Skip to main content
sharethis



ภาพจาก : www.thaiinsider.com


 


ชื่อเดิม :


กว่า (ประชาชน) จะรู้เดียงสา : เคล็ดลับ (สำหรับทุนข้ามชาติ) ในการถลุงประเทศกำลังพัฒนา (ตอนจบ) 


 



ฉบับที่แล้ว  นายนิยม เอฟทีเอได้เล่าเคล็ดลับการเปลี่ยนประเทศกำลังพัฒนาให้เป็นสวรรค์สำหรับนักลงทุนไปแล้ว   นั่นเป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกที่ท่านอาจจะกระทำผ่านรัฐบาลของท่านเองและได้รับการสนับสนุนจากท่านและพวกในการสร้างแรงกดดันกับรัฐบาลอยู่ข้างนอก  ซึ่งในบางครั้ง ท่านอาจพบว่าทำได้ไม่ง่ายนัก  เพราะอาจมีประชาชนจำนวนไม่น้อยคัดค้านแผนการนี้ดังที่เกิดอยู่เป็นประจำ  ดังนั้น ในภาคสอง  จึงจะขอเสนอแผนสำรอง B และ C เพื่อเป็นทางเลือกในการเปลี่ยนแปลง  และเนื่องจากทั้งสองแผนมันไม่โจ่งแจ้งนัก  ถ้าประชาชนในประเทศนั้นไม่รู้ทัน  โอกาสที่จะสำเร็จก็มี


 


แผน B  "คนเดียวหัวหาย  สองคนเพื่อนตาย" หัวใจคือการสร้างพันธมิตร  ทำให้คนในประเทศเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาทั้งหลายให้สอดคล้องกับความต้องการของท่าน  ที่สำคัญที่สุด คือ ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริการประเทศ  การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เพื่อความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนเป็นเหตุผลน่าฟังที่ใช้ได้ในทุกสถานการณ์  แม้ว่าข้อเรียกร้องของท่านจะดูเคี่ยวเพียงใด  หนักก็เป็นเบาได้  และยิ่งประเทศของท่านมีความสัมพันธ์อันยืนยาวกับประเทศกำลังพัฒนานั้นมากเท่าไร  ข้ออ้างนี้ก็จะยิ่งดูศักดิ์สิทธิ์ขึ้นเท่านั้น  อย่างไรก็ตาม การเห็นดีเห็นงามของผู้มีอำนาจในประเทศกำลังพัฒนายังขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายประการ  หนึ่งในนั้น คือ การที่ผู้มีอำนาจเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและหลักปฏิบัติที่เคยเป็นมาจะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนจำนวนหนึ่งในประเทศตนในการที่จะเข้าไปลงทุนในอีกประเทศหนึ่งได้อย่างอิสระขึ้นเป็นการต่างตอบแทน  แม้ว่านักลงทุนประเภทนี้จะมีอยู่ไม่กี่รายก็ตาม


 


เมื่อท่านซื้อใจของผู้มีอำนาจในประเทศกำลังพัฒนาได้แล้ว  ก็สบายใจได้ว่า พวกเขาจะพยายามอย่างดีที่สุดในการอำนวยความสะดวกตามข้อเรียกร้องของท่าน  รวมทั้งดำเนินการตามมาตรการต่างๆเสียเองเพื่อสนับสนุนหรือรองรับข้อเรียกร้องของท่านให้บรรลุง่ายขึ้น   ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น การกำหนดบางพื้นที่ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ 


 


การกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นมีตัวอย่างในหลายประเทศที่มีแนวโน้มปิดกั้นสิทธิประชาชน เช่น จีน ฟิลิปปินส์ จอร์แดน รัสเซีย ยูเครน ดูไบ และอิหร่าน เป็นต้น  พื้นที่ที่ได้รับการจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจฯจะมีมาตรการเป็นการเฉพาะสำหรับส่งเสริม สนับสนุนและอำนวยความสะดวกการดำเนินกิจกรรมบางอย่าง เช่น การลงทุนในกิจการเกษตร อุตสาหกรรม เหมืองแร่  ซึ่งอาจมีขอบเขตหรือมีความยืดหยุ่นมากไปกว่าที่กฎหมายในประเทศกำหนดไว้เดิม เช่น ได้รับสิทธิในการส่งเงินเข้าออกประเทศอย่างอิสระ  สามารถนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตเพื่อการส่งออกได้โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยมาตรฐานคุณภาพ   สิทธิในการลงทุนในกิจการที่สงวนไว้สำหรับคนท้องถิ่น หรือ การกำหนดให้อำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่กับคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจฯ เป็นต้น  นโยบายเช่นนี้จะช่วยให้การลงทุนของท่านเป็นไปได้สะดวกขึ้นมาก  แม้ว่าท่านจะไม่บรรลุในข้อเรียกร้องตามเคล็ดลับในฉบับก่อนก็ตาม


 


อีกวิธีที่เด็ดขาดไม่แพ้กัน คือ การริเริ่มแก้กฎหมายในประเทศ  เพราะแท้จริงแล้ว  ต้นตอของอุปสรรคในการลงทุนของท่านก็มาจากตัวบทกฎหมายในประเทศกำลังพัฒนานั่นเอง  เหตุผลที่ดีที่สุด คือ การแก้กฎหมายเพื่อการปรับตัวให้แข่งขันได้  และรองรับกระแสการเปิดเสรี  และเมื่อผู้มีอำนาจสั่งการให้แก้ไขกฎหมายให้เป็นไปในทางเดียวกับข้อเรียกร้องของนักลงทุนอย่างท่านแล้ว  เรื่องอื่นๆก็กลายเป็นเรื่องเล็ก


 


แผน C  "ตื๊อเท่านั้นที่ครองโลก"  ขอเพียงท่านไม่ละทิ้งความพยายามในการเปลี่ยนแปลงประเทศกำลังพัฒนาให้เป็นสวรรค์ของท่านและเพื่อนนักลงทุนอื่นๆ  ท่านจะสามารถหาหนทางในการผลักดันวาระต่างๆได้ไมขาดสาย  จะขอยกตัวอย่างประสบการณ์ของสหรัฐอเมริกากับเรื่องการลงทุน  อย่าลืมว่าการเรียนรู้อดีตจะช่วยให้เรามองเห็นอนาคตได้


 


ก่อนอื่นที่มาของเรื่องการลงทุนโดยเสรีแตกต่างจากการลดอัตราภาษีศุลกากรในการค้า  เพราะว่าเกี่ยวข้องกับอำนาจและสิทธิของรัฐในการควบคุมดูแล  และผลประโยชน์สาธารณะ  ดังนั้น ช่วงแรก ความพยายามจึงอยู่ในรูปการทำข้อตกลงแบบสองต่อสองผ่าน ข้อตกลงว่าด้วยการลงทุน หรือข้อตกลงในระดับภูมิภาค  ความพยายามครั้งแรกในการสร้างข้อตกลงด้านการลงทุนที่สามารถจะใช้ได้กับทั่วโลก หรือที่เรียกว่า เป็นข้อตกลงพหุภาคี เกิดขึ้นในช่วงปี พ.. 2491 ภายใต้การร่างกฎบัตรฮานาว่า ซึ่งเป็นกฎบัตรที่ว่าด้วยองค์การการค้าระหว่างประเทศ  ในตอนนั้นประเทศสหรัฐอเมริกาได้ผนวกเรื่องการลงทุนเข้าไว้กับเรื่องการค้าระหว่างประเทศ  แต่ประเทศกำลังพัฒนาก็คัดค้านรวมทั้งเสนอว่าถ้าจะมีเรื่องการลงทุนจริงๆ  ต้องรวมเรื่องการต่อต้านการแข่งขัน (Anti-competitive practice) ไว้ด้วย  ซึ่งสุดท้ายก็มีอุปสรรคตรงที่ธุรกิจเอกชนในสหรัฐฯจำนวนมากไม่พอใจและคัดค้านจนกฎบัตรฮานาว่าเป็นอันต้องล้มไป


 


เมื่อไม่เป็นผลในความพยายามครั้งแรก  ในปี 2516-2522  สหรัฐฯก็หันไปให้ความสนใจกับการผลักดันเรื่องการลงทุนในแกตส์ในรอบโตเกียว  แต่ก็ไม่สำเร็จอีกครั้ง  เพราะการคัดค้านจากประเทศกำลังพัฒนา  อย่างไรก็ตาม  เมื่อมีการทำข้อตกลงกับแคนาดาและเม็กซิโกในข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือนาฟต้า  สหรัฐฯก็ได้ผลักดันเรื่องการลงทุนให้อยู่ในข้อตกลงได้สำเร็จ 


 


ความพยายามที่จะผลักดันข้อตกลงการลงทุนในระดับพหุภาคียังมีอย่างต่อเนื่อง  เห็นได้จากการที่สหรัฐฯเสนอให้จัดทำข้อตกลงพหุภาคีที่ครอบคลุมเรื่องการลงทุนในทุกสาขาทุกประเด็นระหว่างการเจรจาแกตต์รอบอุรุกวัย  เมื่อมีการคัดค้านจากประเทศกำลังพัฒนา  ประเด็นการลงทุนจึงถูกลดเหลือเป็นเพียง "มาตรการลงทุนที่เกี่ยวกับการค้า" แทน  แต่ขณะเดียวกัน สหรัฐฯก็ผลักดันให้เริ่มมีการเจรจาการค้าบริการ  เพราะแท้จริงในทางหนึ่งแล้ว การค้าบริการก็คือการทำให้การลงทุน (ในสาขาบริการ) เป็นไปโดยเสรี  เมื่อมีเสียงคัดค้านอีก  จึงได้แยกประเด็นการลงทุนและบริการออกจากกัน 


 


หลังจากที่ได้พยายามผลักดันข้อเรียกร้องด้านการลงทุนของตนในเวทีองค์การการค้าโลก แต่ไม่สำเร็จนัก  สหรัฐฯก็เลยเบนเข็มไปสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ในองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งล้วนเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่ร่ำรวย  สหรัฐฯเสนอข้อตกลงที่เรียกว่า ข้อตกลงพหุภาคีว่าด้วยการลงทุนหรือเอ็มเอไอ (MAI) แต่ก็ต้องเจอกับปัญหาขัดแย้งกับแคนาดาและสหภาพยุโรปในเนื้อหาของข้อตกลงรวมทั้งการคัดค้านจากองค์กรพัฒนาเอกชน  สุดท้ายข้อตกลงเอ็มเอไอก็ต้องเป็นหมันไปอีก


 


แล้วก็มาถึงเอฟทีเอที่สหรัฐฯเป็นหนึ่งในผู้ผลักดัน  สหรัฐฯไล่ทำเอฟทีเอกับหลายประเทศโดยที่มีประเด็นการลงทุนรวมอยู่ด้วยในทุกเอฟทีเอ  และเนื่องด้วยในเอฟทีเอมีหลายเรื่องรวมอยู่ด้วยกัน  จึงเป็นการง่ายที่จะใช้ประเด็นที่ประเทศกำลังพัฒนาสนใจ เช่น การเปิดตลาดสินค้าเกษตร เป็นเครื่องมือในการหลอกล่อให้ประเทศเหล่านี้ยอมแลกเปลี่ยนเรื่องการลงทุนด้วย 


 


และล่าสุด  ข้อตกลงเอ็มเอไอกำลังจะกลับมาอีกครั้ง  เพราะกลุ่มประเทศโออีซีดีได้เผยแพร่ร่าง "กรอบนโยบายสำหรับการลงทุน" อีกครั้ง ซึ่งมีหลายคำถามที่เป็นไปในแนวทางคล้ายคลึงกับข้อตกลงเอ็มเอไอ 


 


ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การผลักดันวาระจากตรงโน้นบ้าง  ตรงนี้บ้าง ในจังหวะเวลา รูปแบบ และระดับที่แตกต่างกัน  และอย่าให้อีกฝ่ายได้ตั้งตัว  เป็นเทคนิคสำคัญที่ช่วยเปิดพื้นที่ให้สหรัฐฯในการบรรลุความปรารถนาได้ดีขึ้น  นี่แหละคือวิธีการที่เขาทำกัน 


 


เอาล่ะ มาถึงตอนนี้ หวังว่านักลงทุนต่างชาติทุกท่านคงจะได้ความรู้ไปล้นกระเป๋า ก่อนจะลากันไป  นายนิยม เอฟทีเอ  ขอสรุปเป็นตารางข้างล่าง ดังนี้


 


 
























"บทว่าด้วยการลงทุน"  ใน


"เอฟทีเอ"


ท่านในฐานะนักลงทุนต่างประเทศ...ได้


ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา...ได้


การกำหนดนิยามการลงทุนอย่างกว้างขวาง  การห้ามการจำกัดการเคลื่อนย้ายเข้า-ออกของการลงทุน ผลกำไร รายได้ ดอกเบี้ย ฯลฯ รวมทั้งการกำหนดเงื่อนไขปกป้องการเข้ามาลงทุนในกิจการบางอย่าง


"อภิสิทธิ์" ในการเข้า-ออกของทุนอย่างเสรีและลงทุนอย่างเสรีในทุกกิจการ


"โอกาส" โอนถ่ายทรัพยากรและส่วนเกินในประเทศออกไปนอกประเทศและมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอกมากขึ้น


ห้ามไม่ให้มีการกำหนดเงื่อนไขใดๆด้านการลงทุน รวมถึงการถ่ายโอนเทคโนโลยี


"อภิสิทธิ์" ในการกันไม่ให้ประเทศกำลังพัฒนาเรียนรู้เทคโนโลยี


"โอกาส" ในการเป็นพึ่งพิงทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศไปเรื่อยๆ


ให้มีกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและนักลงทุน  


"อภิสิทธิ์" ในการคุ้มครองอย่างแข็งขันและรับโอนถ่ายอำนาจอธิปไตยของรัฐมาสู่ตน


"โอกาส" จ่ายภาษีจำนวนมหาศาลเพื่อชดเชยความเสียหายของทุน


 


"อภิสิทธิ์" ไม่ต้องมีภาระและหน้าที่ต่อประเทศนั้น


"โอกาส" ในการอุดหนุนทุนให้ใช้ประโยชน์จากประเทศอย่างเต็มที่


 


-------------------------------------


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net