Skip to main content
sharethis

โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง


 


หลังจากไปใช้สิทธิเลือกตั้งในตอนเช้า ๒ เมษายน ผมก็เดินทางกลับ นั่งคิดทบทวนว่า ตนเองเพิ่งจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการอะไร


 


ต่อไปนี้ เป็นสิ่งที่ผมคิดและประมวล เกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้


 


1) การเลือกตั้งครั้งนี้ เกิดขึ้นเพราะนายกรัฐมนตรี ๑ คน ต้องการแก้ข้อกล่าวหาว่าไร้จริยธรรม ไม่น่าเชื่อถือ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จึงไพล่ไปยุบสภา เพื่อให้เลือกตั้ง ส.ส.ขึ้นมาใหม่จำนวน ๕๐๐ คน


นึกถึงธรรมเทศนาของพระอาจารย์ "พุทธทาสภิกขุ" ที่ว่า


 "ไม่มีธรรมแล้ว การเลือกตั้งผู้แทนก็โกง


ผู้แทนที่ได้มา ก็เป็นผู้แทนโกง


ประกอบขึ้นเป็นรัฐสภา ก็เป็นรัฐสภาโกง


แม้สภาที่ตั้งรัฐบาลขึ้นมา ก็เป็นรัฐบาลโกง


ประชาธิปไตยจึงไม่มีวันจะเต็มใบ..."


 


2)ค่าใช้จ่ายส่วนตัวรวมกันกว่า ๘,๐๐๐ ล้านบาท รวมแล้วสังคมมีต้นทุนต้องสูญเสียไปกับการเลือกตั้ง ไม่ต่ำกว่า ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท


ทั้งหมด เพื่อแก้ข้อกล่าวหาให้ตัว พ.ต.ท.ทักษิณคนเดียว


 


4) การเลือกตั้งครั้งนี้ มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ลงสมัครรับเลือกตั้งเพียงพรรคเดียว โดยพรรคการเมืองอื่นๆ พร้อมใจกันประกาศคว่ำบาตร ไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งเพื่อประท้วงการเลือกตั้ง ในขณะที่ปรากฏข่าวว่า มีการว่าจ้างผู้สมัครพรรคเล็ก แอบสนับสนุนพรรคเล็กให้ลงสมัคร เป็นไม้ประดับ เพื่อเป็นข้ออ้างความชอบธรรม และหลบเลี่ยงกฎหมายการเลือกตั้งที่กำหนดว่า หากเขตใดมีผู้สมัครรายเดียวจะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า ๒๐% ของจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด


 


การเลือกตั้งครั้งนี้ ปรากฏว่า เป็นครั้งแรก และครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ชาติไทย และอาจจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของโลกประชาธิปไตย ที่มีเขตเลือกตั้งกว่า ๑๗๑ เขต มีผู้สมัครเลือกตั้งเพียงคนเดียว โดยไม่มีคู่แข่ง


 


4) การเลือกตั้งครั้งนี้ ปรากฏว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถูกข้อกล่าวหาครหาจำนวนมากที่สุด มัวหมองที่สุด ไม่ว่าจะเป็น กรณีที่ กกต.ออกระเบียบขึ้นเงินค่าตอบแทนให้แก่ตนเองในลักษณะเดียวกับ ป.ป.ช. ซึ่งบัดนี้ ป.ป.ช. ได้ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาลงโทษในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ต้องโทษจำคุก เป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ


 


กรณีออกระเบียบและการเบิกจ่ายงบลับอย่างน่าเคลือบแคลงสงสัย, กรณีจงใจไม่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญในการสรรหา กกต.คนใหม่ หลังจากที่นายจรัล บูรณะพันธ์ศรี หนึ่งใน กกต.ได้เสียชีวิตลง,  กรณีกกต.แบ่งพื้นที่ดูแลตามภาค ในขณะที่ กกต.ชุดที่แล้วแบ่งกันรับผิดชอบตามหน้าที่ จึงมีข้อกังขาว่า กกต.เจ้าของพื้นที่จะให้ใบแดง ใบเหลือง กับใครก็ได้ เกิดช่องว่างในการวิ่งเต้น, กรณี กกต.กำหนดวันเลือกตั้งโดยร่วมกันกับหัวหน้าพรรครัฐบาลและที่ปรึกษากฎหมายเพียงฝ่ายเดียว, กรณีข้อสงสัยในเรื่องการพิมพ์บัตรเลือกตั้งเกิน รวมไปถึงกรณี กกต. เคยมีมติให้ใบเหลืองใบแดงแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง แต่ประธาน กกต. กลับมีการประกาศใบเหลืองใบแดงไม่ตรงกับมติของคณะกรรมการ กกต. ฯลฯ


           


5) การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งที่รู้ผลการเลือกตั้งล่วงหน้า เพราะมีพรรคใหญ่พรรคเดียว บรรยากาศการเลือกตั้งก็เงียบเหงา ไม่คึกคักเหมือนที่ผ่านๆ มา ไม่มีการนำเสนอนโยบาย มีแต่การยึดเอานโยบาย ๓๐ บาทรักษาทุกโรคเป็นตัวประกัน หรือข่มขู่ว่าถ้าทักษิณไม่ได้เป็นนายกฯ ประเทศจะต้องไปกู้ไอเอ็มเอฟอีกรอบ ไม่มีการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่างรอบด้าน ไม่ใส่ใจการมีส่วนร่วมของประชาชน


 


กระทั่งรัฐบาลรักษาการณ์เอง ยังพยายามทำให้สังคมเข้าใจผิดว่า "การเลือกตั้งคือประชาธิปไตย" จงใจละทิ้งการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งเป็นหัวใจที่แท้จริงของระบอบประชาธิปไตย


              


๖) การเลือกตั้งครั้งนี้ มีภาคประชาสังคม สถาบันวิชาการที่มีชื่อเสียง และผู้ทรงคุณวุฒิในสังคม ออกมารณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง โดยกาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนให้ใคร มากที่สุดเป็นประวัติการณ์


สะท้อนความไร้คุณภาพของการเลือกตั้งในครั้งนี้


 


7) ระหว่างการรณรงค์เลือกตั้งครั้งนี้ ปรากฏว่ามีการใช้ความรุนแรงในสังคม โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงกับสื่อ เพื่อประสงค์ต่อการข่มขู่ คุกคาม แทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน โดยเฉพาะกรณีการปิดล้อมบริษัทเนชั่นฯ และบริษัทในเครือผู้จัดการ


 


นอกจากนี้ ยังมีการวางระเบิดที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ และการใช้กำลังบุกป่วนและทำลายการเปิดปราศรัยชี้แจงสาเหตุที่ไม่ลงเลือกตั้ง ณ จังหวัดเชียงใหม่


 


น่าสังเกตว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเหล่านั้น ได้เกิดกับฝ่ายที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล


ไม่ว่ารัฐบาลจะอยู่เบื้องหลังการกระทำนอกกฎหมายเหล่านี้หรือไม่ก็ตาม แต่รัฐบาลในฐานะผู้ดูแลรักษาความสงบของประเทศจะต้องรับผิดชอบโดยตรง


 


8) ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้เกิดความแปลกประหลาดหลายประการ เช่น มีการจัดคูหาเลือกตั้งโดยให้ผู้ใช้สิทธิหันหลังให้แก่ประชาชน กรรมการเลือกตั้ง และผู้สังเกตการณ์ในหน่วยเลือกตั้ง ทำให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เพราะคนอื่นสามารถจะสังเกตเห็นว่าผู้ใช้สิทธิแต่ละคนใช้สิทธิอย่างไร กาคะแนนช่องใด ไม่คุ้มครองให้การลงคะแนนเป็นความลับ จึงเป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๐๔ อย่างชัดเจน ถึงขนาดว่าประชาชนทั่วประเทศยังดูผ่านโทรทัศน์ก็ทราบได้ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคนดังคนอื่นๆ กาช่องอะไร


 


นอกจากนี้ ยังมีการติดประกาศรายชื่อผู้สมัครและเบอร์ของผู้สมัครในคูหาเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ มีการติดประกาศอยู่ในบริเวณหน่วยเลือกตั้งอยู่แล้ว และในหลายหน่วยเลือกตั้งก็มีผู้สมัครเพียงคนเดียว การติดประกาศไว้ในคูหาจึงเป็นการโฆษณาจูงใจ ตอกย้ำให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนให้ผู้สมัครรายเดียว โดยไม่ได้มีการติดประกาศอธิบาย "ทางเลือก" ของประชาชนด้วยว่ายังสามารถกาช่อง "ไม่ประสงค์จะลงคะแนนให้ใคร" ก็ได้


 


น่าสงสัยว่า วิธีการเหล่านี้ จะเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวพันกับกระบวนการโกงเลือกตั้งอย่างครั้งที่ผ่านๆ มาหรือไม่ เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีทั้งการซื้อหน่วยเลือกตั้งแบบยกหน่วย การเปลี่ยนบัตรเปลี่ยนหีบเลือกตั้ง การเอาบัตรเลือกตั้งที่กาไว้แล้วเข้ามาสวมรอยแทนบัตรเลือกตั้งของประชาชน ฯลฯ


             


9) การเลือกตั้งครั้งนี้ มีการแสดงออกเพื่อประท้วงการเลือกตั้งไม่ชอบธรรมอย่างหลากหลาย เช่น รศ.ดร.ไชยยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้หยิบบัตรเลือกตั้งของตนเองขึ้นมาฉีกต่อหน้าสื่อหน้ามวลชน เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านโดยสันติวิธี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๕  นอกจากนี้ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ยังถึงกับประท้วงด้วยการเอาไม้จิ้มฟันเจาะปลายนิ้ว เพื่อใช้เลือดแทนหมึกปากกา ทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้ง


สะท้อนความรู้สึกของสังคมว่า ประชาชนกำลังรู้สึกเหมือนถูกมัดมือชก


 


10) การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งที่กระทำไปโดยที่รู้ทั้งรู้ว่า จะไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ เพราะจำนวน ส.ส.ไม่ครบ ๕๐๐ คน เนื่องจากผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคไทยรักไทยมีแค่ ๙๙ คน และยังมีเขตเลือกตั้งอีกจำนวนมาก ที่ส่อว่าผู้ชนะเลือกตั้งจะได้ไม่ถึง ๒๐% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง


 


น่าติดตามว่า ต่อจากนี้ไป จะมีความพยายามบิดเบือนกฎหมาย แหกกฎกติกา แหวกธรรมเนียมปฏิบัติ ทำลายหลักการประชาธิปไตย และละเมิดบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อหาทางเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทั้งๆ ที่ยังมี ส.ส.ไม่ครบ ๕๐๐ คน เพื่อจัดตั้งรัฐบาล เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีชื่อทักษิณ ชินวัตร


นั่นจะเป็นเครื่องตอกย้ำว่า กระบวนการทั้งหมดนี้ ความแปลกประหลาดและพิสดารของการเลือกตั้งในครั้งนี้ ถูกจัดให้มีขึ้นก็เพื่อสถาปนาอำนาจของคนๆ เดียว


 


เพื่อฟอกตัวให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร !!!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net