Skip to main content
sharethis

ประชาไท - หมอประเวศ แนะตั้งกรรมการอิสระจาก องคมนตรี - ศาลยุติธรรม - อธิการบดีสรรหา กกต.- องค์กรอิสระ เพราะปลอดจากการเมือง พร้อมแนะปฏิรูปครั้งใหม่ใช้โอกาสออก พ.ร.บ.สิทธิชุมชน ส่วน "แก้วสรร" ยันต้องกำจัดระบอบทักษิณก่อนแล้วค่อยปฏิรูปการเมือง ด้านเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพภาคใต้ ประกาศเจตนารมณ์ ขอให้ทุกพรรคการเมืองชูนโยบายปฏิรูปการเมืองและสุขภาวะ แนะตั้งกลไกตรวจสอบองค์กรอิสระ และกรรมการตรวจสอบระบอบทักษิณ


 


เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 9 พฤษภาคม 2549 ที่ห้องประชุมทองจันทร์ หงส์ลดารมย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพภาคใต้ จัดเวทีนโยบายสาธารณะ เรื่อง การปฏิรูปการเมือง : ทางออกวิกฤติการเมืองของชาติกับบทบาทเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพภาคใต้ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 150 คน


 


นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวในการปาฐกถา เรื่อง บทบาทวิชาชีพสุขภาพ กับการปฏิรูปการเมือง ตอนหนึ่งว่า มีการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ตนจึงขอเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยที่ไม่มีพื้นฐานมาจากการเลือกตั้ง โดยคณะกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วย ตัวแทนของคณะองคมนตรี ตัวแทนศาลยุติธรรม และตัวแทนของอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ จากนั้นก็จัดกระบวนการสรรหาทีดีขึ้นมา ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้สามารถนำไปเป็นกลไกในการสรรหาองค์กรอิสระได้อีกด้วย


 


นายแพทย์ประเวศ ยังได้กล่าว ถึงการปฏิรูปการเมืองว่า ในรัฐธรรมนูญได้ระบุถึงสิทธิชุมชนถึง 5 ประการ แต่ ยังไม่มีใครเรียกร้องให้ดำเนินการ ขณะที่รัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่ได้สนใจที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณา ได้ แก่ 1.ชุมชนมีสิทธิที่จะทำมาหากิน 2.ชุมชนมีสิทธิในการใช้และดูแลทรัพยากร 3.ชุมชนมีสิทธิในการกำหนดการศึกษา 4.ชุมชนมีสิทธิทางด้านการสื่อสาร และ 5. ชุมชนมีสิทธิที่จะมีระบบเงินตราของชุมชน หากสามารถให้สิทธิดังกล่าวแก่ชุมชน คนก็ไม่มีความยากชน และประชาชนก็อยู่อย่างมรเกียรติ มีศักดิ์ศรี เพราะฉะนั้น ในการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ ต้องเรียกร้องให้มีการออกพระราชบัญญัติสิทธิของชุมชนด้วย


 


นายแก้วสรร อติโพธิ รักษาการสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร กล่าวในการอภิปราย หัวข้อ ทำไมต้องปฏิรูปการเมือง : กรณีศึกษาระบอบทักษิณ ว่า ในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าถูกหรือผิด เห็นได้จากกรณีการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ในยุคคนอื่นเป็นนายกรัฐมนตรี ยังไม่มีการแทรกแซงองค์กรอิสระมากถึงขนาดนี้ เพราะฉะนั้น ในเรื่องการปฏิรูปการเมือง หากรัฐสภายังตกอยู่ภายในระบอบทักษิณ ตนก็จะไม่เล่นด้วย ต้องกำจัดระบอบทักษิณให้หมดไปจากการเมืองไทยก่อน ยกเว้นบางประเด็นที่เป็นการขยายเครือข่ายของภาคประชาชน


 


จากนั้นได้มีการเสวนาเรื่อง บทบาทของบุคลากรด้านสุขภาพ ต่อการมีส่วนร่วมผลักดันการปฏิรูปการเมือง โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายเลิศชาย ศิริชัย อาจารย์สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ รองประธานชมรมแพทย์ชนบท นายแพทย์อนันตชัย ไทยประทาน กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ และนายเอกชัย อิสระทะ เลขานุการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย


 


นายแพทย์อนันต์ชัย กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บุคลากรทางสาธารณสุข เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนมากที่สุด ครูใหญ่ตามโรงเรียนต่างๆ เพราะฉะนั้น บุคคลากรทางสาธารณสุขต้องเป็นแบบอย่างในการปฏิรูปการเมืองครั้งนี้ด้วย โดยการบริหารจัดการองค์กรทางด้านสาธารณสุขที่เป็นธรรมรัฐ คือการบริหารองค์กรที่โปร่งใส่ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด และสามารถตรวจสอบได้


 


จากนั้นนายแพทย์สุภัทร ได้ประกาศเจตนารมณ์ของเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพภาคใต้ว่า เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพภาคใต้ เป็นองค์กรที่รวมตัวของวิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล หมออนามัย และสหเวชศาสตร์ที่ปฏิบัติงานในภาคใต้ เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพภาคใต้ ซึ่งเป็นองค์กรแนวราบที่เป็นที่รวมตัวของวิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล หมออนามัย และสหเวชศาสตร์ที่ปฏิบัติงานในภาคใต้ ได้ประชุมร่วมกันที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันเดียวกันนี้ มีเจตนารมณ์ต่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมือง


 


นายแพทย์สุภัทร กล่าวว่า ระบบสุขภาพเป็นระบบที่มีความกว้างขวางและใหญ่ ซึ่งมีความสำคัญต่อประชาชนในสังคม ปัจจุบันนิยามของสุขภาวะหมายความกว้างถึงทั้งทางกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ ระบบการเมืองเป็นระบบที่มีอำนาจในการบริหารบ้านเมือง จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อคุณภาพชีวิตประชาชน ดังนั้นระบบการเมืองที่มีศีลธรรมเป็นความหวังของสังคมไทย การเมืองที่มีปัญหาเพราะขาดศีลธรรมหรือขาดปัญญาย่อมจะนำมาซึ่งปัญหาสังคมที่กระทบต่อสุขภาวะของคนทั้งประเทศ ดังนั้น วิชาชีพสุขภาพต้องก้าวข้ามมิติการทำงานด้านการสาธารณสุขมาสู่การทำงานเพื่อร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมือง ให้เกิดระบบการเมืองที่ดี เป็นระบบที่มีศีลธรรมและปัญญา ซึ่งจะสร้างสุขภาวะให้กับคนไทยทุกคนได้อย่างมาก


 


นายแพทย์สุภัทร กล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองในระยะเฉพาะหน้าเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพภาคใต้ขอเรียกร้องต่อทุกพรรคการเมืองให้นำเสนอนโยบายในการปฏิรูปการเมืองและนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนเลือกและเป็นสัญญาประชาคมที่ต้องผลักดันต่อไป


 


"สังคมไทยต้องการกลไกการเลือกตั้งที่มีความบริสุทธิ์ ถูกต้องและเป็นธรรม ปราศจากอำนาจทุนและอำนาจรัฐครอบงำ ซึ่งในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ จะเป็นการเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดในการปฏิรูปการเมืองครั้งสำคัญของประเทศไทย เสนอให้มีกลไกการตรวจสอบจากคณะกรรมการอิสระที่เป็นที่เชื่อถือของสังคมไทย ในการช่วยตรวจสอบกระบวนการในการจัดการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใดก็ตาม"


 


นายแพทย์สุภัทร กล่าวต่อว่า สำหรับการปฏิรูปการเมืองในระยะต่อมานั้น เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพภาคใต้ต้องการเห็นระบบการเมืองที่สามารถป้องกันอำนาจทุนขนาดใหญ่ในการครอบงำภาคการเมืองและองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของการปฏิรูปการเมืองในครั้งนี้ เสนอให้มีการแก้ไขให้มีการถ่วงดุลอำนาจในการบริหารประเทศให้มีการเมืองภาคพลเมือง เพื่อการกำกับและการตรวจสอบ ภาคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง


 


เมื่อมีรัฐบาลใหม่ ขอให้มีการการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการแสวงหาความจริงและสมานฉันท์ที่สังคมยอมรับ เพื่อสะสางตรวจสอบข้อกล่าวหาหรือข้อสงสัยทุกกรณีต่อประเด็นที่ไม่มีคำตอบจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา อันจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ในความถูกผิดในอดีตและเกิดความสมานฉันท์ในสังคมไทย


 


"สังคมไทยต้องมีกลไกการสื่อสารสาธารณะที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง เพื่อเผยแพร่ความจริง ให้การสื่อสารความจริงและความดีต่างๆ ในสังคม เป็นเครื่องมือในการสร้างชาติสร้างประชาธิปไตย โดยการมีการตั้งคณะกรรมการอิสระที่มาดูแลและบริหารจัดการการสื่อสารที่เป็นอิสระและสาธารณะ และต้องระบุให้เป็นกลไกอิสระสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้น"นายแพทย์สุภัทร กล่าว


 


นายแพทย์สุภัทร กล่าวต่อว่า วิชาชีพด้านสุขภาพที่กระจายอยู่ในทุกพื้นที่ของประเทศไทยทั้งในเมืองและในชนบท มีหน้าที่ที่สำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการเมืองภาคประชาชน เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้ง การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น จะเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งของประชาธิปไตย ซึ่งภาคสาธารณสุขสามารถเข้าไปสนับสนุน ร่วมขับเคลื่อนกับภาคส่วนอื่นให้การเมืองภาคประชาชนเข้มแข็งขึ้นมาเคียงคู่การเมืองภาคผู้แทน ด้วยการร่วมกันทำงานเป็นเครือข่าย เชื่อมต่อข้อมูลข่าวสารสู่ประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net