Skip to main content
sharethis


ไม่เลือกไทยรักไทย จะไม่มี 30 บาทรักษาทุกโรคจริงหรือ

ต้องตอบตรง ๆ ว่าไม่จริง เพราะ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นเพียงภาษาการตลาดของพรรคไทยรักไทย


แต่การเข้าถึงบริการสุขภาพได้ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และมีกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรองรับ ซึ่งเกิดจากการริเริ่มของหลายฝ่ายทั้งจากนักวิชาการ และองค์กรภาคประชาชน 12 เครือข่าย ภายใต้ชื่อ "โครงการรณรงค์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ภาคประชาชน" ที่ได้ร่วมกันรณรงค์เคลื่อนไหวผลักดันเรื่องนี้มาตั้งปี 2542 โดยได้รวบรวมรายชื่อประชาชน จำนวนมากกว่า 70,000 รายชื่อ เพื่อเสนอเป็นกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับประชาชน และมีผลบังคับใช้ไปแล้ว ตั้งแต่ 18 พฤศจิกายน 2545


แต่ในช่วงเวลานั้น เป็นช่วงใกล้เลือกตั้ง จึงได้มีการประสานงานกับทุกพรรคการเมืองเพื่อให้ช่วยสนับสนุน กฎหมายฉบับภาคประชาชน ในขณะนั้นพรรคไทยรักไทย ได้ช่วงชิงนำไปเป็นนโยบายของพรรค และ จัดทำเนื้อหากฎหมายที่ไม่แตกต่างจากของประชาชนเป็นฉบับของพรรคโดยไม่ได้อ้างถึง ความพยายามของภาคประชาชนที่ผลักดันเรื่องนี้เลย  


 


ไทยรักไทยกำลังทำให้ 30 บาทตายเพราะนโยบาย FTA


พรรคไทยรักไทยได้เดินหน้าอย่างเร่งรีบในการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี(FTA) หลายด้านกับหลายประเทศ โดยเฉพาะด้านทรัพย์สินทางปัญญาและด้านบริการสุขภาพ โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านท้วงติงทั้งจากสมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการหลายคณะของวุฒิสภา สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นักวิชาการและองค์กรประชาชน เพียงเพราะคนบางตระกูล และพรรคพวก(บริวาร)รัฐบาลได้ประโยชน์เพราะกว้านซื้อโรงพยาบาลเอกชนไว้จำนวนมาก จึงเดินหน้าเต็มที่ให้คนไข้จากต่างประเทศมาแย่งใช้บริการสุขภาพ หรือการส่งเสริมการใช้บริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในเมืองไทย ซึ่งจะทำให้มีปัญหากับคุณภาพและบริการสุขภาพในประเทศ


 


หยุดโกหกประชาชน


พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ประกาศใช้ ในเดือน พ,, ..2545 นั่นหมายความว่า ไม่มีนายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาลใด กล้ายกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงหลักการ "การเข้าถึงการรักษาพยาบาลของคนไทยทุกคนได้"  ถ้าไม่มีการแก้ไข กฎหมาย หรือยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ ในสภา


ดังนั้น การที่หัวหน้าพรรคไทยรักไทย พูดว่า "ถ้าไม่เลือกไทยรักไทย ไม่เลือกทักษิณ แล้ว จะไม่มี 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น" จึงเป็นคำพูดที่โกหก ไม่เป็นจริง และเป็นการสร้างความเข้าใจที่ผิดให้กับประชาชน เพื่อหวังผลทางการเมือง


เครือข่ายประชาชนไม่สนับสนุนการจ่าย 30 บาท  เพราะที่แท้จริงแล้วไม่ควรต้องจ่ายซักบาท นั่นคือคนทุกคนต้องสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างมีคุณภาพและเท่าเทียมกันคำสำคัญคือ "คนทุกคน" นั่นคือขอให้เป็นมนุษย์ก็สมควรได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์โดยไม่เสียค่าบริการทั้งสิ้น ปัจจุบันยังทำไม่ได้แต่ก็ควรช่วยกันพยายามทำให้ได้ คนทุกคนต้องได้ ไม่ใช่คนไทยทุกคนต้องได้ การให้หรือไม่ให้ใครได้รับการรักษาพยาบาลไม่ควรขึ้นกับมีหรือไม่มีบัตรประชาชน เพียงเป็นมนุษย์ก็ต้องให้ เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์


 


ไทยรักไทยไปได้ แต่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องอยู่


ไม่ต้องกลัวว่าหลักประกันสุขภาพจะหายไป เพราะหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นกฎหมาย รัฐบาลพรรคไหนก็คงไม่กล้ายกเลิกและไม่จริงอย่างที่ไทยรักไทยกล่าวอ้าง ประชาชนผู้ใช้บริการต้องช่วยกันผลักดันให้การรักษาพยาบาล ต้อง "มีมาตรฐาน" อีกคำคือ "มีคุณภาพ" และอีกคำคือ "อย่างเท่าเทียม" นั่นคือ ได้รับบริการโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นหลักประกันและสวัสดิการด้านสุขภาพ ต้องทำให้การรักษาพยาบาลไม่คิดถึงกำไรสูงสุด ของฟรีในโลกนี้มีได้ คนรวยคนจนได้เท่ากันด้วย ของฟรีต้องดีด้วย


 


เครือข่ายประชาชนที่ร่วมกันผลักดันหลักประกันสุขภาพในอดีตจนถึงปัจจุบัน  ได้แก่


1)      เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์: ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการให้ข้อมูล ให้ความรู้ ให้คำปรึกษาและคุ้มครองสิทธิของกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ ฯลฯ


2)      เครือข่ายผู้บริโภค : ดำเนินกิจกรรมรณรงค์ ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และผลักดันมาตรการและนโยบายคุ้มครองผู้บริโภค


3)      เครือข่ายแรงงานนอกระบบ : ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการให้ข้อมูล ให้ความรู้เรื่องการผลิต การดูแลสุขภาพ ความปลอดภัยในการทำงาน ฯลฯ


4)      เครือข่ายผู้พิการ : ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการให้ข้อมูล ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ แก่กลุ่มคนพิการ ฯลฯ


5)      เครือข่ายชุมชนแออัด : ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนด้านต่าง ๆ เช่น ที่อยู่อาศัย อาชีพ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ


6)      เครือข่ายเกษตร : ดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างทางเลือกในการผลิตและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ฯลฯ


7)      เครือข่ายธนาคารหมู่บ้านและกลุ่มออมทรัพย์  : ดำเนินกิจกรรมการออมทรัพย์ พัฒนาอาชีพ จัดระบบสวัสดิการของสมาชิก ฯลฯ


8)      เครือข่ายชนกลุ่มน้อย : ดำเนินกิจกรรมเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มพี่น้องชนเผ่าและคนบนพื้นที่สูง


9)      เครือข่ายองค์กรชุมชนและประชาสังคม : ดำเนินกิจกรรมเพื่อการพัฒนาชุมชนด้านต่าง ๆ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ฯลฯ


10)   เครือข่ายผู้หญิง :ดำเนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาและส่งเสริมสิทธิสตรีในด้านต่างๆ


11)   เครือข่ายเด็ก: ดำเนินกิจกรรมสิทธิเด็ก และการมีส่วนร่วมของเด็กในด้านต่าง ๆ


12)   ผู้สูงอายุ: ดำเนินกิจกรรมด้านการส่งเสริมสวัสดิการผู้สูงอายุ และให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางสังคม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net