องและผู้ถูกร้องขาดโอกาสชี้แจง ขณะที่ประชาชนก็ไม่มีโอกาสได้รับทราบข้อเท็จจริง


 


"การชี้แจงในศาลมันก็ดี ดีในแง่ที่ว่าประชาชนจะได้ฟังว่าอะไรกันแน่ แต่เมื่อมันไม่มีโอกาสอย่างนี้แล้วนี่ ก็ยังค้างคาใจ ประชาชนก็ยังค้างคาใจอยู่ว่าตกลงมันเป็นยังไงกันแน่ แล้วก็ฝ่ายที่เชื่อว่าไม่มีอะไร ตรงไปตรงมาก็จะมีอิทธิพลมากขึ้น สามารถขยายฐานได้มากขึ้น คนก็เชื่อมากขึ้นว่ามันคงมีอะไรไม่ชอบมาพากล" นายสุจิต กล่าว


 


อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวต่อไปว่า การรับพิจารณาคำร้องหรือไม่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาจากมาตรฐานเดียวกัน คือ เจตนารมณ์ของศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อการตรวจสอบกรณีนี้ไม่สามารถใช้กระบวนการทางศาลได้ จึงเห็นด้วยกับแนวทางที่จะให้ส.ส.พรรครัฐบาล ร่วมลงชื่อกับฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี เพื่อสร้างความชัดเจนในหลายข้อสงสัยให้กับสังคม


 


ด้าน นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่า "หากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องนี้ไว้วินิจฉัยน่าจะทำให้ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้มีการชี้แจงทั้งสองฝ่ายซึ่งเป็นหัวใจของการพิจารณาคดีได้ปรากฏต่อสาธารณะ ดีกว่าที่ให้ฝ่ายใดขึ้นเวทีเอาข้อเท็จจริงซึ่งถูกโต้แย้งเสมอว่าจริงครึ่งเดียวบ้าง คิดเอาเองบ้าง ซึ่งสภาวการณ์อย่างนี้ทำให้สังคมไทยเดินไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง"


 


 


อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต่อไปว่า "เรื่องดังกล่าวในทางกฎหมายอยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้โดยไม่ต้องกังขาใดๆทั้งสิ้น เรื่องดังกล่าวไม่ใช่คำร้องตามปรกติแต่เป็นคำร้องที่องค์กรตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ คือสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ได้เข้าชื่อกันอย่างถูกต้อง ผ่านการตรวจสอบโดยวุฒิสภาแล้ว เมื่อดูเนื้อหาคำร้องไม่ปรากกฎว่ามีข้อสงสัยใดๆที่จะไม่เข้าใจว่าผู้ร้องว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขาดคุณสมบัติ ทั้งคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องมีความชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว"


 


"ผมรู้สึกผิดหวังมากที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับแม้เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของตนเองอย่างชัดเจน ทั้งที่เห็นได้ว่าความรุนแรงของการวินิจฉัยว่าไม่รับเรื่องนี้จะเกิดขึ้นอย่างไร ความขัดแย้งที่มีอยู่จะสูงมากขึ้น ผมคิดว่าฝ่ายที่เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ถูกต้องจะผลักดันให้เกิดการเผชิญหน้าต่อไป ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกเป็นคำวินิจฉัยที่น่าเสียในเป็นอย่างยิ่งผมคิดว่ามีเหตุที่ยืนยันในทางกฎหมายว่าคำวินิจฉัยไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาเป็นคำวินิจฉัยที่น่าจะไม่ชอบด้วยเหตุผลและตรรกะทางกฎหมายหลายประการ"


 


ส่วนเรื่องทางออกในกรณีดังกล่าวนั้น นายสุรพล กล่าวว่า ทางออกในเรื่องดังกล่าวดูเหมือนจะมีอยู่น้อยมาก การเข้าชื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรีที่ดำเนินการอยู่นั้นจำเป็นต้องใช้เวลาและรอ ป.ป.ช.อีกนานและจะทำให้ความขัดแย้งในสังคมไทยบานปลายออกไปเรื่อยๆ จำนวนคนซึ่งสนับสนุนและคัดค้านทั้ง 2 ด้านจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก และความรุนแรงดูเหมือนจะเข้มข้นขึ้น ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่คนไทยปรารถนาจะเห็น กระบวนการอย่างอื่นสุดท้ายจะไม่มีการตัดสินให้จบสิ้นได้ หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าตนเองทำถูกต้องแล้วและยืนยันจะดำรงตำแหน่งต่อไป รวมทั้งมีคนสนับสนุนอีกเป็นจำนวนมาก


 


ขณะที่อีกฝ่ายหากเห็นว่าจำเป็นต้องถอดถอนก็จะดำเนินการต่อไป กระบวนการทั้ง 2 ด้านถูกขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีฝ่ายทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องชัดเจน วิธีที่ดีที่สุดคือรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา ตนยังไม่เห็นทางออกอื่นที่จะนำสังคมไทยออกจากวังวนแห่งความขัดแย้งได้ คนจำนวนมากจะรู้สึกว่าระบบศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถพึ่งพา ไม่สามารถระงับปัญหาของสังคมได้อีกต่อไป


 


 


28 ส.ว.ตั้งหลักสู้ต่อ ด้านวิปฝ่ายค้านโดดร่วมวง


ด้าน นายแก้วสรร อติโพธิ ส.ว.กทม. หนึ่งใน 28 ส.ว. ที่ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา กล่าวว่า ศาลมีหน้าที่รับเรื่องไว้พิจารณา ตรงไหนไม่ชัดเจนก็ควรจะเรียกผู้ร้องไปสอบถามเพิ่มเติมได้ ผมยืนยันว่าเนื้อหาคำร้องเขียนไว้ชัดเจน ส่วนจะทำอย่างไรต่อไปนั้นทาง 28 ส.ว.จะขอหารือกันก่อนดำเนินการต่อไป


 


ขณะที่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า เมื่อสังคมยังกังขาถึงความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งของนายก วิปฝ่ายค้าน จึงมีมติออกมาคือ เราจะสนับสนุนเรื่องนี้จนกว่าจะเข้าสู่กระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป โดยจะประสานข้อมูลจาก 27 ส.ว. และหากจำเป็นเราจะดำเนินการรวบรวมข้อมูลและหลักฐานเพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง เพราะเรื่องนี้ถือว่าเกี่ยวพันกับความน่าเชื่อถือในการบริหารราชการแผ่นดินของนายกฯ และเป็นการพิสูจน์แนวทางการปฎิรูปทางการเมืองของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วย


 


ภาคประชาชนเตรียมเคลื่อนไหวนอกสภา


ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตย นายแพทย์เหวง โตจิราการได้นำพวงหรีดดำไปวางไว้ที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นการประท้วงหลังมีคำตัดสินไม่รับคำร้องของ 28 ส.ว. พร้อมระบุว่าจะเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 8 คนลาออก


 


น.พ.เหวง กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังต่อการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการปฏิเสธความรับผิดชอบ ข้ออ้างของ 8 ตุลาการที่ว่าไม่มีหลักฐานนั้น ฟังไม่ขึ้น เพราะคำร้องของ 28 ส.ว.ยื่นมาชัดเจนอยู่แล้ว และเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องหาหลักฐานเพิ่มเติม ไม่ใช่รอให้ ส.ว.หาหลักฐานไปให้ครบทั้งหมด แล้วจะมีศาลรัฐธรรมนูญไว้ทำไม


 


"การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับหุ้นนั้น เพียงแค่คำให้สัมภาษณ์ของนายพานทองแก้ ชินวัตร ลูกชายนายกรัฐมนตรีที่ว่า การขายหุ้นชินคอร์ปฯ เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ แค่นี้ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่านายกฯเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้น" นพ.เหวง กล่าว


 


นายบำรุง คะโยธา ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวว่า ในฐานะประชาชนที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย ก็ยังคงแสดงจุดยืนว่าจะเคลื่อนไหวอย่างสันติต่อไป โดยแต่ละเครือข่ายจะเปิดเวทีให้ข้อมูลข่าวสาร กระจายให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งในอนาคตข้างหน้าพวกเราต้องทำงานหนักขึ้น เพราะจะพึ่งศาลรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว


 


ด้าน นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง แกนนำเครือข่ายประชาชนขอนแก่นเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังอย่างมากที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัยคำร้องดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาเครือข่ายภาคประชาชนต่างคาดหวังกับศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อย แสดงให้เห็นชัดเจนว่า อำนาจรับเข้าครอบงำองค์กรอิสระแบบเบ็ดเสร็จ ที่ผ่านมาเราก็พูดตลอดว่าตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้ขึ้นมาก็มีการแทรกแซงและครอบงำองค์กรอิสระครั้งแล้วครั้งเล่า นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่รัฐบาลได้แสดงให้เห็นถึงอำนาจในมือ ซึ่งกรณีดังกล่าวจะยิ่งกระตุ้นประชาชนให้เคลื่อนไหวนอกสภามากขึ้น และต้องการให้มีการปฏิรูปการเมืองโดยเร็ว เพื่อเป็นหลักประกันว่าองค์กรอิสระจะไม่ถูกครอบงำอีก เพราะในพ.ศ.นี้จะหวังพึ่งคนในระบบคงจะยาก


 


ขณะที่ นายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน ออกมาเปิดเผยว่า องค์กรภาคประชาชน(NGO) จะเดินหน้าตรวจสอบการบริหารงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีต่อไป โดยจะร่วมกับพันธมิตรอีก 5 องค์กรเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดกรณีซุกหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น(SHIN) ต่อกองปราบปราม ในวันที่ 22 ก.พ.นี้ เวลา 10.00 น.


 


"เรามีมาตรการเสริมที่จะชี้ให้เห็นถึงความผิดในการซุกหุ้น(SHIN) ผมไม่สนใจผลวันนี้ แต่สิ่งที่จะทำต่อไปจะชี้ให้เห็นว่ามีการแทรกแซงการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ผ่านมาคนทั่วไปก็รู้แต่ไม่มีใครกล้าไปแจ้งดำเนินคดี" นายวีระ กล่าว


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net