Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 17 มี.ค. 49 วานนี้ ภายหลังความพยายามของมูลนิธิองค์กรกลางและเครือข่ายประชาชนตรวจสอบการเลือกตั้ง หรือพีเน็ต ในการเปิดเจรจาเพื่อหารือเรื่องการกำหนดรูปแบบการจัดเวทีประชันแนวคิดระหว่างตัวแทนฝ่ายค้าน รัฐบาล และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประสบความล้มเหลว เนื่องจากทางตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไม่เข้าร่วมเจรจา

 


นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้ประสานงานพีเน็ต ได้ออกมาเปิดเผยว่า "ผมไม่แน่ใจว่ารัฐบาลคิดอย่างไร เพราะเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ได้ประสานไปยังนายพินิจ จารุสมบัติ (รมว.สาธารณสุข) ก่อนเวลา 13.00 น. ซึ่งได้รับคำตอบจากเลขานุการส่วนตัวของนายพินิจว่า นายพินิจกำลังเดินทางไปที่เวียงจันทน์ จะติดต่อกลับมา จากนั้นนายพินิจโทรศัพท์กลับมาเวลา 16.30 น.ซึ่งสัญญาณโทรศัพท์ไม่ชัดเจน แต่จับใจความได้ว่านายพินิจอยู่ที่เวียงจันทน์


 


"ส่วนเรื่องการประสานงานของทางพีเน็ต นายพินิจบอกว่าไม่ทราบล่วงหน้า จึงขอให้ทำจดหมายเชิญอย่างเป็นทางการ แต่ทางพีเน็ตเห็นว่าสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ไม่น่าจะต้องรอทำจดหมาย ทุกฝ่ายควรหันหน้าเข้าหากันเพื่อคลี่คลายปัญหา"


 


ด้านนายพินิจ จารุสมบัติ แถลงข่าวถึงกรณีที่ไม่ไปร่วมประชุม 3 ฝ่ายที่พีเน็ต ว่า "ผมได้ประสานกลับไปยังประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และได้รับแจ้งว่า ทปอ.เห็นด้วยในหลักการของพีเน็ต แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่เป็นการหารือกันแบบเปิดเผย จึงได้แจ้งกลับไปยังนายสมชัย ว่า ไม่สามารถร่วมด้วยได้ เพราะ ทปอ.ไม่เห็นด้วย"


 


"รัฐบาลพร้อมที่จะเจรจากับทุกฝ่าย เพื่อแสดงความเห็นและหาทางออกของปัญหาต่าง ๆ แต่ที่ผ่านมาได้ทำงานประสานกับ ทปอ.ตั้งแต่ต้น ดังนั้น ต้องให้เกียรติ ทปอ.ว่าเห็นอย่างไร" นายพินิจ กล่าว


 


ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาย้ำว่า รัฐบาลได้ประสานกับที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ไปไกลมากแล้ว และคิดว่าไม่จำเป็นต้องทำงานซ้ำซ้อน เพราะ ทปอ.เสนอรูปแบบที่รัฐบาลเชื่อว่า เหมาะสมในการหาทางออกให้กับสังคม และคงได้ความชัดเจนภายใน 1-2 วันนี้


 


"ถ้าใช้รูปแบบของพีเน็ต สิ่งที่ควรทำให้ครบวงจร คือ ถ้าอยากให้ดีเบตเพื่อให้ประชาชนได้ฟัง น่าจะมีกลไกที่ทำให้ประชาชนมาตัดสินใจ และหากฝ่ายพันธมิตรฯ ยอมรับรูปแบบของพีเน็ต และคิดว่าอยากให้มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ก็น่าจะเป็นในลักษณะที่ว่าพันธมิตรฯ ยุติการชุมนุม และนำไปสู่การขอให้ประชาชนมาลงคะแนน ในวันที่ 2 เมษายน ถ้าหากประชาชนเลือกรัฐบาลจำนวนมาก พันธมิตรฯ ต้องเลิกการชุมนุมไปเลย แต่ถ้าหากประชาชนไม่เลือกรัฐบาล รัฐบาลก็ต้องออกไป" รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว


 


ฝ่ายค้านปฏิเสธเวทีปิด


นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ตัวแทนอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านให้เป็นตัวแทนเจรจา ขณะนี้ไม่แน่ใจว่าการหารือจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ยืนยันว่า เวทีพบกัน 3 ฝ่ายต้องเป็นเวทีสาธารณะที่เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าฟังได้อย่างเปิดเผย ไม่ใช่ปิดห้องคุยกัน และบุคคลที่จะมาพูดคุยกัน อยากให้เป็นหัวหน้าแต่ละฝ่าย


 


ส่วนกรณีที่ผู้ใหญ่ออกมาเตือนให้แต่ละฝ่ายเจรจากันนั้น ยืนยันว่าฝ่ายค้านพร้อม และจุดยืนของฝ่ายค้านชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าจะไม่ลงเลือกตั้ง เพราะเห็นว่าการเลือกตั้งไม่นำไปสู่การแก้ปัญหา เนื่องจากฝ่ายค้านได้เสนอผู้นำรัฐบาลว่าให้ลงสัตยาบันปฏิรูปการเมือง แต่ พ.ต.ท.ทักษิณกลับปฏิเสธ


 


"การที่ผู้ใหญ่ออกมาพูดเช่นนี้ พรรคประชาธิปัตย์พร้อมเจรจาให้เกิดการแก้ไข และเป็นไปอย่างสงบ แต่ขณะนี้เหตุการณ์ทั้งหมดขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจตัดสินใจ ขณะนี้ ตัวผู้มีอำนาจมีท่าทีแข็งกร้าว และวางเงื่อนไข เพราะผู้มีอำนาจไม่ยอมรับว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา ดังนั้น เมื่อไม่ยอมรับแล้ว การแก้ไขสถานการณ์ใด ๆ คงไม่เกิดขึ้น" นายสาทิตย์ กล่าว


 


ทปอ.ปัดพัลวัน ไม่เข้าข้างใคร


นายปรัชญา เวสารัชช์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดแถลงข่าวยืนยันเจตนาที่ต้องการทำงานเพื่อประโยชน์บ้านเมือง


 


โดยนายปรัชญา กล่าวว่า "เราไม่มีบทบาทชี้นำสังคม และไม่มีใครสามารถชี้นำเราได้ ผมยืนยันความเป็นกลางเพราะที่ผ่านมามีการพูดผ่านสื่อ โดยพยายามผลักดันให้ที่ประชุมอธิการบดีไปอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากต่อไปเราถูกกล่าวหามากจนไม่มีใครยอมรับได้ที่ประชุมอธิการบดีก็จะหมดบทบาทไป ทปอ.ยืนยันว่า หากผู้ร่วมเจรจาทั้ง 3 ฝ่าย ไม่ต้องการหรือยอมรับ ทปอ.ไม่ได้ ทปอ.ก็จะถอยตัวเองออกไป และเปิดทางให้ผู้อื่นมาทำหน้าที่แทน"


 


ส่วนการดำเนินการของพีเน็ตในการจัดเจรจาผ่านเวทีสาธารณะนั้น นายปรัชชา กล่าวว่า ทปอ.คงไม่ได้เข้าไปร่วมกับพีเน็ต เพราะวิธีของพีเน็ตต่างจาก ทปอ. และตนยืนยันว่าต้องการให้มีการเจรจาอย่างเงียบๆ ซึ่งที่ผ่านมาตนก็ต้องรับผิดที่มีการให้ข่าวว่า ทปอ.จะเจรจากับพรรคฝ่ายค้าน ทำให้พรรคฝ่ายค้านขอเลื่อนการเจรจา และอาจรู้สึกไม่ไว้ใจ ทปอ.


 


อย่างไรก็ตาม การเจรจาแต่ละครั้งจะเป็นการเจรจาแบบไม่เป็นข่าว และหากจะต้องมีการเปิดเผยก็จะให้ผู้เจรจาตกลงร่วมกันว่าจะแถลงในประเด็นใด โดยการเจรจา 3 ฝ่าย จะมีการอัดเทปและนำพยายามมาร่วม หากมีการแถลงข่าวบิดเบือนอีกฝ่ายสามารถนำเทปมายืนยันได้


 


กลุ่มพันธมิตรชี้แม้วไม่มาปัญหาไม่แก้


นายสุริยะใส กตะศิลา ตัวแทนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า กลุ่มพันธมิตรฯ เห็นความตั้งใจของพีเน็ตที่อาสาเป็นตัวกลางในการทำเรื่องนี้ แต่หากรัฐบาลโดยเฉพาะ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มาร่วมในวันที่ 24 มี.ค. ประชาชนอาจสับสน ซึ่งกลุ่มพันธมิตรฯ ได้มีการหารือกันชัดเจนว่า หากตัวปัญหา คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เข้าร่วมเจรจาก็ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net