Skip to main content
sharethis

 


ในช่วงนี้ มีการวิเคราะห์กันว่า เป็นช่วง "ทักษิณขาลง" ซึ่งทำให้หลายคนที่สนใจในเมกกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะ "โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี" ว่าอยู่ในช่วงขาลงตามหรือไม่ "ประชาไท" มีรายงานหลังจากได้ไปเยือนเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี พร้อมกับคณะกรรมสิทธิฯ เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา


 


เช้านั้น แดดเดือนมีนาคมสาดแสงทวีความรุนแรงขึ้นทุกชั่วขณะ เรานัดพบกันที่บริเวณหน้าสถาบันโพธิยาลัย วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่ ก่อนออกเดินทางไปพร้อมกับคณะของนายสุรสีห์ โกศลนาวิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ผ่านตลาดต้นขยอม เลียบถนนคันคลองชลประทาน เข้าเขต ต.แม่เหียะ ก่อนวกเข้าไปตรงทางเข้าโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี


 



 


บรรยากาศทางเข้ามองเห็นความแปลกเปลี่ยน แปลกใหม่อย่างเห็นได้ชัด ถนนตัดผ่านสี่เลน สองข้างทางยังมีการวางท่อระบายยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เมื่อผ่านทางโค้งของถนน มองเห็นป้ายบอกทางไปมหกรรมพืชสวนโลก เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และทางไปพระธาตุดอยคำ ก่อนเข้าสู่ประตูทางเข้าเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี


 


หลายคนรู้สึกแปลกหูแปลกตาไปหมด เมื่อมองเห็นชุดแต่งกายของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย แล้วก็อดเก็บภาพเอาไว้ไม่ได้ เพราะยิ่งมองยิ่งเหมือนกับชุดทหารของประเทศเพื่อนบ้าน ยังไงยังงั้น และเมื่อรถเคลื่อนไปหยุดนิ่งหน้าอาคารทางเข้าชม ยิ่งรู้สึกแปลกตา เมื่อมองเห็นรูปปั้นสัตว์สีขาวตั้งเด่นตรงด้านหน้า


 


"รูปอะไรกันเนี่ย..." ใครคนหนึ่งเอ่ยออกมา


จริงสิ รูปสัตว์อะไรก็ไม่รู้ เป็นเหมือนสัตว์ต่างสายพันธุ์ผสมพันธุ์กัน


ช้างผสมกับไดโนเสาร์ สิงห์ผสมกับครุฑ หนุมานผสมกับหงส์


 



 


ครั้นเหลียวมองดูรถยนต์ที่จอดอยู่ในลานจอดรถ มีไม่กี่สิบคัน นักท่องเที่ยวดูบางตา ไม่เหมือนเมื่อครั้งที่ทางเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเปิดให้เข้าชมฟรี จะเห็นว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเข้าชมกันอย่างเนืองแน่น หลายพันหลายหมื่นคน จนต้องอัดเสียดยัดเยียด เข้าแถวยาวเหยียดเพื่อเข้าชมกัน


 


เมื่อลงจากรถ ทางตัวแทนผู้บริหารโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ได้เชิญทุกคนเข้าไปยังห้องประชุมวารีกุญชร ห้องประชุมที่ครั้งหนึ่ง เคยเป็นสถานที่จัดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่เชียงใหม่ที่ผ่านมา ภายในห้องตกแต่งด้วยสีสันเหมือนว่ากำลังอยู่ในป่า มีการประดับประดาด้วยต้นไม้ใบหญ้าคลุมไปทั่วห้อง แต่เมื่อมองยังไงก็ไม่เหมือนป่า เพราะมันเป็นเถาวัลย์เป็นป่าพลาสติกสีเขียวที่ปกคลุมรายล้อมไปทั่ว


 


เมื่อผู้คนเริ่มทยอยกันเข้ามา ทั้งตัวแทนชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีนายพิศาล วสุวานิช ผู้อำนวยการสำนักบริหารเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่สวมใส่เสื้อผ้าลายม้าลายให้การต้อนรับอย่างดี


 



 


นายสุรสีห์ โกศลนาวิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ได้กล่าวกับทุกคนว่า เนื่องจากมีตัวแทนภาคประชาชนได้ร้องเรียนให้ กสม.กรณีที่การดำเนินงานโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีที่ผ่านมา ไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดของโครงการ และได้ก่อให้เกิดผลกระทบในหลายพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งกลุ่มผู้ร้องเรียนได้แสดงความวิตกกังวล ในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าหากไม่มีการชี้แจงและเปิดเผยข้อมูล อาจสร้างผลกระทบในระยะยาวได้


 


"ทาง กสม.จึงขอให้ทางผู้บริหารโครงการได้ชี้แจงข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกันได้ โดยเฉพาะข้อมูลโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี รวมทั้งปัญหาเรื่องน้ำ เรื่องมลพิษ เรื่องการบริหารการจัดการ การจ้างแรงงาน การขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องความไม่เข้าใจในเรื่องข้อมูลข่าวสาร ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเปิดเผย"


 


ในขณะนั้น นายสุรสีห์ ได้เชิญตัวแทนภาคีคนฮักเจียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ร้องเรียน ออกมาชี้แจงถึงเหตุผลของการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ กสม.


 



 


ซึ่ง นายคำรณ คุณาดิลก ตัวแทนภาคีคนฮักเจียงใหม่ ผู้ร้องเรียนได้กล่าวว่า เนื่องจากโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่อาจส่งผลกระทบต่อเมืองเชียงใหม่ในอนาคต ทางกลุ่มภาคีคนฮักเจียงใหม่ จึงรู้สึกเป็นห่วง เพราะที่ผ่านมาเราไม่ได้รับรู้ข้อมูลใดๆ เลย เมื่อเราขอข้อมูล ก็ไม่ทราบ ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการภาคประชาชน


 


"ทางภาคีฯ จึงต้องอาศัยกลไกทาง กสม.ได้เข้ามาดำเนินการเพื่อข้อข้อมูลเพื่อความโปร่งใส เพื่อตรวจสอบการบริหารการจัดการ รวมไปถึงตรวจสอบบัญชีงบประมาณของตัวโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี รวมไปถึงโครงการเมกกะโปรเจ็คต์อื่นๆ ที่เป็นโครงการต่อเนื่องทั้งหมด เราไม่ได้ต่อต้าน แต่เราเพียงต้องการให้ความจริงนั้นให้ปรากฏ เพราะถ้าเรารู้ความจริง มนุษย์ก็จะหลุดพ้นจากอวิชชา" นายคำรณ กล่าว


 


นายพิศาล วสุวานิช ผู้อำนวยการสำนักบริหารเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ได้สรุปรายละเอียดโครงการว่า จากการที่เปิดให้เข้าชมเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีมา พอสรุปได้ว่า ตั้งแต่มีการเปิดให้เข้าชมฟรี มียอดผู้เข้าชมทั้งสิ้น จำนวน 1ล้าน 3 แสนคน โดยเป็นคนเชียงใหม่เข้าชมประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้น จะเป็นนักท่องเที่ยวต่างจังหวัดและนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ


 


"แต่ยอมรับว่าในปัจจุบันนี้ มีจำนวนผู้เข้าชมน้อยลง เฉลี่ยโดยประมาณ วันละ 1,000 คน ไม่เกิน 2,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติและคนต่างถิ่น คนเชียงใหม่ไม่ค่อยมาเที่ยวกัน..."


 


เมื่อจำนวนคนเข้าชมลดลงอย่างเห็นได้ชัดอย่างนี้ ถามว่ามีความคุ้มทุนหรือไม่


 


นายพิศาล กล่าวว่า ถ้าถามถึงความคุ้มทุนหรือไม่นั้น เราจะประเมินความคุ้มทุนเอาไว้ 8 ปี โดยคาดการณ์เอาไว้ว่า จะต้องมียอดผู้เข้าชมให้ได้ 1.2 ล้านคนต่อปี เพราะขณะนี้ ทางโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีมีรายจ่ายทั้งหมด ประมาณ 7-8 ล้าน ต่อเดือน


 


"ดังนั้น ตอนนี้คงตอบไม่ได้ว่า มีความคุ้มทุนหรือไม่ ต้องรอให้ถึง 8 ปีก่อน แผนเรานั้นก็คือ ฝันให้ไกล ไปให้ถึง ซึ่งบางครั้งบางโครงการมันสะดุดไปไม่ถึงบ้าง แต่เราก็ต้องฝันให้ไกล" ผู้บริหารเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี กล่าวด้วยความมั่นใจ


 


ในขณะที่ผู้บริหารฯ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี กำลังชี้แจงต่อหน้ากรรมการสิทธิฯ และประชาชนที่เข้าร่วมรับฟังอยู่นั้น ใครคนหนึ่งคุยเบาๆ อยู่ด้านหลังบอก ไปไม่รอดแน่ๆ...


 


ในห้วงขณะนั้น ตัวแทนชาวบ้านคนหนึ่ง ก็ออกขึ้นพูดด้วยสีหน้าไม่มั่นใจต่อโครงการดังกล่าว ว่าเมื่อเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีมีแผนบอกว่า ต้องฝันให้ไกล ไปให้ถึง ตนก็ต้องคิดให้ไกล เพื่อพี่น้องประชาชนเหมือนกัน เพราะทุกคนกำลังไม่มั่นใจกับการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการที่รับปากให้คนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม..." ตัวแทนชาวบ้านถามด้วยสีหน้าวิตกกังวล


 


หลังจากนั้น ตัวแทนชาวบ้านที่อยู่รอบๆ บริเวณเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ได้ลุกออกมาตั้งคำถามกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าปัญหาการขุดบ่อบาดาล จำนวน 15 บ่อในเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ทำให้บ่อน้ำในชุมชนรอบๆ แห้งขอด โครงการอุทยานช้าง โครงการอควาเรี่ยม โครงการพัฒนาลานลานครูบาเจ้าศรีวิชัยบริเวณทางขึ้นดอยสุเทพ เป็นสถานีรถกระเช้าลอยฟ้า หรือโครงการก่อสร้างถนนเลียบคลองชลประทาน จากกองพันสัตว์ต่าง ผ่านผืนป่าดอยสุเทพ ไปยัง อ.แม่ริม เป็นต้น


 



 


ซึ่งในหลายๆ โครงการนั้น ล้วนเป็นโครงการเมกกะโปรเจ็กต์ ที่ชาวบ้านต่างวิตกกังวลกันว่าอาจส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน ชุมชนท้องถิ่น คนเชียงใหม่ทั้งทางตรงและทางอ้อม


 


ยิ่งเมื่อหลายคนได้ยินได้ฟัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้พูดปราศรัยหาเสียงให้กับลูกพรรคไทยรักไทย ที่สนามกีฬา 700 ปี จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยได้กล่าวไว้ว่า ต่อไปภาคเหนือจะเจริญกว่านี้ ไนท์ซาฟารีก็เปิดแล้ว ต่อไปจะมีอุทยานช้าง กระเช้าไฟฟ้า น้ำพุดนตรีและมีถนนวงแหวนอีกรอบ ต่อไป ที่ดินเชียงใหม่จะแพง มีถนนตัดผ่าน มีการพัฒนาเต็มที่


 


ยิ่งทำให้ชาวบ้านวิตกกังวลไปกันใหญ่ ว่าแท้จริงแล้ว โครงการเมกกะโปรเจ็กต์ต่างเหล่านี้ ใครได้ผลประโยชน์ และใครสูญเสียผลประโยชน์กันแน่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net