Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 16 มี.ค.2549  กรมควบคุมมลพิษ ได้ร่วมกับส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมโครงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมเหมืองคลิตี้-เค็มโก้ ที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีนายเชิดวิทย์ ฤทธิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีเป็นประธาน

 


นายสุรพงษ์ กองจันทึก  ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวว่า การประชุมในวันนี้แทนที่จะเป็นเรื่องของการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมกลับเป็นการพยายามผลักดันให้เปิดเหมืองแร่ของบริษัท กาญจนบุรี เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ ไมนิ่ง (เค็มโก้) จำกัดอีกครั้งกลางผืนป่าตะวันตกซึ่งเป็นมรดกโลก ทั้งยังขัดกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือน พ.ย.44 ที่เห็นควรให้ปิดถาวรไปแล้ว หลังจากหมดสัมปทานไป เพราะสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมาย แต่ก็มีความพยายามจะต่อสัมปทานเรื่อยมา


 


นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เบื้องหลังความพยายามดังกล่าวผลักดันโดยนายยงยุทธ ติยะไพรัช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อเป็นการทิ้งทวน อีกทั้งเจ้าของเหมืองก็มีสามีเป็นส.ส.ของพรรคไทยรักไทย


 


ขณะที่เมื่อราวเดือนต.ค.48 นายสรศักดิ์ สิทธิสังข์ อุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี ได้กล่าวว่าอุตสาหกรรมจังหวัดพร้อมจะให้ผู้ประกอบการเหมืองขออนุญาตเปิดโรงแต่งแร่อีกครั้ง หลังจากอนุญาตให้ทางเหมืองครอบครองและขายแร่ที่เหลือจากการทำเหมืองได้บางส่วน และการแต่งแร่จะเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น จึงคิดว่าโรงแต่งแร่เค็มโก้ซึ่งถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ ควรจะปรับปรุงเพื่อเปิดดำเนินการแต่งแร่ให้มีเปอร์เซ็นต์สูงแล้วนำไปขายจะคุ้มกว่า ซึ่งรัฐได้ค่าภาคหลวงจำนวนมหาศาล แต่ไม่ทราบว่าตั้งแต่เหมืองเปิดดำเนินการกว่า 50 ปี รัฐได้ค่าภาคหลวงแร่เป็นจำนวนเงินเท่าไร


         


นายสรศักดิ์กล่าวว่า บริเวณเหมืองเค็มโกและบริษัทในเครือทั้งหมด เป็นแหล่งแร่ตะกั่วแห่งเดียวของประเทศไทย สามารถนำแร่ออกมาทำได้อีกหลายสิบปี ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าถึงปีละประมาณ 50,000 ตัน อีกทั้งในขณะนี้ราคาแร่ของตลาดโลกสูงขึ้นมาก หากสามารถเปิดดำเนินการได้จะสามารถทดแทนการนำเข้าเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามจะต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติเป็นสำคัญ รวมทั้งการทำประชาพิจารณ์ด้วย


 


ทั้งนี้ เหมืองแร่ของบริษัทเค็มโก้เป็นเหมืองตะกั่ว ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาพระฤาษีและป่าเขาบ่อแร่ หมู่ที่ 5 ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ กลางเดือนกันยายนปีที่แล้ว ฝนได้ตกหนักจนทำให้ฝายกั้นบ่อเก็บกักน้ำพังทลายและน้ำในฝายไหลลงสู่ห้วยชะนี จนถึงลำห้วยคลองงู และอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ โดยมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ได้ตรวจพบสารตะกั่วปนเปื้อนในดินและน้ำบริเวณดังกล่าวปริมาณสูง


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net